+ + + เรื่องเล่าในอดีต . . . นาวานแก่ข้าว (Pechnamnil) + + +

ตอนนี้ที่บ้านของเพชรน้ำนิลย่างเข้าสู่หน้าหนาวเต็มตัวแล้วนะคะ อาทิตย์ก่อนอากาศเย็นมากๆ  อูย..ย..ย แทบไม่อยากออกจากบ้านไปไหนเลย

ตั้งใจไว้ว่าจะออกไปถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นมาหลายวันแล้ว แต่ความตั้งใจเป็นต้องละลายหายไปกับสายหมอกตอนสายๆทุกวันเลยค่ะ




กระทู้ที่แล้ว เพชรน้ำนิลทิ้งท้ายไว้ว่า จะมาเล่าเรื่องการขนข้าวขึ้นยุ้งของชาวนาภาคอีสานในสมัยก่อนใช่ไหม ?
ไปเสิร์ทดูในเน็ต ไม่มีรูป “กระโสบข้าว” และ “กองคาราวานเกวียน” ที่พอจะนำมาประกอบกระทู้ได้เลย ก็ไม่รู้ว่าเขียนไป คนที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็น จะพอนึกภาพออกมั๊ยนะ ?

กิจกรรมสุดท้ายของการทำนาในรอบปี ก่อนจะถึงเทศกาลแห่งความสุขสนุกสนานรื่นเริงของเทศกาลปีใหม่ นั่นก็คือ “การแก่ข้าวขึ้นเล้า” (ภาษาท้องถิ่น) หรือ การขนข้าวขึ้นเก็บไว้ในยุ้งฉางเพื่อรอขายและเก็บไว้กินเองในแต่ละรอบปี

หลังจากฟาดข้าว (ตีข้าว) เสร็จ ได้ข้าวเปลือกกองเต็มลาน ชาวนาคนที่ยึดถือประเพณีเคร่งครัด ก็จะหาฤกษ์หายาม เพื่อจะทำพิธีขนข้าวขึ้นยุ้ง แต่ทั้งนี้ก็ต้องรีบเร่งให้เร็วที่สุด ไม่งั้นอาจเจอฝนหลงฤดูที่มักจะมาในช่วงกลางๆเดือนธันวาคม หรือ ช่วงก่อนปีใหม่



ซึ่งถ้าใครโชคร้ายเจอฝนหลงฤดูอย่างว่า แทนที่จะได้หยุดพักและเตรียมตัวรอรับเทศกาลแห่งความสุขในช่วงปีใหม่อย่างชื่นมื่นเหมือนคนอื่นเค้า ก็ต้องกลับมาทำลานและตากข้าวให้แห้งใหม่อีกครั้ง เพราะถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว ข้าวเปลือกที่โดนฝน ได้รับความชื่น ถ้าปล่อยไว้แค่สองสามวันมันจะงอกราก หรือไม่ก็เน่า เกิดความเสียหายแก่ชาวนาเป็นอย่างยิ่ง

การจะขนข้าวขึ้นยุ้ง นับว่าเป็นงานหนักครั้งสุดท้ายแห่งฤดูกาลทำนาของชาวนา ซึ่งไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ เพราะเป็นงานที่ต้องใช้กำลังคนและแรงงานมาก  ยิ่งถ้าหากใครได้ข้าวเยอะกองข้าวใหญ่เต็มลาน ยิ่งต้องคิดหนัก ชาวนาทางภาคอีสานสมัยก่อน ส่วนใหญ่จะยากจน ไม่มีเงินมากพอที่จะจ้างแรงงาน จึงมักใช้วิธี “นาวาน” หรือ “ลงแขก” นั่นเอง

