กทค. ตีกลับแผนอัพเกรดคลื่น 2300 ชี้แผนไม่ชัดมีแค่เอกสาร 4 หน้า "ทีโอที" ยังมั่นใจพร้อมให้บริการปีหน้า


กทค. ตีกลับแผนอัพเกรดคลื่น 2300
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

          กทค. ดับฝันทีโอที ตีกลับแผนใช้งาน คลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ หลังขอใช้ความถี่ 60 เมก ร่ายแนวทางเปิดฟิกซ์บรอดแบนด์รองรับผู้ใช้งาน 9 แสนรายใน 5 ปี "ประวิทย์" ชี้แผนไม่ชัด มีเอกสารประกอบแค่ 4 หน้า เล็งออกหนังสือจี้ส่งแผน กลับใน 90 วัน

          นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการโทรคมนาคม (กทค.) ว่าที่ประชุมมีมติรับทราบแผนการ ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ ของบมจ. ทีโอที ตามที่เสนอมาว่า ต้องการนำไปใช้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ (ฟิกซ์บรอดแบนด์)  แต่แผนดังกล่าวยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ที่จะแสดงถึงความสามารถในการให้ บริการ และการใช้งานคลื่นความถี่อย่าง มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่สอดคล้องกับ เจตนารมณ์ของ กทค. ที่อนุมัติให้ ทีโอทีปรับปรุงแผนการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าว

          อย่างไรก็ตาม กทค. ได้มอบหมาย ให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งไปยังทีโอที เพื่อให้จัดทำแผนการดำเนินการปรับปรุงคลื่นความถี่ 2300 แผนการสร้างโครงข่าย (Roll Out Plan) ให้เสร็จ แล้วนำส่งภายใน 90 วัน

          ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก กทค. เคยมีมติในการประชุมครั้งที่ 27/2558 เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2558 อนุญาตให้ ทีโอที ปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2400 เมกะเฮิรตซ์ (ช่วง 2310-2370 เมกะเฮิรตซ์) จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ และมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ติดตามแผนและผลการดำเนินการ ปรับปรุงคลื่นของทีโอที เพื่อให้ใช้ คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพและ เกิดประโยชน์สูงสุด

          โดยทีโอที มีแผนขอปรับปรุงคลื่นย่านดังกล่าวเพื่อนำไปให้บริการด้าน เสียง ข้อมูล และด้วยเทคโนโลยีแอลทีอี ในการให้บริการโมบายบรอดแบนด์ ในรูปแบบบริการขายส่งและขายปลีก รวมทั้งบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไร้สาย (ฟิกซ์ ไวรเลส บรอดแบนด์) ด้วยเทคโนโลยีแอลทีอี

          นายประวิทย์ กล่าวว่า แผนการ ใช้งานคลื่นความถี่ที่ทีโอที ส่งมาให้ พิจารณานั้น เป็นเพียงบทสรุปผู้บริหาร ที่มีจำนวน 4 หน้าเท่านั้น ไม่มีรายละเอียดเพียงพอว่าจะนำคลื่นไปใช้อย่างไร เริ่มต้นเมื่อใด มีเงื่อนไขว่าภายในระยะเวลาเท่าใด

          ที่สำคัญบทสรุปผู้บริหารจำนวน 4 หน้านี้ ไม่สะท้อนความมีประสิทธิภาพในการใช้งานคลื่นความถี่ว่าจำเป็นต้อง ใช้งานทั้ง 60 เมกะเฮิรตซ์ เลยหรือไม่ หรือจำเป็นตามความเหมาะสมปริมาณเท่าใด เพราะหากคลื่นส่วนใดที่ทีโอที นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ไม่ได้ หรือใช้ อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ที่ กสทช. จะต้องเรียกคืนคลื่นความถี่ ส่วนนั้นกลับมาจัดสรรใหม่ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 84 วรรคหนึ่ง วรรคสี่ และมาตรา 83 ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ความจำเป็นของการประกอบกิจการและการใช้คลื่นความถี่ รวมทั้งเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่

