ปัญหาเจ็บแน่นหูจากการโดยสารเครื่องบิน

ปัญหาเจ็บแน่นหูจากการโดยสารเครื่องบิน
น.พ.ธวัชชัย ลิมป์สถบดี
แผนกคนไข้ญี่ปุ่น ร.พ.กรุงเทพ

การเดินทางโดยเครื่องบินได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน เพราะมีความปลอดภัยสูง พร้อมกับราคาค่าโดยสารที่ถูกลง มีสายการบินมากมายให้เลือก ปัญหาการเดินทางโดยเครื่องบินที่มีผลต่อสุขภาพผู้โดยสาร จึงมีมากขึ้นเรื่อยๆตามความนิยมที่เพิ่มขึ้น ปํญหาที่น่าจะพบได้บ่อยที่สุด น่าจะเป็นปัญหาในเรื่องการแน่นหู ปวดหู จนถึงอาการบาดเจ็บของหูจากการเปลี่ยนแปลงความดันบรรยากาศระหว่างเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งถ้าเราเข้าใจที่มาของปํญหา เข้าใจวิธีการแก้ไขตามหลักการที่ถูกต้อง ปัญหาเหล่านี้อาจจะดูแลแก้ไขได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลเลย หรือ อาจจะผ่อนหนักให้เป็นเบา ก่อนที่จะมาพบแพทย์ได้
ปัญหานี้มักจะทำให้เป็นที่กังวลต่อผู้เดินทางโดยเครื่องบินเป็นประจำ โดยเฉพาะ ลูกเรือ และนักบินเวลาป่วยเป็นไข้หวัด มักจะกังวลอยู่เสมอๆ แม้ว่าได้กินยาแก้หวัด ลดอาการบวม และ การใช้ยาพ่นจมูกซึ่งมักจะได้ผลดีอยู่แล้ว แต่บางท่านแม้ทำการปรับความดันในหูชั้นกลางด้วยวิธีต่างๆถึงขั้นทำValsalva แล้วแต่พบได้บ่อยๆว่าอาการปวดหูดีขึ้นแต่อาการแน่นหูยังไม่หาย ความจริงแล้วการปรับความดันในหูมีหลากหลายวิธี ที่ใช้ได้ผลดีถ้าทำถูกวิธี (กรณีที่ไม่มีปํญหาอาการภูมิแพ้ หรือไข้หวัด) แต่หากปล่อยจนความดันอากาศแตกต่างกันมาก เช่น เผลอนอนหลับไประหว่างเครื่องบินลดระดับลง จนเกิดอาการปวดหู วิธีปกติอาจไม่ได้ผล จะแก้ไขได้ต้องทำ Valsalva* ช่วย ปรับความดันให้สมดุลย์โดยเร็ว ก่อนที่จะเกิดการบาดเจ็บในหูชั้นกลาง (ฺ Barotrauma )
*Valsalva maneuver คือ การเพิ่มความดันในบริเวณด้านหลังช่องปากและโพรงจมูกเพื่อเปิดท่อระบายอากาศที่เชื่อมต่อไปที่หูชั้นกลาง( Eustachain Tube) โดยการใช้นิ้วมือบีบปิดจมูก,ปิดปากแน่นแล้วเบ่งลมหายใจออก จนได้ยินเสียงเปิดของท่อ ( Ear popping) อาการปวดหูจะดีขึ้น
ที่มาของปัญหา

การเปลี่ยนแปลงเพิ่มระดับความสูงมีผลให้ความดันบรรยากาศลดลง และการลดระดับความสูงมีผลตรงกันข้ามคือความดันเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริงแม้ระดับความสูงของเครื่องบินจะสูงมากถึง 40000ฟุต(12000เมตร)แต่ความดันในห้องผู้โดยสารเครื่องบินมีการปรับความดันไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้โดยสารอยู่แล้ว โดยปกติ ความดันจะอยู่ที่ประมาณระดับความสูง6000-8000 ฟุต(1800-2400 เมตร) ขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องบิน เมื่อดูจากกราฟจะเห็นว่าที่ระดับตรงนี้ความดันจะเปลี่ยนแปลงโดยประมาณแค่ 20 %เท่านั้น และปริมาตรของอากาศเปลี่ยนแปลงแค่ 12% เท่านั้น(รูปที่1) ตามกฎของ Boyle's Law*

