Foundation of Hwarang101 วิชาฮวารังขั้นพื้นฐาน : บทที่ 1 สังคมและวัฒนธรรมพื้นฐานในสมัยชิลลา

บทนำ

สวัสดีค่ะมิตรรักแฟนซีรีส์ซากึกทุกท่าน วันนี้ จขกท.ตัดสินใจมาเขียนกระทู้ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับฮวารัง เนื่องจากอาการตื่นเต้นและแตกตื่นของแฟนๆ ที่จู่ๆ KBS ก็ปล่อยโปสเตอร์ผู้ชายดอกไม้ออกมาเรียกอาการติ่ง สร้างความกระหายใคร่รู้ว่า ฮวารังมันคือเรื่องอะไรกัน ผู้ชายงานดีมาก และพวกเขาอยู่ในยุคไหน? ฮวารังสร้างจากเว็บตูนหรือเป็นซีรีส์ซากึกกันแน่?
เดี๋ยวเราจะได้ทราบกันทั้งหมด หลังจากที่ได้ปูพื้นฐานในแต่ละหัวข้อกันค่ะ หาก จขกท.เขียนเนื้อหาผิดพลาดไปยังไงก็ขออภัยด้วยนะคะ


ยุคสามอาณาจักร

ประวัติศาสตร์เกาหลี หมายถึง อาณาจักรโคกูรยอ แพกเจ และ ชิลลา ซึ่งปกครองคาบสมุทรเกาหลี และบางส่วนของจีน ตั้งแต่ 100 ปีก่อนคริสตกาล จนถึงคริสต์ศักราชที่ 700 โดยประมาณ หลังจากนั้น อาณาจักรชิลลา มีชัยชนะต่ออาณาจักรแพกเจและอาณาจักรโคกูรยอ จึงผนวกรวมดินแดนให้เป็นหนึ่งเดียว สิ้นสุดยุคสามอาณาจักร และเข้าสู่ยุคอาณาจักรชิลลารวม

อาณาจักรชิลลา

อาณาจักรชิลลา เป็นหนึ่งในอาณาจักรยุคสามก๊กแห่งเกาหลีสถาปนาโดยพระเจ้าฮยอกกอเซเมื่อ 57 ปีก่อนคริสตกาล (ตรงกับ พ.ศ. 486) ซึ่งอาณาจักรชิลลาเกิดจากการรวมตัวกันของอาณาจักรจินฮันกับชนเผ่าต่าง ๆ ทำให้อาณาจักรเติบโตขึ้น แต่ดั่งเดิมนั้นมีชื่อว่า "อาณาจักรซาโร (Saro Kingdom) หลังจากนั้น พระเจ้าจีจึง กษัตริย์องค์ที่ 22 ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น "อาณาจักรชิลลา (Shila Kingdom)"
อาณาจักรชิลลาต้องทำสงครามกับอีก 2 อาณาจักรใหญ่คืออาณาจักรโคกูรยอ อาณาจักรแพกเจ และการพยายามรวมชนเผ่าอาณาจักรคายา อยู่นานกว่า 500 - 600 ปีก่อนที่พระเจ้ามุนมูกษัตริย์องค์ที่ 30 แห่งอาณาจักรชิลลาซึ่งครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 661 - 681 จะสามารถรวบรวมแผ่นดินได้สำเร็จด้วยการกลืนโคกูรยอและแพกเจเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชิลลา โดยการนำของแม่ทัพฮวารังชื่อ คิมยูชิน
   
