[CR] [Triam Tour Kae 2gather] ตอนที่ 1 : จะแก่แล้ว ไปไหน? แชร์ประสบการณ์เดินชมงาน Friendly Design Expo 2016


สวัสดีทุกๆคนค่ะ นี่เป็นกระทู้แรกของบทความชุด Triam Tour Kae

2gather  อ่านว่า "เตรียม-ตัว-เก๋-ทู-เก-เธอร"

ว่าจะตั้งให้ดูมีอะไรแต่รู้สึกจะไม่มี 5555

มาจาก

Triam = เตรียม ง่ายๆงี้เลย

Tour = ตัว/ทัวร์  

Kae = จริงๆก็คือคำว่า "แก่" อ่ะแหละแต่อ่านแล้วแสลง

ไปในทุกส่วนของร่างกาย ทุกคนก็เหมือนกันใช่มั้ย

รับไม่ได้ๆๆๆ เลยขอเรียกว่ามันคือ "ความเก๋" แทนได้มั้ย??

คิดดูสิ มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์มากนะ ที่คนๆนึงจะผ่านมรสุมชีวิต

ผ่านเรื่องราวทั้งร้ายและดีมา ยืดหยัดได้จนถึงบั้นปลายชีวิต ว่ามั้ย

ได้โปรดเห็นใจพวกเรา ณ จุดๆนี้ด้วยค่ะ

2gather นี้ ไม่ได้มาจาก together  แต่มาจาก 2 = สองคน

Gather = รวบรวม  เป็นไงๆ ดูลึกลับน่าค้นหา ใช่มั้ยล่ะ 555 (_ _)

จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ (หรือความไม่รู้?) เกี่ยวกับสถานการณ์

ในปัจจุบันของการเป็นสังคมผู้สูงอายุ (รวมถึงผู้บกพร่องทาง

ร่างกายด้วย ในบางกรณี)ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก

เพราะคิดว่าเป็นข้อมูลที่น่ารู้ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุแล้ว

หรือกำลังจะเข้าสู่วัยนี้ในอีกไม่กี่สิบปี

(เช่นเรา T T) มาเตรียมตัวเก๋ไปด้วยกันน้าา


_____________________________________


วันนี้จะมาแชร์ประสบการณ์ที่ได้ไปเดินชมงานมาค่ะ งานนี้มีขึ้นเมื่อ

ปลายเดือนที่แล้วจนถึงต้นเดือน เราเองไปมาวันที่ 1 ธ.ค. วันเดียว

ดังนั้น อาจไม่สามารถนำเสนอได้ครบทุกมุม ก็เลยจะขอแชร์

ในส่วนที่ได้เจอมาละกันนะ



ทำไมถึงสนใจรีวิวงานนี้ :  เราเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ ยังไม่ทราบ

ว่า Friendly Design หรืออารยสถาปัตย์ (Universal Design)

คืออะไร มีประโยชน์และผลยังไงบ้างกับชีวิต เราก็ไม่รู้หรอก - _-

แต่เดิมเราสนใจเรื่องสังคมผู้สูงอายุอยู่แล้ว อารยสถาปัตย์เอง

ก็เหมือนเป็นของคู่กัน เลยเคยได้ยินมาบ้าง ก็คิดว่าน่าสนใจดีนะ

อยากรู้จักให้มากขึ้น แต่ลองหาข้อมูลดูแล้ว พบว่าข้อมูลส่วนใหญ่

เป็นภาษาอังกฤษ มีภาษาไทยนิดเดียวเอง

พอเห็นข่าวว่าจะเกิดงานนี้ขึ้นก็เลยว่าลองมาดูซะหน่อย

เผื่อจะเข้าใจ เห็นภาพได้มากขึ้นน่ะ




สิ่งที่เราได้รู้จากงานนี้มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย


1. ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว! ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548

(ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ)  



2. คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

โดยสมบูรณ์ (มีประชากรอายุ 60 ปี ร้อยละ 20 จากประชากร

ทั้งหมด) ในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า!! คือ ประมาณ ปี พ.ศ. 2568

(ข้อมูลจากแผ่นพับสถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ)



3. โดยในแถบอาเซียน (ASEAN) มีประเทศสิงคโปร์กับไทย

ที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เร็วกว่าประเทศอื่นๆ



4. งานนี้มีชื่อว่า Friendly Design Expo 2016 จัดขึ้นระหว่าง

วันที่ 30 พ.ย. ถึงวันที่ 3  ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา ณ ฮอลล์ 6

