รีวิว Your Name (Kimi no Na wa): จะตามหา… ไม่ว่าเธออยู่ไหน



By มาร์ตี้ แม็คฟราย
*หมายเหตุ บทความนี้อาจเปิดเผยเรื่องราวของภาพยนตร์เล็กน้อย

กระแสมาแรงจริง ๆสำหรับหนังแอนิเมชั่นโรแมนติกดราม่าเลือดอาทิตย์อุทัย ของผู้กำกับ มาโคโตะ ชินไค ที่เคยทำหนังแอนิเมชั่นโรแมนติกสุดเหงาที่เป็นหนังในดวงใจหลาย ๆคนอย่าง 5 Centimeters Per Second ที่ในผลงานล่าสุดก็กลับมาเล่าเรื่องที่คุ้นเคยอีกเรื่อง ในเรื่องราวเหงา ๆของคนสองคน คือ ทาคิ หนุ่มนักเรียนมัธยมที่อาศัยอยู่ในโตเกียว และ มิตซึฮะ หญิงสาวนักเรียนมัธยมที่อาศัยอยู่ในชนบท ทั้งสองมีชีวิตที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ต่างฝ่ายต่างโหยหาการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ จนกระทั่งคืนหนึ่ง ในวันเกิดปรากฏดาวตกในรอบพันปี ทาคิและมิตซึฮะต่างฝันว่าได้ใช้ชีวิตในแบบของอีกคน หรือพูดง่าย ๆว่า สลับร่างกันชั่วคราวในแต่ละวันเว้นวัน โดยไร้คำอธิบายว่าเพราะเหตุใด ทั้งสองใช้ชีวิตแบบนั้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง เมื่อเกิดความรู้สึกดีขึ้นในใจ ทั้งคู่จึงเริ่มตามหากัน


ลายเซ็นเหงา ๆของ มาโคโตะ ชินไค
ต้องขอออกตัวก่อนว่าผู้เขียนไม่เคยดูหนังของ มาโคโตะ ชินไค มาก่อนเลยสักเรื่อง แม้จะได้ยินเสียงเล่าอ้างถึงความดีงามของหนังมามากเพียงใด (โดยเฉพาะ 5 Centimeters Per Second ) แต่ยังไม่สามารถหาดูได้จากที่ไหนเลย เรื่องนี้จึงเหมือนเป็นการเสพผลงานของอาจารย์ชินไคเป็นครั้งแรก แต่เมื่อได้ดูแล้ว รู้สึกตกหลุมรักเสน่ห์และวิธีการเล่าเรื่องในอารมณ์นี้จริง ๆ เป็นอารมณ์ที่ดูแล้วอิ่มใจ ดูเรียบเรื่อย แต่ไม่น่าเบื่อ ประกอบกับมุกตลกที่มาได้ดูจังหวะที่ทำให้หนังครบรสมากขึ้น (จากที่ถามเพื่อนที่เคยดู 5 Cen มาก่อน เพื่อนบอกว่าอาจารย์ชินไคทำเรื่องนี้ดูเอนเตอร์เทนคนดูขึ้นเยอะ ถ้าเทียบกับ 5 Cen) เพราะหนังมีโมเมนต์น่ารัก ๆ ในโทนโรแมนติกคอมเมดี้ในช่วงครึ่งแรกของหนังที่ทำได้ดี ที่อาจไม่เคยได้เห็นกันมากนักจากผลงานเรื่องก่อน ๆ มากนัก


เรื่องราวที่พาคนดูไปไกลแสนไกล
เมื่อเรื่องเดินมาถึงจุดหนึ่ง สำหรับคนที่ดูแล้วคงพอจะรู้ว่าจุดพลิกผันของหนังที่เกิดขึ้นคืออะไร ซึ่งนี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ของอาจารย์ชินไค ว่าเหนือชั้นขนาดไหน เพราะจุดเริ่มต้นนั้นมาจากเรื่องราวชวนหัวในทางโรแมนติก แต่สุดท้ายคือการพลิกหนังเข้าโหมดดราม่าและใส่เรื่องราวแฟนตาซีเหนือจริงเข้าไปผสม กลายเป็นว่าบทหนังทำหน้าที่ได้ไกล (Beyond) กว่าเรื่องไหน ๆ

