รีวิวมหากาพย์การสมัครทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (Monbukagakusho): Study plan

กระทู้สนทนา
2) Study plan

    กระทู้ก่อนผมเล่าถึงการเตรียมเอกสารในการสมัครทุนมงไปบ้างแล้ว  กระทู้นี้จะพูดถึงส่วนที่ผมคิดว่ายากที่สุดและสำคัญที่สุดของขั้นตอนการสมัครทั้งหมด นั่นก็คือ “Study plan” เพราะว่าถ้าหากเราเกิดผ่านข้อเขียนไปได้ ชีวิตเราจะฝากไว้กับไอ้เจ้า Study plan นี่แหละ หลายๆคนพอรู้ว่าจะสมัครทุนนี้ได้จะต้องส่ง Study plan ด้วย ก็ถึงกับต้องส่ายหัว ล้มเลิกสมัครกันไป ซึ่งจริงๆแล้วการเขียน Study plan นั้นเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการขอทุนไปเรียนต่อ ผมจึงจะขอใช้พื้นที่ตรงนี้ทั้งหมดเล่าถึงเจ้า "Study plan" นี่แหละ

    สำหรับ Study plan มันคือการเล่าแผนชีวิตของเราหลังจากที่เราได้ทุนแล้ว บอกว่าสาขาที่เราเรียนต่อนั้นคืออะไรและจะทำโปรเจคอะไรในช่วงที่อยู่ที่โน่น คล้ายๆกับการเขียน Proposal นำเสนองานวิจัยแบบย่อๆผสมเข้ากับการเขียน Statement of motivation  ภาษาที่ใช้เขียนจะใช้ญี่ปุ่นหรืออังกฤษก็ได้ตามแต่ถนัด รูปแบบการนำเสนอนั้นไม่มีการกำหนดตายตัวอาจจะเขียนบรรยายเป็นย่อหน้าก็ได้ หรือจะทำเป็นตาราง เป็นรูปภาพเล่าเรื่องก็ได้ ขอแค่นำเสนอความคิดของเราออกมาให้ได้มีประสิทธิภาพที่สุดก็พอ อย่างของผมช่วงที่เป็นการเล่าประวัติส่วนตัวจะใช้การเขียนเรียงความบรรยายออกมาธรรมดา ในส่วนการเล่าถึงที่มาและความสำคัญของงานวิจัยจะใช้ chart เข้ามาช่วยเล่าเรื่องในส่วนที่เป็นนามธรรม และในส่วนแผนการดำเนินการผมจะใช้ตารางนำเสนอเพราะเข้าใจง่ายมองแล้วรู้ทันทีว่าจะทำอะไรก่อนอะไรหลัง ขนาดตัวอักษรและการจัดหน้ากระดาษสามารถวางแผนได้เองควรใช้ฟอนต์สุภาพที่อ่านง่ายๆจะดีกว่า เรื่องความยาวไม่มีการกำหนด แต่ไม่ควรเกิน 2-3 หน้ากระดาษ เพราะกรรมการไม่ได้อ่านแค่ของเราคนเดียว ควรเขียนให้ตรงประเด็นไปเลย

