PHOENIX - สำนักพิมพ์น้องใหม่ แต่ใหญ่กว่าที่คิด

สืบเนื่องจากที่ได้จับพลัดจับผลูไปร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวของสำนักพิมพ์น้องใหม่ (แต่ดำเนินงานโดยมือเก๋าเจ้าใหญ่ทั้งงั้น) นาม PHOENIX ในวันที่ 19 พย. 59 กับเพจ "ทะ ที่ชั้นรีวิวนี่ ไม่ได้หมายความว่าชอบหรอกนะ" (.....กรุณาอย่าดูหน้าหรือถามอายุ เทียบกับชื่อเพจ จะเสียอารมณ์ได้ทั้งสองฝ่าย)  ด้วยความสนใจใคร่รู้เป็นการส่วนตัว ผมจึงไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสำนักพิมพ์นี้มาอ่าน และลองทำการรวบรวมข้อมูลแบบคร่าว ๆ เกิดเป็นบทความหนึ่งขึ้นมา อาจจะยาวหน่อย แต่ถ้าได้ลองอ่านแล้วมาแชร์ความคิดเห็นกันได้ ก็คงน่าสนใจไม่น้อยนะครับ



หากคุณเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามวงการสื่อบันเทิงแนวการ์ตูนจากญี่ปุ่นแล้ว ชื่อของ สำนักพิมพ์คาโดคาวะ น่าจะเป็นชื่อที่คุ้นหูกันเป็นอย่างดี ด้วยความที่เป็นสำนักพิมพ์ที่คร่ำหวอดในวงการนิตยสาร หนังสือการ์ตูน ไลท์โนเวล เกม และสื่อภาพยนต์อนิเมชั่นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีที่ผ่านมา คาโดคาวะยิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นในบ้านเรา ด้วยนโยบายการรุกตลาดต่างประเทศและแสวงหาเส้นทางการลงทุนในย่านอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นบริษัทที่วางแผนในการเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังที่สุดค่ายหนึ่งในบ้านเรา

ก่อนหน้านี้ ก้าวที่สร้างความฮือฮามากที่สุดของคาโดคาวะในประเทศไทย ก็คงหนีไม่พ้นการเปิดโรงเรียนสอนทำสื่อบันเทิงเชิงการ์ตูนและอนิเมชั่นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และยิ่งน่าสนใจมากขึ้นเมื่อคาโดคาวะได้ประกาศจับมือร่วมเป็นพันธมิตรกับเครือบริษัทสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นเจ้าใหญ่ในวงการสื่อไทยอย่างอมรินทร์ (จดทะเบียนบริษัทร่วมทุนใหม่กันในช่วงกลางปี 2559) จากวันนั้น หลายต่อหลายคนต่างก็จับจ้องทิศทางการเคลื่อนไหวของบริษัทนี้อย่างไม่กระพริบตา

และแล้วในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559 นี้เอง ที่ทางบริษัทร่วมทุนแห่งนี้ได้เปิดตัว สำนักพิมพ์ของตนเองขึ้นมาในนาม "PHOENIX" ( ติดตามได้ที่ FB: https://www.facebook.com/Phoenixnext/ )



PHOENIX เปิดตัวด้วยการนำเสนอผลงานสิ่งพิมพ์ที่ส่งตรงจากต้นสังกัดมากมายสู่เวอร์ชั่นไทย ทั้งนิยาย ไลท์โนเวล และการ์ตูนมังงะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลงานแรก ซึ่งก็คือนิยายจากภาพยนต์กระแสแรงอย่าง Kimi no Na wa (Your Name) นั้น สร้างความสนใจได้ทันทีในงานเปิดตัว อีกทั้งยังประกาศรายชื่อผลงานที่จะออกวางตลาดหลังจากนี้อย่างต่อเนื่องอีกมากมาย โดยครอบคลุมตลาดนักอ่านทั้งชายหญิง

นับเป็นสำนักพิมพ์หน้าใหม่ที่น่าจะมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงมากสำนักพิมพ์หนึ่ง ที่จะมาสร้างสีสันให้กับตลาดสิ่งพิมพ์บ้านเราได้ ไม่น้อยเลยทีเดียว



หากจะดูความพยายามที่จะเข้ามาเจาะตลาดในบ้านเราของคาโดคาวะแล้ว ถือว่าอยู่ในขั้นที่เอาจริงมากครับ หลักฐานคือ สัดส่วนการร่วมทุนกันของบริษัท คาโดคาวะ-อัมรินทร์ จำกัด ที่คาโดคาวะถือหุ้นอยู่ถึง 49% ซึ่งนับว่าถือหุ้นไว้อย่างจัดเต็มมาก (ตามกฏหมายบริษัทร่วมทุนไทย บริษัทต่างชาติจะถือหุ้น 50% หรือมากกว่าไม่ได้) ในขณะที่อัมรินทร์ถือไว้เพียง 46% ซึ่งถือเป็นหุ้นรอง เรียกได้ว่า คาโดคาวะ ไม่ได้กะมาเล่น ๆ ขำ ๆ แน่นอน

