ข้าวราคาตก ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง "ผมยังนั่งงง ทำไมฮือฮาเกินความจริงกันจัง"

วันศุกร์ ที่ 04 พฤศจิกายน 2559 เวลา
http://www.isranews.org/thaireform/thaireform-talk-interview/item/51348-ricej-51348.html
รัฐบาลส่งสัญญาณว่า เก็บข้าวไว้ อย่าพึ่งขายแถมเงินให้อีก ผมถามหน่อย คุณรู้ได้อย่างไรว่าราคาจะขึ้น และถึงแม้จะขึ้นผมก็มองว่า มันขึ้นเหมือนหุ้นคือขึ้นๆ ลงๆ ไม่ได้ขึ้นเรียบเหมือนไม้กระดานเด็กเล่น และคนที่เก็งตลาด หรือเล่นตลาดได้ดี คือคนที่มีข้อมูล คือโรงสี ผู้ส่งออก ที่มีข้อมูลดีกว่าชาวนา

ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวกับ ‘สำนักข่าวอิศรา’ ถึงสถานการณ์ราคาข้าวตกต่ำในปัจจุบันว่า มีปัจจัยมาจากสาเหตุหลัก 4 ประการคือ

1.ผลผลิตของโลกมีปริมาณมากขึ้นกว่าปีก่อน ขณะเดียวกันปริมาณสต็อกก็มีมากขึ้น

2.ในปีที่ผ่านสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) มีราคาตกต่ำมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ทำให้ประเทศที่มีรายได้จากน้ำมันจนลง เช่น ประเทศไนจีเรีย ทำให้ลดการบริโภคข้าวลง และหันไปบริโภคสินค้าอื่นแทน เช่น กล้วย มันสำปะหลัง

3.ตั้งแต่ต้นปี เดือนมกราคม-เมษายนที่ผ่านมา บ้านเราพูดกันมากว่าประเทศไทยจะแล้ง จึงขอให้ชาวนาเลื่อนการปลูกข้าวออกไป หลังจากนั้นประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ฝนเกิดตกและดีด้วย ทำให้มีการเลื่อนการเพาะปลูกออกไปพร้อมๆ กันคือประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ผลผลิตจึงออกมาพร้อมกัน ทำให้เกิดปัญหา

และ 4. ราคาข้าวที่ชาวนาขายได้ หรือราคาข้าวในประเทศ ขึ้นอยู่กับราคาข้าวต่างประเทศที่ไทยส่งออก ซึ่งปัจจุบันราคาก็ตกต่ำลงเช่นกัน   

"ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งที่ 1 ใน 3 ของผลผลิตชาวนาเก็บไว้กินเอง, 1  ใน 3 บริโภคภายในประเทศ และอีก 1 ใน 3 เป็นการส่งออก ซึ่งในส่วนของการส่งออกนี้เองเป็นตัวกำหนดราคาคือ ถ้าราคาส่งออกขึ้น ราคาในประเทศก็ขึ้นตาม

ทีนี้ลองคิดดูว่า ปีใดที่ราคาในต่างประเทศลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตมาก แต่ราคาในประเทศไม่ลดลงตาม ผู้ส่งออกก็หยุดหมด ไม่ส่งออก เพราะซื้อแพงขายถูก เป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครทำ ต้องรอจนราคาในประเทศลดจึงจะส่งออก ดังนั้นของก็เหลือ ปริมาณ 1  ใน 3 ไม่ใช่น้อยๆ จึงเกิดการกดดัน จนราคาต่ำกว่าต่างประเทศ เพียงพอที่จะสามารถส่งออกได้ และเมื่อราคาต่างประเทศสูง ราคาในประเทศต่ำ คนก็แย่งกันส่งออก ฉะนั้นราคาภายในกับการส่งออกจึงสัมพันธ์กัน"

