คอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย: ต่ออายุทีวีดิจิทัล


คอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย: ต่ออายุทีวีดิจิทัล
ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559

          ทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ที่ กสทช. เปิดประมูลได้เงินไปกว่า 50,800 ล้านบาท ผ่านไปสามปีวันนี้เหลือแค่ 22 ช่อง (ทีวีพูลปิดไป 2 ช่อง) ผลประกอบการที่ผ่านมาขาดทุนกันป่นปี้ เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกไม่เอื้ออำนวย ช่วงนี้กำลังมีการพูดกันหนาหูว่า ปีนี้จะมีทีวีดิจิทัลปิดอีกหลายช่อง เพราะไม่อาจรับภาระขาดทุนต่อเนื่องได้ โดยเฉพาะช่องที่เจ้าของสายป่านสั้น แม้แต่ช่องที่เจ้าของเป็นมหาเศรษฐี ขนหน้าแข้งก็ยังเลือดออกซิบๆเลย

          ผมลองไปดู รายได้ทีวีดิจิทัล 24 ช่องในปี 2558 ที่ กสทช. ประกาศ เห็นตัวเลขแล้วก็สงสาร แต่ละช่องมีรายได้กันกะหร็อมกะแหร็มเต็มที

          ช่องที่มีรายได้เกิน 1,000 ล้านบาท มีแค่ 3 ช่อง คือ ช่อง 33 (ช่อง 3) 1,799 ล้านบาท ช่องเวิร์คพอยท์ 1,699 ล้านบาท ช่อง 35 (ช่อง 7) 1,669 ล้านบาท ที่เหลือมีรายได้ตั้งแต่ 800 กว่าล้านบาทลงมาเรื่อยๆจนถึงระดับ 100 ล้านบาท มี 3 ช่องที่มีรายได้ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ช่องที่มีรายได้ต่ำสุด 24 ล้านบาท เท่ากับมีรายได้เดือนละ 2 ล้านบาท จ่ายแค่เงินเดือนอย่างเดียวก็ยังไม่พอแล้ว

          สามปีที่ผ่านมา มีการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไปแล้วเกือบ 30,000 ล้านบาท จากวงเงินประมูล 50,862 ล้านบาท (24 ช่อง) ยังเหลือเงินที่ต้องชำระอีก 20,862 ล้านบาท ที่จะต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปีข้างหน้า

          และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก ผมเอาตัวเลข 24 ช่องรวมกันก็แล้วกันนะครับ เช่น ค่า MUX หรือ เสาออกอากาศ เดือนละกว่า 179 ล้านบาท ปีละกว่า 2,000 ล้านบาท 15 ปี 32,000 กว่าล้านบาท ค่าทรานสปอนเดอร์ เพื่อออกอากาศแบบมัสท์แครี่อีกเดือนละกว่า 31 ล้านบาท ปีละกว่า 374 ล้านบาท 15 ปี 5,620 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ 2% ของรายได้ต่อปี ค่าธรรมเนียมกองทุน 2% ของรายได้ต่อปี

          นี่เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เป็นวงเงินประมูล ค่าออกอากาศ ค่าธรรมเนียมจ่าย กสทช. ยังไม่นับค่าผลิตรายการอีกมหาศาล ค่าจ้างพนักงาน แต่มีรายได้ปีละไม่กี่ร้อยล้านบาท ขาดทุนเห็นๆ และยังไม่รู้จะขาดทุนไปอีกกี่ปี ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจอย่างนี้

          ฟังแล้วก็ได้แต่เห็นใจเจ้าของทีวีดิจิทัล ความผิดพลาดทั้งหมดต้องโทษ กสทช. ที่ดำเนินนโยบายผิดพลาด แถมดื้อรั้นไม่ฟังใคร ผมเองก็เขียนเตือนไปหลายครั้งว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิทัลในชั่วข้ามคืน เป็นเรื่องยาก แม้แต่ประเทศเจ้าของเทคโนโลยีทีวีดิจิทัล ก็ยังต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านเป็น 10 ปีขึ้นไป แต่ กสทช. ก็ไม่ฟัง วันนี้ทุกอย่างก็เป็นไปอย่างที่ผมได้เขียนท้วงติงไว้

          ไหนๆ ทีวีดิจิทัล 22 ช่อง ก็ฟันฝ่ามาจนถึงวันนี้แล้ว ผมก็อยากให้ กสทช.แก้ไขความผิดพลาดของตัวเอง ด้วยการ ช่วยเหลือทีวีดิจิทัลทุกช่องให้อยู่รอดต่อไปนานที่สุด ด้วยเงื่อนไขที่ไม่ทำให้ กสทช.เสียหาย แต่จะทำให้สถานการณ์ทุกฝ่ายดีขึ้น

          ข้อเสนอของผมก็ง่ายๆครับ เงินค่าประมูลที่ยังเหลืออีก 20,862 ล้านบาท ซึ่งจะต้องจ่ายให้ครบใน 3 ปีข้างหน้า แทนที่จะให้จ่ายทั้งหมดภายใน 3 ปี ก็ให้ยืดเวลาการชำระออกไป จะเป็น 10 ปี หรือ 12 ปี ตามระยะเวลาการประมูลที่เหลือก็ได้ โดยยอดเงินที่แต่ละช่องได้รับการยืดเวลาออกไป ให้ กสทช. คิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในแง่ของทางราชการ

          แบบนี้ผมคิดว่าจะสมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย วินวินด้วยกัน ฝ่ายทีวีดิจิทัลก็จะได้ลดแรงกดดันในเรื่องภาระการเงินลง จะได้มีเวลาไปทำมาหากินได้เต็มที่ขึ้น แทนที่จะไปปวดหัวเรื่องการเงิน กสทช.เองก็จะได้เงินค่าประมูลไปเต็มๆ

          ถ้าช่วยเหลือกันแบบนี้แล้ว ยังมีช่องที่ไปไม่รอดอีก ก็ต้องปล่อยให้เจ๊งไป แล้ว กสทช.ยึดใบอนุญาตคืน ไม่ต้องเอาไปประมูลอีก เพราะได้พิสูจน์แล้วว่าไปไม่รอด มีช่องมากเกินไป มีช่องน้อยลง แต่มีคุณภาพมากขึ้น ดีกว่ามีช่องมากแต่ไร้คุณภาพ ยังไงก็ไปไม่รอดแน่นอน ทางเลือกเสพสื่อในวันนี้ มีช่องทางมากกว่า 3 ปีก่อนเยอะ ผมก็ฝากให้ กสทช.เอาไปนอนคิดเป็นการบ้านครับ.

          “ลม เปลี่ยนทิศ”


แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559 (หน้า 5)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่