ภาพอธิบายพื้นที่ในยุคสามอาณาจักร และ หลังจากอาณาจักรชิลลาสามารถรวมแคว้นได้สำเร็จ


ความเชื่อและศาสนา

หากใครเคยดูละครซากึกมาก่อน โดยเฉพาะยุคโชซอน แล้วพอมาดูยุคของชิลลา อาจจะรู้สึกแปลกใจและไม่คุ้นสายตานัก เนื่องจากยุคโชซอนจะใช้หลักปรัชญาของลัทธิขงจื้อเป็นหลัก แต่ในยุคของชิลลา จะเป็นยุคของพระพุทธศาสนานิกายมหายานมีบทบาทเริ่มเข้ามามีบทบาท แต่อาจจะไม่ได้รุ่งเรืองเท่ายุคโครยอ เพราะในยุคชิลลานั้นจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างพระพุทธศาสนา ลัทธิเต๋า โหราศาสตร์ ปรากฎการณ์วิเศษ ผีสางนางไม้ ดังนั้น ชนชั้นสูงมักจะพยายามสร้างตนเองเป็นตัวแทนของเทพเพื่อให้ชนชั้นล่างนับถือว่าตนเองเป็นผู้วิเศษและอยู่ภายใต้การปกครอง ในขณะเดียวกัน สายพระพุทธศาสนา ก็จะมีนักบวชเกิดขึ้น และมีวัดอยู่มากมายเช่นกันค่ะ
แต่ในเรื่องฮวารัง ท่านอาจารย์วีฮวาเลือกหลักขอลัทธิเต๋ามาสอนฮวารัง และปฏิเสธหลักการข๋งจื้อและเม่งจื้อของอาจารย์ท่านอื่นด้วยค่ะ

โครงสร้างการเมืองการปกครองในชิลลา

ถึงแม้ว่าในยุคชิลลา จะใช้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช กล่าวคือ ที่มาของกฎหมายทั้งปวงอยู่ที่กษัตริย์ ราชโองการต่างๆล้วนมีผลเป็นกฎหมาย กษัตริย์มีอำนาจในการปกครองแผ่นดินและพลเมืองโดยอิสระ โดยไม่มีกฎหมายหรือองค์กรใดๆ จะคานอำนาจได้
แต่อันเนื่องมาจากความเชื่อในหัวข้อก่อนหน้า จึงมีผลต่อระบบของการปกครองในอาณาจักรชิลลา กล่าวคือ หากชนชั้นสูงหรือขุนนางคนใด ซึ่งสามารถใช้องค์กรทางศาสนาและความเชื่อต่างๆ อาจทัดทานกษัตริย์จากการกระทำการบางอย่างได้ จะสามารถถีบสถาณะตัวเองขึ้นมามีอำนาจอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นชาย หรือเป็นหญิงก็ตาม และเนื่องด้วยระบบสภาขุนนาง ที่ใช้ระบบเสียงเอกฉันท์ ทำให้ระบอบการปกครองมีความใกล้เคียงเกือบจะเป็นหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคล้ายๆบ้านเราเลยทีเดียวค่ะ

สิทธิของสตรีในอาณาจักรชิลลา

สืบเนื่องจากโครงสร้างทางสังคม ที่ยังไม่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื้อ และชาวบ้านยังคงนับถือผีสาง ชนชั้นสูงนับถือพระพุทธศาสนา ทำให้สถาณะของทั้งบุรุษและสตรี มีความเท่าเทียมกันอย่างมาก ทางด้านสถาบันครอบครัว ผู้เป็นภรรยาไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในอาณัติของสามีและมีแค่หน้าที่เลี้ยงดูบุตรเท่านั้น หากเธอเหล่านั้น เป็นผู้มีความรู้และความสามารถที่จะนำครอบครัวได้ เธอสามารถที่จะเป็นเจ้าบ้าน หัวหน้าตระกูลหรือหัวหน้าเผ่าได้เช่นกัน และงานทางราชการ ผู้หญิงสามารถที่จะเป็นคนตรากฎหมายบ้านเมืองได้เช่นกัน หากมีความรู้และเป็นคนฉลาดค่ะ
การแต่งงาน ผู้หญิงชั้นสูงของชิลลาสามารถแต่งงานได้หลายครั้ง มีสามีได้หลายคนโดยไม่มีความผิดทางศีลธรรมแต่อย่างใด ลูกๆและสามีก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่มีการแบ่งว่าใครจะเป็นสามีเอกสามีรอง ลูกที่เกิดกับสามีคนหลังๆก็ไม่ได้มีสถาณะต่ำต้อยหรือโดนแบ่งแยกออกจากคนอื่นเลยค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้หญิงที่จะมีหลายสามีได้ ก็ต้องมีอำนาจและบารมีเพียงพอด้วยค่ะ
หากใครเคยดูซากึกในยุคชิลลา เช่น ซอนต๊อก มหาราชินีสามแผ่นดิน จะเห็นว่า ผู้หญิงสามารถเล่นการเมืองคุมผู้ชายได้ อย่างมิชิลที่ใช้อำนาจจากเครือข่ายสามีของนาง หรือ องค์หญิงต๊อกมานที่ได้รับชัยชนะไปถึงจุดสูงสุดคือได้เป็นพระมหากษัตริย์หญิง นั่นเป็นสิ่งที่โดดเด่นที่สุดเกี่ยวกับการอธิบายของสิทธิสตรีในยุคนั้นเลยทีเดียวค่ะ