ตลาดข้าวบางซื้อ-ขายทั่วโลกแค่  6%

ส่วนสาเหตุที่ราคาข้าวในต่างประเทศขึ้น-ลงนั้น ดร.เจิมศักดิ์ อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ข้าวที่ค้าขายกันระหว่างประเทศมีเพียง 6% ของผลิตผลทั้งโลก ส่วนอีก 94% แต่ละประเทศปลูกไว้เพื่อบริโภคภายใน

ฉะนั้น ตลาดข้าวจึงบางมาก

ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Fin Market ยกตัวอย่างประเทศจีนปลูกได้มากกว่าไทย แต่บริโภคภายในประเทศหมด เพราะมีจำนวนประชากรมาก เพราะฉะนั้นที่เราส่งออก และบอกว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลกและคิดไปว่า จะสามารถกำหนดราคาส่งออกต่างประเทศได้ "ผมว่าเรื่องนี้ไม่จริงเลย เราส่งออกราว 1  ใน 3 ของปริมาณข้าวที่ค้าขายกันอยู่ในโลก หรือคิดเป็น 2% ของผลิตผลทั้งโลก ซึ่งไม่มาก เราจึงไม่มีอำนาจไปกำหนดราคาทั้งโลกได้ หรือถ้าสามารถไปกำหนดราคาได้จริง เพียงแค่แต่ละประเทศเพิ่มผลผลิตกันคนละนิด ปริมาณข้าวในตลาดก็ท่วมแล้ว

ผมอยากจะชี้ว่า เราไม่ได้มีอำนาจเหนือตลาดต่างประเทศมากนัก อย่างที่หลายคนเข้าใจผิด และด้วยความไม่เข้าในเรื่องเหล่านี้ ทำให้รัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์พังพินาศ เพราะคิดว่า การรับซื้อข้าวแพงๆ เก็บไว้แล้วราคาจะขึ้น ความเป็นจริงมันไม่ใช่"

ส่วนที่มีการวิเคราะห์และพูดถึงกันมากว่า สาเหตุที่โรงสีไม่รับซื้อข้าวเป็นเรื่องของการเมือง เป็นเรื่องกลั่นแกล้งนั้น ดร.เจิมศักดิ์  กล่าวว่า ในประเด็นนี้ส่วนตัวไม่ค่อยมั่นใจว่าเป็นจริงหรือไม่ อย่างไร  แต่ตั้งข้อสังเกตว่า โรงสีที่ไปร่วมมือหากินกับนโยบายจำนำข้าวก็มีไม่น้อย เกิดการโกงยุบยิบไปหมด ตรงนี้ก็อาจเป็นไปได้หรือไม่ว่า โรงสีเหล่านี้จะกลัว ที่จะนำเงินไปซื้อข้าวหรือนำเงินไปดำเนินกิจการ เพราะข้าวก็เป็นทรัพย์สินที่สามารถถูกยึดได้เช่นกัน

"ผมไม่ทราบว่าสิ่งไหนถูก แต่ประเด็นโรงสีก็เป็นไปได้ในทิศทางเหล่านี้"  

ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด หรือมาตรกรจำนำยุ้งฉางของรัฐบาลว่า ประการแรกที่รัฐบาลบอกจะเอาเงินช่วยชาวนาเป็นค่าเก็บเกี่ยวตันละ 2,000 บาท โดยกำหนดเพดานไม่เกิน 10 ตันต่อรายนั้น "ผมเห็นว่าจะทำก็ทำไป และพูดกันตรงๆ ก็เป็นการแจกเงิน แต่เป็นการแจกเงิน โดยอ้างเป็นค่าเก็บเกี่ยว"

“การแจกเงินไม่ใช่การบิดเบียนตลาด หรือทำให้เกิดความเสี่ยงอะไร ผมไม่ได้ขัดข้อง แต่ก็มีข้อเสียอยู่นิดคือ การแจกเงินทำให้ชาวนาเสียนิสัย อะไรก็ขอแจก ทำให้เราอยู่ในระบบอุปถัมภ์ รัฐบาลต้องอุ้ม ต้องพึ่งพาตลอด แต่ก็ไม่ได้บิดเบือนหรือทำให้โครงสร้างตลาดเสียหายเหมือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์”

