รีวิวหนัง: La La Land อยากให้มีเพียงเราเต้นรำท่ามกลางหมู่ดาวที่พร่างพราว (2016)


บนท้องถนนที่ระอุอ้าวไปด้วยแสงแดด บนทางสายยาวที่ขนัดแน่นไปด้วยยานพาหนะ แว่วดนตรีจากเครื่องเสียงต่างทำนองต่างจังหวะกระหึ่มดังมาจากรถแต่ละคันที่อัดเรียงกันเป็นแถว ทันใดนั้นก็มีเสียงร้องขับขานทำลายความอัดอึดน่ารำคาญของสตรีนางหนึ่ง เธอไม่เพียงแต่จะเปล่งสำเนียงเจื้อยแจ้วอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังก้าวลงมาจากรถ และเริ่มยักย้ายร่ายรำเชิญชวนให้ทุกคนลุกขึ้นเต้น จากนั้นถนนทั้งสายก็กลายเป็นบรอดเวย์ที่ทุกคนพร้อมใจกันร้องเพลง “Another Day of Sun” และโยกอย่างเมามันสนุกสนาน ผมตะลึงกับฉากเปิดเรื่องที่ดูราวกับจะเป็นเอ็มวีหนังแขกเวอร์ชันฝรั่ง พลางคิดในใจว่าเล่นใหญ่ตั้งแต่ต้นเรื่องกันเลยหรือ แต่หากดูจากปฏิกิริยาที่ประหลาดใจไม่แพ้กันของเพื่อนร่วมโรง ก็ถือได้ว่า Damien Chazelle จับคนดูไว้ได้อยู่หมัดตั้งแต่เริ่มเรื่องทีเดียว
...



La La Land เป็นชื่อเล่นของเมือง Los Angeles โดยมีที่มาจากชื่อย่อ L.A. และยังเป็นสแลงที่หมายถึง “การหลุดออกจากโลกแห่งความเป็นจริง” ซึ่งมันไปพ้องกับสไตล์การกำกับเรื่องที่ใช้โทนสีชวนฝัน ฟุ้ง ล่องลอย และเหนือจริงพอดี หนังโดดเด่นด้วยการเล่าเรื่องที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งอาจไม่ได้แปลกใหม่นักในโลกของภาพยนตร์ แต่มันเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ องค์ประกอบศิลป์ในแบบวินเทจทำให้งานดูแพงอย่างมีนัยสำคัญ เสื้อผ้าหน้าผมนักแสดงเล่นกับสีสันจัดจ้าน แต่ก็คงความเรียบหรูในสไตล์ย้อนยุคที่ดูเก๋และแปลกตา เมืองมายาที่เต็มไปด้วยคนช่างฝันนี้อาจไม่ได้มีพล็อตเรื่องที่น่าสนใจมากนัก แต่ผมกลับมองว่านี่เป็นความจงใจของผู้กำกับ, Damien Chazelle วางพล็อตเชย ๆ ไว้เป็นประหนึ่งภาพสเก็ตช์บนกระดาษขาวเปลือย แล้วใช้องค์ประกอบภาพ แสงเงา สีสัน และเพลงเป็นจานสีที่แต่งแต้มความจืดชืดนั้นจนออกมาเป็น La La Land ที่ได้รับคำชมจากสื่อวิจารณ์แทบทุกสำนัก

พล็อตเรื่องอาจเล่าได้ภายในประโยคเดียวคือ “คนช่างฝันในเมืองมายา” เพราะฉะนั้นการดูหนังเรื่องนี้ให้สนุก เราต้องไม่คาดหวังกับความซับซ้อนของบทมากจนเกินไป แต่หากพูดถึงความเพลิดเพลินในแง่ของงานวิจิตรศิลป์แล้ว คุณจะได้ดื่มด่ำกับมันอย่างเต็มอิ่มทีเดียว ผมชอบการเล่าเรื่องของผู้กำกับที่ใช้กลวิธีการเล่าแบบคู่ขนาน เราจะได้เห็นมุมมองของพระ/นางที่มีต่อสถานการณ์เดียวกันในรูปแบบของการสลับฉากในตอนต้น และการเล่าโดยใช้ฉากซ้อนทับระหว่างความคาดหวัง (Expectation) และความเป็นจริง (Reality) ในตอนท้าย หากคุณเคยรู้สึกอึนไปกับฉาก Expection/Reality จากหนัง “500 Days of Summer” เรื่องนี้อาจทำให้คุณรู้สึกปวดร้าวในใจไม่ต่างกัน
...



