JJNY : เศรษฐกิจดี๊ดี...รายได้เท่าเดิมของแพง ดัชนีเชื่อมั่นครัวเรือน ต.ค. รูดลง รอบ 3 เดือน

กระทู้คำถาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือน เดือน ต.ค.59 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 42.9 จากความกังวลค่าครองชีพ เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่ม ในขณะที่รายได้เท่าเดิม ส่วนความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนในช่วงที่เหลือของปี คาด จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เพราะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น...

วันที่ 11 พ.ย.59 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยรายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) เดือน ต.ค.59 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 42.9 จากระดับ 44.2 ในเดือน ก.ย.59 เนื่องจากมีความกังวลเรื่องราคาสินค้าเพิ่มขึ้น หลังราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคปรับตัวสูงขึ้นในเดือน ต.ค.59 ส่งผลต่อเนื่องให้ครัวเรือนเป็นกังวลต่อประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) มากขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่ ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับเดิมที่ 44.4 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนยังไม่เปลี่ยนแปลงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ซึ่งน่าจะส่งผลให้การบริโภคของภาคเอกชนในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี 59 ให้ประคองตัวไปได้

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพในปัจจุบันปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เนื่องจากครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นในประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าและภาระค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) โดยมองว่า สถานการณ์ราคาสินค้ายังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะข้างหน้า ทั้งในส่วนของราคาอาหารสด โดยเฉพาะผักสดหลายชนิดที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นในเดือน พ.ย.หลังน้ำท่วมในหลายพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงในส่วนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ยังคงผันผวนตามสถานการณ์น้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งผลการประชุมโอเปกอย่างเป็นทางการ (30 พ.ย.59) จะเป็นตัวตัดสินทิศทางน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงถัดจากนี้ไป ขณะที่ราคาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มน่าจะค่อยๆ ผ่อนคลายหลังอุปทานที่เพิ่มขึ้นมากเพียงพอที่จะรองรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนในช่วงที่เหลือของปี 59 น่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือน ต.ค.59 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นทั้งในด้านการบริโภค การท่องเที่ยว และการส่งออก แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าที่จะส่งผลต่อค่าครองชีพของครัวเรือน ทั้งในส่วนของราคาอาหารสดที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากอุทกภัยในพื้นที่เพาะปลูก และในส่วนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์น้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงติดตามมติ ครม.ในเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำภายในประเทศ ซึ่งน่าจะมีผลต่อรายได้ของครัวเรือนในระยะข้างหน้า

จากความเชื่อมั่นของครัวเรือนพลิกกลับมาปรับตัวลดลงในเดือน ต.ค.59 อีกครั้ง หลังจากปรับตัวดีขึ้นติดต่อกัน 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.) สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นของครัวเรือนต่อภาวะการดำรงชีพในปัจจุบัน โดยในเดือน ต.ค.นี้ ครัวเรือนกลับมามีความกังวลมากขึ้นในประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า หลังราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคหลายรายการปรับตัวสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปประจำเดือน ต.ค.ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 จากเดือนก่อนหน้า

ขณะที่สถานการณ์ทางด้านรายได้ของครัวเรือนเดือน ต.ค.ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า จึงทำให้ครัวเรือนรู้สึกเป็นกังวลมากขึ้นในประเด็นเรื่องภาระค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ที่น่าจะสูงขึ้นตามราคาสินค้าที่แพงขึ้นภายใต้กำลังซื้อเท่าเดิม" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

การที่ครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน สะท้อนจากดัชนีองค์ประกอบที่แสดงมุมมองต่อสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าในเดือน ต.ค.59 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 37.4 จากระดับ 41.7 ในเดือน ก.ย.59 หลังสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันหลายรายการปรับตัวสูงขึ้นในเดือน ต.ค. รวมถึงราคาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ราคาสินค้าที่สูงขึ้นได้ส่งผลให้ครัวเรือนมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย สะท้อนให้เห็นจากดัชนีองค์ประกอบที่แสดงมุมมองต่อภาระค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 36.0 ในเดือน ต.ค.จากระดับ 39.0 ในเดือน ก.ย.

ขณะที่ ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบทางเท้าของ กทม.จากผลสำรวจครัวเรือนที่อาศัยหรือทำงานใน กทม.ต่อประเด็นเรื่องการจัดระเบียบทางเท้าบริเวณริมถนนใหญ่ของ กทม. ที่เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ร้อยละ 71.2 มองว่า มาตรการจัดระเบียบทางเท้าไม่ส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน เนื่องจากครัวเรือนสามารถหาซื้อสินค้าทดแทนที่ราคาใกล้เคียงกันตามร้านค้าได้ ขณะที่ร้อยละ 14.3 ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจเปิดเผยว่ามีค่าใช้จ่ายน้อยลง เนื่องจากไม่มีแผงลอยริมทางจูงใจให้ซื้อระหว่างทาง และโดยมากสินค้าที่วางขายริมทางเป็นสินค้าไม่จำเป็น เพียงร้อยละ 14.5 ของครัวเรือนที่มองว่าการจัดระเบียบทางเท้าส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น  เพราะมองว่าสินค้าทดแทนตามร้านค้ามีราคาสูงกว่าที่ขายตามแผงลอยริมทาง.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่