คำว่าบุญสัตมวาร บุญปัญญาสมวาร และ บุญศตมวาร แตกต่างกันอย่างไร

คำว่าบุญสัตมวาร บุญปัญญาสมวาร และ บุญศตมวาร แตกต่างกันอย่างไร




"ปุพเพเปตพลี" หรือ "การทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย" เริ่มมีมาในครั้งพุทธกาลสมัยที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างวัดเวฬุวันถวายแด่องค์สมเด็จพระสัมสัมพุทธเจ้า แต่พระองค์ยังไม่กรวดน้ำอุทิศบุญให้พระญาติของพระองค์ที่ล่วงไปแล้ว ตกเย็นมาเหล่าเปรตที่เคยเป็นพระญาติของพระองค์ในชาติก่อน
   พระพุทธองค์ตรัสว่า เปรตเหล่านั้นเป็นพระญาติของพระองค์ในชาติก่อน มาปรากฏให้เห็นเพื่อที่จะขอส่วนบุญจากพระองค์

ลำดับนั้นพระเจ้าพิมพิสารก็ได้กรวดน้ำอุทิศส่วนบุญที่พระองค์ได้ทำให้แก่ญาติที่เป็นเปรตเหล่านั้น จนเป็นธรรมเนียมของการกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปให้แก่ผู้ตายของชาวพุทธเราจวบจนปัจจุบันนี้

ดังนั้น เมื่อเรานึกถึงคุณความดีของผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็ควรทำบุญอุทิศให้ผู้ตายโดยเฉพาะพ่อแม่พี่น้องหรือญาติๆ ที่มีอุปการคุณแก่เรา เราควรตอบแทนบุญคุณท่านด้วยการทำบุญไปให้ เป็นหน้าที่อีกอย่างของบุตรธิดาที่ต้องทำเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตา

การทำบุญอุทิศให้ผู้ตายในวาระครบรอบวัน นิยมมี ๓ วาระ คือ ครบรอบ ๗ วัน เรียกว่า ทำบุญสัตมวาร ครบรอบ ๕๐ วัน เรียกว่า ทำบุญปัญญาสมวาร และครบรอบ ๑๐๐ วัน เรียกว่า ทำบุญศตมวาร

ทั้งนี้ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายของคำว่า "สัตมวาร" อ่านว่า “สัด-ตะ-มะ-วาน” ไว้ว่า วันที่ครบ ๗, วันที่ ๗ ใช้ว่า สัตตมวาร ก็มี

สัตมวาร ปกติใช้เรียกกำหนดการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตายเมื่อครบ ๗ วัน เรียกว่า ทำบุญสัตมวาร เรียกทั่วไปว่า ทำบุญ ๗ วัน เช่นใช้ว่า

“กำหนดการทำบุญบำเพ็ญกุศลสัตมวาร”

“เนื่องในการทำบุญครบรอบสัตมวารของนาย...ขออาราธนาพระคุณเจ้าไปสวดพระพุทธมนต์และฉันภัตตาหารเพล...”

ถ้าเป็นการทำบุญ ๕๐ วัน เรียกว่า ทำบุญปัญญาสมวาร อ่านว่า ปัน-ยา-สะ-มะ-วาน” ใช้ในการนับวันเวลาของเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่มาบรรจบครบ ๕๐  วัน ปกติใช้นับวันเวลาการตายของบุคคล

  ส่วนคำว่า “ศตมวาร” อ่าว่า “สะ-ตะ-มะ-วาน” เจ้าคุณทองดีได้ให้ความหมายไว้ว่า วันที่ครบ ๑๐๐ วันที่ ๑๐๐ เขียนว่า สตมวาร ก็มี

ศตมวาร ใช้ในการนับวันเวลาของเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่มาบรรจบครบ ๑๐๐ วัน ปกติใช้นับวันเวลาการตายของบุคคล และมีการทำบุญอุทิศไปให้ผู้นั้นเนื่องในวันครบ ๑๐๐ วัน เรียกการนี้ว่า ทำบุญศตมวาร

"พระธรรมกิตติวงศ์ "
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่