    ผมจะขอเล่าถึงการเขียน Study plan ทีละขั้นแล้วกันนะครับ

    -    ขั้นเตรียมตัวก่อนเขียน: ผมแนะนำให้ลองขอ Study plan ของรุ่นพี่ที่เคยสมัครมาอ่านเป็นแนวทางก่อนครับ อย่างผมใช้วิธีหา Study plan (หรือจะเป็น Statement of motivation ก็ได้ครับ) ในเว็ปของหลายๆคนมาลองอ่านดูก่อนครับ เพื่อให้ได้ไอเดีย ที่สำคัญที่สุดอย่างนึงคือภาษาครับ อย่างผมเองภาษาอังกฤษก็อยู่ในระดับกลางๆไม่ได้ดีอะไรมากมาย การอ่านเยอะๆก่อนเริ่มเขียนจริงในช่วงแรกจะช่วยให้เรารู้คำศัพท์ที่เค้าใช้ รู้รูปประโยคสวยๆที่สามารถมาปรับใช้กับ Study plan ของเราได้ (แต่อย่าลอกมาหมดนะ) จะทำให้ภาษาเราดูมีสกุลรุนชาติขึ้นด้วย นอกจากนั้นคนที่ทำทางด้านสายวิทย์ควรไปหาเปเปอร์ของ อ. ที่เราเล็งไว้ มาอ่านแล้วดูว่างานวิจัยของเค้าเป็นแนวไหน เราจะทำอะไรต่อยอดได้บ้าง การทำแบบนี้จะช่วยให้เรานึกหัวข้อที่จะทำได้ง่ายและเป็นรูปธรรมมากขึ้น และถ้าเราส่ง Study plan ของเราไปให้ อ. ที่โน่นอ่าน เค้าก็จะปราบปลื้มใจมากขึ้นด้วยที่เรามีความสนใจในแลปของเค้า โอกาสที่เค้าจะรับเราก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

    -    ขั้นลงมือเขียน: ให้ลองร่าง structure คร่าวๆออกมาก่อนแล้วค่อยเขียนจริง ซึ่งอันนี้ไม่มีกฏตายตัวครับว่าใครจะเอาส่วนไหนขึ้นก่อน ผมเลยจะขอเล่าถึง Study plan ของผมให้ฟังแทนนะครับ ผมแบ่ง structure ออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ ส่วนแรกเป็นการแนะนำตัวสั้นๆว่าเราเรียนอะไรมา สนใจเรียนต่อทางด้านไหน ทำไมถึงสนใจไปเรียนต่อทางด้านนี้ที่ญี่ปุ่น ความยาวประมาณ 10 บรรทัดครับส่วนแนะนำตัวบางสำนักก็บอกว่าให้ตัดทิ้งไปเลยอันนี้แล้วแต่ครับ ส่วนถัดมาคือส่วนแผนการวิจัยเป็นการเล่าถึงงานวิจัยที่ตั้งใจจะไปทำที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของ Study plan ดังนั้นผมจึงให้น้ำหนักกับส่วนนี้ค่อนข้างมาก (80% ของทั้ง Study plan) ซึ่งสไตล์การเขียนของผมในส่วนนี้จะคล้ายกับ Proposal เลยคือมีหัวข้องานวิจัย มีที่มาและความสำคัญ มีการเล่าถึงการดำเนินการทดลองว่าจะทดลองในตัวอะไร ใช้เทดนิคอะไร ชุดไหนเป็นชุดทดลอง ชุดไหนเป็นชุดควบคุม เก็บผลยังไงและถ้าสมมติฐานเราถูกต้องแล้วผลการทดลองควรเป็นแบบไหน อันนี้บางสำนักเค้าบอกว่าให้เขียนให้คนอ่านอ่านจบแล้วไปทำตามได้เองที่บ้านอะไรแบบนั้นเลย (เวอร์มาก) แต่หลักๆคืออ่านแล้วต้องรู้ว่า จะทำอะไร กับอะไร/ใคร ทำอย่างไร ใช้เวลาเท่าไหร่ และผลที่เกิดขึ้นควรเป็นอย่างไร...... ส่วนสุดท้ายคือแผนหลังจากกลับมาประเทศไทยเป็นการเล่าว่าหลังจากเรียนจบกลับมาแล้วเราจะประกอบอาชีพอะไรและอาชีพที่เราจะทำมันมีประโยชน์กับประเทศชาติยังไง (แน่นอนว่าไม่มีทุนไหนอยากให้เราเรียนจบแล้วหนีไม่กลับมาช่วยเหลือบ้านเกิดเป็นแน่)

    -    ขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้อง: ของ จขกท. ยอมรับว่าให้เวลากับส่วนนี้น้อยมาก 55 เนื่องจากช่วงนั้นยุ่งกับโปรเจคจบป.ตรี..... Study plan ผมเขียนเสร็จเช้าวันกำหนดส่งพอดีเรียกว่าแทบจะปริ้นออกมาหมึกเพิ่งจะแห้งใหม่ๆ แล้วเอาไปส่งทั้งอย่างงั้นเลย 55 (อย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างนะ) .......ถ้ามีเวลาควรลองอ่านเองอย่างน้อย 2 รอบ รอบแรกดูความไหลลื่นของเนื้อหา รอบสองดู Grammar และการสะกดคำ และถ้าจะให้ดีควรให้ อ.ที่ปรึกษาช่วยแสกนให้อีกรอบด้วย

