การเขียนบทความวิชาการสายมนุษยศาสตร์



สวัสดีครับ ผมเป็นคนๆหนึ่งที่หลงใหลในการเขียนบทความวิชาการเข้าเส้นเลือดใหญ่เลยครับ หลายๆคนจะมองว่า การเขียนบทความวิชาการนั้นเป็นเรื่องที่ยากใช่ไหมครับ แต่ถ้าลองนำแนวคิดหรือวิธีการของผมไปใช้ รับรองเลยว่า คุณจะสนุกไปกับการร่ายระบำของนิ้วคุณบนคีย์บอร์ดกันเลยทีเดียว พร้อมร่ายระบำนิ้วกันหรือยังครับ ถ้าพร้อมแล้ว มากันเลย...

บทความวิชาการตามทรรศนะและข้อสังเกตของผม คือ บทความที่มีความเป็นทางการครับ มีเนื้อหาทางด้านวิชาการ ใช้ภาษาสุภาพในการเขียน และใช้ศัพท์บัญญัติหรือศัพท์เทคนิคในแขนงความรู้นั้นๆเขียนครับ และเป็นเสมือนเวทีเล็กๆที่รับรองการแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอของนักวิชาการได้ตั้งแต่นักวิชาการที่มีสังกัด เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย จนถึงนักวิชาการที่ไม่มีสังกัด เช่น นักวิชาการอิสระ (เฉกเช่นกระผมครับ) บทความวิชาการเป็นอะไรที่สดใหม่นะครับ เพราะถ้านักวิชาการพบเจออะไรใหม่ๆก็จะเริ่มตั้งข้อสังเกตก่อน แล้วลองเขียนเป็นบทความวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ครับ และบทความวิชาการจึงเป็นงานวิชาการชิ้นเล็กๆแต่มีประสิทธิภาพทางปัญญาสูงที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายครับ (สมัยนี้มีวารสารวิชาการออนไลน์นะครับ สะดวกกว่าสมัยก่อนที่จะต้องเสียสตางค์ซื้อ หรือต้องเดินทางไปถ่ายเอกสารจากห้องสมุดของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง) และไม่ต้องอ่านเยอะเท่าอ่านวิจัยทั้งเล่ม เพราะเขาเอาเนื้อหาสำคัญมาให้แล้ว และเมื่อทำเป็นบทความวิชาการได้ ประเด็นนี้ก็สามารถขยายเป็นประเด็นใหญ่ได้ครับ สามารถสานต่อเป็นงานวิจัยได้อีก ด้วยปัจจุบันบทความวิชาการถูกจำกัดจำนวนหน้ากระดาษครับ (เริ่มขั้นต่ำที่ 8 หน้า และมากสุด 30 หน้า แต่ที่นิยมกันจะไม่ให้เกิน 15 หน้า และแล้วแต่บางวารสารจะกำหนดกระดาษด้วยครับ บางที่ A4 บางที่ A5ก็มี) เนื้อหาของบทความจึงถูกบีบ ให้สามารถใส่ได้เพียงเนื้อหาที่สำคัญเท่านั้น หรือเนื้อหาที่เป็นเนื้อ ไม่เอาน้ำ แต่เรื่องนี้ก็จะอยู่ในดุลยพินิจของผู้ทรงคุณวุฒิที่มาตรวจบทความให้เราครับ แต่ผมก็ไม่ค่อยชอบเท่าไรนะครับที่ ทางกองบรรณาธิการมากำกับจำนวนหน้าของเราก่อน โดยที่ไม่ส่งให้ผู้ทรงฯตรวจก่อน บางทีเนื้อหาของเรามันสำคัญหมด แต่ทางกองฯก็จะให้เราคัดเหลือเท่าจำนวนหน้าที่กำหนด ผมเคยเขียนไป 20 หน้า แล้วส่งไปที่วารสารวิชาการแห่งหนึ่ง ซึ่งเขากำหนดไว้ที่ 15 หน้า เขาก็ตอบอีเมลให้ผมแก้บทความให้เหลือ 15 หน้า ซึ่งตามจริงผมพยายามแล้ว จะลดกว่านี้คงไม่ได้ ไม่อย่างนั้นคงอ่านไม่รู้เรื่อง ผลปรากฏว่า พอตัดออกให้เหลือ 15 หน้าแล้ว ส่งให้ผู้ทรงฯตรวจ กลับถูกท่านติว่าเหมือนเนื้อหาบางส่วนหายไป อ่านแล้วไม่ปะติปะต่อกัน ผมก็ต้องเอาเนื้อหาที่ตัดไปกลับมาใส่ไว้ตามเดิม (ขอโทษนะครับ บ่นมากไป)

