[CR] ์New Zealand เที่ยวจนตายกันไปข้างนึง North Island & South Island ตอนที่ 1

ผมได้มีโอกาสมาเรียนภาษาที่เมือง Auckland เป็นระยะเวลา 6 เดือน (แต่อยู่ใน New Zealand ทั้งหมด 8 เดือน) ทำให้ผมได้เรียนรู้วิถีชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศได้ อีกทั้งยังได้ท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ ของ New Zealand ประมาณ 1 เดือน ตั้งแต่ North Island ไปจนถึง South Island ดังนั้นจึงอยากแชร์ประสบการณ์และข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ท่านที่สนใจเกี่ยวกับ New Zealand สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
Note: ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ตามกาลเวลา ดังนั้นโปรดกรุณาตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเองอีกครั้ง



ข้อมูลทั่วไป (General Information)
ผมนั่งคิดอยู่นานว่าจะเขียนเนื้อหาในส่วนข้อมูลทั่วไปของ New Zealand หรือไม่ เพราะคิดว่ามีหนังสือหลายเล่มหรือหลาย Website ได้เขียนข้อมูลในส่วนนี้ไปแล้ว ซึ่งข้อมูลเกือบทั้งหมดก็จะคล้ายๆกัน ทำให้หลายท่านอาจจะเบื่อได้ แต่ถ้าไม่เขียนก็เหมือนขาดอะไรไปส่วนหนึ่ง สรุปยังไงก็เลยเขียนไว้ซักหน่อย ยังไงก็ทนอ่านหน่อยแล้วกันนะครับ สำหรับผู้ที่รู้ข้อมูลพวกนี้อยู่แล้ว ก็ข้ามเนื้อหาในส่วนนี้ไปเลยก็ได้

ภูมิประเทศ (Geography)
    New Zealand มีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 268,021 Km2 ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทร Pacific โดยมีเกาะขนาดใหญ่ 2 เกาะ ได้แก่ North Island และ South Island นอกจากนี้ยังมีเกาะเล็กๆ อีกเป็นจำนวนมาก



New Zealand Map

    North Island จะมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นราบหรือเนินเขาและจะมีเทือกเขาสูงตั้งอยู่บริเวณตรงกลางเกาะ มีความหนาแน่นของประชากรมากกว่า South Island เนื่องจากเป็นที่ตั้งเมืองของเมืองใหญ่หลายเมือง อาทิ Auckland (เมืองที่ใหญ่ที่สุด) และ Wellington (เมืองหลวง) จึงทำให้ North Island เป็นเขตเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ
South Island เป็นพื้นที่หุบเขาและทุ่งหญ้ามากกว่า North Island โดยมีเทือกเขา Southern Alps และ Mount Aspiring ทอดตัวจากเหนือจรดใต้ขนานไปกับตัวเกาะ จึงทำให้มีชื่อเสียงในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิ Queenstown, Mildford Sound, Mt Cook และ Franz Josef Glacier

ประชากร (Population)
    ประชากรของ New Zealand มีประมาณ 4.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาว European ประมาณ 60% ชนเผ่า Maori ประมาณ 15% ชาว Asia 11% (โดยเฉพาะ Indian กับ Chinese) Latin America ประมาณ 9% ชาวเกาะ Pacific ประมาณ 3% ที่เหลือเป็น Middle East มีภาษาทางราชการสามภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ (สำเนียง Kiwi จะพูดเร็วและรวบคำ ฟังค่อนข้างยาก) ภาษา Maori และภาษา New Zealand Sign (สำหรับคนหูหนวก)
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/New_Zealand





