รีวิวมหากาพย์การสมัครทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (Monbukagakusho): การเตรียมเอกสาร

กระทู้สนทนา
สวัสดีทุกคนนะครับ อันนี้เป็นกระทู้แรกของผมซึ่งจะขอใช้เพื่อรีวิวขั้นตอนการสมัครทุนรัฐบาลญี่ปุ่นหรือที่เรียกสั้นๆว่า ทุนมงฯ นั่นแหละครับ ว่าเราจะต้องฝ่าฟันอะไรบ้างให้ทุกคนได้ทราบกัน ตอนแรกผมตั้งใจจะเขียนรีวิวทันทีหลังสอบสัมภาษณ์เสร็จแต่ก็ไม่สบโอกาสสักที (ขี้เกียจ?) เนื้อหารีวิวนี้อาจจะค่อนข้างยาว....(มาก)สักหน่อย ค่อยๆทยอยอ่านก็ได้ครับ55 หวังว่ารีวิวนี้จะช่วยแนะทางให้กับผู้ที่มีความตั้งใจจะสมัครทุนเพื่อให้ได้ไปเรียนต่อนะครับ ^-^

    ในบรรดาทุนไปเรียนต่อต่างประเทศทั้งหมดนั้น ทุนมงเป็นหนึ่งในทุนที่เป็นนิยมมากที่สุดทั้งนี้เนื่องจากเป็นทุนให้เปล่า ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายค่าเล่าเรียนค่ากินอยู่หรือแม้แต่ค่าเดินทางทั้งหมด (มีเงินเดือนให้ด้วยแหนะ.....เราปลื้มตรงนี้แหละ อิๆ) เรียกได้ว่าหน้าที่ของเราคือเอาตัวไปเรียนให้รอดก็พอ นอกจากนั้นพอกลับมาก็มีอิสระให้การเลือกประกอบอาชีพโดยไม่มีเงื่อนไขว่าต้องทำงานชดใช้ทุนกี่ปีด้วย

    ก่อนอื่นเรามารู้จักรายละเอียดทุนคร่าวๆกันก่อนนะครับ ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นมีด้วยกัน 7 ประเภทครับคือ
    1)    ทุนระดับนักศึกษาวิจัย
    2)    ทุนระดับนักศึกษาปริญญาตรี
    3)    ทุนญี่ปุ่นศึกษา
    4)    ทุนนักศึกษาอบรมวิชาชีพครู
    5)    ทุนนักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยี
    6)    ทุนนักศึกษาฝึกอบรมวิชาชีพ
    7)    ทุนนักศึกษาประเภท Young Leaders Program (YLP)
    รายละเอียดทุนแต่ละประเภทสามารถดูได้ที่เว็ปไซค์ของสถานทูตได้เลยครับ http://www.th.emb-japan.go.jp/th/jis/study.htm

    สำหรับช่องทางในการสมัครทุนมีอยู่ 2 ทางคือ แบบที่สมัครผ่านสถานทูตกับแบบที่สมัครผ่านทางมหาลัยโดยตรง แบบที่สมัครผ่านมหาลัยสามารถทำได้โดยการเข้าไปดูที่เว็ปไซค์ของมหาลัยที่สนใจว่า เปิดรับสมัครช่วงไหน สาขาอะไร ซึ่งการสมัครแบบนี้จะมีคู่แข่งน้อยกว่า บางทีทางมหาวิทยาลัยก็สามารถรับเราได้ทันทีเลย (ยิ่งมี connection อยู่แล้วยิ่งสบาย) แต่ข้อเสียคือ เราจะสามารถสมัครได้แค่บางมหาวิทยาลัยและในบางสาขาที่เปิดรับเท่านั้น ในขณะที่แบบสมัครผ่านสถานทูตถ้าเราผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์แล้วเราจะมีอิสระมากกว่าในการเลือกที่เรียน

