((มาลาริน)) อุ้มไก่มาไชโยโห่หิ้ววว...@^_^@ ยางพารา ขาขึ้นราคาพุ่ง 80 บาท/กก. จีนบุกซื้อตรง-เศรษฐกิจต่างจังหวัดฟื้น...

กระทู้คำถาม
ตอนมาห้องนี้ใหม่ๆ..มาลารินจำได้ว่าพี่ๆในห้องนี้ถกเถียงกันเรื่องยางพาราราคาตกต่ำ..และเรื่องพื้นที่ปลูกยางพารา..

แต่มาลารินไม่ทราบเรื่องยางพาราสักนิ๊ด  ได้แต่อ่านๆและก็ลุ้นให้ยางราคาขึ้น..แต่มันก็ลงไปเรื่อยๆ..แอบเสียใจเงียบๆค่ะ นานาเสียใจนานาเสียใจนานาเสียใจ

แต่มาตอนนี้มาลารินอ่านเจอว่า..ยางราคาขึ้นก็อดดีใจไม่ได้..
ดีใจจริงๆเลยนะคะ...เลยขอตั้งกระทู้บอกเล่าค่ะ

นานาชอบนานาชอบนานาเชิดนานาเชิดนานาเชิด

รัฐโล่ง-ชาวสวนยางตีปีก ราคายางพุ่งพรวดทะลุ 80 บาท/กก. ชี้ปัจจัยภายใน-นอกประเทศหนุน ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยเกินคาด ศก.โลกกระเตื้อง น้ำมันขึ้น แถมสต๊อกยางจีน-ญี่ปุ่นลดฮวบ ฝุ่นตลบพ่อค้าจีนบุกถึงถิ่นกว้านซื้อตรงจากสหกรณ์ สถาบันเกษตรกร 5 เสือส่งออกดิ้นแข่งเสนอราคาสู้ นักธุรกิจชี้ปลุกกำลังซื้อต่างจังหวัดรับปีใหม่ หุ้นกลุ่มยางดี๊ด๊าพลอยได้อานิสงส์ ด้านผู้ว่าการ กยท.ฟันธงเทรนด์ราคายางขาขึ้นถึงปีหน้า

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานการณ์ราคายางพาราที่พุ่งขึ้นในช่วงนี้ส่งผลดีต่อเกษตรกรในพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศ และน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม โดยล่าสุดวันที่ 16 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา ราคาประมูลซื้อขายยางในตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ 80.29 บาท/กก. ทะลุ 80 บาท/กก. เป็นครั้งแรกหลังตกต่ำมานานกว่า 3 ปี มองทิศทางราคายางในตลาดโลกเบื้องต้นขณะนี้อาจกล่าวได้ว่าแนวโน้มราคาเริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยบวกที่เกิดขึ้นทั้งภายในและนอกประเทศ

ปัจจัยภายในมาจากนโยบายรัฐบาลกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ดำเนินโครงการลดพื้นที่ปลูกยาง และควบคุมปริมาณผลผลิตควบคู่กับส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพยาง บวกกับปัจจัยธรรมชาติมีฝนตก น้ำท่วมในพื้นที่ปลูกยาง เป็นต้น ทั้งหมดนี้ถือเป็นซัพพลายไซด์ ทำให้ผลผลิตยางมีปริมาณลดลง ขณะเดียวกันในส่วนของดีมานด์ไซด์ เศรษฐกิจโลกฟื้นและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น เงินดอลลาร์แข็งค่า ค่าเงินเยน เงินบาท รวมทั้งเงินสกุลอื่น ๆ อ่อนค่าลง จึงส่งผลดีต่อการส่งออก รวมถึงความต้องการใช้ยาง บวกกับจีนผู้ใช้ยางรายใหญ่เพิ่งประกาศตัวเลขการลงทุนของต่างประเทศในจีน พบว่าตัวเลขพุ่งสูงขึ้นด้วย ปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้เศรษฐกิจโลกรวมทั้งราคายางปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่กระทรวงเกษตรฯ และ กยท.ให้ความสำคัญคือการรักษาเสถียรภาพด้านราคา และต้องการเห็นราคายางแกว่งในกรอบแคบ ๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างวางแผนจัดทำนโยบายรองรับ ส่วนระดับราคายางจะพุ่งทะลุ 100 บาท/กก.หรือไม่ คงไม่พุ่งสูงเหมือนหลายปีก่อนหน้านี้ที่เศรษฐกิจจีน กับอินเดียขยายตัวรวดเร็วพร้อม ๆ กัน แต่แนวโน้มยังเป็นเทรนด์ขาขึ้น เกษตรกรจะได้รับผลดี ซึ่งจะส่งผลบวกต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจด้วย

ราคายางดีดทะลุ 80 บาท/กก.

