สนธิ ลิ้มทองกุล เขาว่าความยุติธรรมที่มาล่าช้า มันคือความอยุติธรรมหรือไม่

กระทู้คำถาม
ย้อนวิบากกรรม “โกตั๊บ” ปลอมเอกสารกู้เงินกรุงไทย วันที่กรรมเก่ากำเริบ

ที่มา    มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 กรกฎาคม 2552
เผยแพร่    วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ.2559

บทความพิเศษ โดย ศัลยา ประชาชาติ

ยิ่งใกล้ปรากฏการณ์สุริยุปราคา 22 กรกฎาคม ผู้มากบารมีอย่าง “สนธิ ลิ้มทองกุล” แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เจอทั้งข่าวดีและข่าวร้าย

ข่าวดี ASTVผู้จัดการ พาดหัวตัวโตๆ ว่า จับมือยิงสนธิ ยึดรถวีโก้กระบะล่าสังหาร พร้อมออกหมายจับ “สิบตำรวจตรี-จ่าสิบเอก” ร่วมทีมยิง และนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมายืนยันหนักแน่นว่า งานนี้…ไม่มีมวยล้ม

ส่วนข่าวไม่ค่อยดีก็อาจเป็นข่าว ศาลอาญาไม่รับฟ้องคดีพันธมิตรฯ ยื่นฟ้อง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-สุเทพ เทือกสุวรรณ-พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ตั้งข้อหาแกนนำพันธมิตรฯ รุนแรงเกินไป โดยศาลอาญาเห็นว่า การตั้งข้อหาผู้ก่อการร้าย เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาโดยชอบ และอาจหงุดหงิดที่ “กษิต ภิรมย์” วิทยากรปากกล้าของพันธมิตรฯ ในเกมกู้ชาติ ถูกขับไล่พ้นตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ

แต่ข่าวร้ายยิ่งกว่า ก็คือ คดีที่ “โกตั๊บ” หรือ สนธิ กับพวก ตกเป็นจำเลยในศาลอาญา ข้อหา ปลอมแปลงเอกสารค้ำประกันเงินกู้ธนาคารกรุงไทย กว่าพันล้านบาท งวดลงมาทุกที เหลือเพียงสืบพยานจำเลย ศาลก็ตัดสินได้แล้ว

คดีนี้เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ มาตรา 307, 311, 312 ซึ่งแต่ละกระทง ระวางโทษจำคุก 5-10 ปี และยังมีโทษปรับตั้งแต่ 5 แสนถึงหนึ่งล้าน และที่สำคัญยังมีความผิดอาญาฐานปลอมแปลงเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และ 268 อีกด้วย

นี่คือ วิบากกรรมของว่าที่หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่โดยแท้ แม้คดีจะสู้ได้ถึง 3 ศาล แต่หากโดนเพียงศาลเดียวก็บอบช้ำเกินพอ

ล่าสุด ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลอาญานัดสืบจำเลย แต่ทนายจำเลยขอเลื่อนนัดโดยอ้างว่า นายสนธิอยู่ระหว่างพักรักษาอาการบาดเจ็บจากการผ่าตัดบาดแผลจากการถูกลอบยิงที่ศีรษะ (นายสนธิถูกยิงเมื่อ 17 เมษายน 2552 หรือกว่า 2 เดือนที่แล้ว)

ศาลอาญาเมตตาสั่งเลื่อนคดี เป็นวันที่ 12 ตุลาคม 2552

หากย้อนสำนวนกลับไปดูข้อเท็จจริงในคดีพบว่า ปมปริศนาเกิดขึ้นเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ครั้งนั้น บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอนจิเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือไออีซี ค้ำประกันเงินกู้ให้กับบริษัท เดอะ เอ็มกรุ๊ป จำกัด อันเป็นบริษัทที่มี นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหาร จะว่าไป เอ็มกรุ๊ปก็คือบริษัทแม่ของไออีซีนั่นเอง

จากการตรวจสอบของฝ่ายตรวจสอบคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า เอ็มกรุ๊ปของนายสนธิกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย 1,078 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 แต่ทางไออีซีไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ

เรื่องน่าแปลกก็คือ นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ประธานกรรมการไออีซีในช่วงที่มีการค้ำประกันเงินกู้ออกมาปฏิเสธว่า ไม่รู้เรื่องการค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว และคณะกรรมการบริษัทไม่เคยอนุมัติให้มีการค้ำประกันเงินกู้ก้อนนี้ พฤติกรรมดังกล่าว เป็นการปลอมมติคณะกรรมการของผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่ง

ครั้งนั้น นายสุรเดช มุขยางกูร กรรมการผู้อำนวยการไออีซี ได้ทำหนังสือยอมรับกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า ไออีซีค้ำประกันเงินกู้ให้เดอะ เอ็มกรุ๊ป จริง ปัญหามีเพียงว่า ระหว่าง นายชัยอนันต์กับนายสุรเดช ใครพูดจริง ใครพูดเท็จ?