พลุโอ่ง ส่วนต่างๆของบทความ

1. ชื่อเรื่อง ควรตั้งให้ข้ากับประเด็นของเนื้อหาที่เราอยากเขียน เช่น ศึกษาคติความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาและพระพุทธรูปประจำวันเกิดในสังคมไทย บทความเรื่องนี้ก็ต้องมุ่งศึกษาแค่เนื้อหาที่เกี่ยวกับเทวดาประจำวันเกิดและพระพุทธรูปประจำวันเกิด ในแง่ประวัติและความเป็นมา รวมทั้งการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพิธีกรรมบูชาเทวดาและพระพุทธรูปประจำวันเกิดด้วย เป็นต้น

2. บทคัดย่อ เป็นส่วนที่เป็นเสมือนแผนที่ให้เราเห็นโลกของผู้เขียนได้โดยองค์รวม เป็นการย่อเนื้อหาของบทความมาทั้งหมด เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าบทความเรื่องนี้มุ่งที่จะเล่าหรือกล่าวถึงอะไรบ้าง

3. บทนำ เป็นเสมือนประตูหน้าบ้านของบทความเลยทีเดียว ทำให้ผู้อ่านรู้ข้อมูลเบื้องต้นของบทความ เพื่อเป็นการปูพื้นก่อนที่จะเดินเข้าไปสู่เนื้อหาถัดไป

4. เนื้อหา มักจะเขียนอย่างน้อย 2-3 หัวข้อย่อย ถ้าน้อยกว่า 2 มันดูไม่ค่อยโอเคเท่าไรนะครับ แต่ 3 กำลังดี เพราะเราจะนำหัวข้อย่อยของบทความโดยเริ่มจากบทนำไปจนถึงบทสรุป เอาง่ายๆนะครับวิทยานิพนธ์เบื้องต้นควรมี 4-5 บทครับ ดังนั้นเมื่อเราตัดบทนำกับบทสรุปแล้ว เราจะมีหัวข้อย่อยจำนวนกำลังสวยอยู่ที่ 2-3 หัวข้อ

5. สรุป ส่วนนี้ไม่ใช่เพียงการสรุปเนื้อหาทั้งหมดของบทความนะครับ แต่มันเป็นการบอกว่า เราได้คำตอบอะไรจากการศึกษาบ้าง ซึ่งไม่แปลกนะครับ ถ้าบางบทความจะเขียนสรุปมาแค่ 4 -5 บรรทัด หรือครึ่งหน้า เพราะมันเป็นการเสนอคำตอบของผู้เขียนที่ได้มาจากการศึกษานั้นเองครับ

พลุโอ่ง ขั้นตอนการเขียน

1. คิดเรื่องหรือประเด็นที่สนใจ แล้วไปสืบค้นจากเว็ปไซค์ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยรวบรวมแหล่งสืบค้นทางวิชาการได้ดีที่สุดหรือพร้อมครบครันที่สุด ว่ามีบทความในประเด็นนี้บ้างไหม ถ้ามีแล้วเขาเขียนประเด็นอย่างไร มีช่วงว่างให้เราดึงมาเป็นประเด็นเขียนได้หรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น

- ผมอยากศึกษาเรื่อง "การนำบทละครเรื่องเงาะป่าในรัชกาลที่ 5 มาดัดแปลงเป็นบทละครของคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร"



2. สืบค้นว่าเรื่องที่เราสนใจมีใครทำแล้วหรือยัง ? ผมก็จะค้นดูว่ามีบทความวิชาการเขียนเกี่ยวกับเรื่องเงาะป่าไหม ? ซึ่งจะพบว่ามีเพียง 3 บทความ ซึ่งจะเป็นประเด็น เงาะป่าที่เป็นชาติพันธุ์ และ มีการกล่าวถึงเงาะป่าในฐานะบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 แสดงว่าเรื่องของผมสนใจนั้นพอจะเขียนได้ ต่อมาต้องมาค้นในส่วนของวิทยานิพนธ์และงานวิจัยว่ามีงานในประเด็นนี้ไหม พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาเชิงวรรณคดีเป็นหลัก และเป็นแนวชาติพันธุ์แบบมานุษยวิทยา เมื่อทั้งสองแหล่งข้อมูลคือ บทความวิชาการกับงานวิจัย ไม่มีประเด็นที่ซ้ำกับเราก็ถือว่าทางเปิดเดินสะดวกแล้ว เราก็ลุกหน้าต่อไปเลย (จะรออะไร)

3. นำข้อมูลในบทความวิชาการกับงานวิจัยมาเป็นขั้นบันไดให้เราเดิน คือ บทความวิชาการกับงานวิจัยที่มีมาก่อน ถึงจะไม่ใช่ประเด็นเดียวกับที่ประเด็นที่เราจะเขียนก็ตาม แต่นั้นละคือสิ่งที่เลอค่าต่องานเขียนของเรามากครับ เราสามารถนำทรรศนะของเขามาใส่ในงานเขียนของเราได้ หรืออาจจะเสนอความเห็นของเราว่าไม่เห็นด้วยกับงานก่อนหน้าก็ย่อมได้