*Boyle's Law Equation P1V1 =P2V2
P= ความดันบรรยากาศ V= ปริมาตรอากาศ

     รูปที่ 2. ขวดเปล่าที่ปิดฝาไว้ที่ระดับ8000ฟุตในห้องโดยสาร หลังกลับลงสู่พื้นดิน

รูปที่ 3. แผนภูมิ แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาตร และความดันบรรยากาศ
เปรียบเทียบกับการดำน้ำ การเปลี่ยนแปลงของความดันที่ระดับความลึก 33 ฟุต(10เมตร) จะเพิ่มสูงมากเท่ากับ 200%(2เท่าของความดันบรรยากาศที่ระดับน้ำทะเล) ปริมาตรของอากาศจะลดลงไปถึงครึ่งหนึ่ง ความแตกต่างของความดันที่สูงมาก ทำให้การเปิดท่อ Eustachain Tube ทำได้ยากขึ้น การทำ Valsalva จึงมีความจำเป็นในกรณี ดำน้ำ (Scuba Diving) ที่ผู้ฝึกจะต้องเรียนรู้วิธีที่ถูกต้องและทดสอบก่อนดำน้ำทุกครั้งว่าสามารถปรับความดันภายในหูชั้นกลางได้ที่ระดับผิวน้ำ
โครงสร้างหูชั้นกลาง

รูปที่4. แสดงลักษณะกายภาพของหูชั้นกลาง
ท่อระบายอากาศจากหูชั้นกลางไปสู่บริเวณหลังโพรงจมูก Eustachain Tube ปกติการไหลของอากาศออกจากหู ไปที่หลังโพรงจมูกจะทำได้ง่ายกว่า การไหลของอากาศเข้าสู่บริเวณหูชั้นกลาง ลักษณะคล้ายๆ วาวล์อากาศทางเดียวดังนั้นเวลาอากาศขยายตัว(แก้วหูโป่งออก)ตอนเครื่องบินไต่ระดับจึงมักไม่ค่อยมีปัญหา เท่ากับตอนลดระดับลงสู่พื้น(แก้วหูยุบตัวลง) ที่ต้องช่วยเปิดท่อEustachain Tube โดยวิธีต่างๆ เช่นอ้าปากหาว, ปิดจมูกพร้อมกับกลืนน้ำลาย (Toynbee Maneuver) หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง ฯลฯ โดยต้องทำไปเรื่อยๆตั้งแต่ก่อนหรือเริ่มมีอาการแน่นหู อย่ารอจนมีอาการปวดหูแล้วค่อยทำ เพราะความดันที่ต่างกันมากขึ้นจะเปิดท่อระบายอากาศได้ยากขึ้น ถึงขั้นต้องทำ Valsalva ช่วยเปิดทางระบายอากาศเข้าสู่ปูชั้นใน แต่แนะนำให้ทำแค่ครั้งเดียวหลังจากรู้สึกว่ามีเสียงเปิดของท่อแล้วอาการดีขึ้น อย่าทำซ้ำๆ (ยกเว้น เกิดอาการปวดหูอีก )เพราะอากาศจะเข้าไปค้างอยู่ภายในหูชั้นกลางจะทำให้หูอื้อ แต่ไม่ปวด แค่รำคาญ ให้ใช้วิธีอื่นข้างต้นแทน จนกว่าจะไม่ได้ผลจึงทำValsalva ซ้ำอีกครั้ง ซึ่งก็อาจจะยังมีอาการหูอื้ออยู่บ้าง แต่ไม่เป็นอันตราย เพราะความดันอากาศถูกปรับสมดุลย์แล้ว

Valsalva Maneuver

เป็นการเบ่งลมหายใจออกพร้อมกับการปิดกั้นทางออกอากาศไว้ เพื่อเพิ่มความดันภายในบริเวณหลังโพรงจมูกและช่องปาก เพื่อให้มีการเปิดของท่อระบายอากาศไปสู่หูชั้นกลางเป็นการปรับความดันอากาศให้สมดุลย์ คนที่คิดวิธีนี้ขึ้นมาคือ นาย Antonio Maria Valsalva แพทย์ชาวอิตาลี ในศตวรรษที่17 เป็นการทดสอบการปิดเปิดของท่อ Eustachian Tube และยังใช้วิธีนี้ในการขับเอาหนองออกมาจากช่องหูชั้นกลางอีกด้วย จากการที่ปัญหาของอาการแน่นปวดหูที่มักจะเกิดมีปัญหาช่วงเครื่องบินลดระดับลงดังที่กล่าวมา สภาพของเยื่อแก้วหูจะถูกความดันอากาศที่สูงขึ้นกดให้เยื่อแก้วหูยุบตัวลงไป โดยที่การไหลของอากาศจากภายในช่องปากเข้าสู่ด้านในของหูชั้นกลางจะต้องออกแรงอัดอากาศช่วยเปิดท่อ Eustachain ให้อากาศผ่านเข้าสู่หูชั้นกลางปรับสมดุลย์ของความดันซึ่งใช้ได้ผลเป็นอย่างดี
เนื่องจากการอัดอากาศเข้าไปในหูชั้นกลางผ่านท่อEustachain Tube มีโอกาสทำให้อากาศค้างอยู่ในหูชั้นกลางได้ มีอาการหูอื้อ แต่ไม่เกิดอันตรายแล้ว รอให้อากาศระบายออกเอง หรือขยับปาก หาว กลืนน้ำลายช่วยเปิดท่อได้อาการหูอื้อก็จะดีขึ้น

