'ทีวีดิจิทัล'จุดเปลี่ยนบิ๊กธุรกิจ

'ทีวีดิจิทัล'จุดเปลี่ยนบิ๊กธุรกิจ

เม็ดเงินโฆษณา"สื่อทีวี"ทั้งฟรีทีวี อนาล็อก,ทีวีดาวเทียม/เคเบิลทีวี และทรูวิชั่นส์ มูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท ครองส่วนแบ่งงบโฆษณาสูงสุดกว่า 60% ของอุตสาหกรรมโฆษณามูลค่า 1.35 แสนล้านบาทในปีนี้ผ่านมา ถือเป็นเค้กโฆษณามูลค่ามหาศาลที่ผู้ประกอบการ ต่างยอมทุ่มเงินประมูลชิงใบอนุญาตฟรีทีวีระบบดิจิทัลอายุ 15 ปี ที่หวังเป็นเครื่องมือสำคัญ กอบโกยรายได้จากโฆษณามูลค่าทีวีนับ "แสนล้านบาท" ในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ "ทีวีดิจิทัล"

การประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่องประเภทบริการธุรกิจรวมมูลค่ากว่า 50,862 ล้านบาท ยังไม่นับรวมการลงทุนด้านคอนเทนท์และบริหารจัดการอื่นๆ ในระดับ 500-2,000 ล้านต่อปีต่อช่อง เรียกได้ว่าเป็นกิจการที่ทำให้เกิดเม็ดลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องระดับแสนล้านบาทในยุคเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล

ด้วยมูลค่าการลงทุนในอัตราสูงและแหล่งรายได้โฆษณาระดับ"แสนล้านบาท" ส่งผลให้การเข้ามาลงทุนในกิจการทีวีดิจิทัล กลายเป็น "จุดเปลี่ยน" สำคัญของบรรดา "บิ๊กธุรกิจ" ผู้ครอบครองไลเซ่นส์ในปัจจุบัน

ไทยรัฐลงทุนสูงสุดรอบ60ปี

ยักษ์ใหญ่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ "ไทยรัฐ" ก้าวเข้าสู่กิจการทีวี เป็นรายสุดท้าย ภายใต้การนำทัพของเจนเนอเรชั่นที่ 3 ของตระกูล"วัชรพล"ด้วยการคว้าใบอนุญาต ทีวีดิจิทัล วาไรตี้ เอชดี ช่อง 32 ด้วยมูลค่า3,360 ล้าน

วัชร วัชรพล ประธานกรรมการบริหาร บริษัททริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ "ไทยรัฐทีวี" กล่าวว่าการเข้ามาลงทุนช่องทีวีเป็นรายสุดท้ายของกลุ่มสื่อหนังสือพิมพ์ จึงต้องการสร้างความแตกต่างด้านคอนเทนท์ และเทคโนโลยีระดับโลกเช่นเดียวกับสถานีทีวีชั้นนำของโลก ภายใต้โครงการทีวีดิจิทัล วางงบลงทุนรวม 2,500 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนระบบออกอากาศและสตูดิโอสัดส่วน 55% คอนเทนท์ 45% และงบการตลาด 5% หากรวมค่าใบอนุญาตจะใช้งบลงทุนรวม 6,000 ล้านบาท คาดบริหารธุรกิจคุ้มทุนภายใน7 ปี

"ทีวีดิจิทัล ถือเป็นการลงทุนที่ใช้งบประมาณสูงสุดของกลุ่มวัชรพลในรอบ 60 ปี มองว่าในอนาคตทีวีดิจิทัล จะเป็นอีกแหล่งรายได้สำคัญนอกจากสื่อสิ่งพิมพ์"

ช่องไทยรัฐทีวี ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจมาจากบริษัทแม่ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่ก่อตั้งมา 60 ปี เป็นสื่อที่มีความแข็งแรงด้านเนื้อหาและการเข้าถึงคนไทยมากที่สุด นโยบายการดำเนินงานของไทยรัฐทีวี ภายใต้สโลแกน "คิดต่างอย่างเข้าใจ" จึงใช้เป็นกลยุทธ์เปลี่ยน "ผู้อ่านเป็นผู้ชม" ด้วยการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงฐานผู้อ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่มียอดจำหน่าย 1 ล้านฉบับต่อวัน ให้กลายเป็นผู้ชมช่องไทยรัฐทีวี

