เปิดฉากสงครามทีวีดิจิทัล(2):"ทุ่งสังหาร"ที่ฝูงห่านไม่กลัวตาย [กรุงเทพธุรกิจ 16 ก.พ. 57]

เปิดฉากสงครามทีวีดิจิทัล(2):"ทุ่งสังหาร"ที่ฝูงห่านไม่กลัวตาย
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557 01:00
คิดใหม่ วันอาทิตย์
อดิศักดิ์ ลิมปรุงพัฒนกิจ

ผู้ชนะประมูลทีวีดิจิทัล 17 บริษัทครบทั้งหมด 24 ช่อง ได้ชำระเงินงวดแรกของการประมูลทีวีดิจิทัลให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมาเป็นยอดเงินปีแรก รวม 11,943.55 ล้านบาท

ด่านแรกในการตีตั๋วของผู้ประกอบการทุกราย น่าจะเตรียมตัวเตรียมเงินไว้อยู่แล้วว่าภายใน 30 วัน นับจาก กสทช. รับรองผลประมูลเมื่อวันที่ 12 ม.ค.จะต้องชำระเงินงวดแรกที่มาจาก 50% ของเงินขั้นต่ำและ 10% จากส่วนเกินราคาประมูล

ทำให้ทุกรายยังสามารถตีตั๋วผ่านเข้าไปเล่นด่านต่อไป ในขั้นตอนการออกอากาศให้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ กสทช. กำหนดให้ทุกโครงข่ายพร้อมในการออกอากาศ 24 ช่อง จากสถานีหลักในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, นครราชสีมา และสงขลาที่ครอบคลุมมากกว่า 10 จังหวัด แล้วไล่ไปทีละเดือนจนถึงเดือนมิ.ย.จะครอบคลุมสถานีหลัก 11 จังหวัด รัศมีออกอากาศครอบคลุม 50% ของประชากรหรือประมาณ 10 ล้านครัวเรือน

แม้บางรายจะอยู่ในสถานะลำบากมากๆ หลังเคาะราคาประมูลสูงกว่าที่ตั้งเพดานลงทุนไว้เกือบทุกราย จนต้องวิ่งหาเงินสดๆ ก้อนแรกแทบหัวขวิด และยังต้องขอให้ธนาคารค้ำประกันยอดเงินที่เหลือทั้งก้อนไปอีก 5 ปี ถึงขั้นยอม "สูญเสียอิสรภาพทางการเงิน" ไปก็ยังมีให้เห็นผ่านการเปิดเผยข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เพื่อซื้ออนาคตที่ยังเชื่อว่ามีโอกาสทางธุรกิจ แม้ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าธุรกิจทีวีดิจิทัลจะไปรอดได้สักกี่ราย

ช่องความคมชัดสูง HD 7 ช่อง ชำระเงินก้อนแรกรวมกัน 7,059.86 ล้านบาท, ช่องความคมชัดปกติ SD ประเภทวาไรตี้ 7 ช่อง ยอดเงินรวม 2,845.13 ล้านบาท

ช่องความคมชัดปกติ SD ประเภทข่าวและสาระ 7 ช่อง ยอดเงินรวม 1,647.58 ล้านบาทและช่องความคิดชัดปกติ SD ประเภทเด็ก-ครอบครัว 3 ช่อง ยอดเงินรวม 390.98 ล้านบาท

รัฐยังได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%ไปอีก 54.42 ล้านบาทและธนาคารหลายแห่งได้เงินค่าธรรมเนียมหลักประกันใบอนุญาตงวดที่เหลืออีก 5 งวด รวมเป็นเงิน 42.47 ล้านบาท

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคุกรุ่นไร้จุดจบในเร็ววัน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจกำลังเริ่มดิ่งหัวลงอย่างรวดเร็วนับจากผ่านพ้นเข้าปี 2557 สังเกตได้จากเม็ดเงินโฆษณาในเดือนแรกปี 2557 ที่มี 7,859 ล้านบาท ติดลบ 1.21%

หากประเมินด้วยเม็ดเงินจริงๆ น่าจะติดลบไม่น้อยกว่า 10% เพราะบริษัทเนลสันใช้วิธี "นับ" จากจำนวนชิ้นหรือสปอตโฆษณาแล้วเทียบจาก "อัตราค่าโฆษณา" ที่เรียกว่า Rate Card แต่ภาวะการเมืองร้อนแรงเศรษฐกิจเงียบเหงาเช่นนี้ สปอตโฆษณาในโทรทัศน์หรือหน้าโฆษณาในหนังสือพิมพ์น่าจะขายไม่ได้ราคาเต็มราคาแต่มีราคาส่วนลดเยอะมากๆ มิหนำซ้ำที่เห็นอยู่เป็นจำนวนมากน่าจะตัดใจลดแลกแจกแถมเพื่อให้ยังดูดีเสียมากกว่า