เมื่อกำหนดวัน ฤกษ์งามยามดีที่จะขนข้าวขึ้นยุ้งแล้ว  เจ้าภาพจะไปว่าจ้างคนที่มีเกวียน  การว่าจ้างเกวียนให้ไปขนข้าวจากนามาขึ้นยุ้งนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณข้าวที่มีในลาน ถ้าในลานมีข้าวกองใหญ่ ยิ่งต้องว่าจ้างเกวียนไว้หลายๆเล่ม เพื่อที่จะได้ขนรอบเดียวจบ แต่ถ้าว่าจ้างเกวียนได้น้อยเล่ม ก็ต้องขนกันหลายรอบหน่อย ใครที่มีนาอยู่ไกลบ้าน ก็ต้องทำใจว่าค่าจ้างเกวียนอาจจะแพงซักนิด



สมัยก่อนการทำนาเป็นเรื่องลำบากและยุ่งยาก หน้านาคือฤดูกาลแห่งการลงทุนและการกู้ยืม นายังไม่เสร็จ นั่นหมายถึงว่าชาวนายังไม่ได้ขายข้าว ยังไม่มีรายได้ ดังนั้นการว่าจ้างอะไรต่างๆ จึงมักจะเอาข้าวในนา หรือ ในลาน เป็นค่าจ้างแทนเงิน

อย่างการว่าจ้างเกวียนไปขนข้าวนี่ก็เช่นกัน ส่วนใหญ่จะตกลงกันว่า ค่าจ้างจะเป็นข้าวกี่หมื่น ในแต่ละรอบ (หมื่น คือ กระบุงตวงข้าว  1 หมื่น = 12 กก.)  เจ้าของเกวียนบางคนใจดีมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ ก็คิดถูกๆ บางเจ้าคิดเกวียนละหมื่นหรือสองหมื่น บางเจ้าไม่คิดค่าจ้างก็มี แต่บางเจ้าเป็นนักธุรกิจก็คิดแพงๆ รอบละ3 -4 หมื่นก็มี

เมื่อว่าจ้างเกวียนและนัดแนะกันได้เรียบร้อยแล้ว เจ้าภาพก็จะไปไหว้วานเพื่อนบ้าน แจ้งข่าวว่าตัวเองจะขนข้าวขึ้นยุ้งวันที่เท่าไหร่ ขอไหว้วานให้เจ้าของบ้านนี้ส่งคนไปร่วมงาน
  
การที่จะไปไหว้วานใคร ครอบครัวไหน เจ้าภาพก็ต้องดูความเหมาะสมด้วย ไม่ใช่เจอใครก็ไหว้วานเค้าไปหมด คนที่ไปไหว้วานต้องมีจิตวิทยาในการพูด ต้องมีวาทศิลป์ในการบอกกล่าวให้คนอื่นอยากจะมาช่วยเหลือหรือมาร่วมงานด้วยความเต็มใจ
  
บางทีการไปไหว้วานเพื่อนบ้านแต่ละบ้าน ก็แตกต่างวัตถุประสงค์กันออกไป อย่างเช่น บ้านนี้มีลูกสาวทำกับข้าวเก่ง ก็ไปไหว้วานให้มาช่วยทำกับข้าวเลี้ยงแขกที่มาช่วยงาน หรือ บ้านนี้มีลูกชายร่างกายแข็งแรงบึกบึน ก็ไหว้วานให้มาช่วยขนข้าวตักข้าวขึ้นเกวียนขึ้นยุ้ง หรือ บางทีก็ไปบอกกล่าวกันให้มาช่วยเป็นกำลังใจเฉยๆก็มี




การนาวานลงแขกขนข้าว ก็เหมือนการที่เราจะจัดงานเลี้ยงอื่นๆทั่วไป จะจัดเป็นงานใหญ่งานเล็กก็แล้วแต่เจ้าภาพจะกำหนด  เจ้าภาพจะเตรียมข้าวปลาอาหาร เหล้ายาปลาปิ้ง ไว้สำหรับเลี้ยงแขกที่มาช่วยงาน ให้อิ่มหนำสำราญ ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ทั้งอาหารเช้าก่อนเริ่มงาน  อาหารกลางวันระหว่างทำงาน และอาหารเย็นหลังเสร็จงาน