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานจากการสำรวจพบว่า สถานการณ์ราคายางพารายังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ย. 2559 ล่าสุดวันที่ 16 ธ.ค. 2559 ราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาพุ่งทะลุ 80.29 บาท/กิโลกรัม ยางแผ่นดิบ 77.25 บาท/กก. น้ำยางสด (ณ โรงงาน) 66.50 บาท/กก. ราคา FOB กรุงเทพฯ 85.70 บาท/กก. RSS 3 โตเกียว 85.23 บาท/กก. ส่วนยางก้อนถ้วยที่ซื้อขายในภาคอีสาน ภาคเหนือ ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 33-35 บาท/กก. จึงนับเป็นข่าวดีสำหรับชาวสวนยาง และผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ เพราะยางราคาดีได้เข้ามาช่วยเติมกำลังซื้อในต่างจังหวัดให้คึกคักขึ้นในช่วงสิ้นปีนี้หลังจากซบเซามานาน

อานิสงส์ปัจจัยบวกใน-นอก

แหล่งข่าวจากวงการยางพาราเปิดเผยว่า สาเหตุที่ราคายางพุ่งมาจากหลายปัจจัย อาทิ ราคายางตลาดล่วงหน้าโตเกียวปรับตัวสูงขึ้น จากค่าของเงินเยนและเงินบาทที่อ่อนค่า โดยเฉพาะเยนอ่อนค่าที่สุดในรอบกว่า 10 เดือน ประกอบกับนักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และธนาคารกลางยุโรปจะยังคงเดินหน้าใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

ขณะที่องค์การสวนยาง (อสย.) ก็เริ่มเข้ามาซื้อยาง รวมถึงปริมาณยางที่ออกสู่ตลาดน้อย เนื่องจากฝนตกหนักในภาคใต้ของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ไม่เพียงพอกับความต้องการซื้อของผู้ประกอบการในประเทศ และผู้ผลิตยางล้อในประเทศญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป และอินเดีย 

สต๊อกยางจีน-ญี่ปุ่นลดฮวบ

นอกจากนี้ ราคายางยังได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และนอกกลุ่มโอเปก ลดกำลังการผลิตน้ำมันเริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. 2560 เป็นต้นไป ทำให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้นจากราคายางสังเคราะห์ที่ผลิตจากน้ำมันจะปรับตัวขึ้น

ทั้งนี้ช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือน ต.ค. ไทยส่งออกยางทั้งสิ้น 3,139,314 ตัน ลดลง 8.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนมูลค่าส่งออกรวม 132,329.33 ล้านบาท ลดลง 20.08% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ทำให้สต๊อกยางพาราทั้งของจีนและญี่ปุ่นลดลงกว่าปกติ ในขณะที่เศรษฐกิจจีนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเริ่มฟื้นตัวในหลายด้าน ความต้องการใช้ยางมีเพิ่มขึ้น

จีนส่งทีมซื้อตรงในแหล่งผลิต

แหล่งข่าวกล่าวว่า ล่าสุดปัจจัยที่ดึงให้ราคายางพาราสูงขึ้นมาจากบริษัทเอกชน และรัฐวิสาหกิจของจีนเริ่มบุกเข้ามาซื้อยางพาราโดยตรงจากสถาบันเกษตรกร และพ่อค้ายางในท้องถิ่นของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งเปิดกรีดใหม่ 

ส่วนในภาคตะวันออกก็มีบริษัท ยูนเฟงรับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มทุนจีนจากมณฑลชานตง ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมาก และทำรายได้มากเป็นอันดับสองของจีน เข้ามาตั้งโรงงานขนาดใหญ่ที่จังหวัดจันทบุรีในปีนี้ โดยเปิดรับซื้อยางก้อนถ้วยเพื่อนำไปผลิตยางแท่งไม่อั้นเช่นกัน 