พร้อมผสานการทำงานระหว่างทีมข่าวทีวี ทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มที่มีประสบการณ์ กับกองบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพื่อร่วมวิเคราะห์เจาะลึกประเด็นข่าวสำคัญแต่ละวัน และต่อยอดข้อมูลข่าวในสไตล์ที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้ชมในกลุ่มแมสต่อยอดคลังคอนเทนท์ข้อมูลของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่สะสมมากว่า 60 ปี เพื่อนำมาใช้ในรูปแบบดิจิทัล นิวส์รูม

ผังรายการไทยรัฐทีวีในเฟสแรก เม.ย.นี้ ได้กำหนดสัดส่วนข่าวและสาระ 50% เพื่อเชื่อมโยงความแข็งแกร่งของแบรนด์หนังสือพิมพ์สู่กิจการทีวี โดยวางเป้าหมายเป็นผู้นำด้านข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมหวังติดอันดับท็อปไฟว์ ช่องทีวีดิจิทัลภายใน 3 ปี

เทคโนฯสู่บรอดแคสต์

ฟากธุรกิจเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ พิชญ์ โพธารามิก ประธานกรรมการ บริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัทเป็นผู้ถือหุ้น 100% ในบริษัทโมโน บรอดคาซท์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิทัล วาไรตี้ เอสดี ช่องโมโน 29 ด้วยราคาใบอนุญาต 2,250 ล้านบาท ภายใต้แผนการลงทุนทีวีดิจิทัล ได้เพิ่มทุนเป็น 500 ล้านบาท สำหรับลงทุนทีวีดิจิทัลในปีแรก

วางเป้าหมายภายใน 3 ปี หรือปี 2559 ทีวีดิจิทัล ในฝั่งกิจการบรอดแคสติ้ง จะเป็นรายได้หลักของโมโน กรุ๊ป ด้วยสัดส่วน 50% โดยมีรายได้รวม 5,000 ล้านบาท จากปี 2556 ธุรกิจบริการโมบาย ทำรายได้หลักด้วยสัดส่วน 61% หรือมีรายได้รวมในปีที่ผ่านมา 1,500 ล้านบาท

"จากเป้าหมายในปี 2559 ที่มีรายได้หลักจากทีวีดิจิทัล เดิมธุรกิจหลักมาจากบริการระบบมือถือและอินเทอร์เน็ต มาจากโอกาสการหารายได้ในอุตสาหกรรมโฆษณาทีวีที่มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาจริงหลังหักส่วนลด"

ส่วนธุรกิจบริการมือถือที่เดิมเป็นรายได้หลัก ภาพรวมตลาดมีมูลค่าการให้บริการอยู่ที่ระดับพันล้านบาทเท่านั้น ตัวอย่างมูลค่าโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าโอกาสการหารายได้จากโฆษณามีเม็ดเงินสูงกว่ามาก

หลังการออกอากาศทีวีดิจิทัลในปีนี้ วางเป้าหมายเป็นผู้นำติดอันดับท็อปไฟว์ หรือมีส่วนแบ่งการตลาดงบโฆษณา 5-10% ภายใน 3 ปี จากอุตสาหกรรมโฆษณาทีวีมูลค่า 5หมื่นล้านบาทในปี 2559

ค่ายเพลงชู"มีเดีย"รายได้หลัก

สอดคล้องกับผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจเพลงและบันเทิง "แกรมมี่-อาร์เอส"ที่ประเมินไม่ต่างกันว่า นับจากนี้ธุรกิจ "มีเดีย" ที่มีกิจการทีวีดิจิทัล นำทัพ จะเป็นสื่อหลักทำรายได้ให้องค์กร

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าแกรมมี่ เป็นผู้ชนะประมูลและได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือช่องวาไรตี้ เอชดี มูลค่า 3,320 ล้านบาท และวาไรตี้ เอสดี มูลค่า 2,290 ล้านบาท รวมมูลค่า 5,610 ล้านบาท โดยได้เริ่มออกอากาศช่อง ONE HD ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ส่วนช่องวาไรตี้ เอสดี ใช้ชื่อ BIG เริ่มออกอากาศวันแรก 23 พ.ค.นี้ โดยทั้ง 2 ช่องวางเป้าหมายเจาะผู้ชมกลุ่มแมส