    แต่ในกระทู้นี้ผมจะขอพูดถึงแค่ ทุนระดับนักศึกษาวิจัยแบบสมัครผ่านทางสถานทูตนะครับ โดยทุนนี้เป็นทุนที่เปิดโอกาสให้เราได้ไปเป็นนักศึกษาวิจัย (อารมณ์เด็กฝึกงาน) ที่ญี่ปุ่นได้เป็นเวลา 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี พูดง่ายๆคือให้เราไปเป็นเด็กฝึกงานกับ อ. ที่เราสนใจก่อนในช่วง 1-2 ปีแรก และในระหว่างนั้นถ้าเราสอบเข้าไปเรียนต่อในชั้น ป.โทหรือ ป.เอก ได้ ทุนก็จะยืดเวลาให้จนกว่าเราจะจบ รวมเวลาทั้งหมด 1ปีครึ่ง - 7ปี (นักศึกษาวิจัย + ป.โท 2ปี + ป.เอก 3ปี) สำหรับการสอบเข้านั้น อันนี้แล้วแต่ที่แล้วแต่อาจารย์ครับ บางที่ก็อาจจะแค่สอบสัมภาษณ์เฉยๆ บางที่ก็มีข้อเขียนด้วย

    เงื่อนไขการรับสมัครคร่าวๆก็มี
    1)    อายุไม่เกิน 35 ปี
    2)    เกรดเฉลี่ย 3.25 ขึ้นไปในระดับ ป.ตรี/ 3.50 ขึ้นไปในระดับ ป.โท *หากเกรดเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์นี้จะต้องใช้คะแนนภาษาญี่ปุ่นด้วย
    ใช้ผลสอบ N3 หรือ N4 ถ้า GPA ยังมากกว่า 3.15 (ป.ตรี)
    ใช้ผลสอบ N2 ถ้า GPA ยังมากกว่า 3.00 (ป.ตรี)
    ใช้ผลสอบ N1 ถ้า GPA ยังมากกว่า 2.80 (ป.ตรี)
    ดังนั้นหากดูท่าแล้ว GPA จะไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดก็ให้ลงเรียนภาษาญี่ปุ่นเตรียมไว้เลย เพื่อให้ได้ผลสอบระดับภาษาทันในช่วงที่รับสมัคร

    สำหรับสาขาที่จะเรียนต่อนั้นมีเงื่อนไขสำคัญคือ “เคยเรียนสายไหนมาก็ต้องไปเรียนต่อในสายเดิม” ห้ามย้ายสายเช่น ป.ตรี เรียนวิทยาศาสตร์สาขาเคมีมาก็ต้องไปเรียนต่อวิทยาศาสตร์สาขาเคมีแบบเดิม จะย้ายไปสาขาฟิสิกส์หรือชีวะไม่ได้ แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนหัวข้อวิจัย (แต่ยังอยู่ในสาขาเดิมอยู่) อันนี้ขึ้นอยู่กับ อ. ที่ปรึกษาที่โน่นครับว่าเค้าจะรับเรามั้ย ผมรู้จักรุ่นพี่คนนึงตอน ป.ตรี ทำวิจัยสายเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ทำงานภาคสนามเกี่ยวกับพืชเป็นหลัก แต่ตอนป.โทเปลี่ยนมาทำสายเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ซึ่งเป็นงานในแลปทำงานกับเซลล์ อันนี้ต้องลองเจรจากับ อ.ที่ปรึกษาดูครับว่าจะรับเราเข้าไปได้มั้ย

    มาดู Timeline ทุนกันนะครับ

    ในช่วงหลังรู้ผลสัมภาษณ์ เราก็ไม่ได้ว่างซะทีเดียวนะครับ เพราะทางสถานทูตจะให้เราตามหามหาวิทยาลัยที่สามารถรับเราเข้าไปเรียนได้ ซึ่งเราต้องมีหน้าที่ติดต่อกับ อ. ด้วยตัวของเราเอง