โฆษณาฟรีทีวี 4,712 ล้านบาท ติดลบ 5.87%, หนังสือพิมพ์ 939 ล้านบาท ติดลบ 5.28%, วิทยุ 362 ล้านบาท ติดลบ 10.40%, นิตยสาร 307 ล้านบาท ติดลบ 13.03%, In-Store 99 ล้านบาท ติดลบ 21.24% และอินเทอร์เน็ตที่เป็นดาวรุ่งยังติดลบถึง 28.77% มียอดเพียง 82 ล้านบาท

ความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการ 24 ช่อง ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงวิ่งวุ่นกับการหาเงินร่วมหมื่นล้านบาทมาจ่ายก้อนแรกให้กสทช. พร้อมๆกับจะต้องหาเงินหาคนมาทำช่องให้พร้อมจะออกอากาศในต้นเดือนเม.ย. ที่ถึงเวลานั้นคงจะได้เห็นว่าช่องไหนมีความพร้อมในระดับไหน เพราะกสทช.คงรู้ดีว่ายากมากๆ ที่ผู้ชนะประมูลเมื่อตอนสิ้นปีจะสามารถออกอากาศแบบเต็มช่องได้ภายในเวลาสัก 90 วัน เว้นแต่อยู่ในธุรกิจฟรีทีวีและทีวีดาวเทียมมาก่อน จึงยังไม่ได้เข้มงวดว่าในการออกอากาศเดือนเม.ย.นี้ แต่ละช่องจะต้องออกอากาศตามผังที่เสนอทั้งหมดหรือไม่

ถ้าเหล่า "ผู้กล้า" บ้าบิ่นเคาะประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่อง มาแพงมากๆ เป็นพวกมองโลกแง่ร้าย ย่อมคิดได้ว่ากสทช.ได้เงินไปก้อนแรกแล้วกว่าหมื่นล้านบาท เงินประมูลก้อนที่เหลืออีกประมาณ 40,000 ล้านบาท ธนาคารก็ค้ำประกันทั้งหมดในอีก 5 ปี ใครจะเจ๊งใครจะอยู่รอด ไม่ใช่หน้าที่ กสทช. ยังไงเสีย กสทช. ก็ยังได้เงินประมูลทั้งหมดแน่ๆ

ผมได้ยิน พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกสท. พูดกับผู้ชนะประมูลทีวีดิจิทัลมาหลายรอบแล้วน่าจะทำให้รู้สึกว่า "ยังมองโลกสวย" ได้ "อาจารย์น้ำของเรา" บอกว่ากสท.ชักชวนให้พวกท่านมาประมูลทีวีดิจิทัลมาได้ขนาดนี้แล้ว ยังไง กสท .จะต้องหาทางช่วยเหลือให้ทีวีดิจิทัลเกิดให้ได้ที่จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย แล้วพวกท่านจะรู้เองว่าเงินประมูลที่เคาะไปไม่ได้สูงเกินไปเลย

มติของกสท.เมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่มีสาระสำคัญเรื่องการออกอากาศคู่ขนานของฟรีทีวี 6 ช่อง น่าจะช่วยทำให้" อาจารย์น้ำของเรา" ยังเป็นความหวังให้นำทางพวกเรา "หลีกให้พ้น" ภาวะทุ่งสังหาร Killing Field ที่ทุกรายมองเห็นอยู่เบื้องหน้าแล้วว่าใน 2-3 ปีแรกยากจะมีกำไร แม้กระทั่งขายโฆษณาหารายได้ให้เพียงพอค่าใช้จ่ายและกันไว้เป็นเงินค่าประมูลงวดที่สอง รวมกัน 24 ช่อง อีกประมาณหมื่นล้านบาท จัดส่ง กสทช. ในเดือนก.พ.ปีหน้าก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

มติ กสท. จะให้ฟรีทีวีอนาล็อก 3 ช่อง คือ ช่อง 5, ช่อง 11 และ ไทยพีบีเอส ไปออกอากาศคู่ขนาน Simulcast คลื่นดิจิทัลสาธารณะได้ ส่วนฟรีทีวีอนาล็อกอีก 3 ช่อง ที่ทำธุรกิจคือช่อง 3, ช่อง 7 และ ช่อง 9 แม้ยังมีสิทธิ์ตามสัมปทานเดิมประมาณ 5 ปี แต่การออกคู่ขนาน Simulcast แบบทีวีดิจิทัลที่ทุกรายทดลองออกอากาศผ่านโครงข่าย ช่อง 5 มาร่วมปีแล้วและประมูลช่องรายการแบบ HD ได้ทั้ง 3 ราย

หลังจาก กสท. ให้ใบอนุญาต 24 ช่องใหม่แล้ว สิทธิพิเศษในการเป็นโทรทัศน์แบบบริการทั่วไปของทั้งสามช่องจะหมดลงภายใน 30 วัน และจะต้องไปใช้คลื่นดิจิทัลแบบธุรกิจที่แต่ละรายประมูลได้มาออกอากาศคู่ขนานเอง

หมายถึงฟรีทีวีระบบอนาล็อก 3 ช่อง ธุรกิจเดิมจะไม่มีสิทธิพิเศษใดๆอีกแล้วตามกฏ Must Carry ที่บังคับให้ทุกโครงข่ายนำไป Re-broadcast แต่ทีวีดิจิทัล 24 ช่อง จะได้สิทธิพิเศษนี้แทนในการกำหนดหมายเลขช่องตามที่กสท.กำหนดในทุกโครงข่ายเพื่อให้ได้ Eyeball มากขึ้นเร็วที่สุด

