[พระไตรปิฏก] ปฐมสังคายนา (2) พระอานนท์ บรรลุธรรม


       สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อ่านตอนก่อนหน้า  ติดตามอ่าน  [พระไตรปิฏก] ปฐมสังคายนา (1)ได้ที่  http://ppantip.com/topic/35860838

      กรรมวาจานี้ พระมหากัสสปะกระทำในวันที่ ๒๑ หลังจากพระตถาคตปรินิพพาน เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเวลาใกล้รุ่งวันวิสาขปูรณมี.
               ครั้งนั้น พุทธบริษัทได้บูชาพระพุทธสรีระซึ่งมีสีเหมือนทอง ด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้นตลอด ๗ วัน. วันสาธุกีฬาได้มีเป็นเวลา ๗ วันเหมือนกัน. ต่อจากนั้น ไฟที่จิตกาธานยังไม่ดับตลอด ๗ วัน. พวกมัลลกษัตริย์ได้ทำลูกกรงหอกแล้วบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ในสันถาคารศาลาตลอด ๗ วัน ดังนั้นจึงรวมวันได้ ๒๑ วัน. พุทธบริษัทซึ่งมีโทณพราหมณ์เป็นเจ้าหน้าที่ ได้จัดแบ่งพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลาย ในวันขึ้น ๕ ค่ำเดือน ๗ นั้นเอง.
               พระมหากัสสปะเลือกภิกษุทั้งหลาย เสร็จแล้วจึงสวดกรรมวาจา โดยนัยที่ท่านแจ้งความประพฤติอันไม่สมควรที่หลวงตาสุภัททะทำแล้วแก่ภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ซึ่งมาประชุมกันในวันแบ่งพระบรมสารีริกธาตุนั้น.
               ก็และครั้นสวดกรรมวาจานี้แล้ว พระเถระจึงเตือนภิกษุทั้งหลายให้ทราบ ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บัดนี้ ข้าพเจ้าให้เวลาแก่ท่านทั้งหลายเป็นเวลา ๔๐ วัน ต่อจากนั้นไป ท่านจะกล่าวว่า ข้าพเจ้ายังมีกังวลเช่นนี้อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ภายใน ๔๐ วันนี้ ท่านผู้ใดมีกังวลเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บก็ดี มีกังวลเกี่ยวกับอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ก็ดี มีกังวลเกี่ยวกับมารดาบิดาก็ดี หรือต้องสุมบาตรต้องทำจีวรก็ดี ขอท่านผู้นั้นจงตัดกังวลนั้น ทำกิจที่ควรทำนั้นเสีย.
               ก็แลกล่าวอย่างนี้แล้ว พระเถระแวดล้อมไปด้วยบริษัทของตนประมาณ ๕๐๐ รูป ไปยังกรุงราชคฤห์ แม้พระเถระผู้ใหญ่องค์อื่นๆ ก็พาบริวารของตนๆ ไป ต่างก็ประสงค์จะปลอบโยนมหาชนผู้เปี่ยมไปด้วยเศร้าโศก จึงไปยังทิศทางนั้นๆ
               ฝ่ายพระปุณณเถระมีภิกษุเป็นบริวารประมาณ ๗๐๐ รูป ได้อยู่ในเมืองกุสินารานั่นเอง ด้วยประสงค์ว่าจะปลอบโยนมหาชนที่พากันมายังที่ปรินิพพานของพระตถาคต.
               ฝ่ายท่านพระอานนท์เอง ท่านก็ถือบาตรและจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เสด็จปรินิพพานแล้ว เหมือนเมื่อยังไม่เสด็จปรินิพพาน เดินทางไปยังกรุงสาวัตถีพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป. แลเมื่อท่านพระอานนท์นั้นกำลังเดินทางก็มีภิกษุผู้เป็นบริวารมากขึ้นๆ จนนับไม่ได้. ในสถานที่ที่พระอานนท์เดินทางไปได้มีเสียงร่ำไห้กันอึงมี่.
               เมื่อพระเถระถึงกรุงสาวัตถีแล้ว ผู้คนชาวกรุงสาวัตถีได้ทราบว่า พระอานนท์มาแล้วก็พากันถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปต้อนรับ แล้วร้องไห้รำพันว่า ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ เมื่อก่อนท่านมากับพระผู้มีพระภาคเจ้า วันนี้ท่านทิ้งพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้เสียที่ไหน จึงมาแต่ผู้เดียว ดังนี้เป็นต้น. ได้มีการร้องไห้อย่างมากเหมือนในวันเสด็จปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้าฉะนั้น.
               ได้ยินว่า ณ กรุงสาวัตถีนั้น ท่านพระอานนท์สั่งสอนมหาชนให้เข้าใจด้วยธรรมีกถาประกอบด้วยความไม่เที่ยงเป็นต้น แล้วเข้าสู่พระวิหารเชตวันไหว้พระคันธกุฎีที่พระทศพลประทับ เปิดประตูนำเตียงตั่งออกปัด กวาดพระคันธกุฎีทิ้งขยะดอกไม้แห้ง และนำเตียงตั่งเข้าไปตั้งไว้ในที่เดิมอีก ได้ทำหน้าที่ทุกอย่างซึ่งเป็นวัตรที่ต้องปฏิบัติในเวลาที่พระผู้มีพระเจ้าดำรงพระชนม์อยู่ และเมื่อทำหน้าที่ก็ไหว้พระคันธกุฎี ในเวลาทำกิจมีกวาดห้องน้ำและตั้งน้ำเป็นต้น ได้ทำหน้าที่ไปพลางรำพันไปพลาง โดยนัยเป็นต้นว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เวลานี้เป็นเวลาสรงน้ำของพระองค์ มิใช่หรือ? เวลานี้เป็นเวลาแสดงธรรมเวลาประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย เวลานี้เป็นเวลาสำเร็จสีหไสยา เวลานี้เป็นเวลาชำระพระพักตร์ มิไช่หรือ? เหตุทั้งนี้ เพราะพระอานนท์นั้นเป็นผู้มีความรักตั้งมั่นในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะความเป็นผู้รู้อมตรสซึ่งเป็นที่รวมพระพุทธคุณ และยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งเป็นผู้มีจิตอ่อนโยนที่เกิดด้วยเคยอุปการะกันและกันมาหลายแสนชาติ.
               เทวดาองค์หนึ่งได้ทำให้พระอานนท์นั้นสลดใจด้วยคำพูดว่า ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ ท่านมัวมารำพันอยู่อย่างนี้ จักปลอบโยนคนอื่นๆ ได้อย่างไร.
               พระอานนท์สลดใจด้วยคำพูดของเทวดานั้น แข็งใจดื่มยาถ่ายเจือน้ำนมในวันที่ ๒ เพื่อทำกายซึ่งมีธาตุหนักให้เบา เพราะตั้งแต่พระตถาคตเสด็จปรินิพพาน ท่านต้องยืนมากและนั่งมาก จึงนั่งอยู่แต่ในพระวิหารเชตวันเท่านั้น พระอานนท์ดื่มยาถ่ายเจือน้ำนมชนิดใด ท่านหมายเอายาถ่ายเจือน้ำนมชนิดนั้นได้กล่าวกะเด็กหนุ่มที่สุภมาณพใช้ไปว่าดูก่อนพ่อหนุ่ม วันนี้ยังไม่เหมาะเพราะวันนี้เราดื่มยาถ่าย ต่อพรุ่งนี้เราจึงจะเข้าไป ดังนี้.๘-
____________________________
๘- ที. สี. เล่ม ๙/ข้อ ๓๑๖

