มีเรื่องเล่า มาเล่า อ่านแล้วชอบ...

มีเรื่องเล่า มาเล่า

มีเรื่องมาเล่าสู่กันฟัง เป็นเรื่องของเพื่อนสนิทน้องสาว เค้าเล่าให้ฟังว่าไม่ชอบพี่ที่ทำงานด้วยกัน เวลามีงานด่วนหรืองานโครงการพิเศษอะไรชอบอ้างว่าตนเองทำงานยุ่ง ไม่ว่าง ให้น้อง “ส้มหล่น” ทำดีกว่า … ฟังแล้วดูเหมือนว่าน้องคนนี้จะชื่อส้มหล่น จริงมั้ยค่ะ … คำว่าส้มหล่นในที่นี้ พวกพี่ทางนั้นจะใช้เรียกคนที่โดนมอบหมายงานที่ไม่มีใครอยากทำ หรืองานที่สร้างภาระงานจากงานประจำที่ทำอยู่ …. และเนื่องจากน้องคนนี้เพิ่งเริ่มเข้าทำงานประมาณ 1 ปี จึงไม่มีอำนาจต่อรองกับพี่ ๆ            ฟังแล้วน่าเห็นใจมั้ยค่ะ … ที่จริงแล้วน้องคนนี้บอกว่าถ้าพูดจาดีๆ ไม่ใช้คำพูดที่ดูแล้วแย่แบบนี้ ก็จะเต็มใจทำงานให้ การพูดแบบนี้เหมือนไม่ให้เกียรติกันเลย คิดว่าตัวเองเป็นรุ่นพี่ เลยไม่สนใจความรู้สึกของรุ่นน้องหรือไง …. และจากเหตุการณ์นี้ทำให้ดิฉันอยากจะสะกิดใจคนทำงานว่าหากต้องการทำงานให้ประสบความสำเร็จและเป็นไปอย่างราบรื่น ควรให้เกียรติซึ่งกันและกันโดยไม่จำกัดอายุและตำแหน่งงาน ทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้รับเกียรตินี้เท่าเทียมกัน ซึ่งการแสดงออกด้วยความเคารพ และการให้เกียรติกันนั้นสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่            

          ให้เกียรติในด้านการใช้คำพูด : มีสุภาษิตกล่าวว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” จากตัวอย่างของน้องคนนี้ หากรุ่นพี่เลือกใช้คำพูดที่ดี หรือไม่พูดเลย ย่อมจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องเป็นไปด้วยดี คำพูดเปรียบเสมือนดาบสองคม เป็นทั้งคำพูดที่ให้คุณและให้โทษกับตัวเอง และบางครั้งคุณอาจเป็นผู้สร้างศัตรูด้วยคำพูดของคุณเอง … การให้เกียรติด้วยคำพูดนั้น ขอให้คำเลือกใช้คำพูดในทางบวก (Positive Wording) ที่สร้างสรรค์ ฟังแล้วก่อให้เกิดมิตร เช่น พี่คิดว่าเราเก่ง รับรองว่าถ้าเราทำโครงการนี้ พี่ว่าผลออกมาต้องดีมากเลย …. ใช้แทนคำพูดว่า “ ส้มหล่น ” จะดีกว่ามั้ย            

       ให้เกียรติในด้านการกระทำ : เป็นการแสดงออกถึงความเคารพในบทบาท และหน้าที่งานของผู้อื่น พบว่าในสังคมของการทำงาน อาจลืมนึกไปถึงการให้เกียติกันและกัน อย่างเช่น การสั่งงานหรือมอบหมายงานแบบข้ามหน้าข้ามตา แทนที่จะแจ้งหรือบอกให้หัวหน้างานโดยตรงรับทราบ กลับไปมอบหมายงานให้ลูกน้องเอง และไม่มีการบอกกล่าวหัวหน้างานเลย บางครั้งอาจทำไปเพราะความเคยชิน ลืมเอาใจเขามาใส่ใจเรา นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการแสดงพฤติกรรมที่ไม่สุภาพ ก้าวร้าวต่อบุคคลอื่น ๆ หลายคนที่แสดงความก้าวร้าว เวลาไม่พอใจจะเดินเชิดหน้าออกไป หรือกระแทกของเสียงดังแบบชนิดที่ว่า ไม่รู้โกรธใครที่ไหนมา ???            

       ให้เกียรติในด้านสีหน้า : สีหน้าเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บอกเหตุว่าคุณกำลังให้เกียรติอีกฝ่ายหรือไม่ บางคนไม่ชอบหรือไม่พอใจใคร อย่างเช่น ไม่ชอบเจ้านาย ที่วัน ๆ เอาแต่สั่งงาน ก็จะทำหน้าตาบูดบึ้ง หรือทำหน้าแบบไม่รู้ไม่ชี้ หรือทำหน้าแบบไม่มีชีวิตชีวา … คุณต้องอย่าลืมบทบาทของเจ้านายว่า เขาถูกจ้างให้มาควบคุมและมอบหมายงานให้ลูกน้องทำ มิใช่ถูกจ้างให้มาทำงานของลูกน้อง ซึ่งคุณอาจจะคิดว่าเป็นการสั่ง แต่ถ้ามองให้ดีและลึกลงไป ขอให้เรียกว่าการมอบหมายจะดีกว่าค่ะ
           การให้เกียรติกันและกันไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม จะทำให้สังคมหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานน่าอยู่มากขึ้น ไม่เกิดปัญหาความขัดแย้ง ความเข้าใจผิด หรือปัญหาความรู้สึกที่น้อยเนื้อต่ำใจ รู้สึกเจ็บใจ รู้สึกโกรธ ซึ่งความรู้สึกต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ส่งผลดีต่อสภาพจิตใจของเราอย่างแน่นอน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่