    เห็น Timeline คร่าวๆแล้วบางคนน่าจะถึงกับถอนหายใจไม่อยากสมัครแล้วใช่มั้ยครับ (ผมเองพอรู้ว่าต้องสอบอะไรบ้างก็รู้สึกขี้เกียจขึ้นมาทันทีเลย55) ใจเย็นๆครับ เวลาสมัครจริงค่อยๆทำให้มันผ่านทีละขั้น อย่างเพิ่งไปกังวลว่าต้องเจออะไรต่อ  สำหรับผมอุปสรรคที่ยากที่สุดของการสมัครทุนไม่ใช่ขั้นตอนที่ดูวุ่นวายพวกนี้หรอกครับ แต่เป็น “การเอาชนะใจตัวเอง” มากกว่า ตลอดขั้นตอนทั้งหมดนี้ไม่มีใครหรอกครับที่จะไม่รู้สึกท้อไม่รู้สึกเหนื่อย ผมเองก็เกือบตัดใจไปหลายทีเหมือนกัน ช่วงที่เปิดรับสมัครทุนนี้ตรงกับช่วงที่ผมต้องทำโปรเจคจบปี 4 พอดี ทั้งต้องทำรูปเล่มจบทั้งต้องแบ่งเวลามาเตรียมสมัครทุนพร้อมกัน  ด้วยความที่การสมัครทุนการศึกษาส่วนใหญ่นั้นวุ่นวายมีขั้นตอนเยอะ เราทั้งต้องสละเวลามาเตรียมเอกสารซึ่งก็ไม่ใช่ว่าจะเตรียมกันได้ง่ายๆ สละเวลามาอ่านหนังสือเตรียมสอบข้อเขียนเหมือนต้องกลับไปเอนทรานท์กันใหม่อีกรอบ ต้องเจอกับการสัมภาษณ์ ต้องเจอกับความกดดันหลายๆอย่างทั้งที่ผลลัพท์นั้นก็เอาแน่เอานอนไม่ได้ จึงทำให้มีคน(เก่งๆ)อีกหลายคนยอมแพ้ไปก่อนระหว่างทาง บางคนอาจจะล้มเลิกไปตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมเอกสารเพราะเยอะเตรียมไม่ไหว บางคนอาจจะล้มเลิกเพราะขี้เกียจเตรียมตัวสอบ บางคนอาจจะผลัดไปไว้ปีหน้า ปีถัดไป และถัดไปจนไม่ได้เริ่มสมัครสักทีซึ่งน่าเสียดายครับ ถ้าเรากัดฟันเดินหน้าต่อ แม้ว่าเราจะไม่เก่งอะไรมากมาย แต่อย่างน้อยๆเราก็เดินนำคนกลุ่มนี้ไปแล้วหลายคนครับ (อย่าดูถูกความขี้เกียจครับ ในชีวิตจริง มันเป็นด่านวัดใจที่คัดคนเก่งๆออกไปไม่ใช่เล่นๆเลย)  ขอให้บอกตัวเองว่า ถ้าเราเดินหน้าต่อถึงแม้ว่าโอกาสจะน้อยมันก็คือโอกาส แค่ 1 ใน 10 มันก็มีโอกาส แต่ถ้าเราตัดใจซะตอนนี้โอกาสจะเป็น 0 ทันที

    เอาล่ะมาดูรายละเอียดในแต่ละขั้นกันดีกว่าครับ ผมจะขอแบ่งออกเป็น 1) การเตรียมเอกสารและ study plan, 2) การสอบข้อเขียน, 3) การสัมภาษณ์ และ 4) การหามหาวิทยาลัย นะครับ

1) การเตรียมเอกสาร

    เวลาเตรียมเอกสารผมแนะนำให้ทำแฟ้มสำหรับเก็บเอกสารทุนโดยเฉพาะเลย 1 แฟ้มเพราะเอกสารสำคัญจะเยอะมาก หากสมัครหลายๆทุนพร้อมกันก็แยกทุนละแฟ้มไปเลย แล้วทำ Checklist เพื่อดูว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง ในการสมัครนั้นมีเอกสารที่ใช้ตามนี้เลยครับ
     -    Transcript ตัวจริง (ฉบับภาษาอังกฤษ)
     -    ใบจบการศึกษา ตัวจริง (ฉบับภาษาอังกฤษ)
     -    รูปถ่ายขนาด 4.5X3.5 cm. 3 ใบ
     -    ใบสมัคร 6 หน้าและบัตรสอบ (สามารถโหลดได้ที่เว็ปของสถานทูตครับ)
     -    Study plan
     -    สำเนาใบรับรองผลสอบภาษา (ไม่บังคับ)
    สำหรับ 2 อย่างแรกสามารถขอได้ที่มหาวิทยาลัยและหากคิดจะสมัครทุนจริงๆควรขอมาเก็บไว้เลยอย่างน้อย 1 ชุด ส่วนรูปถ่ายจะใช้ขนาดเดียวกับที่ทำวีซ่า ฉากสีฟ้าหรือขาวก็ได้ อย่าลืมเขียนชื่อไว้หลังรูปด้วยล่ะป้องกันการหลุดหาย  3 อย่างนี้ผมคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรว่างๆก็เตรียมไว้เลย
    