               ในวันที่ ๒ พระอานนท์มีพระเจตกเถระติดตามไป ถูกสุภมาณพถามปัญหา ได้กล่าวสูตรที่ ๑๐ ชื่อสุภสูตร ในคัมภีร์ทีฆนิกายนี้.
               พระอานนท์เถระขอให้ทำการปริสังขรณ์สิ่งที่ชำรุดทรุดโทรมในพระเชตวันมหาวิหาร เมื่อใกล้วันเข้าพรรษา ท่านอำลาภิกษุสงฆ์ไปกรุงราชคฤห์. แม้ภิกษุผู้ทำสังคายนาเหล่าอื่นก็ไปเหมือนกัน ความจริงท่านหมายเอาภิกษุเหล่านั้นที่ไปกรุงราชคฤห์อย่างนี้ กล่าวคำนี้ไว้ว่า ครั้งนั้นแล ภิกษุชั้นพระเถระได้ไปกรุงราชคฤห์ เพื่อสังคายนาพระธรรมและพระวินัย. พระเถระเหล่านั้นทำอุโบสถในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ประชุมเข้าพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ.

               ปฐมสังคายนาเริ่มวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๙              
               ก็โดยสมัยนั้นแล มีวัดใหญ่ ๑๘ วัดล้อมรอบกรุงราชคฤห์ วัดเหล่านั้นมีหยากเยื่อถูกทิ้งเรี่ยราดไปทั้งนั้น เพราะในเวลาเสด็จปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุทั้งหมดต่างก็ถือบาตรจีวรของตนๆ ทิ้งวัดและบริเวณไป.
               ครั้งนั้น พระเถระทั้งหลาย เมื่อจะทำข้อตกลงเกี่ยวกับการปฏิสังขรณ์วัดเหล่านั้น ได้คิดกันว่า พวกเราต้องทำการปฏิสังขรณ์สิ่งชำรุดทรุดโทรมตลอดเดือนต้นของพรรษา เพื่อบูชาคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า และเพื่อเปลื้องคำติเตียนของเดียรถีย์ เพราะพวกเดียรถีย์จะพึงกล่าวติอย่างนี้ว่า สาวกของพระสมณโคดมบำรุงวัดวาอารามแต่เมื่อพระศาสดายังมีพระชนม์อยู่เท่านั้น เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว ก็พากันทอดทิ้งเสีย การบริจาคทรัพย์เป็นจำนวนมากของตระกูลทั้งหลายย่อมเสียหายไปโดยทำนองนี้.
               มีคำอธิบายว่า ที่พระเถระทั้งหลายคิดกันก็เพื่อจะเปลื้องคำติเตียนของเดียรถีย์เหล่านั้น. ครั้นคิดอย่างนี้แล้วจึงได้ทำข้อตกลงกัน ซึ่งท่านหมายเอาข้อตกลงนั้น กล่าวว่า ครั้งนั้นแล ภิกษุชั้นพระเถระทั้งหลายได้ปรึกษากันว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญการปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรม บัดนี้ เราทั้งหลายจงทำการปฏิสังขรณ์สิ่งที่ชำรุดทรุดโทรมตลอดเดือนต้นพรรษา จักประชุมสังคายนาพระธรรมและพระวินัยในเดือนกลางพรรษา.
               ในวันที่ ๒ พระเถระเหล่านั้นได้ไปยืนอยู่ที่ประตูพระราชวัง.
               พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จมานมัสการแล้ว มีพระราชดำรัสถามถึงกิจที่พระองค์ทำว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมาธุระอะไร เจ้าข้า? พระเถระทั้งหลายถวายพระพรให้ทรงทราบถึงงานฝีมือ เพื่อประโยชน์แก่การปฏิสังขรณ์วัดใหญ่ ๑๘ วัด.
               พระเจ้าอชาตศัตรูได้พระราชทานคนที่ทำงานฝีมือ.