ประการต่อมา กรณีการรับจำข้าว ซึ่งก็คือการให้เครดิตการให้สินเชื่อ โดยนำข้าวมาเป็นหลักประกัน ในมูลค่า 90% ของราคา โดยราคาอยู่ที่ 9,500 บาท คิดว่ารัฐบาลให้ราคาสูงไป ควรให้มูลค่าแค่ 80% ของราคา เพราะใครจะไปรู้ว่า ในอนาคตราคาจะขึ้นหรือลง ซึ่งหากลงไปกว่า 10% ถามว่า ใครจะไปไถ่ รัฐก็ต้องมาบริหารจัดการ สีข้าว ขนส่งไปใส่โรงสี ก็ต้องไปทำในสิ่งที่รัฐไม่ควรทำเหมือนสมัยยิ่งลักษณ์ทำ ทีนี้ก็จะเกิดการโกงกันยุบยิบไปหมด และก็จะถูกย้อนรอยด่าคุณก็ทำเหมือนเขา

“เอาง่ายๆ ใครมากู้เงินเรา เอาของมาจำนำ มีใครกล้าให้ราคา 90% เพราะถ้าราคาตก เขาก็ทิ้ง ทีนี้คุณก็ต้องเป็นภาระ โดยเฉพาะในสิ่งที่คุณไม่ถนัด และข้าวก็ไม่ใช้ปริมาณน้อยๆ ที่นี้ก็จะถูกด่า ทั้งที่ไม่ได้เจตนา ผมจึงอยากเตือนให้ระวัง”

ประการสุดท้ายคือ การที่รัฐบาลให้ราคาจูงใจในการเก็บรักษาข้าวเปลือกตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายทันที 1,000 บาทต่อตัน และอีก 500 บาทจะจ่ายเมื่อไถ่ถอน

"ผมมองว่า ตรงนี้เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณ ส่งเสริมให้ชาวบ้าน ‘เล่นตลาด’ คือเป็นนักเก็งกำไร จะขายวันไหนดี วันนี้ยังไม่ขายทำนองนี้ และผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นมายาคติของราชการและคนทั่วไป ที่คิดว่า ‘ข้าว’ ถ้าเก็บไว้ราคาจะสูงขึ้น

อีกอย่างในสมัย 40-50 ปีก่อน บ้านเราปลูกข้าวเป็นฤดู ปลูกเฉพาะนาปี เป็นข้าวไวแสงที่ตั้งท้องพร้อมกัน และเก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ฉะนั้นจึงต้องมีการเก็บข้าวเพื่อให้มีบริโภคทั้งปี ราคาจึงมีการยกตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะถ้าเก็บไว้แล้วขายได้ราคาเดิม ใครจะไปเก็บ แต่เมื่อมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว กข ปลูกนาปรัง 100-120 วันก็เก็บเกี่ยวได้ จึงเป็นความเสี่ยง เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่า เก็บข้าวไว้แล้ว ราคาจะขึ้นหรือไม่

รัฐบาลส่งสัญญาณว่า เก็บข้าวไว้ อย่าพึ่งขายแถมเงินให้อีก ผมถามหน่อย คุณรู้ได้อย่างไรว่าราคาจะขึ้น และถึงแม้จะขึ้นผมก็มองว่า มันขึ้นเหมือนหุ้นคือขึ้นๆ ลงๆ ไม่ได้ขึ้นเรียบเหมือนไม้กระดานเด็กเล่น และคนที่เก็งตลาด หรือเล่นตลาดได้ดี คือคนที่มีข้อมูล คือโรงสี ผู้ส่งออก ที่มีข้อมูลดีกว่าชาวนา

แต่ขณะนี้รัฐกลับส่งเสริมให้คนที่ไม่มีข้อมูลเป็นคนเก็บข้าว ซึ่งสร้างความเสี่ยงให้กับชาวนา จะกำไรหรือขาดทุนก็ได้ ทั้งนี้ หากราคาขึ้น ชาวนาขายถูกเวลาก็นับว่าเฮง แต่ถ้าโชคไม่ดีรัฐบาลจะถูกด่า พวกที่จ้องจะเหยียบจะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมา"  

แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ‘แจกเงิน’ มีต้นทุนต่ำสุด

สำหรับการแก้ปัญหาระยะสั้น ดร.เจิมศักดิ์ เห็นว่า การแจกเงินมีต้นทุนต่ำสุด แม้จะไม่ชอบวิธีการนี้มากนัก  

“เราอย่าไปยุ่งกับระบบ เพราะระบบในปัจจุบันเดินไปค่อนข้างดี ทั้งเรื่องการขนส่ง การจัดเก็บและแปรรูป และระบบตลาดในประเทศไทยก็พัฒนาได้ดีมากแล้ว คุณอย่าไปยุ่งกับมัน ยุ่งที่ไรเจ๊งทุกที แต่ถ้าคุณอยากให้ชาวนาได้เงิน เช่น หอมมะลิเกวียนละ13,000 บาท และราคาตลาดอยู่ที่ 9,000 บาท คุณเขียนเช็คให้เลย 4,000 บาท ผมจะไม่ว่าอะไร แต่ให้ตลาดเดินต่อไป ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดต้นทุน โสหุ้ยและโกงกัน  ผมคิดว่านี่เป็นหนทางในระยะสั้น แม้ผมจะไม่ชอบเรื่องการแจกเงิน ระบบอุปถัมภ์ แต่แบบนี้ผมว่าต้นทุนต่ำสุด

ในหลวงเตือนสติให้กับรัฐบาลได้

ส่วนในระยะยาว นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มองว่า บ้านเราต้องจับจุดให้ได้ว่า ปัญหาไม่ใช่เรื่องการตลาด แต่หัวใจอยู่ที่เรื่องการผลิต (production) ต้องส่งเสริมเรื่องการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้ต้นทุนต่อตันต่ำ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้เราทำได้อีกเยอะ ทั้งนี้ วิธีการคือต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ต้องกลับมาดูเรื่องดิน น้ำ ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ เครื่องจักรกล เครื่องเกี่ยวเครื่องไถ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยี

”ผมเห็นด้วยที่เมื่อเร็วๆ บ้านเราได้มีการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็น ‘พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย’ เพราะหากสังเกตดู ที่ผ่านมาพระองค์ท่านจะไม่ค่อยออกมายุ่ง มาเล่นเรื่องการตลาด แต่พระองค์ท่านจะเน้นเรื่องการผลิต เทคโนโลยี การวิจัย และการพัฒนาเรื่องการผลิตข้าว ซึ่งพระองค์ท่านทรงจับถูกทาง อีกประการคือเรื่องนี้น่าจะช่วยเตือนสติให้กับรัฐบาลได้”

ทั้งนี้ หากเราลดต้นทุนการผลิตได้ ไม่ว่าราคาตลาดต่างประเทศจะขึ้นหรือลง เราก็อยู่ได้ ยังครองแชมป์ได้อีกนาน และที่สำคัญ ถ้าของเราไม่ถูกจริง ก็ไม่สามารถสู้กับตลาดต่างประเทศในระยะยาวได้  

"ที่ผ่านมาเรื่องการวิจัยไม่ค่อยได้รับความสนใจ เพราะใช้ระยะเวลานาน 5-10 ปีถึงจะเห็นผล ไม่ตรงกับนิสัยของเอกชนไทย ที่ชอบลงทุนแล้วคืนทุนเร็ว ประเภทตีหัวเข้าบ้าน ส่วนราชการ นักการเมืองไทยก็ไม่ค่อยชอบ เพราะลงทุนไปต่อไปใครเป็นรัฐบาล อธิบดีก็ไม่รู้ บ้านเราจึงเน้นระยะสั้น ปีก่อนๆ เราถึงเห็นประกันราคา พยุงราคา ซื้อข้าว จำนำข้าว ที่ดูแล้วได้ประชาสัมพันธ์ว่า รัฐบาลได้ทำอะไร ใช้เงินกี่หมื่นล้าน เพื่อชาวนา"