อิมแพค เมืองทองธานี



5. งานนี้จัดขึ้น โดยมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล

(Friendly Design For All Foundation) ที่มีคุณอ๋อย

ดร.กฤษนะ ละไล (คนที่เป็นนักข่าวอ่ะค่ะ สงสัยเปลี่ยนชื่อ

ถ้าผิดขออภัย) เป็นประธาน ร่วมด้วยกว่า 117 องค์กร

ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน



6. มีเป้าหมายที่สำคัญ 2 ประการ คือ

(1) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเดินหน้าประเทศไทยสู่เป้าหมาย

“เมืองศูนย์กลางทางด้านอารยสถาปัตย์” ในภูมิภาคอาเซียน

(2) เพื่อร่วมกันส่งเสริม พัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทย

และกลุ่มอาเซียน ให้เป็น “เมืองท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล”

(ข้อมูลจากนิตยสารของงาน)



7. เข้าไปถึงงานเลยก็เจอ ผศ.ดร. อันธิกา สวัสดิ์ศรี

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน

รวมถึงเป็นทูต Universal Design กำลังบรรยายแนะนำ

ความเป็นมาและสถานการณ์ของอารยสถาปัตย์

(Universal Design) ในประเทศไทยยุคปัจจุบัน



8. มูลนิธิอารยสถาปัตย์มีต้นแบบมาจากต่างประเทศ

ได้แก่ ในประเทศญี่ปุ่น ที่มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุจำนวนมาก



9. นอกจากมูลนิธิอารยสถาปัตย์แล้ว ประเทศไทยยังมีองค์กร

ที่ชื่อว่า ศูนย์วิจัยและสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน

หรือ IDEar (Inclusive Designed Environment and Research)  

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า

เจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาช่วยในการออกแบบ ปรับปรุงบ้าน

และสถานที่ต่างๆในสังคมให้สะดวกแก่ผู้ใช้ทุกคน

  

10. กลุ่มเป้าหมายที่องค์กรสนใจนอกจากผู้ที่ต้องนั่งรถเข็นแล้ว

ยังรวมถึงบุคคลผู้บกพร่องทางกายภาพด้านอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุ

ผู้บกพร่องทางสายตา ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรค จากการออกแบบ

ที่ไม่รองรับการใช้งานจริงของบุคคลกลุ่มนี้ เช่น พื้นฟุตบาทที่

ไม่เรียบ การก้าวขึ้นรถเมล์ที่ไม่สะดวก เพราะไม่มีบันได 3 ขั้น

มารองรับ เป็นต้น



11. ตัวอย่างการปรับปรุงบ้านให้เป็นอารยสถาปัตย์ เช่น

- เคาน์เตอร์ครัวมีช่องให้รถเข็นเข้า

- มีปลั๊กระดับต่ำ เห็นง่าย

- ที่จอดรถมีช่องกว้างกว่าปกติรองรับการเคลื่อนย้ายตัวไปยังรถเข็น


    
12. ตัวอย่างนวัตกรรมใหม่ด้านอารยสถาปัตย์ เช่น

- การประดิษฐ์ขาเทียมที่เรียวเหมือนขาจริง โดยมีถุงน่องปิดไว้

อีกทีหนึ่ง

- การประดิษฐ์รอกสำหรับนำบุคคลนั่งรถเข็นลงไปจับปลาในน้ำ


    
13. นอกจากนี้การนิยาม ปัญหาทางอารยสถาปัตย์

(Universal Design) ยังหมายรวมถึงนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ

ต่างภาษาที่มาเที่ยวในประเทศไทย แล้วงุนงงกับแผนที่

เพราะอุปสรรคความเข้าใจทางภาษา หรือสัญลักษณ์

ทำให้เกิดอุปสรรคด้านการสื่อสารอีกด้วย



14. โครงการรูปธรรมที่ผ่านมามีการลงพื้นที่สำรวจ

แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอ่างทอง


ยกตัวอย่างที่ละเอียด คือที่วัดม่วง

  ปัญหาก่อนปรับปรุง :

