เงินทองของมายา ข้าวปลาของจริง

กระทู้คำถาม
มจ.สิทธิพร  กฤดากร บิดาแห่งการเกษตรไทย ได้เคยกล่าวคำอันเป็นอมตะไว้ว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง”  ถึงแม้ว่าวิถีการผลิตและวิถีชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นไทยทุกวันนี้อยู่ในสภาพที่เรียกว่า  “เงินทองเป็นของต้องหา ข้าวปลาสิต้องซื้อ”   ก็ตาม  แต่คนในชุมชนท้องถิ่นไทยก็ยังต้องอาศัยข้าวเป็นอาหารหลัก โดยมีปลา เนื้อ และผักเป็นอาหารประกอบ  นั่นคือ คนไทยยังต้องพึ่งพิงข้าวและปลาที่เป็นของจริง  ถ้าไม่มีข้าวและปลาคนไทยก็ไม่น่าจะดำรงชีวิตอยู่ได้  ส่วนเงินทองก็ยังเป็นเพียงมายาเหมือนเดิม เพราะเราไม่สามารถกินเงินทองได้ ถึงแม้ว่าเราจะใช้เงินทองซื้อหาข้าวปลาได้ก็ตาม

เมื่อข้าวปลาเป็นเครื่องดำรงชีวิตของคน  งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจึงให้ความสำคัญกับการวิจัยเรื่องข้าวปลาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะข้าวปลาในชุมชนท้องถิ่นไทย โจทย์สำคัญที่เกี่ยวกับข้าวปลา เราสนใจระดับครัวเรือนและชุมชนในแง่ ความเพียงพอของอาหาร ความปลอดภัยของอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร และอธิปไตยทางอาหาร โดยเฉพาะกับเกษตรกรผู้ผลิตรายย่อยเอง แต่ในหลายเรื่องเราพยายามขยับเรื่องอาหารในเรื่องจริยธรรมทางอาหารด้วย  เพราะไม่เช่นนั้นอาหารจะเป็นเพียงระบบโภชนาการของชีวิตมนุษย์เท่านั้น อย่างไรก็ตามการทำให้ข้าวปลามีความเพียงพอ มีความปลอดภัย มีความมั่นคง และมีสิทธิ์เลือกได้ นั้น  คงต้องดูหลายมุม เช่น การผลิต  การหา การแลก  การซื้อ เป็นต้น นั่นหมายถึงมีงานวิจัยที่ให้ความสำคัญกับระบบข้าวปลาทั้งที่เกิดจากฐานการผลิต  ฐานทรัพยากรธรรมชาติ ฐานวัฒนธรรม  และฐานการค้า

DSC_0786

ระบบข้าวปลาของชุมชนท้องถิ่นเป็นข้าวปลาที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ระบบข้าวปลาของคนบนเขาหรือพื้นที่สูงมักเป็นระบบที่อิงอาศัยฐานทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นป่าเขาเป็นหลัก มีการผลิตเป็นส่วนเสริมที่สำคัญ  ส่วนชุมชนท้องถิ่นบนพื้นที่ราบสูงมักเป็นระบบการผลิตเป็นหลัก มีการใช้ฐานทรัพยากร และการค้าเป็นองค์ประกอบ  คนในพื้นที่ราบลุ่มอิงอาศัยการผลิตเป็นหลัก และอาศัยการค้าเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในขณะที่ชุมชนชายฝั่งนั้นอิงอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของทะเลเป็นหลัก และใช้ฐานการค้าเป็นตัวสำคัญในการเข้าถึงข้าว  และในหลายพื้นที่เราพบว่าฐานวัฒนธรรมคือการแลกเปลี่ยนเกื้อกูลกันในเรื่องข้าวปลานั้นยังเป็นองค์ประกอบที่น่าสนใจถึงแม้ว่าจะเบาบางลงบ้าง โดยเฉพาะในชุมชนดั้งเดิมที่มีฐานวัฒนธรรมร่วมกันมาก่อน

การวิจัยเรื่องข้าวปลาของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นนั้นในยุคแรก ๆ เป็นการวิจัยในสองลักษณะ คือ ลักษณะแรก เป็นการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่า แหล่งน้ำ และชายฝั่ง ซึ่งเป้าหมายหลายโครงการมุ่งเน้นการฟื้นฟูและปกป้องแหล่งอาหารตามธรรมชาติ  ส่วนลักษณะที่สองเป็นการวิจัยเกี่ยวกับระบบเกษตรที่ให้ความสำคัญกับเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งเป็นแบบแผนการผลิตเพื่อการพึ่งตนเองที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงไม่ได้ให้ความสนใจเฉพาะเรื่องข้าวแต่เป็นแบบแผนการผลิตทั้งระบบ ความรู้เรื่องข้าวที่ได้จึงเป็นความรู้ที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นหลัก  ต่อมาในช่วงหลังเริ่มให้ความสนใจเรื่องข้าวที่ลึกมากขึ้น เพราะเริ่มตระหนักในปัญหาเรื่องข้าว โดยเฉพาะได้มีความพยายามสืบค้นถึงพันธุ์ข้าวดั้งเดิมมากขึ้นเพราะมองว่าพันธุ์ข้าวดั้งเดิมมีคุณสมบัติหลายอย่างที่น่าจะเหมาะสมกับการผลิตและวิถีชีวิตของคนในชุมชนนั้น และในบางพื้นที่เช่น พื้นที่ยโสธร ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวท้องถิ่นโดยใช้ฐานความรู้ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านกับความรู้ทางวิชาการ อย่างไรก็ตามเป้าหมายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นนั้นไม่ใช่มุ่งค้นหาความรู้เรื่องข้าว  แต่มุ่งใช้เรื่องข้าวเป็นตัวเชื่อมร้อยพลังชุมชนท้องถิ่นเพื่อการพึ่งตนเอง ดังนั้นโดยเรื่องข้าวแล้วงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นคงต้องสร้างงานเชิงลึกต่อไป

ทิศทางการวิจัยเรื่องข้าวปลาในอนาคตนั้น  ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นอยากจะเห็นการใช้เรื่องข้าวปลามาปลดทุกข์ของชาวนา  เพราะ ทุกข์ของชาวนา  คือทุกข์ของแผ่นดิน แต่การปลดทุกข์ในแง่ของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นนั้นต้องการเห็นชาวนาเกิดปัญญามองเห็นทุกข์ของตนได้ ค้นหาทำความเข้าใจเหตุแห่งทุกข์ได้ และสามารถออกแบบปฏิบัติการเพื่อการพ้นทุกข์นั้น
คำที่มักจะถามบ่อย ๆ คือ ชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเกษตรกรรายย่อยนั้นรู้หรือยังว่า เราเป็นใคร  เรามาจากไหน  เราจะไปไหน  มีทางเลือกอื่นใดของชีวิตบ้างหรือไม่  ดังนั้นพี่เลี้ยงงานวิจัยจึงต้องหมั่นทบทวนคำถามนี้กับเกษตรกรรายย่อยในชุมชนท้องถิ่นเป็นประจำเพื่อให้ชีวิตมีสติตลอดของการขับเคลื่อนงาน
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1








แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่