"คลื่นแห่งศรัทธา" กับ เรื่องเล่า เรือใบ "ในหลวง ร.9"

เพิ่งดูละครเทิดพระเกียรติ ทางช่อง7สีจบ เรื่อง คลื่นแห่งศรัทธา ทำให้ได้ลองหาอ่านข้อมูลเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพของในหลวง รัชกาลที่9 เกี่ยวกับกีฬาเรือใบ จึงอยากนำมาแบ่งปันให้ทุกคนได้อ่านกัน

เรื่องเล่า เรือใบ "ในหลวง ร.9"

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ของไทย ทรงโปรดกีฬา "เรือใบ" เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากพระอัจฉริยภาพด้วยการต่อเรือใบจากฝีพระหัตถ์โดยเรือใบลำที่พระองค์ทรงต่อด้วยพระหัตถ์ คือ เรือใบพระที่นั่งเอ็นเตอร์ไพรส์ และได้พระราชทานชื่อว่า "ราชปะแตน"และต่อมาทรงต่อเรือใบประเภท OK ขึ้นอีก พระราชทานชื่อว่า "นวฤกษ์" ซึ่งเรือนวฤกษ์นี้เองทรงนำมาใช้แข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 หรือการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ในปัจจุบัน และเรือใบประเภทม็อธ (International Moth Class)



ทรงมีรับสั่งว่า "ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บ ๆ คัน ๆ ดี"เรือใบมดได้ทรงพัฒนาแบบขึ้นมาใหม่กลายเป็น"ซุปเปอร์มด" และ "ไมโครมด" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำเรือ "มด" ไปจดลิขสิทธิ์เป็น สากลประเภท International Moth Class ที่ประเทศอังกฤษ เรือใบ ซุปเปอร์มดเคยเข้าร่วมแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 13 เมื่อปี พ.ศ. 2541 มาแล้ว

ในการแข่งขันเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 จัดขึ้นที่ประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นตัวแทนของชาติร่วมแข่งขันเรือใบประเภท OK ร่วมกับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ลงแข่งขันเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ซึ่งนับเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของชาวไทยที่ได้เห็นทั้งสองพระองค์ทรงเป็นตัวแทนชาวไทยในการแข่งขัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเรือเวคา 2 ใบเรือหมายเลข TH27 ส่วนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ทรงเรือเวคา 1 ใบเรือหมายเลข TH 18

ในรอบชิงชนะเลิศทำเอากองเชียร์ใจหายใจคว่ำ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเรือใบนำมาตลอด ตามด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ และมีนักกีฬาทีมชาติพม่าคู่แข่งคนสำคัญตามมาติด ๆ ในระหว่างที่ทรงนำอยู่นั้น ลมเกิดเปลี่ยนทิศทำให้พระองค์ต้องทรงเรืออ้อมผิดตำแหน่ง แต่กระนั้นก็เป็นปัญหา เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงนำเรือเข้าสู่เส้นชัยได้สำเร็จเป็นพระองค์แรก และตามด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ 



ครานั้นพสกนิกรที่ติดตามการแข่งขันจะได้เห็นว่า เมื่อครั้งที่ทรงทราบว่า อ้อมเรือผิดทุ่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสรวลก่อนทิ้งพระองค์ลงน้ำ และผลการแข่งขันในครั้งนั้น คณะกรรมการมีมติทำให้ทรงครองเหรียญทอง ร่วมกับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการกีฬาไว้ว่า "การกีฬามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของแต่ละคนและชีวิตบ้านเมือง"และพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เป็นนักกีฬาอย่างแท้จริง โดยมีเหตุการณ์หนึ่งได้ถูกบันทึกไว้ เขียนโดยพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ว่า "ครั้งหนึ่งเสด็จฯ ออกจากฝั่งไปได้ไม่นาน ก็ทรงแล่นเรือใบเข้าฝั่ง ตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯ อยู่ด้วยความฉงนว่า เสด็จฯ กลับเข้าฝั่งเพราะเรือใบพระที่นั่งแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวล์ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครเห็น"

แสดงให้เห็นถึงสปิริตของพระองค์ที่ทรงเป็นนักกีฬา ที่หมายถึง นักกีฬาต้องรู้แพ้ รู้ชนะ และรู้อภัย หลังจากนั้นพระองค์ก็ยังทรงฝึกซ้อมและเข้าร่วมการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5, 6 และ 8 รวมทั้งกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4, ครั้งที่ 8 และครั้งที่ 13 เรื่อยมา รวมถึงทรงเล่นกีฬาหลากหลายชนิด เช่น สกีน้ำ ว่ายน้ำ เรือกรรเชียง เรือพาย แบดมินตัน ยิงปืน กอล์ฟเล็ก การแข่งขันรถเล็ก เครื่องร่อน ฯลฯ ซึ่งแต่ละชนิดพระองค์จะศึกษาข้อมูลกีฬาแต่ละชนิดอย่างละเอียด และฝึกฝนจนปฏิบัติได้ดี

นอกจากเป็นนักกีฬาแล้วพระองค์ยังเป็นนักประดิษฐ์ที่ทรงคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ และสร้างสิ่งนั้นด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองอีกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลที่มาดีๆจาก
ประชาชาติธุรกิจ
http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1476872571
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่