( เอกสารแจงหุ้นส่วนอ่านได้ที่ : http://www.amarin.co.th/ir/Contents/2559/SET-Announcements-th-7137.pdf )

สิ่งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากในวงการการ์ตูนบ้านเรา แต่ไหนแต่ไรมา การทำหนังสือการ์ตูน (แบบถูกลิขสิทธิ์) ในประเทศนี้ จะเป็นแค่การติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์จากสำนักพิมพ์ไทย ผ่านทางบริษัทตัวแทนจำหน่ายลิขสิทธิ์ในญี่ปุ่นเท่านั้น หรือโดยนัยก็คือ สำนักพิมพ์ญี่ปุ่น ไม่เคยสนใจตลาดบ้านเรา มากไปกว่าการขายสินค้าระหว่างผู้ผลิตกับผู้ผลิตต่างประเทศ แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สำนักพิมพ์ในญี่ปุ่นสนใจโดดลงมาเป็นผู้เล่นในระดับผลิตเพื่อขายผู้บริโภคปลายน้ำด้วยตัวเอง



คำถามที่น่าสนใจคือ คาโดคาวะเห็นอะไรในตลาดบ้านเรากันแน่?

จากการเปิดเผยของทางคาโดคาวะ ประเทศไทยถือเป็นตลาดผู้อ่านการ์ตูนที่อยู่ในอันดับต้น ๆ 5 อันดับเลยทีเดียว บริษัทจึงเล็งเห็นโอกาสในการมาทำตลาดในประเทศนี้

แต่แค่นั้นจริง ๆ เหรอ?

เนื่องจากคนในวงการทราบกันดีอยู่ว่า สภาวะธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในบ้านเรากำลังหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากการมาถึงของสื่อออนไลน์ต่าง ๆ นิตยสารและสำนักพิมพ์รายเล็กก็ทยอยปิดตัวลงแทบจะทุกเดือน การมาจับตลาดสำนักพิมพ์ในช่วงนี้ จึงดูเป็นทางเลือกที่น่าจะมีความเสี่ยงมากมิใช่หรือ?

แต่จากงานแถลงข่าวที่ผ่านมา คีย์เวิร์ดที่สำคัญจริง ๆ จึงได้เผยโฉมออกมาในที่สุด

Media Mix ซึ่งเป็นจุดแข็งของคาโดคาวะนั่นเอง



อะไรคือ Media Mix?

จริง ๆ คอนเซปต์ของ Media Mix ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันคือการสร้างสื่อหลาย ๆ รูปแบบจากผลงานหนึ่ง ๆ เช่น ผลงานหนึ่งออกไลท์โนเวลมาแล้วได้รับความนิยม ก็เอามาทำเป็นเวอร์ชั่นการ์ตูนมังงะ หรือ สร้างเกมออกมาแล้วขายดี ก็ออกเป็นอนิเมชั่นตามมา ต่อยอดไปเรื่อย ๆ

(ในบ้านเรา บริษัทที่ทำการตลาดแบบนี้ ก็คือ DEX ที่เน้นซื้อลิขสิทธิ์ผลงานที่เป็นทั้งนิยาย การ์ตูนเล่ม การ์ตูนอนิเม และรวมถึงโชว์ มาพร้อมกัน)

แต่ที่ต่างออกไปจากสำนักพิมพ์เจ้าอื่น ๆ คือ คาโดคาวะถือครองบริษัทในเครือที่มีศักยภาพด้านการแปลงผลงานสิ่งพิมพ์ไปเป็นสื่อชนิดอื่น ๆ ในมือตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ASCII Media Works หรือ Enterbrain ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเกมและดิจิตอลคอนเทนต์, Media Factory ซึ่งทำด้านอนิเมชั่น หรือกระทั่งงานภาพยนต์ก็มีบริษัท Kadokawa Pictures รอรับไว้อยู่แล้ว

หรือพูดในอีกแง่ก็คือ สำนักพิมพ์ PHOENIX ที่คาโดคาวะนำมาเปิดตัวครั้งนี้ น่าจะเป็นแค่น้ำจิ้ม สำหรับอะไรอีกมากมายที่กำลังจะตามมาในอนาคตนั่นเอง



ทำไมต้องอมรินทร์?