    นอกจากนี้ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ผมอ่านมาจากหลายๆที่เกี่ยวกับการเขียน Study plan คือ

    -    เวลาเขียนควรเลี่ยงการใช้ Technical term เฉพาะทางยากๆแต่ให้ใช้คำศัพท์ธรรมดาๆเล่าเรื่อง(ยากๆ)ให้คนธรรมดาเข้าใจได้แทน เพราะกรรมการนั้นอาจจะมาจากสาขาวิชาอื่นที่ไม่ตรงกับเรา ถ้าใช้ศัพท์ที่รู้กันเฉพาะวงการแคบๆแม้จะทำให้ Study plan ดูดีเลอค่า แต่กรรมการอ่านไม่เข้าใจก็เปล่าประโยชน์ (สารภาพว่า จขกท. ทำไม่ค่อยได้ข้อนี้ 55)

    -     ควรให้คนที่อยู่ในวงการเดียวกันอย่างน้อย 1 คนอ่าน Study plan ของเราเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาและควรให้คนที่อยู่นอกวงการกับเราอ่านอย่างน้อย 1 คนเพื่อดูว่าคนนอกวงการยังสามารถเข้าใจงานเราได้มั้ย อาจจะลองให้คุณพ่อคุณแม่ที่บ้านช่วยอ่านดูก็ได้ ถ้าเราสามารถเขียนเรื่อง System biology หรือ Bioinformatics ให้คุณแม่ของเราเข้าใจได้ ก็แสดงว่าเราสามารถถ่ายทอดความคิดของเราออกมาได้ดีคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โอกาสที่กรรมการจะตั้งข้อสงสัยก็จะน้อยนั่นเอง

    ในการส่งใบสมัครของเรานั้นทางสถานทูตจะเปิดรับเพียงแค่ 1 อาทิตย์ให้เราเดินใบส่งเองกับมือ (ที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นชั้น 2 ตรงถนนวิทยุ ถ้าไปเองแนะนำว่าให้ไปลง MRT สถานีลุมพีนีแล้วเดินไปจะสะดวกที่สุด) ซึ่งเวลาแค่ 1 อาทิตย์นั้นสั้นมากๆดังนั้นเราควรเตรียมเอกสารทั้งหมดให้เรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้ โดนถ้าเป็นไปได้ควรไปตั้งแต่วันแรกๆที่สถานทูตเริ่มเปิดรับใบสมัครเพราะคนจะยังน้อยอยู่หรือถ้าไปวันท้ายๆควรไปให้เร็วหน่อย เพราะจขกท. มีประสบการณ์คือไปส่งใบสมัครวันก่อนสุดท้ายช่วงเวลาประมาณ 10 โมงกว่า ตอนแรกก็คิดว่าคงไปยื่นส่งเฉยๆอย่างเก่งก็คงไม่เกิน 5 นาที แต่ที่ไหนได้ออกมาอีกทีเกือบบ่ายโมง เพราะคนเยอะมากกกกกกก ตอนผมไปถึงมีคนรออยู่ก่อนแล้วประมาณ 20 คิวกว่าจะตรวจกว่าจะแก้กันก็นาน (ตอนส่งเจ้าหน้าที่สถานทูตจะช่วยดูเอกสารให้เราทีละคนๆเลย).....ดังนั้นรีบไปได้ไปซะก่อนดีกว่า

    หลังจากส่งใบสมัครเรียบร้อยแล้วเราจะได้บัตรสอบมาให้เราเก็บไว้ให้ดี เพราะในวันสอบข้อเขียนเราต้องใช้แสดงตน

=> กระทู้หน้าเป็นเรื่องสอบข้อเขียนนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่