ภูมิอากาศ (Weather)
    ฤดูกาลของ New Zealand จะสลับกับประเทศไทย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
ช่วงเดือนธันวาคม – เดือนกุมภาพันธ์จะเป็นฤดูร้อน ฤดูนี้จะอากาศดีที่สุดเหมาะแก่การท่องเที่ยว อุณหภูมิประมาณ 25-35 องศาเซลเซียส อีกทั้งยังมีช่วงเวลากลางวันยาวนาน กว่าจะมืดก็เกือบ 3 ทุ่ม
เดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคมจะเป็นฤดูใบไม้ร่วง ถึงแม้ว่า New Zealand ลมจะค่อนข้างแรงและฝนจะตกตลอดทั้งปี (บางครั้งชอบตกปรอยๆ ตลอดทั้งวัน) แต่ช่วงนี้จะตกบ่อยกว่าฤดูอื่น อุณหภูมิจะเริ่มเย็นลงบ้างแต่ยังไม่ถึงกับหนาวมาก ประมาณ 12-25 องศาเซลเซียส
    ฤดูหนาวจะเริ่มเดือนมิถุนายน-เดือนสิงหาคม ซึ่งจะมีหิมะตกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะใน South Island อุณหภูมิจะอยู่ที่ประมาณ -10 ถึง 12 องศาเซลเซียส หากท่องเที่ยวในฤดูนี้ก็จะให้ความรู้สึกในอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะการเล่นสกีบนภูเขา แต่เหมาะสำหรับคนที่ชอบอากาศหนาวๆ เท่านั้น ไม่งั้นอาจทำให้หนาวจนทรมานแล้วจะหมดสนุกซะเปล่าๆ อย่างไรก็ตามฤดูนี้จะมืดเร็วมาก ประมาณ 5 โมงเย็น และถนนจะลื่น เนื่องจากหิมะตก ทำให้การเดินทางอาจมีความล่าช้าและอาจเกิดอุบัติเหตุง่าย
    ช่วงเดือนกันยายน-เดือนพฤศจิกายน จะเป็นฤดูใบไม้ผลิ อากาศจะเริ่มอบอุ่นมากขึ้น ประมาณ 10-20 องศาเซลเซียส ช่วงนี้ก็เหมาะแก่การท่องเที่ยว เนื่องจากอากาศไม่หนาวหรือร้อนจนเกินไป
Note: สภาพอากาศจริงๆ อาจมีข้อมูลเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เนื่องจากผู้เขียนได้ประมาณคร่าวๆ และมีการอิงความเห็นส่วนตัวด้วยนะครับ  

การคมนาคมขนส่ง (Transpotation)
    การขนส่งทางบก
    New Zealand ถือเป็นประเทศที่มีความพร้อมและมาตรฐานด้านการคมนาคมขนส่งในอันดับต้นๆ รถโดยสารสาธารณะค่อนข้างปลอดภัย ตรงต่อเวลาและสะดวกสบาย ผมแนะนำให้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ในเมืองใหญ่ๆ อาทิ Auckland และ Wellington เนื่องจากที่จอดรถมีราคาแพงและหาที่จอดได้ยาก
อย่างไรก็ตามหากต้องการเดินทางระหว่างเมือง หรือเดินทางไปเมืองที่มีประชากรไม่หนาแน่น การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลจะสะดวกกว่า เนื่องจากการที่มีประชากรน้อย ทำให้ราคารถสาธารณะค่อนข้างแพง และมีจำนวนเที่ยวการเดินรถไม่มากนัก (ในเมืองขนาดเล็กบางพื้นที่ อาจมีรถบัสวิ่งเพียง 1 ชั่วโมง/คัน) อีกทั้งราคารถยนต์ส่วนบุคคลของที่นี่ ค่อนข้างต่ำมาก ไม่ว่าจะซื้อมือสอง หรือเช่ารถกับบริษัท นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่า การขับขี่ที่ New Zealand ก็ขับชิดซ้ายเหมือนกับประเทศไทย และมีการจราจรไม่หนาแน่นมากนัก สามารถขับได้แบบสบายๆ ซิวๆ เพียงแค่ศึกษาเรื่องป้ายจราจรนิดหน่อย
Note:
•    การขับรถที่ New Zealand สามารถใช้ใบขับขี่ของประเทศไทยได้ เพียงแต่ต้องมีรายละเอียดที่เป็นภาษาอังกฤษกำกับอยู่ด้วย (ใบขับขี่แบบปัจจุบัน ก็มีข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว สามารถใช้ได้เลย)
•    ที่จอดรถของที่นี่ต้องจ่ายตังแล้วเอาสลิปแปะไว้หน้ารถนะครับ เพราะจะมีคนเดินมาตรวจ ถ้าไม่มีสลิปจะโดนค่าปรับหลายเท่า
    การเดินทางโดยรถไฟก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งมีสถานีเชื่อมต่อในทุกพื้นที่สำคัญ ทั้ง North Island และ South Island ถึงแม้ว่ารถไฟของที่นี่เป็นเพียงรถไฟธรรมดาไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง แต่ก็มีความสะดวกสบาย ปลอดภัยและตรงเวลา แต่ราคาค่าโดยสารค่อนข้างสูง (บางครั้งค่าโดยสารอาจสูงกว่า ตั๋วเครื่องบินภายในประเทศด้วยซ้ำ)
    การขนส่งทางอากาศ
    การเดินทางโดยเครื่องบินจะเหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาท่องเที่ยวน้อย ท่องเที่ยวเพียงแค่ทริปสั้นๆ หรือมีเวลาที่จำกัด นักท่องเที่ยวสามารถบินตรงไปได้เกือบทุกพื้นที่ ในราคาที่สมเหตุสมผล (บางครั้งราคาโปรโมชั่นอาจต่ำกว่า การเดินทางโดยรถยนต์หรือรถไฟ) ซึ่งมีสายการบินที่เปิดให้บริการภายในประเทศ อาทิ Jetstar และ Air New Zealand เป็นต้น
    การเดินทางทางน้ำ
    หนึ่งในการเดินทางที่สำคัญและได้รับความนิยมมากทางหนึ่ง ซึ่งมีคนจำนวนมากใช้บริการเรือ Ferry ในการบรรทุกรถยนต์หรือใช้ในการขนส่งสินค้าข้ามไปในเกาะต่างๆ แต่ส่วนมากเป็นเพียงการเชื่อมต่อระหว่างเกาะต่างๆ เพื่อให้ระบบคมนาคมครอบคลุมมากขึ้น จึงทำให้มีระยะทางไม่มากนัก