ขณะที่คนในวงการวิจารณ์กันให้แซดว่า “โกตั๊บ” ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่รู้เรื่องนี้หรือไม่ ถ้ารู้ ทำไมจึงปล่อยให้มีการปลอมแปลงเอกสารเพื่อค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว?

แล้วที่สุด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ 6 ธันวาคม 2542 ก็นำเสนอข่าวว่า ก.ล.ต. กล่าวโทษ สุรเดช มุขยางกูร กรรมการผู้อำนวยการ ไอ.อี.ซี ในความผิดปลอมหรือยินยอมให้มีการปลอมสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทไออีซี เพื่อลวงให้ธนาคารกรุงไทยหลงเชื่อว่าคณะกรรมการบริษัทไออีซีมีมติให้ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ในนามบริษัทไออีซี ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และประมวลกฎหมายอาญา ฐานปลอมแปลงเอกสาร

10 เดือนผ่านไป สำนักงาน ก.ล.ต. ในยุคที่ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษ นายสนธิ นายสุรเดช นางสาวเสาวลักษณ์ และนางสาวยุพิน อดีตกรรมการบริษัท ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารในการทำสัญญาร่วมค้ำประกันการกู้เงินจำนวน 1,078 ล้านบาท ให้แก่บริษัท เดอะ เอ็มกรุ๊ป จากธนาคารกรุงไทย โดยคณะกรรมการบริษัทแมเนเจอร์ฯ มิได้รับทราบและมิได้มีการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินของบริษัทแมเนอร์เจอร์ฯ

ช่วงนี้เองที่สื่อยักษ์ใหญ่ผู้ทรงอิทธิพลโจมตี นายศรินทร์ นิมมานเหมินท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แบงก์กรุงไทย น้องชายนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รมว.คลัง ในข้อกล่าวหาว่า แบงก์กรุงไทยปล่อยสินเชื่อไม่โปร่งใส อย่างหนักหน่วงและรุนแรง

แต่ข้อน่าสังเกตคือ สื่อดังกล่าวกลับมิได้ตรวจสอบกรณีผู้บริหารร่วมกันทำเอกสารกู้เงินแบงก์กรุงไทยปลอมพันล้าน

การฟาดงวงฟาดงาของยักษ์ใหญ่ ทำเอาทั้งนายศรินทร์และนายธารินทร์รวมถึงนายประสาร นั่งนอนไม่เป็นสุข จากนั้นไม่นานนายศรินทร์ก็ต้องจากแบงก์กรุงไทยไปบอบช้ำที่สุด แล้วผู้ที่ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งแทนก็คือ เสี่ยช้อย นายวิโรจน์ นวลแข นายแบงก์ใหญ่ที่ “โกตั๊บ” การันตีอย่างแข็งขันว่าคุณภาพคับแก้ว

จะว่าไปเกือบ 10 ปีแล้วที่คดีปลอมเอกสารค้ำประกันเงินกู้กรุงไทยค้างคาอยู่ในศาลอาญา ขณะที่การเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกผัน

จากยุคที่นายสนธิ หรือ “โกตั๊บ” เชียร์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา จนมาถึงวันที่ความสัมพันธ์ระหว่าง “โกตั๊บ” กับทักษิณขาดสะบั้น กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตตามล้างตามเช็ดกันจนถึงทุกวันนี้

แต่เอาเข้าจริงแล้ว คนใกล้ชิดทั้งทักษิณและสนธิฟันธงว่า บุคคลทั้งสองมีความละม้ายคล้ายกันมาก ทั้งชั้นเชิงทางธุรกิจและการเมือง

ถ้า ทักษิณตายน้ำตื้น เพราะชินคอร์ป สนธิก็อาจต้องเผชิญวิบากกรรมกับ เอ็ม กรุ๊ป ไปอีกนาน



ผมเห็นต่างนะครับ สองคนนี้เจริญเติบโตทางธุรกิจ และ การเมือง คนละแนวเลย

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่