มาแล้ว รถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ ยกมอเตอร์ใส่แทนเครื่องยนต์เดิมก็กลายเป็นรถไฟฟ้าได้เลย พัฒนาโดย กฟผ.

"การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เผยผลงานวิจัยและพัฒนารถไฟฟ้าส่วนบุคคล ที่เริ่มทดลองวิ่งจริงบนท้องแล้ว ก่อนจะพัฒนาเพื่อให้ประชาชนได้ดัดแปลงมาใช้กับรถยนต์ของตัวเองในราคาที่ย่อมเยา




อีกหนึ่งเซอร์ไพร์สจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ที่ได้มีการวิจัยและพัฒนารถไฟฟ้า ที่ตอนนี้ได้นำเอามาใช้วิ่งจริงบนท้องถนนแล้ว
ซึ่งในอนาคตประชาชนมีโอกาสจะได้นำมาปรับใช้กับรถยนต์ของตัวเอง
โดยประหยัดทั้งพลังงาน และประหยัดเงินในกระเป๋าอีกด้วย

รถยนต์ส่วนบุคคลพลังงานไฟฟ้าตัวต้นแบบ(ในคลิป)
กำลังจะกลายเป็นรถยนต์แห่งโลกอนาคต ที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทย ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
แม้หน้าตาจะละม้ายคล้ายรถยนต์ที่เห็นได้ทั่วไปตามท้องถนน
แต่รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า 100% กับแบตเตอร์รี่
จึงประหยัดพลังงาน และประหยัดเงินในกระเป๋าของผู้ใช้ได้หลายเท่าตัว
เนื่องจากค่าบำรุงรักษาต่ำ และเติมพลังงานได้ง่ายด้วยการชาร์จไฟบ้าน


จากการทดลองขับพบว่ารถยนต์ไฟฟ้าคันนี้สามารถทำความเร็วได้ถึง 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สามารถวิ่งได้นานถึง 140 กิโลเมตรหากคงระดับความเร็วที่ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
และใช้เวลาชาร์จเพียง 8 ชั่วโมงเท่านั้น

โดยวัสดุสำคัญที่นำมาใช้แทนเครื่องยนต์เดิมได้แก่  มอเตอร์  แบตเตอรี่
ชุดควบคุมมอเตอร์ ECU  ชุดบริหารจัดการแบตเตอรี่   แผงวงจรควบคุมรถ
โดยในอนาคตจะมีการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้จอแสดงผลสามารถเชื่อมต่อกับ GPRS (GPS?) เพื่อแสดงแผนที่จุดเติมไฟฟ้าทั่วประเทศ

ทีมวิจัยระบุว่า ขณะนี้อุปกรณ์ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากจีน
หากต่อไปสามารถผลิตได้เองในประเทศทั้งหมด ต้นทุนการดัดแปลงจะลดลงเหลือแค่หลักหมื่นบาทเท่านั้น


คุณธาตรี ริ้วเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าผ่านผลิตแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า
"วัตถุประสงค์ที่สำคัญของโครงการนี้ ก็คือต้องการที่จะทำให้มีการดัดแปลงรถที่มีการใช้งานมาแล้วในระยะหนึ่ง
จนกระทั่งเครื่องยนต์เดิมเริ่มเสื่อมสภาพ แล้วก็อยากจะเปลี่ยนเครื่อง
แทนที่จะต้องไปซื้อรถยนต์ใหม่ เราก็ใช้วิธียกเครื่องเดิมออก แล้วก็ใส่ชุดที่เป็นไฟฟ้าเข้าไปแทนที่เดิม
เหมาะกับคนเมือง ซึ่งใช้ระยะทางในการวิ่งที่ไม่ไกลมากนักในเบื้องต้น
แต่ถ้าเกิดในอนาคตข้างหน้าเมืองไทยมีการพัฒนาเรื่องของสถานีประจุไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาลมากขึ้นต่อไป
ถามว่ารถคันนี้ก็สามารถวิ่งไปได้ระยะทางไกลกว่านี้หรือไม่? ไกลกว่านี้แน่นอน"




ปัจจุบัน ต้นทุนในการดัดแปลงอยู่ที่ 200,000 บาทต่อคัน และมีค่าใช้จ่ายในการเติมไฟฟ้าอยู่ที่ 50 สตางค์ต่อกิโลเมตร
โดยข้อมูลจาก IEA ระบุว่า ค่าบำรุงรักษาของรถพลังงานไฟฟ้าจะอยู่ที่ 5,000 บาทต่อปี
แต่ถ้าซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ ราคาตามตลาดเริ่มต้นอยู่ที่ 1,300,000 บาท

นั่นคือรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้จะเสียค่าเติมพลังงานไฟฟ้า 50 บาท ต่อระยะทาง 100 กิโลเมตร
ถ้าเปรียบเทียบกับรถยนต์สี่ล้อขับเคลื่อนทั่วไปที่เติมด้วยแก๊สโซฮอล์ 95 ต้องเสียเงินถึง 240 บาทในการวิ่งระยะทางเดียวกัน


กฟผ. วางแผนขยายสถานีเติมไฟฟ้า หรือเพิ่มจุดเติมไฟฟ้าตามสถานที่ต่างๆ
อย่างห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร และบริษัทต่างๆ ทันทีที่กระบวนการวิจัยเสร็จสิ้น
โดย สวทช. และ กฟผ. จะนำพิมพ์เขียวการดัดแปลงออกมาขายต่อให้เอกชนได้นำไปลงทุนเพื่อดัดแปลงให้กับผู้สนใจทั่วไป ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี"

ฐิตาภา สิริพิพัฒน์ ผู้สื่อข่าวไทยรัฐทีวี
30-06-59 | ชัดข่าวเที่ยง | ThairathTV


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ



ปล. พันทิปเชยมาก ที่ยังไม่มี Tag รถยนต์ไฟฟ้า
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่