'ทีโอที' เร่งตั้งกองทุนท่อร้อยสายหวังระดมทุนหมื่นล. ในสิ้นปี


'ทีโอที' เร่งตั้งกองทุนท่อร้อยสายหวังระดมทุนหมื่นล. ในสิ้นปี
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

          ทีโอทีสบช่อง กฟน. เปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าลงใต้ดิน บีบค่ายโทรคมนาคมต้อง พึ่งท่อร้อยสายใต้ดิน เร่งตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในสิ้นปี หวังระดมทุนหมื่นล้าน เพิ่มโอกาสสร้างรายได้ปีละ ไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท ฟากเอกชนวอน กสทช.เร่งกำกับอัตราค่าบริการ หลังรัฐวิสาหกิจได้สิทธิ์ผูกขาดวางท่อ กำหนดค่าเช่าสูงปรื๊ด

          นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า กำลังเร่งจัดตั้ง กองทุนโครงสร้างพื้นฐานท่อร้อยสายให้ทัน เข้าระดมทุนภายในสิ้นปีนี้ โดยอยู่ใน ขั้นตอนของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการจัดตั้งกองทุน รวมถึงตรวจสอบทรัพย์สินที่จะนำมาตั้งกองทุน (Due Diligence) เพื่อเตรียมเอกสารขออนุมัติจัดตั้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

          "ปัจจุบันการลากสายโทรคมนาคมส่วนใหญ่จะต้องนำลงใต้ดิน เนื่องจากไม่สามารถขอปักเสาใหม่เพื่อพาดสาย หรือเช่าใช้เสาจากทั้ง 3 การไฟฟ้าได้ง่ายเหมือนเก่า เพราะเสาค่อนข้างเต็มรับ น้ำหนักไม่ได้อีก ทั้งการไฟฟ้าเองก็มีนโยบาย จะทยอยนำสายไฟลงใต้ดิน แล้วถอนเสาออกทั้งหมด ซึ่งก็จะทำให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมไม่มีที่พาดสายอีก และแม้ปัจจุบันความนิยมการใช้งานสื่อสารแบบไร้สายจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังต้องลากข่ายสายเพื่อซัพพอร์ตโครงข่ายอยู่"

          ที่ผ่านมาทีโอทีวางท่อร้อยสายใต้ดินกระจายทั่วประเทศราว 25,000 ท่อกิโลเมตร (จำนวนท่อคูณความยาวของสาย) เฉพาะในกรุงเทพฯมีราว 20,000 ท่อกิโลเมตร และเตรียมวางเพิ่มตามโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าลงใต้ดินของการไฟฟ้าฯ

          ล่าสุดในส่วนของการไฟฟ้านครหลวงได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในโครงการจะนำสายลงใต้ดินอีก 127.3 กิโลเมตร ที่ กฟน.จะใช้งบประมาณ 48,717 ล้านบาท สำหรับพื้นที่โครงการสวนจิตรลดา ปทุมวัน และพญาไท นนทรี พระราม 3 รัชดาภิเษก-พระราม 9 ซึ่งเดิมจะใช้เวลา 10 ปี แต่ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้เร่งให้เสร็จภายใน 5 ปี ดังนั้นทีโอทีต้องปรับการลงทุนใหม่ให้สอดคล้องกันด้วย แต่ยังใช้งบประมาณเท่าเดิมคือราว 3,200 ล้านบาท

          สำหรับกองทุนโครงสร้างพื้นฐานท่อร้อยสายของทีโอทีจะไม่นำทรัพย์สินที่เป็นท่อร้อยสายของทีโอทีเข้ามารวมในกองทุน แต่จะใช้รายได้จากการเช่าท่อร้อยสายเป็นทรัพย์สินกองทุนแทน ซึ่งมีการประเมินว่าอย่างน้อยแต่ละปีจะมีรายได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และจะเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้กับทีโอที

          นายกำธร ไวทยกุล รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ บมจ.ทีโอที กล่าวเสริมว่า คาดว่าจะสามารถระดมทุนจากกองทุนนี้ได้ราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อหักในส่วนที่ทีโอทีจะต้องซื้อหุ้นในกองทุน 33% ตามกฎของ ก.ล.ต. และกระบวนการอื่น ๆ แล้ว จะเหลือเงินราว 6,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนสร้างท่อร้อยสายใหม่เพื่อขยายโครงสร้าง พื้นฐานให้เพิ่มขึ้น

          และปัจจุบันทีโอทีมีรายได้จากการให้ เช่าท่อร้อยสายราว 400 ล้านบาท เนื่องจากบรรดาโอเปอเรเตอร์ยังมีทางเลือกที่จะพาดเสาไฟฟ้า แต่เมื่อการไฟฟ้าจะเริ่มทยอยถอนเสาไฟออก ความจำเป็นในการมีท่อร้อยสายลงใต้ดินจะมีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯ เจ้าของพื้นที่อย่างกรุงเทพมหานครยินดีจะให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น ซึ่งทางฝั่ง บมจ.กสท โทรคมนาคม ไม่ได้ มีธุรกิจดั้งเดิมเกี่ยวกับการลากสาย จึงยังไม่ได้มีการทำท่อร้อยสายอย่างจริงจังเหมือนทางทีโอที

          ขณะเดียวกันทีโอทียังเริ่มประสานงานกับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเตรียมขยายการวางท่อร้อยสายให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่

          ด้านแหล่งข่าวภายในสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทีโอที กำหนดค่าเช่าใช้ท่อร้อยสายในอัตราที่สูงมากในระดับที่เอกชนทุกรายจะลงขันสร้างกันเองยังถูกและคืนทุนได้เร็วกว่า แต่ปัญหาคือ ส่วนใหญ่การได้สิทธิ์วางท่อจะจำกัดอยู่เฉพาะกับรัฐวิสาหกิจ จึงควรมีการปรับกระบวนการในการกำหนดอัตราค่าบริการที่เหมาะสม โดย กสทช.ควรจะเข้ามามีบทบาท เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานที่สร้างโดยรัฐวิสาหกิจเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนมีผู้ใช้งานจริง ๆ

          ขณะที่นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เตรียมจะเข้ามากำกับราคาค่าบริการเช่าท่อร้อยสายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และผลักดันให้มีการเช่าใช้โครงข่ายร่วมกันเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน


แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 28)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่