ระบบการเงิน (Currency & Financial system)
    สกุลเงินของ New Zealand คือ New Zealand Dollar (NZD) มีอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 1 NZD: 25 Bath โดยจะมีเหรียญขนาด 10 cent ไปจนถึง 2 NZD และธนบัตร 5 NZD ไปจนถึง 100 NZD อย่างไรก็ตามที่นี่นิยมใช้ Debit Card หรือ Credit Card ในการจับจ่ายใช้สอยมากกว่า ซึ่งร้านค้าเกือบทุกร้านสามารถชำระค่าบริการโดยใช้บัตรได้ และไม่มีขั้นต่ำ (แค่ 1 -2 NZD ผมก็ใช้บัตรเพราะไม่อยากได้ตังทอนเป็นเหรียญ) นอกจากนี้เมื่อมีบัญชีธนาคารก็สามารถใช้บริการ Internet Banking ในการชำระค่าบริการต่างๆ ทาง online ได้
ธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการ มีหลายธนาคาร อาทิ Kiwi Bank, ANZ และ BNZ ซึ่ง Kiwi  Bank จะสามารถทำเรื่องขอเปิดบัญชีได้ง่ายที่สุดและมีสาขาอยู่ในไปรษณีย์ แต่อาจได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าธนาคารอื่นหรือไม่ได้รับดอกเบี้ยเลย ส่วน ANZ  และ BNZ ต้องทำการนัดเจ้าหน้าที่ธนาคารล่วงหน้าในการเปิดบัญชี ซึ่งเจ้าหน้าที่จะถามข้อมูลทั่วไปนิดหน่อย
Note:
•    การขอเปิดบัญชีต้องใช้เอกสาร Passport และ Proof of address (ใบที่แสดงว่าเราพักอยู่ที่ไหน) เมื่อเปิดบัญชีเสร็จจะได้รับรหัสสำหรับใช้บริการ Internet Banking และบัตร Debitสำหรับกดเงินหรือใช้จ่ายสินค้า (ที่นี่จะไม่ใช้ Book Bank กันแล้ว)
•    บางร้านค้าอาจไม่รับบัตรเครดิตหรือคิดว่าธรรมเนียมเมื่อชำระด้วยบัตรเครดิตได้


ธนบัตร 5 New Zealand Dollar ซึ่งเป็นธนบัตรที่สวยที่สุดในโลก


การติดต่อสื่อสาร (Moblie & Internet)
    New Zealand มีบริษัทที่ให้บริการ 2 บริษัทได้แก่ Vodafone กับ 2 degree สำหรับผมทั้ง 2 บริษัทนี้จะไม่ต่างกัน ในด้านคุณภาพและโปรโมชั่นของ package แต่ที่นี่จะแตกต่างกับประเทศไทยตรงที่จะเน้นการสื่อสารทางด้าน text หรือ message ในชีวิตประจำวันมากกว่า ซึ่งเกือบทุก package จะสามารถส่ง message ได้ไม่จำกัดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ Internet ของที่นี่จะค่อนค้างช้า เนื่องจากมีเส้น Fibre optic เชื่อมต่อกับต่างประเทศเพียงแค่เส้นเดียว (เชื่อมกับ Australia) จึงทำให้การใช้งาน Internet มักมีปัญหาในช่วงเวลากลางคืน อีกทั้งการใช้งาน Internet จะจำกัดปริมาณการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นมือถือหรือเน็ตบ้าน (ที่ไทยส่วนมากจะเป็น Unlimited) เพราะฉะนั้นอย่างเผลอเล่นมือถือจนเพลินนะครับ อาจทำให้เน็ตหมดได้ง่ายๆ และจะโดนชาร์ตค่าบริการเพิ่ม อย่างไรก็ตามที่นี่มักจะมี Free Wifi คอยให้บริการตามร้านอาหารหรือสถานที่สำคัญๆ


Vodafone & 2 Degree Logo
ชื่อสินค้า:   New Zealand, Auckland, North Island,
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่