โกอารา รับบท อาโร สตรีสามัญชนที่มีความรู้ความสามารถ เธออาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในแคว้นชิลลา


การกำเนิดของยุคฮวารัง

จากการอ้างอิงถึง ฮวารัง เซกี (화랑세기) ซึ่งได้มีการเขียนไว้ในบันทึกประวัติศาสตร์ ของอาณาจักรชิลลา ในรัชสมัยของพระราชินีซอนต็อก (ค.ศ. 702 -737) โดย คิมบูชิก แต่ในฮวารังเซกียังคงมีข้อขัดแย้งระหว่างนักวิชาการของเกาหลีอยู่มากมายว่ามันอาจจะเป็นของปลอม หรือของจริงก็ได้ เพราะทัพฮวารังนั้นรุ่งเรืองสุดๆในยุคของพระเจ้าจินพยอง และยุคของพระราชินีซอนต๊อก จึงทำให้สันนิษฐานกันว่า กลุ่มทหารองค์กรพิเศษอย่างอย่างฮวารัง น่าจะก่อตัวกันขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าจินฮึง ผู้มีศักดิ์เป็นปู่ของพระเจ้าจินพยอง หรือเป็นท่านทวดของพระราชินีซอนต๊อกนั่นเอง
(จริงๆแล้ว จขกท.ว่า คงจะปลอมแหละค่ะ เพราะฮวารังที่อยู่ในบันทึก เป็นคนของเจ้เซจูมิชิลหมดเลย แล้วฮวารังของพระเจ้าจินฮึงหายไปไหนหมดไม่รู้ หรือว่านางจะเผาทิ้งก็ไม่รู้)
화랑 มีความหมายว่า อัศวินดอกไม้งาม โดย ฮวา แปลว่าดอกไม้ รัง แปลว่า ชายหนุ่ม
หากจะกล่าวถึงสถาณะของฮวารัง จะเปรียบเป็นแค่ทหารองครักษ์เหมือนอาณาจักรอื่นๆก็ไม่ถูกซะทีเดียว เพราะพวกเขาเป็นมากยิ่งกว่านั้น เป็นกลุ่มองครักษ์ที่จะมีพระมหากษัตริย์ดูแลและสั่งการได้โดยตรง โดยไม่ผ่านเจ้าขุนนางกรมไหนๆทั้งนั้น แต่จะมีผู้บัญชาการพิเศษเรียกว่า วอนฮวา ซึ่งตำแหน่งวอนฮวานี้ มักจะเป็นพระมหากษัตริย์ หรือองค์หญิงและองค์ชายตำแหน่งสูงส่งที่สุดในราชวงศ์ชิลลาค่ะ
  
องค์หญิงซอนมยอง และ องค์หญิงต็อกมาน ผู้ดำรงตำแหน่งวอนฮวาในสมัยพระเจ้าจินพยอง ในเรื่องควีนซอนต็อก


