บิลเพย์เมนต์ขยับรับแข่งดุไม่หวั่น 'พร้อมเพย์' เขย่าสมรภูมิธุรกิจ


บิลเพย์เมนต์ขยับรับแข่งดุไม่หวั่น 'พร้อมเพย์' เขย่าสมรภูมิธุรกิจ
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

          เปิดตัวพร้อมให้ประชาชนลงทะเบียนแล้วสำหรับบริการ "พร้อมเพย์" หรือ เอนี่ ไอดี (Any ID) ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา และคาดว่าจะกดปุ่มเปิดบริการในเดือน ก.ย.นี้ เริ่มจากบริการจ่ายสวัสดิการภาครัฐตามด้วยบริการโอนเงินของธนาคารที่เข้าร่วมให้บริการในเดือน ต.ค.(โอนเงินไม่เกิน 5,000 บาท ไม่เสียค่าธรรมเนียม) และขยายไปยังบริการอื่น ๆ เช่น การชำระ ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น

          ไม่มากก็น้อยย่อมกระทบกับบรรดาผู้ให้บริการที่มีอยู่เดิม แต่กับผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซมองว่าจะส่งเสริมให้การซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตขึ้นอีกมากจากต้นทุนระบบชำระเงินที่ลดลงมาก

          เปิดไทม์ไลน์ "พร้อมเพย์"
          ก่อนหน้านี้ "ทองอุไร ลิ้มปิติ" รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อธิบายว่า "พร้อมเพย์" เป็นบริการโอนเงินและรับโอนเงินแบบใหม่ ซึ่งเฟสถัดไปจะเปิดให้ ผู้ให้บริการอีวอลเลตเชื่อมต่อกับระบบได้ด้วย

          "ธปท.กำลังทำถนน ตอนนี้เปิดให้เฉพาะแบงก์พาณิชย์เข้ามาต่อเชื่อม ต่อไปจะขยับไปน็อนแบงก์ ในแง่ระบบไอทีทำได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องระวังคือข้อมูล เราจะทดลองบริการให้นิ่งเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนก่อน โดยไล่เป็นสเต็ป เมื่อเปิดให้บุคคลธรรมดาเข้ามาเชื่อมระบบให้รับจ่ายโอนเงินได้แล้ว ต่อไปจะเป็นนิติบุคคล ส่วนน็อนแบงก์ และอีวอลเลตจะราวปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งข้อดีของการเปิดให้อีวอลเลตเข้ามาเชื่อมกับพร้อมเพย์ได้ คือทำให้ผู้ใช้บริการรับโอน และใช้เงินข้ามไปทั่วทั้งระบบ จากเดิมที่ใช้ข้ามกันได้แค่ 3 ค่ายมือถือที่ทำข้อตกลงไว้"

          แหล่งข่าวจาก ธปท.เปิดเผยว่า "พร้อมเพย์" ในเฟสต่อไปจะเปิดให้ชำระค่าบริการสาธารณูปโภคได้ด้วย

          "แคท" ผนึกเคาน์เตอร์เซอร์วิส
          "สมยศ ธนพิรุณธร" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เปิดเผยว่า แคทมีศูนย์บริการลูกค้า 140 แห่งทั่วประเทศ แต่ไม่สร้างรายได้โดยตรงจึงเปิดบริการ "เคาน์เตอร์เซอร์วิส" เพื่อสร้างรายได้เพิ่มและดึงคนให้เข้ามาใช้บริการเพื่อเพิ่มโอกาสธุรกิจในอนาคต เริ่มจาก 22 แห่ง ใน ก.ค.นี้ และครบทั้งหมดในสิ้นปีหน้า

          ด้าน "วีรเดช อัครผลพานิช" รองกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริการของเคาน์เตอร์เซอร์วิสแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ All Bill รับชำระบิลครอบคลุมตั้งแต่ค่าสาธารณูปโภคไปจนถึงค่าธรรมเนียมการศึกษา รวมกว่า 1,000 รายการ, All Ticket รับจองตั๋วการเดินทางและการแสดงสุดท้าย All Insurance รับชำระประกันภัยรายย่อย โดยแต่ละปีมีจำนวนธุรกรรม 200 ล้านรายการ เฉลี่ย 15 ล้านรายการ/เดือน

          เคาน์เตอร์เซอร์วิสย้ำจุดแข็ง
          โดยเคาน์เตอร์เซอร์วิสมีสาขามากเป็นอันดับ 3 ของโลก เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการประเภทเดียวกัน โดยในสิ้นปีจะเพิ่มจาก 11,000 จุด เป็น 12,250 จุด  มีทั้งแฟรนไชส์และจับมือกับองค์กรต่าง ๆ

          ปัจจุบันสัดส่วนรายได้อยู่ที่บริการ All Bill ราว 70% ในจำนวนนี้ 30% มาจากการจ่ายค่าสาธารณูปโภค น้อยกว่าการชำระบิลการเงิน และบริการโทรคมนาคม จึงจะไม่ได้รับผลกระทบหากให้ชำระค่าสาธารณูปโภคผ่านพร้อมเพย์ได้

