เจรจาล่ม ผู้ค้าสยามสแควร์์ไม่ยอมไป

พอดีผมย้ายที่ทำงานมานานแล้วไม่ค่อยเดินแถวนั้นแล้ว ไม่นึกว่าดึกๆยังมีของขายอีก ไม่ค่อยตามข่าว ได้ยินว่าทางจุฬาไล่ที่ไปทีนึงแล้วแต่ก็เงียบๆไป



ลิ้งข่าวครับ
http://www.1morenews.com/5819.html



เคลียร์ไม่จบ... เจรจาล่ม! กทม.นัดถกกลุ่มผู้ค้าย่านสยามสแควร์-แยกปทุมวัน-เฉลิมเผ่า กว่า 200 คน “อัศวิน” ลั่นผู้ค้าต้องเสียสละเพื่อคนกรุงส่วนใหญ่ ระบุผู้ใช้ทางร้อง ม.157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หลังปล่อยปละมานาน ชี้ไม่ได้ทำทางเดินเท้าให้เป็นตลาดกลางคืน ยันยึดตามกำหนดเดิม 1 ส.ค. แจงใต้ทางด่วนพงษ์พระรามรับได้ 500 แผง ด้านหาบเร่-แผงลอยอ้างมีภาระดูแลครอบครัว หนุนเป็นจุดขายกลางกรุง โต้ช่วงเย็นคนใช้ทางน้อย วอน กทม.ช่วยผ่อนปรน ไม่ถึงกับยกเลิกแต่ให้ลดเวลาขายลงไปแทน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยนายวัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ได้นัดประชุมทำความเข้าใจผู้ค้าสยามสแควร์ กว่า 200คนจากผู้ค้าในพื้นที่ทั้งหมด 554ราย ที่ค้าขายช่วงเวลา 19.00-23.00น. บริเวณแยกปทุมวันถึงแยกเฉลิมเผ่า ถนนพระราม 1และแยกปทุมวันถึงสยามสแควร์ซอย 7ถนนพญาไท ก่อนกำหนดยกเลิกการขายเพื่อวันจัดระเบียบ 1ส.ค.นี้ โดย กทม.ได้จัดสถานที่รองรับไว้ที่ใต้ทางด่วนพงษ์พระราม ใกล้อาคารศรีจุลทรัพย์ รองรับผู้ค้าได้ประมาณ 500คน

รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า ตนก็เห็นใจผู้ค้าตรงนี้ ถึงแม้จะไม่รับรองว่าไปที่ใหม่จะค้าขายได้หรือไม่ แต่อยากขอความร่วมมือกับผู้ค้าเสียสละ เพราะภาครัฐกับผู้ค้าไม่ได้อะไร แต่สังคมกลับได้ประโยชน์ ผู้ใช้ทางเท้าก็ได้ประโยชน์ ถึงผู้ค้าจะเสียประโยชน์ไปบ้าง แต่ก็ต้องมีการปรับตัว ยืนยันว่า กทม.ไม่ได้รังเกียจ แต่ต้องทำให้บ้านเมืองเรียบร้อย ให้สมกับกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าท่องเที่ยวอันดับ 1ของโลก ซึ่งในจุดนี้เป็นจุดที่ 43แล้ว ที่ผ่านมา 42จุดก็ขอความร่วมมือกับผู้ค้ามาโดยตลอด ทั้งหมดที่ดำเนินการทำไปด้วยความบริสุทธิ์ใจทั้งสิ้น ตนก็ถูกบ่น ถูกว่า แต่สิ่งที่ทำได้ทำเพื่ออะไร ทั้งนี้ผู้ค้าไม่ใช่โจรผู้ร้าย กทม.เข้าใจดี แต่เมื่อมีขีดจำกัดจึงขอให้ผู้ค้าเห็นใจ กทม.บ้าง เพราะยังมีคนในกรุงเทพฯ กว่า 3ล้านคนที่ไม่มีรถยนต์ขับไปทำงาน จำเป็นต้องมาใช้ทางเท้าเพื่อเดินทาง ซึ่งต้องขอความเห็นใจด้วย

“แม่ผมก็เคยก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่ชามละบาท ทำไมผมจะไม่รู้รสชาติถึงความยากจน ผมเรียนโรงเรียนวัดใส่รองเท้าวันเดียวคือวันศุกร์ที่เรียนลูกเสือ ผมจึงมาจากรากฐานคนจน ในที่นี่เกือบครึ่งคงเป็นคนจนเหมือนแม่ของผมที่ขายก๋วยเตี๋ยวเพื่อส่งผมมาเรียนกรุงเทพฯ ผมจำกําพืดผมเองได้ ถึงจะให้ผู้ค้าออกไป แต่ กทม.ก็เตรียมที่รองรับไว้ให้แล้ว”  พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวย้ำ