อมรินทร์ถือเป็นบริษัทด้านสิ่งพิมพ์ที่เก่าแก่ในวงการและเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในบ้านเรา

ด้วยความที่อยู่ในวงการมานาน อมรินทร์ย่อมรู้สึกได้ถึงคลื่นความไม่มั่นคงของธุรกิจนี้ในช่วงหลายปีหลังเป็นอย่างดี ตลาดสิ่งพิมพ์ต้องแข่งขันกับคู่แข่งที่เป็นสื่อดิจิตอลซึ่งแย่งส่วนแบ่งตลาดไปอย่างมากมาย ส่งผลให้อมรินทร์ต้องเปิดตลาดช่องทางสื่อใหม่ ๆ อย่างการลงมาประมูลทีวีดิจิตอล ซึ่งทำให้มีตัวเล่นที่มากขึ้นในธุรกิจสื่อที่ผันผวนเช่นในปัจจุบัน

สภาพการณ์เช่นนี้ การเข้าจับมือเป็นพันธมิตรธุรกิจกันของทั้งสองค่าย จะเอื้อผลดีต่อทั้งคาโดคาวะและอมรินทร์เป็นอย่างมาก กล่าวคือ

1. ระบบการจัดพิมพ์และโรงพิมพ์ที่อมรินทร์มีอยู่ ทำให้สามารถผลิตสินค้าในประเทศได้ทันที

2. การจัดจำหน่าย สายส่งหนังสือ และร้านขายหนังสือนั้น อมรินทร์มีคอนเนกชั่นอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องหาตลาดใหม่ตั้งแต่ต้น

3. การที่อมรินทร์มีสื่อโทรทัศน์ในมือ ทำให้การตลาด Media Mix ที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตมีลู่ทางที่ชัดเจนขึ้นอย่างมาก

4. อมรินทร์ได้คอนเทนต์ที่มีคุณภาพจากญี่ปุ่นมาทำตลาด โดยการต่อสายตรง ทำให้การจัดการลิขสิทธิ์ทำได้โดยง่าย และอาจไม่ติดข้อจำกัดด้านโควต้าการพิมพ์

5. การผลิตสื่อเชิงการ์ตูนในประเทศก็ยิ่งจะทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากคาโดคาวะเตรียมโรงเรียนผลิตบุคลากรรองรับไว้แล้ว

เรียกได้ว่า Win-Win กันทั้งสองฝ่าย



สำหรับผลกระทบของ PHOENIX ที่มีต่อวงการสิ่งพิมพ์เชิงการ์ตูนบ้านเรา ในช่วงแรก น่าจะคงยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะเท่าที่เห็นในขณะนี้ ยังเป็นเหมือนการมีสำนักพิมพ์น้องใหม่เข้ามาในวงการแค่นั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด สำหรับนักอ่าน ก็ต้องมาว่ากันด้วยเรื่องของราคา กระดาษ คุณภาพการพิมพ์ สำนวนการแปล และการจัดวางจำหน่ายอีกทีหนึ่ง

เรื่องที่ต้องเตรียมใจไว้แต่เนิ่น ๆ คือ เรื่องของราคาครับ เพราะระดับเจ้าของมาเองแบบนี้ การจะมาลดต้นทุนกระดาษคุณภาพแบบการพิมพ์การ์ตูนสมัยเก่า ๆ ให้กระทบต่อภาพลักษณ์ธุรกิจที่มาจากสายตรงนี่ คงยากที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าราคาคงต้องสูงในระดับหนึ่ง แต่ถ้าต้องแลกมาด้วยคุณภาพที่เข้มข้นขึ้นตามมาตรฐานการทำงานของญี่ปุ่นแล้ว อาจคุ้มค่าก็เป็นได้ เพียงแต่ว่า มันจะไม่ใช่การทำตลาดการ์ตูนในระดับแมส (ครอบคลุมนักอ่านในทุกระดับ เด็กเล็ก-ผู้ใหญ่) อีกต่อไป สอดรับกับข้อมูลของผลงานที่ PHOENIX ประกาศเปิดตัวไปแล้ว ณ ขนาดนี้ ซึ่งจะเห็นว่ามีแต่ผลงานที่ค่อนข้าง “เฉพาะกลุ่ม” เอามาก ๆ

อย่างไรก็ตาม การที่มีสำนักพิมพ์เกิดใหม่แถมยังเป็นของต้นสังกัดมามีเอี่ยวด้วยแบบนี้ คนที่ไม่น่าจะแฮปปี้ที่สุด ก็น่าจะเป็นเหล่าสำนักพิมพ์ที่เคยได้ลิขสิทธิ์ในการตีพิมพ์ผลงานของเครือคาโดคาวะทั้งหลายนั่นแหละครับ เพราะนั่นหมายความว่า หลังจากนี้ หากมีผลงานการ์ตูน หรือไลท์โนเวลของเครือคาโดคาวะ เกิดดังขึ้นมาในญี่ปุ่น ก็ปิดประตูในการขอซื้อผลงานเหล่านั้นมาจัดพิมพ์ได้เลย เพราะเจ้าของคงต้องเตรียมทำเองแน่นอนอยู่แล้ว

และนี่คือเรื่องราวบทแรก ของสำนักพิมพ์น้องใหม่รายนี้ แม้ช่วงแรกจะดูเหมือนการเปิดตัวสำนักพิมพ์ แต่เมื่อใดก็ตามที่คาโดคาวะเริ่มเปิดตลาด Media Mix แบบเต็มรูปแบบแล้ว คาดว่าวงการหนังสือการ์ตูนและไลท์โนเวลบ้านเรา อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่