ทีโอที มั่นใจคลื่น 2300 พร้อมให้บริการปีหน้า
เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

          ทีโอที มั่นใจคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ จะเปิดให้บริการฟิกส์ไลน์บรอดแบนด์ได้ปีหน้า ระบุหากเปิดเป็นทางการจะสร้างรายได้ให้องค์กรปีละ 1 หมื่นล้านบาท กำไร 3,000  ล้านบาท

          นายมนต์ชัย  หนูสง  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาทำข้อกำหนดเงื่อนไข (ทีโออาร์) และดำเนินการหาพันธมิตรทางธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตประจำที่แบบไร้สาย (ฟิกส์ไลน์บรอดแบนด์) ภายใต้เทคโนโลยี แอลทีอี บนความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ที่ ทีโอทีมีความจุ (แบนด์วิธ) 60 เมกะเฮิร์ตซ อายุสัมปทานถึงปี 2568 โดยหากให้บริการแล้วจะมีรายได้ปีละราว 10,000 ล้านบาท กำไรราว 3,000 ล้านบาท โดยคาดว่าปี 2560 จะเปิดให้บริการได้ ซึ่งขณะนี้ ได้เปิดให้ทดลองบริการไวไฟในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสจากสถานีหมอชิตถึงแบริ่งเมื่อต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา และเปิดให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ (ซัพพลายเออร์) ทั้งยุโรปและเอเชียร่วมทดลองเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนฟิกส์ไลน์บรอดแบนด์ ทีโอทีจะเปิดให้ทดลองที่จ.ราชบุรี ทั้งนี้ โมเดลธุรกิจ จะเป็นรูปแบบที่ต่างจากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รูปแบบใหม่บีเอฟเคที แต่จะให้พาร์ทเนอร์ลงทุนและหาปริมาณความต้องการใช้งาน ซึ่งผู้ลงทุนและผู้ให้บริการเป็นคนละนิติบุคคลกัน

          ส่วนความคืบหน้าการทำสัญญาเป็นพันธมิตรให้บริการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ 3 จี ย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส นั้น ขณะนี้ ยังอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบ และคาดว่าจะพิจารณาได้ภายในปีนี้  เพราะหากลงนามสัญญายังช้าจะกระทบกับโอกาสในการหารายได้โดยตรงให้กับทีโอที และจะทำให้ทีโอที มีค่าเสื่อม และค่าจัดจำหน่าย ติดลบคิดเป็นเงินปีละราว 10,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันทีโอทียังมีค่าใช้จ่ายในการเออร์รี่รีไทร์พนักงาน จากเป้า 1,300 คน จำนวน 3,000 ล้านบาท  ซึ่งขณะนี้ มีพนักงานที่สมัครแล้วจำนวน 900 คน ส่วนกรณีข้อพิพาทเสาโทรคมนาคม กับ เอไอเอส ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2 จี ความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์  ล่าสุดเอไอเอส จะส่งมอบ 9 ระบบให้แก่ทีโอที อาทิ ระบบบิลลิ่ง หลังจากที่ได้มีการเจรจาเพิ่มเติมบางส่วน ส่วนข้อพิพาทสิทธิเรื่องเสาโทรคมนาคม ยังไม่มีข้อสรุป

          นายมนต์ชัย กล่าวว่า ทีโอที มีงบลงทุนปีนี้จำนวน 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนค่าธรรมเนียมบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี จำนวน 1,000 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมการให้บริการโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 3,000 ล้านบาท และโครงการต่าง ๆ ที่มีการขยายการให้บริการ.


แหล่งข่าว
กทค. ตีกลับแผนอัพเกรดคลื่น 2300
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 28)

ทีโอที มั่นใจคลื่น 2300 พร้อมให้บริการปีหน้า
เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 23)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่