ถ้าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยมีเรือรบพวกนี้ จะตั้งชื่อว่าอะไรครับ

เพราะเห็นจากหลักการตั้งชื่อเรือรบ เช่นใช้ชื่อจังหวัดกับเรือประเภทนี้ ใช้ชื่อตัวละครในวรรณคดีกับเรือดำน้ำ บ้างใช้ชื่อราชธานี
1. เรือบรรทุกเครื่องบิน
2. เรือบรรทุกเครื่องบินเบา
3. เรือประจัญบาน
4. เรือล่าตระเวนประจัญบาน
5. เรือลาดตะเวนหนัก
6. เรือลาดตะเวนเบา

ปล.เรือดำน้ำที่สั่งใหม่คาดว่าจะชื่ออะไรครับ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 7
เคยอ่านเจอในนาวิกศาสตร์ปี 2540 ในบทความเรือรบช่วยรบ คุณครูทหารเรือนักเขียนท่านเคยเล่าไว้ว่า กองทัพเรือเคยมีระเบียบที่กำหนดเกณฑ์การตั้งชื่อเรือไว้อย่างกว้างขวางมาก ดังเช่นระเบียบกองทัพเรือว่าด้วยการแบ่งชั้นเรือและการตั้งชื่อเรือหลวง พ.ศ.2502 ได้กล่าวถึงเรือบรรทุกเครื่องบิน ที่ให้ขอพระราชทานตั้งตามชื่อนกพาหนะในนิยายหรือวรรณคดี ซึ่งระเบียบนี้โดยรวมคือได้กำหนดการตั้งชื่อเรือหลวงเอาไว้สำหรับเรือรบและเรือช่วยรบ ที่นำด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน เรือประจัญบาน เรือลาดตระเวน เรือปืน เรือฟริเกต เรือพิฆาต เรือตอร์ปิโด เรือตรวจฝั่ง เรือปราบเรือดำน้ำ เรือดำน้ำ เรือวางทุ่นระเบิด เรือกวาดทุ่นระเบิด ไปจนถึงเรือลำเลียง เรือลากจูง และเรือสำรวจแผนที่ ดูเหมือนว่าระเบียบฯ ปี 2502 ผู้ร่างและวางระเบียบคงจะนึกถึงเรือทุกชนิดเท่าที่ทหารเรือทั้งโลกมีใช้อยู่ในขณะนั้น เอามาใส่ไว้ในระเบียบนี้ทั้งหมด เคยมีผู้ให้ความเห็นว่าเป็นการเขียนไปตามระเบียบ โดยมิได้คิดถึงยุทธศาสตร์อย่างจริงจังอะไร กระทั่งในปี พ.ศ.2506 จึงได้มีระเบียบใหม่ออกมาทดแทน คราวนี้จึงได้ตัดเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือประจัญบานออกไป แต่นำหน้าด้วยเรือลาดตระเวน กับมีการเปลี่ยนชื่อเรียกเรือไปบ้าง เช่นเรียกเรือลำเลียงบางประเภทเป็นเรือยกพลขึ้นบก เรือสำรวจแผนที่ ก็เรียกเป็นเรือสำรวจ เป็นต้น ระเบียบนี้คำนึงถึงความเป็นไปได้ของ ทร.ที่น่าจะมีเรือดังกล่าวไว้ใช้งาน จึงได้ตัดเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือประจัญบานออกไป กระทั่งปัจจุบันที่ใช้แนวทางตามระเบียบฯ ฉบับปี 2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติมรวม 5 ฉบับ (ฉบับสุดท้ายปี 2549) ซึ่งใช้ประกอบเอกสารอ้างอิงกองทัพเรือ หมายเลข 3504 (อทร.3504) พ.ศ.2541 ซึ่งหากระเบียบฉบับปี 2502 ยังคงใช้อยู่ เรือบรรทุกเครื่องบินอาจต้องนำชื่อนกในวรรณคดีสำคัญเช่นรามเกียรติ์มาตั้งชื่อเรือ เช่น ร.ล.อสูรวายุภักดิ์, ร.ล.สัมพาที เรือ ร.ล.สดายุ  สำหรับเรือลาดตระเวนในอดีตเราเคยสั่งต่อจากอิตาลีสองลำ ขอพระราชทานชื่อเรือว่า เรือหลวงนเรศวรและ เรือหลวงตากสิน แต่เกิดสงครามโลกเสียก่อน อิตาลีจึงนำเรือที่กำลังต่อไปใช้ในการสงคราม ปัจจุบันหลักเกณฑ์การนำชื่อตัว ชื่อบรรดาศักดิ์ หรือชื่อสกุลบุคคลที่เป็นวีรบุรุษของชาติ จะถูกนำไปตั้งเป็นชื่อเรือพิฆาต ทว่าเมื่อกองทัพเรือสั่งต่อเรือฟริเกตขนาดใหญ๋ชุดที่ 2 จากจีนที่มีระวางขับน้ำกว่าสามพันตัน จึงทบทวนนำพระนามบูรพกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ไปตั้งเป็นชื่อเรือชุดนั้น ในชื่อเรือหลวงนเรศวร (ลำที่สอง) และเรือหลวงตากสิน (ลำที่สอง)  กระทั่งได้รับมอบเรือฟริเกตชั้นน็อกซ์จากสหรัฐฯที่มีระวางขับน้ำกว่าสี่พันตัน ก็ได้ขอพระราชทานพระนามของพระมหากษัตริย์ไปตั้งเป็นชื่อเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื่องเพราะแต่เดิมเรือชั้นนี้ถูกกำหนดเป็นเรือพิฆาต (DDG) แต่ต่อมาได้ปรับประเภทเป็นเรือฟริเกตติดอาวุธนำวิถี (FFG)  อย่างไรก็ตามปัจจุบัน ทร.ยังคงสงวนวิธีการตั้งชื่อเรือหลวงไว้อย่างกลางๆ ตามระเบียบฯ ฉบับที่สาม ว่าหากมิได้กำหนดไว้ตามประเภทใดๆ ตามระเบียบฯ ก็ให้พิจารณาขอพระราชทานตั้งชื่อไปตามความเหมาะสมเป็นคราวๆ ไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่