เมื่อถึงวันนัดหมายนาวาน เจ้าของเกวียนก็จะนำเกวียนใส่กระโสบเตรียมพร้อม  บ้านไหนที่เจ้าภาพไปบอกกล่าวไหว้วานไว้ ก็จะส่งตัวแทนมาช่วยงาน จะแบ่งกันทำงานออกเป็นกลุ่มๆ

เมื่อได้เวลา เกวียนทุกเล่มมาพร้อมกันแล้ว แบ่งกลุ่มทำงานกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขบวนเกวียนก็ออกเดินทางไปยังนาที่มีกองข้าวกองอยู่ในลาน  กลุ่มหนึ่งไปกับขบวนเกวียนเพื่อตักตวงข้าวจากกองในลาน ขึ้นเทใส่กระโสบเกวียนแต่ละเล่ม

“กระโสบ” คือ ภาชนะจักสาน มีรูปทรงคล้ายกระบุงขนาดใหญ่ เพื่อเอาไว้ใส่ข้าวเปลือกเวลาขนย้ายจากลานขึ้นเก็บไว้ในยุ้ง (ดูรูปประกอบ) ส่วนใหญ่จะใช้คู่กับพาหนะคือเกวียน  ข้าวหนึ่งกระโสบเกวียน จะบรรจุได้ประมาณ 7 – 800 กก. (หรือถ้าเกวียนใหญ่กระโสบใหญ่ อาจจะบรรจุได้ถึง 1,000 กก.)

** จึงน่าจะเป็นที่มาของการเรียกหน่วยชั่งตวงข้าวเป็นเกวียน  ข้าว 1 เกวียน = 1,000 กิโลกรัม ( 1 เมตริกตัน)  คหสต. **

เมื่อตักข้าวขึ้นเกวียนจนเต็มทุกเล่มแล้ว ข้าวในลานอาจจะยังไม่หมดกอง คนตักก็ต้องรอเกวียนกลับมาอีกรอบ แต่แบ่งกำลังส่วนหนึ่งกลับไปกับขบวนเกวียน เพราะบางทีขบวนเกวียนที่บรรทุกข้าวอาจเจอปัญหาระหว่างทางจะได้ช่วยกันได้



บางครั้งตอนขาไป เกวียนเปล่าไม่หนักก็ไม่ติดหล่ม แต่ตอนขากลับ เกวียนบรรทุกข้าวเต็มกระโสบน้ำหนักหลายร้อยกิโล ทางเกวียนเป็นหลุมเป็นบ่อ ทั้งดินโคลนดินทราย อาจจะติดหล่ม ลำพังแค่กำลังควายหรือวัวสองตัวลาก อาจไม่พอ ต้องใช้กำลังคนเข้าช่วยเข็น หรือแม้กระทั่งต้องแบ่งข้าวออกจากกระโสบออกมาก่อน เพื่อให้เบาลง วัวควายจะได้ลากผ่านไปได้ หรือบางทีอาจจะต้องตัดทางเกวียนใหม่ ถ้าทางเดิมมันติดหล่มจริงๆ  .... หรือบางทีวัวควายก็เหนื่อยเกิดดื้อขึ้นมา ไม่ยอมก้าวขาเสียเฉยๆก็มี ... สารพัดปัญหาที่จะต้องเจอระหว่างทาง

เมื่อขบวนเกวียนมาถึงแล้ว คนขับเกวียนก็จะเทียบเกวียนเข้ากับชานยุ้งข้าว เมื่อได้ที่แล้ว เจ้าของเกวียนจะใช้ไม้ค้ำคอเกวียนไว้ แล้วถอดวัวหรือควายออกจากเกวียน พามันไปกินน้ำกินหญ้า  จากนั้นหน่วยงานกลุ่มที่ 2 ก็จะมายืนเรียงแถวกันใช้ครุถัง หรือ ภาชนะอื่นๆแล้วแต่จะหาได้ ตักข้าวจากกระโสบเกวียน ส่งต่อกันขึ้นไปเทกองไว้ในยุ้ง