รูปที่ 5.1 เยื่อแก้วหูยุบตัวจากความกดอากาศที่มากขึ้น และอากาศผ่านเข้าท่อระบายไม่ได้ ตอนเครื่องบินลดระดับ


รูปที่ 5.2 หลังการทำValsalva เปิดท่ออากาศปรับความดันแล้วแต่จะมีอากาศเข้าไปค้างอยู่ในหูชั้นกลาง

ประสบการณ์ตรงจากการตรวจคนไข้

คนไข้ที่มาปรึกษาเรื่องปวดแน่นหู ส่วนใหญ่ที่มาพบว่าเป็นลูกเรือ พนักงานบนเครื่องบินที่เป็นไข้หวัดไม่มาก กินยาอยู่ไม่อยากพัก หรือลาพักไม่ได้ ต้องจำใจไปทำงานบนเครื่อง แม้จะกินยาแก้หวัด ลดบวม ลดน้ำมูก และ ถึงแม้ใช้ยาพ่นจมูกลดอาการบวม ของท่อEustachain Tube แล้ว และได้ทำ Valsalva ปรับความดันตั้งหลายครั้ง ก็ยังมีอาการปวดแน่นหูอยู่ หลังจากตรวจดูพบว่า เยื่อแก้วหูขยายดันออกมา แต่ไม่มีการอักเสบ แสดงว่าน่าจะมีอากาศค้างอยู่ภายในช่องหูด้านในหลังจากทำ Valsalva ซึ่งน่าจะมีแต่อาการหูอื้อมากกว่าปวดหู เพราะความดันได้ปรับให้สมดุลย์แล้ว ได้อธิบายคนไข้ให้เข้าใจ และช่วยโดยการให้คนไข้ อ้าปากหาว กลืนน้ำลายพร้อมกับปิดจมูก (Toynbee Maneuver) ให้อากาศระบายออกมา อาจจะช่วยดึงหูพร้อมกับเอียงศีรษะข้างที่อื้อขึ้นเพื่อช่วยยืดท่อ Eustachain Tube ให้ระบายลมได้ดีขึ้น คนไข้จะได้ยินเสียงแก้วหูขยับและอาการหูอื้อดีขึ้น ลองตรวจดูซ้ำพบว่าแก้วหูยุบตัวลง แสดงว่าอากาศระบายออกไปบ้างแล้ว ได้จ่ายยาช่วยลดอาการบวมกินต่อ2-3 วัน การทำ Valsalva จะไม่ช่วยเลยในกรณีนี้เพราะอาการหูอื้อจะยังไม่ดีขึ้นและอาจทำให้อากาศเข้าไปค้างในหูชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น กรณีที่คนไข้รอดูอาการเองที่บ้าน โดยไม่ทำ Valsavaซ้ำๆ ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆดีขึ้นเองภายใน1-2 วัน เพราะอากาศจะถูกระบายออกเองทีละน้อยๆ แต่หากไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ โสต ศอ นาสิก แยกแยะสาเหตุอื่นๆ เช่น การติดเชื้อหูชั้นกลางอักเสบ ,การบาดเจ็บจากความดันอากาศที่อาจเกิดขึ้นได้ ฯลฯ

โดยสรุป อาการผิดปกติที่หู จากการโดยสารเครื่องบินในสภาวะที่ร่างกายปกติไม่ได้เป็นภูมิแพ้ หรือเป็นหวัด การปรับความดันให้สมดุลย์ในช่องหู ช่วยเปิดท่อ Eustachian Tubeโดยวิธีง่ายๆ เช่น การเคี้ยวหมากฝรั่ง การอ้าปากหาว หรือ การปิดจมูกพร้อมกับกลืนน้ำลาย น่าจะเพียงพอแล้ว ยกเว้นในกรณีที่แก้ไขไม่ได้จริงๆ จึงจะใช้วิธี Valsalva ช่วย แต่ผลที่ตามมาคืออาการหูอื้ออาจจะหลงเหลืออยู่บ้างแต่ไม่ควรกังวลมากเกินไป อย่าพยายามทำValsalvaซ้ำๆ ซึ่งจะไม่ช่วยอะไร ให้ใช้วิธีง่ายๆข้างต้นเปิดท่อช่วยระบายอากาศที่ค้างอยู่จะดีกว่า หวังว่าการเดินทางโดยเครื่องบินในครั้งต่อๆไป คงไม่ทำให้เกิดความกังวลตอนที่ป่วยเป็นไข้หวัดแล้วต้องเดินทางอีกแล้วนะครับ

*ป.ล. กราบขอพระคุณ อาจารย์ น.พ. อภินันท์ ณ นคร แผนก โสต ศอ นาสิก ที่ให้คำปรึกษาในการเขียนบทความนี้ครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่