4. สืบค้นจากข้อมูลแหล่งอื่น เช่น หนังสือวิชาการ ตำราเรียน หนังสือเบ็ดเตล็ด สื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อนำมาประกอบเป็นข้อมูลในการเขียน

5. นำข้อมูลทั้งหมดที่หามาได้ มาทบทวนและหาจุดว่าจะเอาข้อมูลนี้ไปวางไว้ในส่วนไหนของบทความ เช่น ในส่วนแรกของบทความเราอาจจะเกริ่นความเป็นมาของบทละครเรื่องเงาะป่าในรัชกาลที่ 5 ต้องคัดลอกข้อมูลมาจากหนังสือบทพระราชนิพนธ์เรื่องเงาะป่ากับข้อมูลเชิงประวัติในงานวิจัยมาปูพื้นก่อน ซึ่งบทเกริ่นนำ หรือบางที่จะเรียกว่า "บทนำ" มีความสำคัญเสมือนประตูหน้าให้เราผู้เป็นคนอ่านเข้าไปสู่เนื้อหาใจความที่ผู้เขียนจะสื่อถึงผู้อ่าน ผมจะใช้ดินสอขีดข้อความที่จะใช้ พร้อมเขียนตำแหน่งด้วยว่าจะวางไว้ในส่วนไหนบ้าง เพื่อไม่ให้เราลืมครับ



6. ลงมือเขียน ผมเชื่อว่าระหว่างที่เราอ่านข้อมูลทั้งหมดที่สืบค้นมา เราคงมีไอเดียในหัวแล้วว่าเราจะวางเนื้อหาไปจนถึงอย่างไรบ้าง ซึ่งตอนนี้จะเริ่มง่ายแล้วครับ

7. พอเขียนเสร็จแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการตรวจแก้คำผิดครับ เพราะเราควรจะละเอียด บางวารสารผมเคยส่งไป เขาก็ไม่แก้ให้นะครับ แต่บางที่ก็ดีมีคนพิสูจน์อักษรให้เลย แต่ทางที่ดีควรให้มันสมบูรณ์ไปเลยประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ จะได้ไม่อายเวลาผู้ทรงคุณวุฒิติเรื่องคำผิดครับ


พลุโอ่ง ขั้นตอนการหาที่ลงบทความวิชาการ

บทความวิชาการสายมนุษยศาสตร์ จะสามารถลงได้กับวารสารวิชาการกลุ่มคณะต่อไปนี้
1. คณะอักษรศาสตร์  ได้แก่ วารสารอักษรศาสตร์ของจุฬา กับ ม.ศิลปากร
2. คณะศิลปศาสตร์ ได้แก่ วารสารศิลปศาสตร์ มธ. ม.อุบล มศว. มอ. ม.แม่โจ้ ฯลฯ
3. คณะมนุษยศาสตร์ ได้แก่ วารสารมนุษยศาสตร์ ม.เกษตร ม.นเรศวร ม.เชียงใหม่ ฯลฯ
4. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้แก่ วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.บูรพา ม.มหาสารคาม ฯลฯ
เป็นต้น

เมื่อได้วารสารที่สนใจลงแล้ว ก็ส่งอีเมลหรือโทรไปสอบถาม ถ้าเรารีบลงเพื่อทำเรื่องจบการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ควรถามถึงคิวบทความว่า วารสารฉบับนี้ปิดรับบทความหรือยัง เป็นต้น หรือถ้าไม่รีบ แบบนักวิชาการอิสระที่ชีวิตไม่รีบเร่งก็สามารถส่งบทความเป็นไฟล์ PDF ไปได้เลยครับ แล้วทางกองบรรณาธิการจะดำเนินการต่อให้เราเอง เช่น ตรวจรูปแบบว่าเราจัดหน้าตามที่เขากำหนดไหม บทความเรามีจำนวนหน้าเกินจากที่กำหนดไว้ไหม และสุดท้ายคือ สืบหาผู้เชี่ยวชาญในประเด็นที่เราเขียนมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิตรวจบทความให้เรา

ด้วยวารสารวิชาการในหลายๆมหาวิทยาลัยมักคิดค่าลงบทความโดยมีราคาตั้งแต่ 1,000 บาท ไปจนถึง 3,000 บาท หรืออาจจะมากกว่านั้น ทางที่ดีเราควรศึกษาให้ดีก่อนว่า วารสารที่เราสนใจนั้นคิดค่าลงบทความหรือไม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของรัฐบาล (ถึงแม้ว่าบางที่จะออกนอกระบบไปแล้วก็ตาม) ส่วนใหญ่จะไม่เก็บค่าลงบทความ หรือบางที่ก็ให้ค่าเขียนด้วยแต่เหลือน้อยมากแล้วครับ  

ท้ายที่สุดนี้ ด้วยความรักและความชื่นชอบในการเขียนบทความวิชาการ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กระทู้นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจไม่มากก็น้อยครับ ขอบคุณครับที่เข้ามาอ่าน พาพันขอบคุณ  


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่