ทั้งนี้ อาจารย์เจิมศักดิ์ ยังกล่าวถึงมายาคติอีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับชาวนาด้วยว่า บ้านเราพูดถึงชาวนาจะมองว่า น่าสงสาร กลิ่นจนมาทันที ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติต้องช่วยเหลือ แต่แท้จริงแล้วในเรื่องนี้ ถ้าเป็นสมัย 40-50 ปีก่อน เขายอมรับว่าเป็นเรื่องจริง เพราะมีประสบการณ์ลงพื้นที่ไปกินนอนไปทำวิจัยในชนบทบ่อย

แต่ปัจจุบันงานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า บ้านเรามีชาวนารายใหญ่จำนวนไม่น้อย มีที่ดินจำนวนมาก และเป็นผู้ประกอบการ

"ผมไม่ได้ว่าบ้านเราไม่มีชาวนายากจนนะ แต่เดี๋ยวนี้รายใหญ่ก็มีไม่น้อย เพราะฉะนั้นนโยบายเรื่องตลาดจึงต้องใช้ความระมัดระวัง ถ้าทำไม่ดีจะกลายเป็น ‘เตะหมูเข้าปากหมา’ ไปเสริมให้คนที่มีฐานะดี อีกทั้งคนพวกนี้ยังเป็นพวกซ่อนรูป ทั้งคนไทยและต่างชาติที่เข้ามาซื้อที่นาในบ้านเรา

ฉะนั้นย้ำว่าต้องระวัง กำหนดขั้นสูงว่าจะให้เท่าไหร่ และจะต้องมีการตรวจสอบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องเตือนกัน อีกอย่างไม่อยากให้เรามีมายาคติ คนทั่วไปพอพูดถึงข้าวตก ชาวนาเดือดร้อน ฮือฮากันมากโดยเฉพาะ 3-4 วันที่ผ่านมา ผมยังนั่งงงทำไมฮือฮาเกินความจริงกันจัง แต่หากถามว่าราคาปีนี้แย่กว่าปีก่อนไหม คำตอบคือแย่กว่าจริง เพราะอย่างที่บอกตลาดข้าวบางแคบเล็ก ราคาจึงมีโอกาสขึ้นลงสูง ซึ่งก็เป็นไปตามสภาวะ ผมไม่เชื่อทฤษฎีที่ว่า เป็นเพราะมีคนกดราคาคนทุบราคา"

ลดพื้นที่ปลูก ไม่ช่วยให้ราคาข้าวสูงขึ้น

ส่วนข้อเสนอเรื่องที่มีการลดพื้นที่ปลูกข้าว กำหนดโซนนิ่ง เพื่อดันราคาข้าวนั้น ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ ชี้ว่า วิธีการคิดเช่นนี้ เป็นการมองเฉพาะตลาดข้าวในประเทศ ยืนยันว่าการทำโซนนิ่งไม่ได้ช่วยทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น เพราะหากสมมุติว่าทำโซนนิ่ง โดยตัดพื้นที่ปลูกข้าวในประเทศไป 10%  นั่นหมายความว่า ส่งออกน้อยไป 10% จะทำให้ข้าวที่ขายกันระหว่างประเทศทั่วโลกลดลง 0.2% ถามว่าแบบนี้ราคาจะขึ้นไหม มันหยุมหยิม และพื้นที่ปลูกข้าวถ้าเราตัด คนอื่นก็เพิ่มได้ เพราะพื้นที่นาสามารถใช้สับเปลี่ยน ปลูกข้าว ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ หรือพืชตระกูลข้าวอื่นๆ ได้

แต่หากกรณีชาวนาเห็นว่า ปลูกพืชอย่างอื่นราคาดีกว่า ก็สามารถเปลี่ยนได้ ก็อนุโมทนาด้วย แต่ลดพื้นที่แล้วราคาสูงขึ้น ยืนยันว่า ไม่ใช่ สะท้อนความไม่เข

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่