5 เสือส่งออกแข่งรับซื้อ

ปัจจัยดังกล่าวทำให้การควบคุมราคายางจะขึ้นหรือลงของกลุ่ม 5 เสือค้ายางของไทยเริ่มเสื่อมมนต์ขลัง ได้แก่ กลุ่ม บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี หรือ STA กลุ่ม บจ.ไทยฮั้วยางพารา กลุ่ม บจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป บจ.เซาท์แลนด์รับเบอร์ และกลุ่ม บจ.วงศ์บัณฑิต จำกัด ที่ส่งออกยางไม่ต่ำกว่าปีละ 2.5 ล้านตัน เริ่มทำได้ลำบากขึ้น เมื่อตลาดโลกมีความต้องการยางพาราเพิ่มจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว จึงแข่งกันรับซื้อในราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ล่าสุดนอกจากต้องรับซื้อยางแข่งกับกลุ่มจีนที่เข้ามารับซื้อยางโดยตรงกันสหกรณ์ยาง รวมทั้งสถาบันเกษตรกรถึงแหล่งปลูกยางแล้ว ผู้ค้าและผู้ส่งออกยางรายใหญ่ยังพยายามกว้านซื้อยางพาราเก็บในสต๊อกส่งออกด้วย เพราะเกรงว่าซัพพลายยางที่มีน้อยลง ขณะที่ความต้องการยางในตลาดโลกเพิ่มขึ้น หากไม่รีบแย่งซื้อ ถ้าราคาปรับสูงขึ้นอีกจะเสียโอกาส และทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้น

จีนบุกซื้อยางแท่งอุดรฯ 600 ตัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 13 ธ.ค. 2559 มีการลงนาม MOU ระหว่าง JIHUA YUEYANG NEW MATERIAL TECHNOLOGY CO., LTD. จากจีน กับสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านดอนหอ จำกัด เพื่อสั่งซื้อยางแท่ง STR 20 จำนวน 600 ตัน มูลค่า 39 ล้านบาท เฉลี่ย กก.ละ 65 บาท

นายสมพงษ์ หมั่นมา ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านดอนหอ จำกัด อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี กล่าวว่า สหกรณ์จะทำหน้าที่รวบรวมยางก้อนถ้วยส่งให้กับโรงงาน สกย. ที่ อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี ทำการผลิตยางแท่ง STR 20 เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. 2560 หากไม่เพียงพอจะรวบรวมจากในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิก 550 ราย

ดันเศรษฐกิจ-กำลังซื้อกระเตื้อง

ส่วนพ่อค้ายางรายใหญ่ใน จ.สงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้เกิดภาวะขาดแคลนยาง และยางไม่พอกับความต้องการของตลาดโลก เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งยาวนาน และน้ำท่วมพื้นที่ปลูกยางในภาคใต้ ประกอบกับมีการโค่นยางปลูกปาล์มน้ำมัน และนโยบายทวงคืนผืนป่าหรือห้ามกรีดยางในเขตป่าอนุรักษ์ ปัญหาขาดแรงงานกรีดยาง ทำให้ปริมาณน้ำยางน้อย จึงมีการแย่งกันซื้อยาง

นายภราดร นุชิตศิริภัทรา รองประธานหอการค้า จ.ตรัง และเลขานุการประธานชมรมชาวสวนยางพารา จ.ตรัง เปิดเผยว่า ราคายางที่ปรับขึ้นมาจากอุปสงค์ และอุปทานของตลาดโลก ถือว่าเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่ใช่ฝีมือของใคร จึงคิดว่าอาจพุ่งขึ้นแค่ระยะสั้น และไม่เสถียร ชาวสวนยางอย่าเพิ่งดีใจ หรือสร้างหนี้เพิ่ม 

นางกุสุมา หงษ์ชูตา ประธานหอการค้า จ.บึงกาฬ กล่าวว่า ราคายางตอนนี้ทำให้ชีวิตชาวบ้านดีขึ้นมาก เพราะบึงกาฬรายได้หลักมาจากยางพารา และข้าว ขณะนี้ยางก้อนถ้วยซื้อขายที่ 34-35 บาท/กก. จากเดิมครอบครัวหนึ่งมีรายได้วันละ 100-200 บาท ก็ขึ้นมาเป็น 300-500 บาท การค้าขาย การท่องเที่ยวคึกคักมากขึ้น