การลงทุนทีวีดิจิทัล ที่ประกอบไปด้วย ต้นทุนคงที่ ค่าบริการโครงข่าย ,ค่าใบอนุญาตเฉลี่ยจ่ายรายปี ,การบริหาร และการผลิต ช่องเอชดีอยู่ที่ปีละ 2,000 ล้านบาท ส่วนช่องเอสดี ปีละ 1,000 ล้านบาท

มองว่าเริ่มต้นออกอากาศทีวีดิจิทัล 2 ช่องในปีนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในการก้าวสู่ทศวรรษที่4 โดยรายได้หลักจะมาจากธุรกิจ "มีเดีย"ซึ่งประกอบไปด้วยรายการจากฟรีทีวี ,ช่องทีวีดาวเทียมรวม 10 ช่อง ,สื่อวิทยุ และทีวีดิจิทัล ในสัดส่วน 60-70% ขณะที่ธุรกิจเพลง สัดส่วนลดลงเหลือ 30-35% จากเดิมที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน

ทีวีดิจิทัล ซึ่งมีฐานะเป็นฟรีทีวี มีโอกาสหารายได้จากอุตสาหกรรมโฆษณาโทรทัศน์ที่มีเม็ดเงินปีละ 8 หมื่นล้านบาท โดยแกรมมี่ จะมีต้นทุนค่าเช่าเวลาฟรีทีวี อนาล็อก ปีละ 1,000 ล้านบาทลดลง หลังจากเป็นเจ้าของสถานีฟรีทีวีดิจิทัลเอง

ขณะที่ พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 กล่าวว่าหลังออกอากาศช่อง 8 บนแพลตฟอร์ทีวีดิจิทัล เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นการต่อยอดแบรนด์ช่อง8 ที่ออกอากาศรูปแบบทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีมากกว่า 3 ปี โดยหลังจากนี้ ช่อง 8 จะมีฐานผู้ชมเพิ่มขึ้นในช่องทางทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิทัล

การเริ่มต้นออกอากาศทีวีดิจิทัล ช่อง 8 ได้เพิ่มผังละคร ในช่วงไพรม์ไทม์ 20.00-21.00 น. เดิมวันละ 3 ชั่วโมง เป็นวันละ 4 ชั่วโมง ส่งผลให้เรทติ้ง ช่อง8 ในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น 30% ถือเป็นเรทติ้งผู้ชมใกล้เคียงกับช่อง 5 และช่อง9

ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ช่อง8 จะถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ทางฟรีทีวี ร่วมกับช่อง 7 จำนวน 22 แมทช์ หลังจากนั้นจะเพิ่มผังรายการกีฬา วาไรตี้ และข่าวเข้ามาเพิ่มเติม โดยวางสัดส่วนรายการวาไรตี้ 50% ละคร 25% และข่าว 25%

จากแนวโน้มเรทติ้งผู้ชมช่อง 8 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ในเดือนมิ.ย.นี้ บริษัทได้เตรียมปรับขึ้นราคาโฆษณาช่อง 8 ใหม่ ในอัตรา 100% ส่งผลให้สิ้นปีนี้ ช่อง 8 จะมีรายได้รวม 850 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 550 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามจากทิศทางการเติบโตในกลุ่มธุรกิจมีเดีย ที่ประกอบด้วยทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิทัล ส่งผลให้สัดส่วนรายได้รวมกลุ่มสื่อ ซึ่งรวมธุรกิจวิทยุ ในปีนี้จะมีสัดส่วนรายได้ 70% ซึ่งกลายเป็นธุรกิจหลักของอาร์เอส จากจุดเริ่มต้นธุรกิจค่ายเพลงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

ที่มา  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  
วันที่ 13 พฤษภาคม 2557

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/media/20140513/582102/%C2%B7%C3%95%C3%87%D5%B4%D4%A8%D4%B7%C3%91%C5%A8%D8%B4%C3%A0%C2%BB%C3%85%C3%95%C3%A8%C2%B9%C2%BA%C3%94%EA%A1%B8%C3%98%C3%A1%D4%A8.html
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่