- ใช้บล็อกที่มีรู มีช่องทำให้ไม้เท้าสามารถทิ่มลงไปในช่องว่าง

รถเข็นเข็นผ่านได้อย่างยากลำบาก


แก้โดยปูพื้นคอนกรีตเรียบหรือถมดินให้เต็มช่องนั้น พร้อม

ปลูกหญ้ากันล้ม

- ตะแกรงอยู่แนวเดียวกับล้อ ทำให้ล้อรถเข็นติด


แก้โดยวางตะแกรงให้ขวางทางระบายน้ำหรือเป็น

ตะแกรงวงเล็กๆแทน

- ไม่มีพื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับผู้บกพร่องทางสายตา

ติดในแต่ละขั้นของบันได

-อักษรเบลล์ บอกตำแหน่งตู้บริจาค

- ราวจับโถสุขภัณฑ์ด้านข้างที่ยกขึ้นได้ เพราะบางคน

ถนัดย้ายตัวด้านข้าง

- มีลิฟต์สำหรับผู้บกพร่อง ผู้สูงอายุจริงแต่ไม่มีคนดูแลช่วยเหลือ

- ทางเข้าโบสถ์มีบันไดที่ชัน ไม่มีราวจับ วัสดุปูพื้นลื่น



15. แบ่งประเภทบูธที่มาได้เป็น 3 ส่วน คือ

15.1 บูธผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ๆในการดูแล

** คำเตือน: ภาพมีคุณภาพที่สยองมาก โปรดระมัดระวังในการรับชม


- หุ่นยนต์ดินสอมินิ รุ่นดูแลผู้สูงวัย





- application Krazip ช่วยนำทางผู้บกพร่องทางสายตา

(จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัทเอ็นเทอร์คอร์ปอเรชั่น จำกัด)


- สถาบันเทคโนโลยีเพื่อคนพิการและผู้สูงอายุ

ของสวทช. (NSTDA)


- ตู้ TTRS (ศูนบ์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย) ของกสทช.




-อุปกรณ์รับประทานอาหารสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรค

หลอดเลือดสมองระยะฟื้นฟู (โรงพยาบาลสมเด็จ

พระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุจังหวัดชลบุรี)




- ไม้เท้าผู้สูงอายุชาร์จแบต มีไฟเลเซอร์สีเขียวช่วยเป็นขอบเขต

เวลาก้าวเดิน

(ศูนย์โรคพาร์กินสัน คณะแพทย์ จุฬาฯ)




- นาฬิกาช่วยดูแล Aider Care (บริษัท Baselab จำกัด)



- สร้อยคอช่วยดูแล Sookjai (Atapy จำกัด)


-สีกันลื่นไร้กลิ่น American Safety  (ผู้แทน บริษัทวชิรธร จำกัด)




- Easy Home Lift (บริษัท สุพล วิศวกรรม จำกัด)


- อิฐทางเดินแม่เหล็ก และไม้เท้าสำหรับนำทาง

(สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)





15.2 การช่วยเหลือให้มีงานทำ


- โครงการคนพิการต้องมีงานทำ มูลนิธินวัตกรรมสังคม สสส.



15.3 สถานที่รองรับ


- Diane Pattaya Resort

- จ.น่าน

- จ.อ่างทอง

- บ้านตัวอย่าง (สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย)















16. ข้อติชม ข้อเสนอแนะ


ภาพรวมของงาน : งานคึกคักดีค่ะ คนมาเดินเยอะ

มีทั้งคนตั้งใจมาเดินงานเพราะเรื่องอารยสถาปัตย์จริงๆกับอีกส่วนมาดูงาน

ศิลปะพระกริ่งหนุมานรุ่นปลุกเสก (ไม่แน่ใจชื่อรุ่นนะคะ) ของอาจารย์เฉลิมชัย

ซึ่งเราไม่ได้ว่าอะไรนะคะ แล้วแต่ความสนใจของแต่ละคนแค่รายงาน

สถานการณ์ตามที่เห็นเท่านั้น


ความใส่ใจของเจ้าหน้าที่ประจำบูธ : ส่วนใหญ่ดีมากๆเลยค่ะ เห็น เราหยุดอยู่

หน้าบูธ ก็รีบออกมายื่นเอกสารพร้อมอธิบายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้ฟังอย่าง