นายฐากูร ฉั่ววิเชียร อดีตประธานหอการค้า จ.พัทลุง เปิดเผยทำนองเดียวกันว่า ราคายางที่ขยับขึ้นทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจภาคใต้ขึ้นอยู่กับภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวภาคใต้ตอนบนก็จะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น นอกจากนั้นยังมีกำลังซื้อมาจากเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล จะช่วยทำให้กำลังซื้อดีขึ้น มีการจับจ่ายเพิ่มขึ้น

มู้ดจับจ่ายเกษตรกรดีขึ้น

ด้านนางสาววารินทร์ ชินวงศ์ ประธานหอการค้า จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า นครศรีธรรมราชมีพื้นที่ปลูกยาง 1,500,000 ไร่ รายได้ครัวเรือนกว่าครึ่งมาจากยางพารา ที่ผ่านมาราคายางดิ่งลงตลอด เมื่อราคาปรับสูงขึ้น จึงส่งผลดีทางด้านจิตวิทยา ทำให้กับเกษตรกรมีมู้ดที่ดีขึ้น 

นายวีระศักดิ์ สินธุวงศ์ ประชาสัมพันธ์ สภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า ราคายางที่ขยับสูงขึ้นกว่า 1 เท่าตัวในช่วงนี้ ส่งผลดีทำให้เศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้น

ด้านนายสวัสดิ์ ลาดปาละ นายกสมาคมเครือข่ายเกษตรสถาบันเกษตรกรยางพาราไทยภาคเหนือ เปิดเผยว่า ราคายางที่ปรับตัวดีขึ้นจะส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยาง ทำให้มีกำลังซื้อมากขึ้น และจะออกมาจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่คึกคัก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจยาวไปถึงช่วงต้นปี 2560 

ขณะที่นายธีระศักดิ์ ศุภพิทักษ์ไพบูลย์ ประธานหอการค้า จ.เลย ยังเป็นห่วงว่าการปรับขึ้นของราคายางจะแค่ระยะสั้น ปี 2560 ราคาอาจกลับมาผันผวนอีก ดังนั้นรัฐบาลต้องหามาตรการอื่นมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วย

หุ้นกลุ่มยางดี๊ด๊ากอดคอกันบวก

ด้านความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้น นางสาวนารี อภิเศวตกานต์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นต่อเนื่องของราคายาง เป็นปัจจัยเชิงบวกสำคัญในการผลักดันราคาหุ้นของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยางในขณะนี้ โดยเฉพาะแรงหนุนหลักที่จะทำให้ทิศทางยอดขายของแต่ละบริษัทกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น และกำไรที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการตั้งสำรองด้อยค่าของสินค้าจะปรับตัวลดลงคาดว่าทิศทางราคายางจากนี้ถึงกลางปีหน้าจะอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อ เพราะยังมีแนวโน้มที่ดูดี ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีฝนตกในภาคใต้ ยางออกสู่ตลาดน้อยลง รวมถึงทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นสูง ทำให้ทิศทางราคายางปรับตัวขึ้นตามไปด้วย

"ประเมินว่าช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า ราคาหุ้นของกลุ่มยางจะปรับตัวดีต่อเนื่อง ตามทิศทางราคายางที่อยู่ในช่วงขาขึ้น หลังมีปัจจัยต่าง ๆ หนุนราคายางเข้ามาจำนวนมาก" 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวหุ้นกลุ่มยางพาราในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (14 พ.ย.-14 ธ.ค. 59) พบว่ากอดคอกันบวกต่อเนื่อง นำโดย บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ปรับขึ้น 14.62% มาอยู่ที่ราคา 14.90 บาท จากเดิมที่ระดับ 13.00 บาท, บมจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) (TRUBB) ปรับขึ้น 47.30% มาอยู่ที่ 2.18 บาท จากเดิมที่ระดับ 1.48 บาท และ บมจ.เอ็น.ดี.รับเบอร์ (NDR) ทรงตัวเท่าเดิม ที่ระดับ 4.28 บาท


http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1482144460

ดีใจจริงๆเลย....

ฟินฟินฟินซึ้งมากซึ้งมาก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่