ทีมไทยควรวิเคราะห์เรื่อง"กรรมการ"อย่างจริงจังได้แล้วหรือยัง?

ตามหัวกระทู้ครับ
ผมคิดว่าวงการกีฬาของบ้านเรา นอกจากต้องใส่ใจในการฝึกซ้อมแล้ว ยังควรให้ความสำคัญกับ "กรรมการ" หรือ "ผู้ตัดสิน" มากกว่านี้ครับ

คำว่าให้ความสำคัญเรื่องกรรมการในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า ให้ไปติดสินบน หรือ จ่ายเงินจ้างเค้าให้โกงนะครับ แต่หมายถึงการวิเคราะห์และทำความเข้าใจ 2 สิ่งนี้อย่างจริงจัง
1.จิตวิทยาต่อกรรมการ
2.แนวทางการวินิจฉัย และมุมมองของกรรมการ
(ในที่นี้พูดถึงกรณีที่ผู้ตัดสินเป็นกลาง ไม่ได้รับเงินมาเพื่อจงใจจะโกงอยู่แล้วนะครับ)

เรื่องที่ 1 จิตวิทยาต่อกรรมการ
1.1 การสร้าง Impression(ความประทับใจ) ที่ดีต่อกรรมการ
      มนุษย์เราโดยทั่วไปจะมีอคติอยู่ในตัวเสมอ เช่น หากเราต้องเป็นผู้ตัดสินปัญหาความขัดแย้งระหว่าง คนที่เราเกลียด กับคนที่เราชอบ หากปัญหานั้นก้ำกึ่งว่าใครผิดถูก ไม่ได้ชัดเจนขนาดว่าใครผิดแน่ๆ ก็มีแนวโน้มที่เราจะตัดสินให้เป็นผลดีต่อคนที่เราชอบมากกว่า
และ กรรมการก็เช่นกัน!
     กรรมการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ดังนั้น หากเราสร้างImpression ที่ดีต่อกรรมการตั้งแต่เริ่มเกม เช่น การยิ้มแย้ม ทักทาย แสดงความเป็นมิตร ก็มีโอกาสที่กรรมการคนนั้นจะมีทัศนคติที่ดีต่อทีมเราและตัดสินจังหวะ50/50ให้เป็นผลดีต่อเรา แต่ในทางตรงข้าม หากเราแสดงท่าทีไม่เป็นมิตร โวยวาย ด่ากรรมการมากเกินไป ก็มีโอกาสที่กรรมการจะเกิดความรู้สึกไม่ชอบขี้หน้า และตัดสินในจังหวะ50/50ให้เราเสียประโยชน์เช่นกัน
เราไม่จำเป็นต้องให้กรรมการรักเราก็ได้ แต่ก็ต้องอย่าให้เค้าเขม่นเราเช่นกัน

1.2 เส้นแบ่งของการตัดสิน
    โดยปกติเกมกีฬาจะมีกฎในการตัดสินอยู่แล้ว แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์จริงเราจะพบว่า เหตุการณ์เข้าปะทะกัน กระโดดแย่งโหม่ง ที่ลักษณะคล้ายกัน บางครั้งกรรมการให้ฟาล์ว แต่บางครั้งก็ไม่ให้
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เห็นบ่อยๆ
ประตูเตะบอลยาวขึ้นหน้ามา ผู้เล่นกองหลังทีมA กระโดดโหม่ง ผู้เล่นกองหน้าทีมB ยืนขวางอยู่บนพื้นดิน ผู้เล่นทีมA ตกลงมาที่พื้น
เหตุการณ์แบบนี้ บางครั้งผู้ตัดสินให้ ทีมA ฟาล์ว เพราะไปค้ำ
แต่บางครั้งผู้ตัดสินให้ ทีมB ฟาล์ว เพราะไปหนุน เป็นต้น
สิ่งนี้ขอเรียกว่า”ดุลยพินิจ”