กระตือรือร้น แต่ก็มีบางบูธเหมือนกัน ซึ่งถือเป็นส่วนน้อยมากๆๆๆ เราก็ยืนดู

ตั้งนานอ่ะ คือสนใจผลิตภัณฑ์นะ แต่คุณพี่ก็ยังนั่งเท้าคางชิวๆ ที่ไม่หือไม่อือ

หรือดิชั้นเตี้ยไปจนมองไม่เห็นเลยใช่มั้ยคะ T T หวังว่าปีต่อไปจะดีขึ้นนะ



ความน่าสนใจของบูธ : เห็นว่าบูธส่วนใหญ่ยังจัดได้ไม่ค่อยน่าสนใจ คือ มีบูธ

มีเอกสารวางบนโต๊ะให้หยิบได้ ข้างๆเป็นผลิตภัณฑ์ไม่ตกแต่งอะไรมากนัก

ค่อนข้างเรียบๆ แต่เข้าใจนะเพราะเป็นปีแรก แต่ที่ทำสวยๆก็มีนะ

บูธของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่ปรับปรุงเมืองน่านอ่ะค่ะ (มัวแต่ถ่ายรูป

แบบแปลน เลยลืมถ่ายซุ้มมาเลยอ่ะ)

ในสายตาเราคิดว่าทำได้ดีมาก ให้บรรยากาศของภาคเหนือ มีป้ายขนาดใหญ่

แสดงรายละเอียดการปรับปรุงโรงแรม รีสอร์ทให้เป็นแบบอารยสถาปัตย์

(Universal Design) ก่อนและหลังอย่างละเอียดยิบ มีแบบแปลนมาให้ส่อง

ทุกมุม แบบถ่ายรูปแล้วสร้างตามได้เลย ชอบมากค่ะ

แล้วก็มีบ้านตัวอย่างอารยสถาปัตย์ด้วยนะของสถาบันการก่อสร้าง

แห่งประเทศไทย แบบแปลนดีมาก แต่เท่าที่ดูไม่มีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับ

การสร้างบอกไว้เลย เช่น มาตรฐานการสร้างบ้านแบบนี้

ทางเข้าบ้านต้องมีองศาความลาดชันเท่าไหร่

ขนาดห้องน้ำที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้ที่นั่งรถเข็น เป็นอย่างไร

ความสูงของอ่างล่างมือจากระดับพื้น ฯลฯ ยังเสียดายแทนเลย

ถ้าบอกรายละเอียดมาสักหน่อย พร้อมวางแจกแผ่นพับแบบแปลนเอาไว้นะ

คงจะเป็นอะไรที่สมบูรณ์แบบสุดๆไปเลย  คนมาชมงานคงรู้สึกฟินที่มีตัวบ้าน

แบบอารยสถาปัตย์มาให้เห็นกันเป็นรูปธรรม

_________________________________

บทความตอนต่อไปจะมาว่าด้วยเรื่องความรู้เกี่ยวกับอารยสถาปัตย์

(Universal Design) ที่คนไทยควรรู้ โปรดติดตามกันด้วยนะคะ

_________________________________

ป.ล. ตรงไหนเห็นว่าไม่ถูกต้อง บอกกันมาได้เลยนะ

พร้อมรับฟัง เราเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญอะไร เป็นประชาชนคนหนึ่ง

ที่สนใจอยากรู้เรื่องนี้ก็เลยหาข้อมูลดู เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วย

เผยแพร่เรื่องนี้ อย่างน้อยที่สุด คือ มีความรู้มากพอที่จะนำไป

เป็นแนวทางปรับปรุงบ้านของแต่ละครอบครัวให้รองรับผู้สูงอายุ

ในบ้านได้ อาจจะเป็นทั้งผู้สูงอายุในปัจจุบัน ซึ่งก็คือ คุณพ่อคุณแม่

ของเราเอง หรือญาติพี่น้องรอบๆตัวเราก็ตาม และผู้สูงอายุในอนาคต

ซึ่งก็คือตัวเรา ที่เป็นผู้ใหญ่ในวันนี้นั่นเอง เพราะเป็นอนาคตที่มองเห็นได้

ว่าจะเกิดขึ้นแน่นอนในเวลาอันใกล้ ถ้าไม่เริ่มสะสมความรู้ตั้งแต่วันนี้

พอเวลานั้นมาถึง เราก็อาจจะแก้ไขไม่ทันแล้วก็ได้

เอ๊ะ ทำไมปิดท้ายราวมาขายประกัน 555 ไปละ เจอกันใหม่กระทู้หน้าค่ะ
ชื่อสินค้า:   Friendly Design Expo 2016
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่