ความลำเอียงในการตัดสินใจลงทุน: ระวังตัวล่อให้ดี บางทีจะทำให้เราเขวได้ (Decoy Effect)

กระทู้คำถาม
เวลาเราเลือกหุ้นว่าหุ้นไหนที่น่าสนใจ เราก็อาจจะใช้ปัจจัยหลาย ๆ อย่างประกอบกัน
และสิ่งที่หลายคนชอบทำก็คือเราก็ใช้การเปรียบเทียบหุ้นที่เราสนใจหลาย ๆ ตัว

คราวนี้หากเรามีงบประมาณจำกัด เราก็คงเลือกหุ้นที่น่าสนใจที่สุด จริงไหมครับ

ฟังดูเผิน ๆ ก็ปกติธรรมดานี่ แล้วปัญหาคืออะไร ?

คืออย่างนี้ครับ หลายครั้งเราอาจจะไม่รู้ตัวว่าการเปรียบเทียบ หากเราทำเป็นคู่ ๆ เราอาจจะได้ความรู้สึกอย่างหนึ่ง แต่พอมีทางเลือกมาเพิ่มอีกทาง มันอาจจะทำให้เราเปลี่ยนความรู้สึกไปได้ ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลต่าง ๆ ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย

งงไหมครับ ถ้างงมาดูตัวอย่างกัน (ถึงไม่งงก็ดูได้นะครับ 5555)

สมมุติว่าเรากำลังสนใจหุ้น 2 ตัวอยู่คือ หุ้น A กับ B ในขั้นตอนในการเลือกหุ้นนั้น เราดูจาก
ราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Price to Book หรือ P/B)และผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) (ท่านอื่นอาจจะดูอย่างอื่นก็ได้นะครับ อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น)

จากการศึกษาข้อมูลได้ผลดังนี้ครับ

หุ้น    A P/B    4 เท่า หุ้น B 3 เท่า
หุ้น A % ปันผล    3% หุ้น B 2%

ดูแล้วรู้สึกอย่างไรครับ
หลายท่านอาจจะลังเล เพราะหุ้น A ให้ปันผลใน % ที่สูงกว่า แต่ดูเหมือนว่าราคาก็แพงกว่า ถ้ามองจาก P/B เอ้า ลองคิดในใจ (ห้ามคิดนอกใจนะครับ) ว่าถ้าเป็นเรา เราจะเลือกหุ้นไหน ถ้ามีข้อมูลแค่นี้ครับ

คราวนี้ สมมุติว่าเพื่อนคนหนึ่งมาแนะนำว่า ทำไมไม่ลองดูหุ้น C ล่ะ ดีนะ
เราเลยไปหาข้อมูลหุ้น C มาประกอบการตัดสินใจ
คราวนี้เลยได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาดังต่อไปนี้ครับ

หุ้น C มี P/B 4.5 (สูงกว่าหุ้น A อีก) แถมมีปันผลแค่ 2.5% เอง (ต่ำกว่าหุ้น A) อีก

คราวนี้รู้สึกอย่างไรครับ
ถ้าท่านเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ ท่านจะมองเห็นหุ้น A น่าสนใจมากขึ้นทันที
เพราะ C มีราคาที่แพงกว่า A (ดูจาก P/B) และแถม % ปันผลก็ต่ำกว่าด้วย

แปลกไหมครับ
ตอนที่มี A กับ B เท่านั้น เรากลับลังเล
พอมี C เข้ามาเท่านั้นแหละ A เลยดูโดดเด่นขึ้นมาทันที !!!

เราเรียกอาการแบบนี้ว่า Decoy effect ครับ

เทคนิคนี้มีใช้กันมากในการตลาดครับ เช่น ถ้ามีสินค้าสองรุ่น ลูกค้าอาจจะลังเลไม่แน่ใจว่าจะซื้อรุ่นไหนดี นักการตลาดอาจจะออกสินค้ารุ่นใหม่มา แล้วทำการตั้งราคาและ Spec อื่น ๆ เพื่อให้สินค้ารุ่นเดิมบางรุ่นขายดี

และเชื่อไหมครับว่ามันได้ผลอยู่เป็นประจำ !!!

ระวังกันให้ดีแล้วกันนะครับ อย่าโดนหลอกล่อแบบนี้ เราเตือนคุณแล้ว 55555

ติดตามอ่านบทความอื่น ๆ เกี่ยวกับความลำเอียงในการตัดสินใจได้ที่ https://www.facebook.com/DataAnalysisforDecisionMaking/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่