เวียดนามนำไทยทุกด้านในการสอบวัดระดับ PISA

การประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment) หรือ PISA ซึ่งริเริ่มโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือโออีซีดี เน้นประเมินสมรรถนะของนักเรียนอายุ 15 ปี เกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริง ปัจจุบันมีประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมโครงการมากกว่า 70 ประเทศ โดยไทยเข้าร่วมโครงการวิจัยนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 การประเมินมีขึ้นทุก ๆ สามปี

สำหรับการประเมินผลในโครงการ PISA 2558 พบว่าไทยยังตามหลังเวียดนามในทุกด้าน และทำคะแนนได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโออีซีดี โดยการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์เวียดนามอยู่ในอันดับ 8 จาก 70 ประเทศ เวียดนามได้คะแนน 525 คะแนน ไทยอันดับ 54 จาก 70 ได้ 421 คะแนน ขณะที่สิงคโปร์เป็นอันดับ 1 ได้คะแนน 556 คะแนน สาธารณรัฐโดมินิกัน อันดับที่ 70 ได้คะแนน 332 คะแนน

การรู้เรื่องคณิตศาสตร์ เวียดนามอยู่ในอันดับ 22 จาก 70 ประเทศ ไทย 54 จาก 70 ประเทศ สิงคโปร์อยู่ในอันดับ 1 สาธารณรัฐโดมินิกัน อันดับที่ 70

การรู้เรื่องการอ่าน เวียดนามอันดับที่ 32 จาก 70 ประเทศ ไทยอันดับที่ 57 จาก 70 สิงคโปร์ อันดับ 1 และเลบานอน อันดับที่ 70



ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ PISA Thailand ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อ้างอิงข้อมูลจากธนาคารโลกว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการลงทุนทางการศึกษา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เวียดนามประสบความสำเร็จ โดยความขยันของนักเรียน การทำงานหนักของครู และบทบาทสำคัญของพ่อแม่ที่มีต่อการศึกษาของลูก ล้วนเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จ

ครูเวียดนามต้องทำงานภายใต้สิ่งแวดล้อมทางระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ทำงานหนัก รับผิดชอบงานสอนเป็นสำคัญ และได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากครูใหญ่และองค์กรอื่น ผลรวมของความขยันของนักเรียนและครูจึงลงตัว

นักเรียนเวียดนามนั้นมีความขยันเรียน ทุ่มเทกับการเรียนอย่างจริงจัง และเห็นว่าความสำเร็จทางการศึกษาของแต่ละคนคือสิ่งสำคัญมากในชีวิต เด็กเวียดนามเรียนหนังสือหนักมากภายใต้วัฒนธรรมที่มีความขยัน โดยนักเรียนเวียดนามมีวินัยสูงกว่านักเรียนไทย

Image copyrightGETTY IMAGES

ข้อมูลในเว็บไซต์ของ สสวท.ระบุด้วยว่าพ่อแม่เวียดนามนั้น แม้จะมีการศึกษาไม่สูงมากนัก แต่กลับมีความคาดหวังสูงในด้านการศึกษาของลูกหลาน และมีส่วนร่วมในชีวิตทางการศึกษา ติดตามผลการเรียนอย่างใกล้ชิด ร่วมมือกับครู และมีส่วนช่วยงานของโรงเรียน เช่น ช่วยในการระดมทุนเพื่อให้โรงเรียนจัดหาทรัพยากรการเรียนให้โรงเรียน เป็นต้น

รายงานยังระบุด้วยว่า แม้เวียดนามจะมีเศรษฐกิจด้อยกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำอื่น ๆ แต่เวียดนามมีการลงทุนทางการศึกษาในอัตราส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่าจีดีพี แม้ว่าเม็ดเงินจะไม่สูงมาก แต่การศึกษาของเวียดนามก็ประสบความสำเร็จสูงกว่า


http://www.bbc.com/thai/thailand-38223294
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่