ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกระทรวงไอซีที

กระทู้สนทนา
http://www.dailynews.co.th/article/345/223405


มีข่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีกับข้าราชการประจำระดับสูงในกระทรวง

ภาษาทางคดีเขาใช้คำว่ารัฐมนตรีกับพวก  ฟังดูแล้วหดหู่มาก  จึงขอประกาศให้ทราบว่ากระผมไม่ประสงค์จะร่วมทีมเป็นสมัครพรรคพวกกับผู้ใดทั้งสิ้นในเรื่องอย่างนี้ทุกกรณี

ข้อกล่าวหาในเรื่องนี้โยงไปโดนเอกชนที่เขาทำธุรกิจตามปกติแบบหมัดหลงไปอย่างตั้งใจ

เริ่มจากข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เอง  ซึ่งได้ความมาว่า

เมื่อครั้งสมัยนายสุรพงษ์  สืบวงศ์ลี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นั้น  มีสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ ระหว่างกระทรวงคมนาคม และบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ความสำคัญอยู่ที่ ข้อ ๔ ในสัญญาฉบับนี้ ที่กำหนดให้บริษัทคู่สัญญาต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่เพื่อดำเนินงานตามสัญญา โดยมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท  และบริษัทชิน คอร์ปฯ จะต้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ด และต้องดำเนินการให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่รับผิดชอบตามสัญญาสัมปทานต่อกระทรวงร่วมกันและแทนกันกับบริษัท  ซึ่งต่อมาก็ได้มีการจัดตั้งบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ขึ้นมาตามสัญญาดังกล่าว

ต่อมาบริษัท ไทยคมฯ มีหนังสือถึงกระทรวงไอซีทีขออนุมัติลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินฯ ตามสัญญาจากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ด เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบ เนื่องจากธุรกิจให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก โดยเฉพาะโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์  มีความจำเป็นต้องหาพันธมิตรเพื่อขยายศักยภาพการแข่งขัน ซึ่ง การหาพันธมิตรหรือแหล่งเงินทุนดังกล่าวมีผลทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปฯ ต้องลดลงดังกล่าว เพราะต้องให้เจ้าของแหล่งเงินทุนเข้ามามีส่วนในการถือหุ้นนั้น

การแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่างรัฐกับเอกชนคู่สัญญาเป็นเรื่องปกติเพื่อวัตถุประสงค์ของสัญญา รัฐเพียงแต่เฝ้าระมัดระวังมิให้ต้องเสียเปรียบเอกชน  และสามารถรักษาผลประโยชน์ของทางราชการได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่านั้น

ส่วนเอกชนเขาจะไปตีลังกาทำธุรกิจประการใดเพื่อให้ได้กำไรโดยไม่ผิดสัญญาไม่ผิดกฎหมายก็เป็นเรื่องของเขา

ยิ่งเรื่องแบบนี้ กระทรวงไอซีทีตั้งการ์ดสูงกว่าปกติ  ส่งเรื่องทั้งหมดให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบให้ความเห็นมา  อัยการท่านตรวจสอบแล้วจึงว่าเรื่องนี้ไม่มีกรณีที่รัฐจะเสียประโยชน์แต่อย่างใด

นำเสนอคณะรัฐมนตรีตามคำแนะนำของอัยการ ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีก็แจ้งว่าเรื่องดังกล่าวไม่อยู่ในหลักเกณฑ์นำเสนอ ค.ร.ม.แต่อย่างใด

คิดเอง  ทำเองก็ได้นั่นแหละ ค.ร.ม.จึงโชคดีรอดพ้นไป  ไม่งั้นโดนยกพวงอีกราย

คุณหมอเลี๊ยบยังไม่มั่นใจอีกสั่งให้เสนอสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้งและให้ตรวจแก้ร่างสัญญาด้วย

จนเสร็จสรรพกระบวนความดังกล่าวท่านรัฐมนตรีถึงได้ลงนามอนุมัติแก้ไขสัญญาดังกล่าว

จึงเสร็จเรียบร้อยโรงเรียน ป.ป.ช.ด้วยประการฉะนี้แล ภาษาบอลเขาว่าเข้าทางตีนนะโยม

คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส.ที่ตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร ๒๕๔๙ ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวน อ้างว่าการเปลี่ยนแปลงสัญญาดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมิชอบ  เอื้อประโยชน์ให้บริษัท ชิน คอร์ปฯ ที่ไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินเพื่อรักษาสัดส่วนร้อยละห้าสิบเอ็ดของตน แต่กลับกระจายความเสี่ยงไปให้นักลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์