ผมประทับใจกับความสัมพันธ์ของคู่พระ/นางในเรื่องนี้ คาเรกเตอร์ของทั้งคู่คล้ายคลึงกันหลายอย่าง มีอา (Emma Stone) และเซบาสเตียน (Ryan Gosling) อยู่ในสถานะที่ตกต่ำเหมือนกัน ต่างมีความฝันและเป้าหมายที่ต้องปรับให้สมดุลกับอุดมการณ์ที่ยึดถือเช่นเดียวกัน ในยามที่เซบาสเตียนหลงลืมอุดมการณ์ มีอาก็เป็นฝ่ายเตือนสติ และในยามที่มีอาสูญเสียการทรงตัวจากความผิดหวัง เซบาสเตียนก็คอยดึงเธอให้กลับมาเข้ารูปเข้ารอย ลักษณะที่คอยเกื้อหนุนกันและกันอยู่นี้ทำให้ผมรู้สึกว่าทั้งคู่เป็นเหมือนเพื่อนมากกว่าจะเป็นคู่รัก ทั้งสถานการณ์ต่าง ๆ ที่โหมกระพือเข้ามาเป็นระยะ ๆ ก็เป็นประดุจกาวล่องหนที่เชื่อมโยงทั้งคู่เข้าไว้ด้วยกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การแสดงของเอ็มม่า สโตนน่ารักกว่าทุกเรื่องที่เคยดูมา ใส่ชุดอะไรก็ดูดีไปหมด ส่วนไรอัน กอสลิง ก็เล่นได้ดีตามมาตรฐานของเขา แต่ด้วยความที่บทบาทของเขามีลักษณะเป็น Supporting อยู่กลาย ๆ จึงทำให้เขาไม่โดดเด่นเท่าที่ควร การเต้นของทั้งคู่อาจไม่ถือว่าสมบูรณ์แบบนัก แต่ความไม่สมบูรณ์แบบนี่เองที่ทำให้มันดูเข้าถึงได้ ถือเป็นความเรียลในโลกที่เซอร์เรียล นอกจากนี้ หนังยังมีกิมมิคเล็ก ๆ ที่เป็นควันหลงจากงานที่แล้ว (Whiplash) ที่ผู้กำกับจงใจใส่เข้ามาให้เราได้ขำกันอีกด้วย ส่วนจะเป็นอะไรนั้น ต้องไปดูเอาเอง

สีแดง สีชมพู และสีน้ำเงินครามดูจะเป็นสีที่ Damien Chazelle ใช้บ่อย สีแดงให้ความรู้สึกลับลับน่าค้นหา ดังเราจะเห็นได้จากบางมุมของมีอา และก็เป็นสีนี้เองที่ดึงดูดให้มีอาได้เจอกับเซบาสเตียน (จากประตูหน้าคลับแจ๊ส) สีชมพูให้ความรู้สึกเหมือนฝัน อัศจรรย์ และในขณะเดียวกันก็งดงาม เราจะพบได้จากฉากท้องฟ้ายามพลบค่ำระหว่างที่ทั้งคู่เริ่มตกหลุมรักกัน สีน้ำเงินครามให้ความรู้สึกที่สงบราบเรียบ แต่ทว่าก็สะท้อนให้เห็นถึงความหม่นเศร้าและสิ้นหวังของตัวละครในบางช่วง

ซาวนด์แทร็คที่ผมชอบมากที่สุดในเรื่องนี้คือ “City of Stars” แทร็คนี้ถูกเล่นในช่วงกลางเรื่องและฉากสุดท้าย ซึ่งเป็นฉากหนึ่งที่ถือเป็นไฮไลต์เด็ดของหนังเรื่องนี้ ความรู้สึกร้าวรานแต่งดงามที่ปะเดปะดังเข้ามาจนท่วมท้นไปด้วยความรู้สึกเต็มตื้นสะอื้นอยู่ลึก ๆ มันแทบจะเป็นบทสรุปที่ประมวลเอาเรื่องราวทั้งหมดมาเล่าไว้ในบทเพลงบทเดียว

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

...


แจ๊สกับ เดเมียน ชาเซลล์ เมื่อพิจารณาจากหนังสองเรื่องก่อนหน้านี้ “Guy and Madeline on a Park Bench” และ “Whiplash”เราจะเห็นว่าเดเมียนลุ่มหลงและผูกพันกับดนตรีแจ๊สมากเพียงใด ครั้งหนึ่ง เขาถึงกับเคยหัดตีกลองชุดด้วยตนเองจนมีฝีมือระดับหนึ่ง แต่กลับไม่ได้สานต่อเพราะผันตัวมาเป็นผู้กำกับเสียก่อน ถึงกระนั้นก็ไม่ลืมที่จะใส่ความหลงใหลนี้เข้าไปในหนังด้วย เขากล่าวว่า “ผมรักแจ๊สและโตมากับมัน แจ๊สคือดนตรีที่ผมรู้สึกผูกพันมากที่สุด” เขาได้รับอิทธิพลนี้มาจากพ่อที่เป็นแฟนเพลงแจ๊สตัวยง ดังนั้น จึงช่วยไม่ได้ที่ผมจะมองว่าเขาพยายามที่จะสอดแทรกความลุ่มหลงนี้ลงไปในตัวละครหลักของเขาทุกครั้งที่มีโอกาส เช่น นีแมน (Whiplash) และเซบาสเตียน เมื่อครั้งที่มีอาบอกกับเขาว่าเธอเกลียดแจ๊ส เซบาสเตียนถึงกับผงะ มุมมองของมีอาที่มีต่อแจ๊สนั้นเปรียบเสมือนตัวแทนมุมมองของคนทั่วไปที่ไม่เข้าใจความพิเศษของดนตรีแนวนี้ และเดเมียนในคราบเซบาสเตียนก็พยายามอธิบายให้มีอา (คนทั่วไป) เข้าใจถึงความลุ่มลึกของแจ๊สและตระหนักถึงความงดงามของมัน

สรุป
นี่เป็นหนังมิวสิคัลภาพอัศจรรย์ที่ควรค่าแก่การไปดูในโรงสักครั้ง


***คะแนนความชอบ: 9/10

รีวิวโดย: Mr.Blue

ที่มา: https://revieweryclub.wordpress.com/2017/01/03/la-la-land-review-by-mr-blue/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่