จริง ๆแล้วเป็นความเสี่ยงพอสมควรเพราะถึงจุดนี้ หนังจะเข้าสู่ภาวะออกทะเลและไปไกลจนกู่ไม่กลับ สุดท้ายก็หลงทาง (เพราะมีหนังหลายเรื่องที่ประสบภาวะแบบนี้ เพราะผู้กำกับคุมเรื่องราวที่เปลี่ยนทิศทางไม่อยู่) และปัญหาอีกอย่างคือคนดูตามจะตามหนังไม่ทัน เพราะปรับความคิดจากโทนหนังที่เปลี่ยนเป็นแฟนตาซีเต็มขั้นไม่ทัน (เพราะตัวผู้เขียนเอง เมื่อหนังถึงจุดนี้ก็ต้องใช้เวลาอยู่ครู่หนึ่งในปรับจูนความคิดตัวเองใหม่ และปล่อยให้หนังพาตัวเองไปโดยไม่ต้องคิดถึงความสมเหตุสมผลอีกต่อไป)

หากบทหนังเรื่องนี้ไม่อยู่ในมือผู้กำกับที่คุมโทนและเล่าเรื่องให้ออกมาพอดี ยังรักษาแก่นเรื่องไว้ได้ ขณะเดียวกันแม้จะมีโทนแฟนตาซีเหนือจริงมาผสมปรุงใหญ่ และขัดกับโลกความจริงชนิดที่นักฟิสิกส์อย่างด็อก บราวน์ มาดูก็คงต้องตะโกนร้องลั่นด่าในโรงหนัง (ขอลอกคำพูดพี่เต๋อ นวพลมาหน่อย ฮา) หากแต่อารมณ์โรแมนติกที่บีบคั้นหนักขึ้นยังคงทำงานกับคนดูต่อไป ทำให้หนังตกอยู่ในภาวะที่คนดูสามารถ ”ยกผลประโยชน์ให้จำเลย” ได้อย่างง่ายดาย เพราะฝีมือการกำกับของชินไคล้วน ที่ยังรักษาความรู้สึกของคนดูได้อยู่ แม้จะเรื่องราวจะดูออกนอกโลกไปเพียงใดก็ตาม แต่จุดจบก็อยู่บนพื้นฐานความรู้สึกของมนุษย์ ความประทับใจ อิ่มเอม คนดูรู้สึกได้


ภาพแอนิเมชั่นอันงดงามไร้ที่ติ
ผลงานก่อนหน้าของอาจารย์ชินไค ขึ้นชื่อลือขาในเรื่องภาพที่สวยงามจับใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แน่นอนว่าเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เพราะจุดเด่นที่ส่งให้เรื่องราวสนุก ตื่นตาตื่นใจและประทับใจ มาจากภาพวาดและเทคนิคแอนิเมชั่นที่สวยงามจริง ๆ โดยไม่ใช่แค่คิดขึ้นมาใหม่ แต่ในฉากที่อิงกับสถานที่จริง ภาพในหนังก็ถอดแบบมาจากสถานที่จริง ๆเป๊ะ ๆ แบบไม่ผิดเพี้ยนเลย แสดงถึงการเก็บรายละเอียดที่ดีมาก

และโดยเฉพาะในฉากดาวตก หรือฉากวิวทิวทัศน์อันกว้างใหญ่ในเมืองที่ มิตซึฮะ อาศัยอยู่ ภาพเหล่านี้ที่เราเห็นจากหนังเปรียบเหมือนภาพในฝันที่เราจะสามารถเห็นได้จากจินตนาการเท่านั้น และเมื่อภาพเหล่านี้มาอยู่บนจอในโรงภาพยนตร์ จึงเป็นหนังอีกเรื่องที่ต้องแนะนำว่า จำเป็นต้องรับชมในโรงภาพยนตร์เพื่ออรรถรสด้านอารมณ์ด้านภาพอย่างแท้จริง


วัฒนธรรมแฝง ที่มากับแอนิเมชั่นญี่ปุ่นเสมอ
เป็นเรื่องที่น่าสงสัยเหลือเกินว่าทำไมหนังแอนิเมชั่นญี่ปุ่นนั้นสามารถสอดแทรก ความเชื่อ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตดั้งเดิม ของชาวญี่ปุ่นได้แนบเนียนขนาดนี้ เพราะในหนังเรื่องนี้มีอยู่หลายฉาก ที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวดังกล่าวออกมา โดยที่คนดูไม่รู้สึกเบื่อและรู้สึกยัดเยียด ตรงกันข้าม มันกลับดูสวยงาม รู้สึกงดงามในใจ และดูเป็นวัฒนธรรมที่น่ารักษาไว้ให้อยู่ตลอดไป นี่เป็นความเก่งกาจบุคคลด้านศิลปะภาพยนตร์ของประเทศที่พัฒนาแล้วหรืออย่างไร?

ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก Fanpage FB : M Pictures Co.,Ltd

หากอ่านแล้วชอบ ติดตามบทความจากภาพยนตร์ทั้งเก่าและใหม่ได้ที่ https://www.facebook.com/thelastseatsontheleft นะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่