เตะขวาเข้าก้านคอเข้าฝ่ายรัฐ แล้วลดเท้าลงมาโดนไข่เอกชนซึ่งมิได้ใส่กระจับขึ้นเวทีด้วย

หน้าเขียวซีจ๊ะ

คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดท่านรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงไอซีทีว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหา

เรื่องนี้มีประเด็นสนั่นสภากาแฟริมทุ่งกุลายามเช้า  ดังที่ได้ปรากฏเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์กันให้แซดจากคอมเมนต์ของท่านนักวิชาการอิสระ คุณกุลชา จรุงกิจอนันต์ ที่ขออนุญาตท่านนำลงดังนี้

หนึ่ง การใช้ดุลพินิจของรัฐมนตรีที่มีการส่งเรื่องให้สำนักงานอัยการตรวจแล้วตรวจอีกคุณกุลชาท่านว่าน่าจะถือว่าเป็นการใช้ความระมัดระวังในการใช้ดุลพินิจแล้ว
      
ความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดนั้น  มีส่วนราชการไหนกล้าดำเนินการเป็นอย่างอื่นมั่ง

เมื่อดำเนินการปรึกษาหารือกับมือกฎหมายของทางราชการแล้วดำเนินการไปตามความเห็นของท่าน ยังถือว่าทุจริตประพฤติมิชอบอีก ยังงี้ความเห็นของอัยการก็ไร้น้ำยา บ่มิไก๊ ซีจ๊ะ
      
ประเด็นสำคัญที่สุด ป.ป.ช.อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีหมายเลขแดงที่ อม.๑/๒๕๕๓ อดีตนายกรัฐมนตรีพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งศาลได้วินิจฉัยประเด็นหนึ่งซึ่งเกี่ยวพันกับข้อเท็จจริงที่ ป.ป.ช.ไต่สวนในเรื่องนี้ว่าการอนุมัติให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาดังกล่าวไม่ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จึงเป็นการอนุมัติโดยมิชอบ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ชิน คอร์ปฯ ดังกล่าว

คุณกุลชา เธอว่า เป็นการนำข้อเท็จจริงในคดีอาญาเรื่องหนึ่งมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาโทษผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่ควรนำมาใช้ในการไต่สวนของ ป.ป.ช.

เพราะคดีดังกล่าวเป็นการพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ของอดีตนายกรัฐมนตรี โดยบุคคลและนิติบุคคลที่ถูกกล่าวถึงในคดีดังกล่าวไม่ได้มีโอกาสชี้แจง พูดตรง ๆ ก็ บริษัท ชิน คอร์ปฯ กับบริษัท ไทยคมฯ ไม่มีโอกาสต่อสู้โต้แย้งชี้แจงในคดี

เช่น...การเพิ่มทุนของ บมจ.ไทยคมเป็นการลดสัดส่วนการถือครองของ บมจ.ชินคอร์ปฯลงร้อยละสิบเอ็ดทำให้ บมจ.ชินคอร์ปฯได้รับเงินทุนคืนจากการโอนขายหุ้นดังกล่าว...คุณกุลชาอธิบายว่า การลดสัดส่วนการถือหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ปฯ น่าจะเป็นการสละสิทธิการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ บมจ.ไทยคมฯ ดังนั้นเมื่อมีการออกหุ้นเพิ่มทุนของ บมจ.ไทยคมฯ จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น แต่ บมจ.ชินคอร์ปฯ ไม่ใช้สิทธิการจองซื้อหุ้นจึงทำให้สัดส่วนหุ้นใน บมจ.ไทยคมฯ ลดลง ไม่ใช่กรณี บมจ.ชินคอร์ปฯ ได้รับเงินทุนคืนจากการโอนขายหุ้น” แต่อย่างใด

ฉะนั้น การนำข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับบริษัททั้งสองในคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯมาฟังลงโทษผู้ถูกกล่าวหาโดยบริษัททั้งสองไม่มีโอกาสเข้าต่อสู้  คุณกุลชาจึงอธิบายแบบเกรงใจ ป.ป.ช.เต็มทีว่า

ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ  นี่ไม่ใช่เรื่องเณรคำนะจ๊ะ.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่