กฟผ. เอาจริง !! ขอเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งชีวมวล ขยะ พลังงานลม และแสงอาทิตย์

http://www.balanceenergythai.com/%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99-%E0%B8%81%E0%B8%9F%E0%B8%9C/

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม ในฐานะโฆษก กฟผ. กล่าวว่า จากการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของ กฟผ. ที่จะดำเนินงานในช่วงปี 2560-2569 โดยในด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน จะเสนอกระทรวงพลังงานขอเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอีก 1,500-2,000 เมกะวัตต์ ทั้งชีวมวล ขยะ พลังงานลม และแสงอาทิตย์ จากปัจจุบันที่มีอยู่ในระบบของ กฟผ. แล้ว ราว 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ



สำหรับประเด็นที่มีการเสนอให้ทบทวนการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า อาทิ จากรายงานข่าวเรื่อง “มธ.” เปิด โซลาร์รูฟท็อป ใหญ่สุดของเอเชีย” ทาง Nation TV เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 ซึ่ง ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ร้อยละ 70 การใช้ไฟฟ้าของเราทุกครั้ง จึงเป็นสาเหตุของปัญหาโลกร้อน และแนะนำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทบทวนนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินนั้น

โฆษก กฟผ. กล่าวชี้แจงว่า แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ลดความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงในระยะยาว และรักษาระดับราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. ได้นำเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในเชิงพาณิชย์มาใช้ ทำให้สามารถควบคุมมลภาวะได้ในระดับสากล และดีกว่ามาตรฐานที่ประเทศไทยกำหนดค่อนข้างมาก และจากเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าแบบ Ultra Super Critical ที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีในอดีต ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ่านหินยังเป็นเชื้อเพลิงหลักของโลกประมาณร้อยละ 40 และประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ออสเตรเลีย จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ยังใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า

การมีโรงไฟฟ้าหลักที่สามารถที่สามารถสั่งการเดินเครื่องได้ตามความต้องการของระบบไฟฟ้า ยังช่วยให้สามารถรักษาปริมาณและคุณภาพของกระแสไฟฟ้า โดยเฉพาะในอนาคตที่เราจะมีพลังงานหมุนเวียนในระบบมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี ที่ส่งเสริมและอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 190,000 เมกะวัตต์ มาจากพลังงานหมุนเวียน 100,000 เมกะวัตต์ (ร้อยละ 53) แต่ยังต้องมีโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ และฟอสซิล ในระบบรวมกันกว่า 90,000 เมกะวัตต์ (ร้อยละ 47) ขณะที่มีความต้องการไฟฟ้ามีเพียง 87,000 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตสำรองถึง 103,000 เมกะวัตต์ แต่การผลิตพลังงานจริงในปี 2558 มาจากเชื้อเพลิงถ่านหินร้อยละ 42 และพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 30 แม้ว่าพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดสามารถจ่ายเข้าระบบไฟฟ้าได้ก่อนก็ตาม

โฆษก กฟผ. ยังได้กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ตั้งเป้าผลิตกำลังไฟฟ้า 15 เมกะวัตต์ ภายในในปี 2560 ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและจะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับกระทรวงพลังงาน และ กฟผ. ที่มีเป้าหมายลดการปล่อย CO2 ในการผลิตไฟฟ้าจาก 0.506 กิโลกรัมต่อหน่วย ในปัจจุบัน เหลือ 0.385 กิโลกรัมต่อหน่วย ในปี 2579 รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศในปี 2573 ที่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามแสดงเจตจำนงไว้ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (COP21) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

อนึ่ง กฟผ. ได้ดำเนินการโครงการอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 หรือ Demand Side Management (DSM) ปี 2538-2558 รวม 20 ปี โดยความร่วมมือของประชาชน สามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าเทียบเท่าลดการสร้างโรงไฟฟ้า 4,050 เมกะวัตต์ ลดการปล่อย CO2 ได้ 14 ล้านตัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่