          "พร้อมเพย์" แค่เพิ่มทางเลือก
          "พร้อมเพย์เป็นระบบเนชั่นแนลอีเพย์เมนต์ ของภาครัฐ คือการจ่ายและชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในไทยมีมานานแล้วผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ เท่าที่ดูในเบื้องต้นเป็นการนำเสนอทางเลือกให้ประชาชน ซึ่งในแง่การแข่งที่จะเป็นจุดชำระเงินต่าง ๆ สำหรับเรายังเหมือนเดิม คนมองว่าน่าจะรุนแรง ตั้งแต่มีการเข้ามาของผู้ให้บริการ อีวอลเลต แต่เราเชื่อว่าด้วยจุดแข็งที่ความใกล้ชิดกับลูกค้า จากการมีช่องทางการให้บริการมากที่สุดในชุมชนจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมนุษย์ยังต้องการปฏิสัมพันธ์ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ"

          ผู้บริหาร "เคาน์เตอร์เซอร์วิส" กล่าวว่า ใน 2 ปีข้างหน้าบริการอีเพย์เมนต์จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบเพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ใน 2 ปี แต่ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมารองรับ ซึ่งถ้าโลกและตลาดก้าวไปถึงจุดที่ต้องการให้ทุกอย่างอยู่บนสมาร์ทดีไวซ์ บริษัทก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง

          พร้อมปรับตัวรับอนาคต
          "20 ปีที่ทำธุรกิจนี้มา เคาน์เตอร์เซอร์วิสพัฒนาตนเองตลอด ไม่ใช่แค่ฝัน ลูกค้าและตลาดต้องเป็นคนบอกเราว่าต้องการอะไร แม้หลายธุรกิจจะพยายามทำให้ซับซ้อน แต่ลูกค้ายังต้องการสิ่งที่เบสิกอยู่ดี"

          จุดตัดสินว่าตลาดพร้อมไปอีเพย์เมนต์ครบวงจรแล้ว คือเจเนอเรชั่นของลูกค้า, ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน, ความพร้อมของดีไวซ์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่คอมพิวเตอร์พีซี, โน้ตบุ๊ก, แท็บเลต ถามว่าวันนี้จะแน่ใจได้อย่างไร ว่าสมาร์ทโฟน คือคำตอบทั้งหมด

          "มองไปอีก 5 ปี คิดว่าคงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ประเทศไทยใหญ่กว่าที่ใครคิด และไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ แต่ละปีเรากันงบฯไว้ 10% ของรายได้ เพื่อนำมาพัฒนาบริการ และทยอยเปิดบริการใหม่เสมอ เช่น บริการจุดชำระเงินสำหรับแรงงานต่างด้าว ที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมหลายประเภทให้ทางการ เช่น การต่ออายุใบอนุญาต และเพิ่มบริการสำหรับกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน เป็นต้น"

          ผู้บริหารเคาน์เตอร์เซอร์วิสย้ำว่า จุดยืนของบริษัทคือดูแลผู้บริโภคทุกกลุ่ม

          ปณท อัพเกรด Pay@Post
          "ปริษา ปานะนนท์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการตลาด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มีบริการ Pay@Post รับชำระค่าบริการและใบแจ้งหนี้ผ่านที่ทำการไปรษณีย์ ทั่วประเทศ มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด แม้ผู้บริโภคบางกลุ่มจะไปใช้อีเพย์เมนต์บนแอปพลิเคชั่น ทั้งของสถาบันการเงินและบริการอีวอลเลต มากขึ้น

          "ผู้บริโภคไม่น้อยไม่คุ้นชินและไม่สบายใจที่จะใช้อีเพย์เมนต์ จึงยังเป็นช่องว่างที่จะทำตลาดได้ หากในอนาคตพร้อมเพย์เปิดให้ชำระค่าสาธารณูปโภคได้ก็ไม่น่ากระทบเพราะ Pay@Post มีธุรกรรมอื่น เช่น รับชำระเบี้ยประกันภัยและประกันชีวิต และเตรียมพัฒนาบริการใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบไอที โดยขยับไปเป็นเคาน์เตอร์อัจฉริยะให้บริการเพิ่มเติม เช่น ไมโครไฟแนนซ์ของรัฐบาล"

          นอกจากนี้ ยังเตรียมปรับปรุงบริการให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคโดยกำลังจะเปิดบริการ "POST ID" ให้ลูกค้าไปรษณีย์ไทยมีบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์สำหรับชำระค่าสินค้าและบริการทุกประเภทของไปรษณีย์ไทยได้สะดวกและรวดเร็ว

          ปัจจุบัน Pay@Post ให้บริการ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ไทย 1,341 แห่งทั่วประเทศ และร้านไปรษณีย์ไทย (แฟรนไชส์) 82 แห่ง เป็นบริการในกลุ่มธุรกิจการเงิน ได้แก่ บริการธนาณัติออนไลน์ Pay@Post และบริการตัวแทนอื่น ๆ ซึ่งไตรมาสแรกปี 2559 มีรายได้คิดเป็น 2.04% ของรายได้รวม 6,242.13 ล้านบาท


แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 28,32)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่