    ในส่วนของใบสมัครจะเขียนหรือจะพิมพ์ก็ได้ตามแต่สะดวกครับ แต่มีข้อแม้ว่าต้องสะกดทุกอย่างด้วยตัวพิมพ์ใหญ่เท่านั้น ซึ่งผมแนะนำว่าให้ปริ้นใบสมัครออกมาชุดนึงก่อนแล้วใช้ดินสอลองกรอกดู ไม่พอใจตรงไหนก็จะได้แก้ได้ ผมจะแนะนำรายละเอียดในแต่ละส่วนคร่าวๆนะครับ

    หน้าแรก: กรอกชื่อ ที่อยู่ ทั่วไปไม่น่ามีปัญหาอะไร ในข้อ 6  “Chosen field of study in Japan” ทางทุนได้แบ่งสายที่กำจะไปศึกษาออกเป็น 3 สาขาใหญ่ๆให้เราเลือกคือ R1A สาขาทางด้านศิลป์ภาษา กฎหมาย สังคมศาสตร์, R1B สาขาทางด้านศิลป์คำนวณ พวกบัญชี เศรษศาสตร์ และ R2 สาขาสายวิทย์ทั้งหมด เราก็แค่ติ๊กเลือกให้ถูกก็พอ

    หน้าที่ 2: หน้านี้จะให้กรอกประวัติการศึกษาซึ่งเป็นหน้าที่มีปัญหาและผิดกันเยอะที่สุดครับ ช่องที่มีปัญหากันคือช่อง “Diploma or Degree awarded, Major subject, Skipped years/levels” เวลากรอกให้กรอกเป็น CERTIFICATE OF ELEMENTARY EDUCATION, CERTIFICATE OF LOWER SECONDARY EDUCATION, CERTIFICATE OF UPPER SECONDARY EDUCATION, CERTIFICATE OF HIGHER EDUCATION, BACHELOR OF ……… ไล่ลงไปตามนี้เลย ไม่ใช่กรอกว่าเราเคยได้รางวัลอะไรนะครับ

    หน้าที่ 3: ข้อ 11 จะถามเกี่ยวกับผลงานของเราตอนมหาลัย “State the titles or subjects of books or papers (including graduation thesis authored by the applicant), if any, with the name and address of the publisher and the date of publication.” ให้เราแนบบทคัดย่อของงานวิจัยไปกับใบสมัครด้วย, ข้อ 15 “Foreign language proficiency” ช่อง other ให้เราใส่ THAI ลงไปด้วย (ภาษาไทยเค้าก็นับว่าเป็นภาษาต่างชาติด้วย)

    หน้าที่ 4: ข้อ 16 “The first course you plan to take in Japan” ให้เลือก Research student, ข้อ 19 “The university in Japan at which you wish to be enrolled” เค้าจะให้เราเรือก อ. ที่ปรึกษาที่ญี่ปุ่น 3 อันดับ โดยทั้งสามคนนี้ควรมาจากคนละมหาวิทยาลัยกันทั้งหมด (อันนี้สามารถเปลี่ยนได้อีกทีตอนติดสัมภาษณ์แล้ว แต่ยังไงก็ตามควรตั้งใจเลือก ให้ดี ห้ามเลือกมั่ว เพราะตอนสัมภาษณ์อาจโดนถามว่าทำไม่ถึงเลือกที่นี่เป็นอันดับหนึ่ง ทำนองนี้)

    หน้าที่ 5: ข้อ 21 “Accompanying Dependents (Provide the following information if you plan to bring any family members to Japan.)” อันนี้ถ้าไม่มีแผนจะเอาใครไปอยู่ด้วยก็ไม่ต้องกรอก (ถ้าจะเอาญาติ แฟน เพื่อนไปอยู่ด้วย ต้องออกเงินเอง ทุนไม่ได้ออกเงินให้นะ)

    หน้าที่ 6: เซ็นชื่อแล้วติ๊กตกลง เป็นอันจบพิธี

    หลังจากกรอกใบสมัครทั้งหมดจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เราถ่ายเอกสารเอาไว้ด้วย 1 ชุด เพราะถ้าหากเราผ่านรอบข้อเขียนไปยังรอบสัมภาษณ์ กรรมการจะเอาข้อมูลที่เรากรอกลงไปในใบสมัครนี่แหละมาถามเรา อย่างตอนนั้นผมไม่รู้ พอกรรมการสัมภาษณ์ถามคำถามในใบสมัคร ผมก็ต้องนั่งมโนว่าเขียนอะไรลงไป

=> กระทู้ถัดไปจะเป็นเรื่อง Study plan นะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่