@@@ มุมกาแฟnonแดง(มุมนี้ไม่มีใครเป็นเสื้อแดง) ศุกร์ที่ 26/08/59 เบื้องหลังคดี‘หมอเลี๊ยบ’แก้สัมปทานเอื้อชินคอร์ป @@@

“…ได้ตรวจสอบดูแล้วเห็นว่า ไม่สามารถนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) มีฐานะเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปฯ และเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ ดังนั้นหากนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นได้ … ได้โทรศัพท์กลับไปยัง นพ.สุรพงษ์ เพื่ออธิบายกรณีดังกล่าวแล้ว และขอให้ นพ.สุรพงษ์ ถอนเรื่องดังกล่าวออกจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ นพ.สุรพงษ์ ไม่ยอม…”

'หมอเลี๊ยบ’ หรือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตนักการเมืองชื่อดัง ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา กรณีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) รัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ แก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมเอื้อให้บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) จาก 51% เหลือ 40% ส่งผลให้ประเทศชาติอาจเกิดความเสียหายร้ายแรง

เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปคำพิพากษา-พฤติการณ์ในคดีดังกล่าวมาเผยแพร่ให้ทราบ ดังนี้

ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยคือ การแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมดังกล่าว เป็นอำนาจของ รมว.ไอซีที (หมอเลี๊ยบ) โดยไม่ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่

ศาลพิเคราะห์แล้ว สรุปได้ทำนองว่า ในการทำสัญญาสัมปทานดาวเทียมเมื่อปี 2534 รมว.คมนาคม (ขณะนั้น) มีการเซ็นสัญญากับบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (เปลี่ยนเป็นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันคือบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)) โดยเนื้อหาบางตอนในสัญญาดังกล่าว ระบุว่า บริษัท ชินวัตรฯ จะตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาดำเนินการ และจะเข้าไปถือหุ้น 51% ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ชุดนั้น) ได้อนุมัติตามหลักการดังกล่าว และเห็นว่า การที่บริษัท ชินวัตรฯ ถือหุ้น 51% ในบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ (บริษัทย่อยที่ดำเนินการกิจการดาวเทียม) จะเป็นการไม่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการดำเนินงานของบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ ได้

ดังนั้น นพ.สุรพงษ์ ที่อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมโดยลดสัดส่วนหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปฯ ที่ถือในบริษัท ชิน แซทเทิลไลท์ฯ จาก 51% เหลือ 40% โดยไม่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี จึงฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี พ.ศ.2535

ส่วนการที่ นพ.สุรพงษ์ อ้างว่า ประเด็นการเขียนสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินวัตรฯ ในบริษัทย่อยนั้น รมว.คมนาคม (ขณะนั้น) เป็นผู้อนุมัติ ไม่ใช่คณะรัฐมนตรี ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นทำนองว่า การเสนอสัดส่วนหุ้นดังกล่าว เป็นข้อเสนอของบริษัท ชินวัตรฯ และ รมว.คมนาคม ได้รับทราบในหลักการ และส่งสัญญาทั้งหมดให้คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนั้นข้ออ้างของ นพ.สุรพงษ์ จึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นต่อมา การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมดังกล่าว ทำไปโดยสุจริตหรือไม่

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นทำนองว่า นพ.สุรพงษ์ ได้นำเสนอเรื่องผ่านไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว เห็นว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ในการนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี จึงได้ตีเรื่องกลับไปยังกระทรวงไอซีที

หลังจากนั้นกระทรวงไอซีที ได้ทำหนังสือไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อหารือว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมดังกล่าวเป็นอำนาจของ รมว.ไอซีที (หมอเลี๊ยบ) หรือไม่ อสส. มีความเห็นกลับมาว่า มีดุลยพินิจให้แก้ไขได้ แต่ก็มีนัยว่า ต้องนำเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีด้วย

ทั้งนี้จากการสืบพยาน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เบิกความทำนองว่า ขณะเกิดเหตุกระทรวงไอซีทีได้มีหนังสือส่งมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตนได้ตรวจสอบดูแล้วเห็นว่า ไม่สามารถนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ เนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) มีฐานะเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัท ชิน คอร์ปฯ และเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ ดังนั้นหากนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อาจเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นได้

ทั้งนี้นายบวรศักดิ์ เบิกความอีกว่า ได้โทรศัพท์กลับไปยัง นพ.สุรพงษ์ เพื่ออธิบายกรณีดังกล่าวแล้ว และขอให้ นพ.สุรพงษ์ ถอนเรื่องดังกล่าวออกจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่ นพ.สุรพงษ์ ไม่ยอม ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงทำหนังสือตอบกลับไปว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์

ซึ่งการกระทำนี้ทำไปเพื่อรักษาหน้าของ นพ.สุรพงษ์ และรักษาความสัมพันธ์ของนายบวรศักดิ์ กับ นพ.สุรพงษ์ และนายทักษิณ ด้วย

......................................................

ขอขอบคุณสำนักข่าวอิสรา ครับ เรื่องนี้ยาวมาก สนใจเพิ่มเติมเข้าไปอ่านกันต่อในลิงค์เลยครับ http://www.isranews.org/isranews-scoop/item/49523-mholeab_49523.html#.V77s8ScVrTM.facebook
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่