ชะตานี้ยิ่งกว่านิยาย! ทหารนาซีผู้ฝ่าคำสั่งฮิตเลอร์ เสี่ยงชีวิตเพื่อช่วย ‘ชาวยิว’

ท่ามกลางการปกครองที่โหดร้ายของกองทัพนาซี ยังมีทหารจิตใจดีคนหนึ่งที่คำนึงถึงมนุษยธรรมขึ้นมาได้ จนสามารถช่วยชีวิตผู้เคราะห์ร้ายในโปแลนด์ไว้มากมายใต้จมูกของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์



เรื่องราวนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ และถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า “The Pianist” โดยผู้กำกับ Roman Polanski ในปี 2003 และได้รับชัยชนะระดับออสการ์ถึง 3 รางวัล

                                     

Władysław Szpilman นักเปียโนหนุ่มคนหนึ่งอยู่ในสภาพปางตาย หลบหนีเข้าไปในอาคารหลังหนึ่ง หลังจากผ่านความทุกข์ทรมาณแสนสาหัสในค่ายกักกันร่วมกับครอบครัวที่เป็นชาวยิวภายใต้การปกครองของนาซีในประเทศโปแลนด์

                                    

                                    

จนกระทั่งทหารนาซีผู้มีนามว่า Wilm Hosenfeld ได้ช่วยชีวิตของเขาไว้ภายใต้การคุมเข้มของหน่วย SS เขานำอาหารมาให้และคอยช่วยเหลือจนนักเปียโนที่เก่งกาจรายนี้รอดชีวิต

                                   

                                   

และไม่ใช่แค่นักเปียโนเท่านั้น Hosenfeld ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเชื่อถือและเคารพบูชาพรรคนาซีอย่างสุดหัวใจ ได้คำนึงถึงมนุษยธรรมและความเป็นมนุษย์ของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย และตัดสินใจช่วยชีวิตผู้คนมากมายในขณะที่ยังสวมเครื่องแบบนาซี

                                   

                                   

ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือที่มีชื่อว่า ‘I Always See The Human Being Before Me’ ผลงานเขียนของ Hermann Vinke ซึ่งรวบรวมเรื่องราวทั้งหมดของ Wilm Hosenfeld ไว้ผ่านทางจดหมาย ไดอารี่ และหลักฐานทั้งหมดที่ครอบครัวของ Hosenfeld เก็บไว้ รวมทั้งเรื่องราวจากปากของผู้ที่ Hosenfeld ให้การช่วยเหลือและมอบชีวิตใหม่ให้ท่ามกลางความโหดร้ายของสงคราม

                                  

“จิตใจของเขาเต็มไปด้วยศีลธรรมและจริยธรรมแม้ว่าจะอยู่ในช่วงของสงคราม Hosenfeld ไม่ได้ช่วยชีวิตแค่เพียงนักเปียโน Szpilman แต่รวมถึงชาวยิวสัญชาติโปแลนด์อีกหลายชีวิต เขาเปรียบเสมือนประภาคารที่ส่องสว่างท่ามกลางความมืดมิด ชาวโปแลนด์อย่างน้อย 60 ชีวิตติดหนี้บุญคุณชายผู้นี้ เขาเป็นทั้งฮีโร่และเหยื่อ เพราะสุดท้ายแล้วเขาเองไม่อาจเอาชีวิตรอดออกมาจากคุกของโซเวียตได้”

                                  

เดิมที Hosenfeld นั้นถวายความจงรักภักดีให้กับจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี และซื่อสัตย์ต่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์เป็นอย่างมาก

                                  

เขาเข้าร่วมกับพรรคนาซีในปี 1935 และจากหลักฐานในสมุดบันทึกแสดงให้เห็นว่าเขาเลื่อมใสศรัทธาในกองทัพเยอรมนีโดยไม่มีข้อสงสัย แต่หลังจากเห็นการกระทำอันโหดร้ายไร้มนุษยธรรม เขาก็ตัดสินใจได้ว่าฮิตเลอร์และนาซีนั้นเป็นดั่งปีศาจ



ครั้งแรกที่ Hosenfeld เห็นสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษ เขาก็ตกใจมากและเขียนจดหมายถึงภรรยา “ผมคิดว่านักโทษมองมาและเห็นว่าผมทุกข์ทรมานไปกับสภาพของพวกเขาที่ดูแล้วน่าสงสารจับใจ เราไม่มีอำนาจใดเลยแต่ผมจะพยายามหาทางช่วย”

                                  

และ Hosenfeld ก็ทำอย่างที่ตั้งใจ เขาให้ความช่วยเหลือชาวโปแลนด์ทุกคนทันทีที่มีโอกาส



เขาเริ่มจากการแอบแจกจ่ายอาหารให้กับนักโทษ แอปเปิ้ลและถั่วจำนวนมากช่วยเลี้ยงปากท้องของชาวโปแลนด์

จากนั้นเขาก็ปล่อยตัวนักโทษโดยไม่ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา ครั้งหนึ่งเขาพบกับหญิงสาวชาวยิวที่วิ่งไปบนท้องถนนอย่างหมดหวัง เธอเล่าให้ฟังว่าเธอกำลังตั้งครรภ์แต่สามีถูกคุมขังอยู่ในค่ายกักกัน Hosenfeld ให้คำมั่นกับหญิงชาวโปแลนด์ว่า “สามีของคุณจะกลับบ้านภายในสามวัน” และเขาก็ทำตามสัญญา

อีกครั้งหนึ่งเขาหยุดรถบรรทุกที่มีนักโทษจำนวนมากอยู่ในนั้นและช่วยเหลือน้องเขยของนักบวชคนหนึ่งมาได้



Leon Warm ก็เป็นชาวยิวอีกคนหนึ่งที่สามารถหนีออกมาจากรถไฟที่กำลังมุ่งสู่ค่ายกักกันทาบลิงก้าได้ด้วยความช่วยเหลือของ Hosenfeld และเขาก็เป็นหนึ่งในคนที่เดินทางไปยังรัสเซียเพื่อหวังจะช่วยชีวิต Hosenfeld เพื่อตอบแทน

                                     

หลังจากช่วยชีวิตผู้คนมากมาย Hosenfeld เองก็ตกเป็นผู้เคราะห์ร้ายเช่นเดียวกัน เขาถูกกองทัพแดง (Red Army) จับกุม หลังจากการถูกทรมานอย่างโหดร้ายและใช้แรงงานอย่างหนัก Hosenfeld เสียชีวิตในค่ายกักกันของโซเวียต ณ วันที่ 13 สิงหาคม 1952

                                     

ก่อนที่ Hosenfeld จะเสียชีวิต ผู้ที่เขาเคยช่วยชีวิตได้เดินทางไปยังรัสเซียเพื่อยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัว รวมทั้งนักเปียโน Szpilman แต่คำขอร้องไม่เป็นผล

                                     

                                     

แม้ Hosenfeld จะเสียชีวิตลงอย่างน่าเศร้า แต่ความดีที่ทำไว้จะทำให้ผู้คนยกย่องและจดจำเขาไปตลอดกาล



ที่มา: dailymail
บทความจาก meekhao.com/history/the-pianish-save-polish
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่