ผู้ตัดสินคนเดียวกัน บางเกมอาจตัดสินให้ฟาล์วง่าย แต่บางเกมกลับตัดสินให้ฟาล์วยาก
หรือบางเกมแจกใบเหลือง ใบแดง จุดโทษง่าย แต่บางเกมกลับแจกยากมาก
ทุกอย่างนี้ ขึ้นอยู่กับ “เส้นแบ่งของการตัดสิน” ในช่วงต้นเกมทั้งสิ้น
อธิบายเพิ่มเติมคือ ช่วง 10-15 นาทีแรก เป็นช่วงที่ทีมที่เข้าใจในจิตวิทยาข้อนี้ จะทำการทดสอบเส้นๆนี้ เช่น การดึงเสื้อ การเตะ การผลัก การหนุน การค้ำ (เพื่อทดสอบจุดที่กรรมการจะให้ฟาล์ว) และ ทำฟาล์วหนักขึ้นทีละน้อย(เพื่อทดสอบจุดที่กรรมการจะแจกใบเหลือง) เป็นต้น
และเมื่อรู้ 2 จุดนี้แล้ว นักกีฬาก็จะรู้ว่าทำฟาล์วแบบไหนได้ แบบไหนไม่ได้ และควรตัดสินใจแบบไหนในแต่ละสถานการณ์
เรื่องนี้โยงไปถึงว่า เกมไหนที่เราโดนจุดโทษง่าย ก็มีโอกาสจะได้จุดโทษง่ายเช่นกัน (หากพาบอลเข้าไปในเขตโทษได้บ่อย)

เรื่องนี้บางคนอาจคิดว่าที่พูดมาเวอร์ไปรึเปล่า?
แต่ความจริงก็คือ จากทีผมดูถ่ายทอดฟุตบอลทางทีวีญี่ปุ่น ดูการวิเคราะห์ของคอมเมนเตเตอร์ และติดตามดูสื่อญี่ปุ่นมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ระหว่างอาศัยที่ญี่ปุ่น
ที่ญี่ปุ่นเค้าวิเคราะห์เรื่องจิตวิทยากรรมการเหล่านี้กันแบบจริงจังเลยทีเดียว!
ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะครับ


เรื่องที่ 2 แนวทางการวินิจฉัย และมุมมองของกรรมการ
ท่าทางการเข้าสกัด, ท่าท่างการกระโดด, การดึงกันในระหว่างรอเล่นลูกเตะมุม ลูกฟรีคิก เหล่านี้ บางครั้งตัวเราอาจไม่ได้ทำฟาล์วรุนแรง แต่ท่าทางที่เราทำออกไปอาจทำให้ผู้ตัดสินเข้าใจผิดไป จนให้ใบเหลือง ใบแดงกับเราได้
เคยเห็นใช่มั้ยครับ ดึงจนเสื้อขาด แต่กรรมการดันไม่เห็นก็มี

ลองคิดดูว่า ถ้านักฟุตบอลได้เรียนรู้ว่า
1.ฟาล์วหยุดเกมยังไงไม่ให้ดูรุนแรง และไม่โดนเหลือง?
2.เสียบสกัดในเขตโทษอย่างไรไม่ให้ฟาล์ว
3.ดึงเสื้ออย่างไรที่กรรมการจะไม่เห็น
4.ล้มอย่างไรให้เป็นธรรมชาติและได้ฟาล์ว
5.ล้มอย่างไรให้ดูเหมือนฟาล์วรุนแรง
จะได้เปรียบคู่แข่งขนาดไหน? (แต่ผมเชื่อว่าคู่แข่งเขามีทีมงานสอนเรื่องนี้ก่อนเราแล้วล่ะ)

อันนี้อาจต้องพึ่งผู้ตัดสินระดับฟีฟ่า หรือAFC ชาวไทยให้มาช่วยวิเคราะห์ตามมุมมองของกรรมการ ให้นักฟุตบอลทราบ
แท็กติค 5 ข้อด้านบนนี้ บางข้ออาจดูเหมือนนิสัยไม่ดี ไม่เป็นสุภาพบุรุษ ไม่อยากให้นักกีฬาเราทำ
แต่ผมคิดว่า ไม่ว่านักกีฬาเราจะนำไปใช้ในสนามหรือไม่ นักกีฬาควรเรียนรู้แท็คติคต่างๆเหล่านี้ติดตัวไว้ เพราะมันมีประโยชน์แน่ๆ
อย่างน้อยใช้ปกป้องตัวเราจากการตัดสินที่ไม่ถูกต้องได้ก็คุ้มแล้วครับ!
สมัยนี้ ยิ่งมีข้อมูลเยอะ ยิ่งได้เปรียบครับ

คิดว่าไงกันบ้างครับ?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่