               พระเถระให้ปฏิสังขรณ์วัดทั้งหมดตลอดเดือนต้นฤดูฝนเสร็จแล้ว ถวายพระพรแด่พระเจ้าอชาตศัตรูว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร งานปฏิสังขรณ์วัดเสร็จแล้ว บัดนี้ อาตมภาพทั้งหลายจะทำการสังคายนาพระธรรมและพระวินัย.
               พระเจ้าอชาตศัตรูมีพระราชดำรัสว่า ดีแล้ว เจ้าข้า พระคุณเจ้าทั้งหลายไม่ต้องหนักใจ นิมนต์ทำเถิด การฝ่ายอาณาจักรขอให้เป็นหน้าที่ของโยม ส่วนการฝ่ายธรรมจักรขอให้เป็นหน้าที่ของพระคุณเจ้าทั้งหลาย โยมจะต้องทำอะไรบ้าง โปรดสั่งมาเถิดเจ้าข้า.
               พระเถระทั้งหลายถวายพระพรว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขอพระองค์ได้โปรดให้ทำที่นั่งประชุมสำหรับภิกษุทั้งหลายผู้ทำสังคายนา. จะทำที่ไหน เจ้าข้า? ขอถวายพระพรมหาบพิตร ควรทำใกล้ประตูถ้ำสัตตบรรณ ข้างภูเขาเวภาระ.
               พระเจ้าอชาตศัตรูมีพระราชกระแสว่า เหมาะดี เจ้าข้า แล้วโปรดให้สร้างมณฑปมีเครื่องประดับวิเศษที่น่าชม มีทรวดทรงสัณฐานเช่นอาคารอันวิษณุกรรมเทพบุตรเนรมิตไว้ มีฝาเสาและบันไดจัดแบ่งไว้เป็นอย่างดี มีความงามวิจิตรไปด้วยมาลากรรมและลดากรรมนานาชนิด พิศแล้วประหนึ่งว่าจะครอบงำความงามแห่งพระตำหนักของพระราชา งามสง่าเหมือนจะเย้ยหยันความงามของเทพวิมาน ปานประหนึ่งว่าสถานเป็นที่รวมอยู่ของโชควาสนา ราวกะว่าท่าที่รวมลงของฝูงวิหค คือนัยนาแห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพียงดังภาพที่งามตาน่ารื่นรมย์ในโลก ซึ่งประมวลไว้ในที่เดียวกัน มีเพดานงามยวนตาเหมือนจะคายออกซึ่งพวงดอกไม้ชนิดต่างๆ และไข่มุกที่ห้อยอยู่ ดูประหนึ่งพื้นระดับซึ่งปรับด้วยทับทิม วิจิตรไปด้วยรัตนะต่างๆ มีแท่นที่สำเร็จเรียบร้อยดีด้วยดอกไม้บูชานานาชนิด ประดับให้วิจิตรละม้ายคล้ายพิมานพรหม.
               โปรดให้ปูลาดอาสนะอันเป็นกัปปิยะ ๕๐๐ ที่มีค่านับมิได้ในมหามณฑปนั้น สำหรับภิกษุ ๕๐๐ รูป ให้ปูลาดที่นั่งพระเถระ หันหน้าทางทิศเหนือ หันหลังทางทิศใต้ ให้ปูลาดที่นั่งแสดงธรรมอันควรแก่การประทับนั่งของพระพุทธเจ้าผู้มีบุญ หันหน้าทางทิศตะวันออก ในท่ามกลางมณฑป วางพัดทำด้วยงาช้างไว้บนธรรมาสน์นั้น แล้วมีรับสั่งให้แจ้งแก่ภิกษุสงฆ์ว่า กิจของโยมเสร็จแล้ว เจ้าข้า.
               ก็และในวันนั้น ภิกษุบางพวกได้พูดพาดพิงถึงท่านพระอานนท์อย่างนี้ว่า ในหมู่ภิกษุนี้ มีภิกษุรูปหนึ่งเที่ยวโชยกลิ่นคาวอยู่. พระอานนทเถระได้ยินคำนั้นแล้วถึงความสังเวชว่า ภิกษุรูปอื่นที่ชื่อว่าเที่ยวโชยกลิ่นคาว ไม่มีในหมู่ภิกษุนี้ ภิกษุเหล่านี้คงพูดหมายถึงเราเป็นแน่. ภิกษุบางพวกกล่าวกะพระอานนท์นั้นว่า ดูก่อนท่านอานนท์ การประชุมทำสังคายนาจักมีในวันพรุ่งนี้ แต่ท่านยังเป็นพระเสขะ ยังมีกิจที่จะต้องทำ ด้วยเหตุนั้น ท่านไม่ควรเข้าประชุม ท่านจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด.