ชีวประวัติโดยย่อของพระเจ้าจินฮึง ผู้(คาดว่า)ก่อตั้งฮวารัง

พระเจ้าจินฮึงแห่งชิลลาทรงครองราชย์ตั้งแต่อายุยังน้อยสืบต่อจาก พระเจ้าบอบฮึงผู้เป็นปู่ (ค.ศ.514-540) ตั้งแต่มีพระชนมายุ 7 ปี ซึ่งตามหลักแล้วพระเจ้าจินฮึงจะต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ สมเด็จพระพันปีจีโซ พระมารดาของพระองค์ จึงทำให้พระองค์แทบจะเป็นกษัตริย์แค่ในนาม แต่อำนาจการบริหารบ้านเมืองไปอยู่กับพระพันปีแทบจะเบ็ดเสร็จในทุกฝ่าย ทำให้พระองค์เกิดความคับแค้นใจ และอยากจะเป็นกษัตริย์ผู้มีชื่อเสียงเกรียงไกร จนกระทั่งได้มาพบกับเด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่ง ที่ต่อมารวมตัวเป็น ฮวารังรุ่นแรก ทำให้พระองค์มีขวัญและกำลังใจในการเป็นกษัตริย์ที่จะปกครองชิลลาให้มีชื่อเสียงและขยายอาณาเขตไปอย่างกว้างไกล เรียกได้ว่า เพราะมีฮวารัง พระองค์จึงมีชื่อเสียงนั่นเอง
พระเจ้าจินฮึง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีอำนาจบัญชาการทัพฮวารังด้วยตัวพระองค์เอง ออกกฎระเบียบการคัดเลือกและคำสั่งในการฝึกฝนฮวารังรุ่นแล้วรุ่นเล่า ตราบจนช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตจึงจะส่งต่ออำนาจเหล่านี้ให้แก่คนในราชวงศ์สืบไป

  
พัคฮยองชิค รับบท พระเจ้าจินฮึงในวัยหนุ่ม ชื่อซัมเมกจง และคุณอีซุนแจ รับบทพระเจ้าจินฮึงในเรื่องควีนซอนต็อก


คุณคิมจีซู รับบท พระพันปีจีโซ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระเจ้าจินฮึง


สรุป Q&A เกี่ยวกับ Hwarang : The Begining

Q : เรื่องนี้สร้างจากเว็บตูนจริงหรือไม่ ?
A : ไม่ใช่ค่ะ เรื่องนี้เป็นซีรีส์ซากึก แต่ฉากฟรุ้งฟริ้งบางอย่างอาจจะอิงการ์ตูนมาบ้าง แต่ตัวละครและไทม์ไลน์ทางประวัติศาตร์ไม่ตรงกันค่ะ

Q : ทำไมชื่อเรื่องถึงมีคำว่า The Begining ต่อท้าย ?
A : เราคิดว่าคนอาจจะงงว่าฮวารังไหน เพราะซีรีส์เรื่องอื่น (เช่น ซอนต็อก) ก็มีฮวารังเหมือนกัน ก็เลยต่อคำว่า The Begining เพื่อแสดงถึงยุคเริ่มต้นค่ะ

Q : ตอนนี้ตัวละครตัวไหนบ้างที่มีจริงตามประวัติศาตร์ ?
A : ก็จะมีซัมเมกจง บทของฮยองชิค องค์หญิงซุกมยอง บทของซอเยจี และพระพันปีจีโซ บทของคุณคิมจีซูค่ะ นอกนั้นทางละครก็จะเสริมเติมแต่งตามจินตนาการ เพื่อให้ซีรีส์สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นค่ะ เพราะบันทึกเกี่ยวกับฮวารังรุ่นเริ่มต้นก็เลือนรางค่ะ

Q : ถ้าอย่างนั้น เรื่องราวใน Hwarang : The Begining ก็เกิดก่อนเรื่องซอนต๊อก มหาราชินีสามแผ่นดินใช่ไหม ?
A : ถูกต้องแล้วค่ะ เรื่องนี้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนทั้งเรื่อง ซอนต็อก ซอดองโย และ คิมชุนชู ตามลำดับค่ะ

All Thanks Credit:
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

สารบัญวิชาฮวารัง
บทที่ 2 ผ่าลำดับราชวงศ์ชิลลาทั้ง 56 พระองค์ http://ppantip.com/topic/35970937
บทที่ 3 ระบบชั้นกระดูก ศักดินาที่สำคัญที่สุดในชิลลา http://ppantip.com/topic/36041680
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่