มติ กสท. อันนี้น่าจะทำให้ฟรีทีวีอนาล็อก 3 ช่อง จะต้องออกอากาศคู่ขนานทีวีดิจิทัล ภายใต้ช่องของตัวเองที่มี "ต้นทุนประมูล" โดยไม่มีทางเลือก ซึ่งจะทำให้โอกาสของทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น ผู้บริโภคไม่ต้องไปยึดติดกับการดูฟรีทีวีเดิมแบบเสาอากาศก้างปลาอย่างเดียว แต่สามารถรับชมผ่านกล่องรับชมสัญญาณหรือโทรทัศน์ระบบที่มีจูนเนอร์ในตัว

สนามแข่งขันทีวีดิจิทัลระหว่างฟรีทีวีเดิมกับผู้เล่นรายใหม่กำลังเริ่มเท่าเทียมมากขึ้น แม้ผู้เล่นรายเดิมในฟรีทีวียังมีข้อได้เปรียบอย่างมากในการเข้าถึงคนดูได้เกือบ 100% แต่โครงข่ายดิจิทัลทีวีในปีแรกยังเข้าถึงคนดูได้แค่ 50% แต่การบังคับโดยปริยายให้ฟรีทีวี 3 ช่อง ธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากที่สุดมาออกอากาศแบบดิจิทัล ย่อมทำให้ผู้บริโภคเกิดความคุ้นเคยมากขึ้นและเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมแบบดิจิทัลได้เร็วขึ้น

กรณีนี้ใครจะกล่าวหาว่า กสท. ทำหน้าที่ไม่เป็นกลางที่มาเอาใจ "ทีวีดิจิทัล" ผมอาสาจะขอเถียงคอเป็นเอ็นให้เลย

ฟรีทีวีทั้ง 3 ช่อง ได้ประโยชน์ส่วนตนจากภาวะ "กึ่งผูกขาด" จากการได้สัมปทานคลื่นความถี่สาธารณะมาเกินกว่า 30-40 ปี จนร่ำรวยเป็นตระกูลอภิมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งช่อง 7 ตระกูลรัตนรักษ์กับช่อง 3 ตระกูลมาลีนนท์

ภารกิจสำคัญของ กสท. มีหน้าที่หลักจะต้องแก้ไขหรือออกกฎกติกาใหม่เพื่อนำพา "ทีวีดิจิทัล" ทั้ง 24 ช่อง ให้พอจะไปรอดในระยะต้นประมาณ 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัลหลังการยุติออกอากาศแบบอนาล็อกทั้งหมดภายในสิ้นปี 2561จะยากลำบากมากๆ สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ แต่เมื่อยุติออกอากาศอนาล็อกแล้วน่าจะเกิดสภาพสนามแข่งขันที่เท่าเทียม (Level Playing Field ) ทางกสท.ค่อยวางมือลงเพื่อให้ผู้เล่นทั้ง 24 ช่อง แข่งขันกันได้อย่างเสรีตามกลไกตลาด

ในระยะยาว กสท. จะมีโอกาสได้เก็บเกี่ยวผลผลิตจากฝูง "ห่านทองคำ" ได้มากกว่าการปล่อยให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าไปสู่ "ทุ่งสังหาร" ตามลำพัง ซึ่ง "ห่านรายใหม่" ส่วนใหญ่คงอดหยากเลือดไหลออกตายไปอย่างแน่นอนภายใน 2-3 ปีแรก เพราะ "ห่านรายเก่า" 2 รายยังเคยชินกับภาวะกึ่งผูกขาดดักอยู่หน้าด่านเสบียง (โฆษณา)

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นที่โจษจันไปทั่วน่านน้ำถึงพฤติกรรมของ "ห่านตัวหนึ่ง" กำลังเล่นเกม "กินรวบ" เพื่อไม่ให้รายใหม่เกิดได้ เริ่มกดดันเอเจนซี่โฆษณาไม่ให้เจียดอาหารให้ "ฝูงห่านรายใหม่" บังคับ "ซื้อแบบเหล้าพ่วงเบียร์" เพิ่มราคาช่องเก่าที่ได้รับความนิยมมาบังคับซื้อพ่วงช่องใหม่ กสท. ในฐานะที่มีอำนาจ "ผู้กำหนดเกม" จึงอย่าเพียงแค่ดูกฎกติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษรให้ทุกคนทำตาม แต่ควรจะเข้ามาสอดส่องไฟฉาย อย่าให้ใครเอาเปรียบใครเพื่อทำให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียมกันมากที่สุดในช่วงแรกๆ ที่ภาวะสนามแข่งขันใหม่ยังไม่เสร็จทั้งหมด, ยังไม่เท่าเทียม

----
อ่านตอนที่ (1) ได้ที่นี่ครับ http://bit.ly/1bcz4pI
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่