               พระอานนท์บรรลุพระอรหัต              
               ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุมทำสังคายนา การที่เรายังเป็นพระเสขะอยู่ จะเข้าประชุมด้วยนั้น ไม่สมควรแก่เราเลย แล้วให้เวลาล่วงไปด้วยกายคตาสติกรรมฐาน ตลอดราตรีเป็นส่วนมากทีเดียว ในเวลาใกล้รุ่งของราตรีก็ลงจากที่จงกรมเข้าวิหาร เอนกายลงหมายจะนอน เท้าทั้งสองพ้นจากพื้นแล้ว แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน ในระหว่างนี้จิตพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน.
               พระอานนทเถระนี้ให้เวลาล่วงไปในภายนอกด้วยการจงกรม เมื่อไม่อาจให้คุณวิเศษเกิดขึ้นได้ ก็คิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเราไว้มิใช่หรือว่า๑- ดูก่อนอานนท์ เธอได้สร้างบุญไว้แล้ว จงหมั่นบำเพ็ญเพียรเถิด ไม่ช้าก็จะเป็นพระอรหันต์ดังนี้ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ตรัสผิดพลาด แต่เราปรารภความเพียรมากเกินไป ฉะนั้น จิตของเราจึงฟุ้งซ่าน ทีนี้เราจะประกอบความเพียรพอดีๆ คิดดังนี้แล้วลงจากที่จงกรม ยืนในที่ล้างเท้า ล้างเท้าเข้าวิหาร นั่งบนเตียงคิดว่าจักพักผ่อนสักหน่อย แล้วเอนกายบนเตียง เท้าทั้งสองพ้นจากพื้น ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน ในระหว่างนี้จิตพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน.
____________________________
๑- ที. มหา. เล่ม ๑๐/ข้อ ๑๓๕

ที่มา  http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=1&p=1#%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%81

อ่านแล้วก็นึก อนุโมทนา ที่พระอริยสงฆ์ ท่านได้สังคายนา คำสอนและการปฏิบัติธรรมทั้งหลายไว้ให้ชนรุ่นหลัง
สาธุ สาธุ สาธุ ขอนอบน้อมแด่ผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น ด้วยเศียรเกล้า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่