หมุนตามทุน: ต้องให้กลไกตลาดได้ทำงาน

กระทู้ข่าว
ที่มา : http://www.naewna.com/business/226408
โดย อนันตเดช พงษ์พันธุ์  คอลัมน์: หมุนตามทุน

หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดให้มีการประชุมหารือกลุ่มย่อย หรือ Focus Group เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา “การควบคุมอัตราค่าบริการโดยคิดเป็นวินาที” กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นในวงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทันที...โดยผู้ประกอบการค่ายโทรศัพท์มือถือมีความคิดเห็นตรงกันว่าควรคิดอัตราค่าบริการแบบเฉลี่ยต่อหน่วยของแต่ละบริการการคิดราคาค่าบริการควรเกิดขึ้นจากการแข่งขันในกลไกตลาด ไม่ใช่เกิดจากการกำกับดูแลของหน่วยงาน...

ตัวแทนจาก “บริษัท ทรูมูฟ เอช” ระบุว่า หาก กสทช.กำหนดค่าบริการแบบวินาทีจะทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก ในการเลือกใช้บริการแพ็กเกจที่คุ้มค่าตามรูปแบบการใช้งานของตนเองอย่างแท้จริง และไม่สอดคล้องกับการแข่งขันเสรี ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งจะส่งผลกระทบกับลูกค้าจำนวนมาก ทั้งแบบรายเดือนและเติมเงิน นอกจากนี้แนวทางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่วนใหญ่ที่มีการเปิดเสรีทางบริการโทรคมนาคมนั้น จะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือไม่มีการบังคับให้ต้องมีการคิดค่าบริการเป็นวินาทีในทุกแพ็กเกจ แต่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการแข่งขันของตลาด....

ส่วนตัวแทนจากบริษัท “แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส” หรือ “เอไอเอส” เสนอว่าต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ อาจส่งผลเป็นการจำกัดทางเลือกของผู้บริโภค ท้ายที่สุดอาจส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งอาจทำให้ผู้ประกอบการขาดแรงจูงใจ ในการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ…สอดคล้องกับ ค่าย ดีแทค เห็นว่า การควบคุมอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามกฎเกณฑ์นี้จะส่งผลกระทบถึงผู้ใช้บริการไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด เนื่องจากไม่มีแพ็กเกจที่เหมาะสมต่อความต้องการของตนเอง ควรให้กลไกการแข่งขันเป็นตัวกำหนดความหลากหลายแพ็กเกจและอัตราที่เหมาะสม…

ก่อนหน้านี้ที่มีการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้องการให้ กสทช.มากำหนดราคาเพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค หรือผู้ใช้โทรศัพท์ เพราะเกรงว่าหากให้เป็นไปตามกลไกราคาตลาดนั้น จะทำให้เอกชนผู้ให้บริการเอาเปรียบหรือคิดราคาที่สูงนั้น... ซึ่งความคิดดังกล่าว...หลายฝ่ายก็มองว่าไม่น่าจะถูกต้องนัก...ตรงกันข้ามหากให้เอกชนกำหนดราคาตามแพ็กเกจกันเอง จะทำให้อัตราราคาค่าบริการถูกกว่าให้หน่วยงานของรัฐกำหนดราคาตายตัว เพราะเอกชนจะแข่งขันกันเองที่จะเสนอในราคาที่ชักจูงให้ประชาชนเข้ามาเลือกใช้บริการของภาคเอกชนแต่ละค่าย... ไม่ควรสร้างกฎเกณฑ์ หรือตีกรอบกำหนดให้ทุกอย่างตายตัว...การคิดค่าบริการควรจะมีหลากหลายรูปแบบให้ตรงกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ขณะเดียวกันควรเปิดให้เอกชนแข่งขันกันอย่างเสรีเป็นไปตามกลไกตลาด...สุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะเป็นผู้ได้ประโยชน์สูงสุด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่