ต้องเร่งเวลาช่วยกันถ่ายเทข้าวออกจากเกวียนให้เร็วที่สุด เพราะต้องนึกถึงเกวียนเล่มที่จอดรอตามหลังอยู่ สงสารวัวควายที่เทียมเกวียนอยู่ มันทั้งหนักทั้งเหนื่อยทั้งร้อน  ใจคนต้องนึกถึงใจวัวใจควายด้วย ... สิ่งเหล่านี้คือ จิตสำนึกพื้นฐานที่ต้องมี

เมื่อขนข้าวจากลานขึ้นยุ้งเสร็จแล้ว หลังจากนั้นก็จะเป็นการร่วมรับประทานอาหาร เหล้ายาปลาปิ้งต่างๆที่เตรียมไว้ ก็ทยอยกันออกมา คนทำงานมาหนักเหนื่อยตลอดทั้งวัน ก็พากันทานข้าวอย่างเอร็ดอร่อย และสนุกสนาน ร้องรำทำเพลงฉลอง ผู้เฒ่าผู้แก่ก็มาทำพิธีไหว้แม่โพสพ นำดอกคูณหรือถ้าไม่มีก็นำใบคูณ (ดอกราชพฤกษ์) มาเสียบรอบมุมยุ้งข้าว เพื่อความเป็นศิริมงคลและเพิ่มพูนคูณข้าวในยุ้งให้ได้มากขึ้นๆในปีต่อๆไป



เพชรน้ำนิลเอง จำได้ว่าตอนเด็กๆที่พ่อนาวานขนข้าว เป็นอะไรที่ต้องตั้งตารอเลยทีเดียว เพราะมันสนุกที่จะได้ขี่เกวียนไปดูเค้าขนข้าว อยากจะขับเกวียนบ้าง ถึงกับอ้อนขอร้องคุณลุงเจ้าของเกวียนให้ช่วยสอน  แต่การบังคับวัวควายที่เทียมเกวียนให้ไปตามทิศทางที่เราต้องการนั้นยากมากๆ  วัวควายเค้าก็รู้ว่าใช่เจ้าของเค้ารึป่าว

พอน้ำหนักมือที่ถือบังเหียนเปลี่ยนไป เค้าก็จะดื้อไม่ฟังคำสั่ง ดังนั้นคุณลุงเจ้าของเกวียนก็อนุญาตให้ถือได้แต่เชือกและนั่งบนตักคุณลุงเท่านั้น ส่วนการบังคับเกวียนจริงๆ ก็ยังเป็นคุณลุงเหมือนเดิม แต่แค่นี้เพชรน้ำนิลก็ฟินมากๆแล้ว ไปโรงเรียนก็คุยโอ่กับเพื่อนได้เป็นปีๆ  ...

Merry Christmas ค่ะ



ปล. ขอบคุณเจ้าของภาพที่ 2 , 3 , 5 , 6 จากกูเกิลนะคะ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 11
กระทู้ดีมาก เล่าซะเห็นภาพเลย

เทคโนโลยี่ ก้าวไปไกลมาก แต่ถ้าเราเอามาใช้ทั้งหมด สิ่งที่ขาดหายไปก็คือ

"ความเป็นมนุษย์"  ตัวอย่างจากในกระทู้  ถ้าทุกขั้นตอนของเรื่อง ข้าว  ใช้เทคโนโลยี่

สมัยใหม่เข้าไปแทนที่ทั้งหมด  ความเอื้อเฝื้อเผื่อแผ่  ความมีน้ำใจ  ความสามัคคี ความรักที่มีให้กันในชุมชน

ก็จะขาดหายไป  เสน่ห์ที่หาไม่ได้ในเมืองกรุง ก็จะหมดไป  


โลกทุกวันนี้  คนส่วนใหญ่ดิ้นรนไขว่คว้าแต่เงินตรา อำนาจ บารมี  จะมีสักกี่คน ที่จะค้นหาความสุขตามธรรมชาติ

อย่างที่ จขกท บรรยาย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่