ทางด้าน ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า บริเวณสยามสแควร์มีการค้าขายตั้งแต่เช้าถึงกลางดึก ซึ่งที่ผ่านมาจุดนี้ไม่เคยเป็นจุดที่ กทม.เคยอนุญาต ซึ่ง กทม.ได้รับการร้องเรียนกับประชาชนในการขายช่วงกลางวัน แต่ขณะนี้เมื่อมีการขายช่วงกลางคืนก็มีการร้องเรียนมากขึ้นหลายเท่าตัว จึงไม่ใช่เรื่องที่ กทม.นึกสนุกว่าจะเลือกพื้นที่ไหนเพื่อจัดระเบียบขึ้นมา แต่ยังมีประชาชนอีกกลุ่มฟ้องคดีอาญา มาตรา 157ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้สภาพสยามสแควร์ช่วงกลางคืนเหลือที่จะพรรณนา ซึ่งในจุดที่บีทีเอส สยามสแควร์ ก็นึกภาพออกว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าเกิดเหตุเช่นเดียวกับกรณีที่ตุรกี การช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร ครั้งนี้จะให้กราบให้ไหว้ก็คงต้องทำ เพราะต้องขอความเข้าใจเพื่อให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์อย่างเสมอภาคกัน

“ผมทราบว่าผู้ค้าไม่สบายใจ แต่บ้านเมืองจะอยู่ในลักษณะนี้ไม่ได้ ซึ่งในจุดนี้ กทม.ได้ให้ข่าวมาโดยตลอดว่าจะจัดระเบียบพื้นที่ จึงต้องขอความร่วมมือให้ผู้ค้าได้กรุณา แต่ กทม.ไม่ได้ทอดทิ้ง แต่จะให้ทุกฝ่ายอยู่ด้วยกันได้ ถ้าจะขอขยายเวลาออกไปคงทำไม่ได้ ต้องขอความเห็นใจด้วย กทม.ไม่ได้บอกให้เลิกขาย แต่การขายทุกประเภท ต้องคิดว่าทางเท้าไม่ใช่ภัตรคารนอกสถานที่ คนก็เดินไม่ได้ แต่วันนี้คงต้องวิงวอนกับการแก้ปัญหานี้ และการขายมาเป็น 10ปี ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิทธิครอบครองได้” นายวัลลภ กล่าว

ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองปลัด กทม. กล่าวเสริมว่า เหตุผลที่จัดระเบียบพื้นที่นี่ช้า เพราะบริเวณนี้มีประชาชนร้องเรียนจำนวนมาก ตนก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตรงนี้ แต่เมื่อตนจบตรงนี้ไปก็ไม่มีหน้าที่ต้องทำ แต่เมื่อมีประชาชนเดือดร้อนประชาชน ส่วนหนึ่งก็ไม่กล้าออกมาพูด ซึ่งผู้ค้าได้เขียนจดหมายมาถึงตน โดยระบุตอนหนึ่งที่จะเล่าให้ฟังว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นบนทางเท้า คือทางเดินเป็นตลาดกลางคืน ทำให้ไม่มีพื้นที่เหลือให้สัญจร เมื่อมีคนดูสินค้าก็จะปิดทางเดินโดยปริยาย เมื่อมีเหตุความวุ่นวายเกิดขึ้นในใจกลางเมือง สำนักเทศกิจกลับเพิกเฉย สิ่งเหล่านี้เป็นภาพที่น่าสลดใจ เป็นสิ่งที่ประจานขึ้นในใจกลางกรุงเทพฯ ไม่ทราบว่าผู้บริหาร กทม.จะแก้ปัญหาอย่างไร ผู้บริหารไม่เคยสนใจปัญหานี่เลย แต่กลับใส่ใจในโครงการใหญ่ การเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่ทั้งตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เพราะยังมีการละเมิดสิทธิของผู้สัญจรไปมา” ตนจึงอยากบอกว่าทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เป็นการต่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐ มากกว่าต่อว่าผู้ค้า

จากนั้นในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้ค้าเสนอความเห็น โดยผู้ค้าส่วนใหญ่ได้ขอความเมตตากับ กทม. ขอให้มีการปรับลดจำนวนผู้ค้าให้น้อยลง และเริ่มขายในเวลาลงสินค้าให้ดึกขึ้น จะเป็นช่วง 20.00-21.00 น. เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางเท้าให้มากกว่าเดิม อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุผู้ค้าก็ช่วยกันจับผู้ร้ายกระชากของมาโดยตลอด ที่ผ่านมาจึงทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พยายามไล่ผู้ค้าอย่างเดียว แต่ครั้งนี้ผู้ค้าจะขอผ่อนผันกับ กทม.ไว้ด้วย อีกทั้งช่วงเวลา 19.00 น.เป็นต้นไป การใช้ทางเท้าของคนทั่วไปมีน้อยลง จะมีแต่นักท่องเที่ยวหรือมีทัวร์มาลง และจุดนี้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่สำคัญของกรุงเทพฯ ที่ กทม.ควรจะจัดระเบียบและสนับสนุนมากกว่ายกเลิกการขาย ที่สำคัญผู้ค้าทุกคนมีภาระในการดูแลครอบครัวทุกคนด้วย

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.อัศวิน ได้แจ้งในที่ประชุมว่า จะประชุมกับคณะกรรมการอีกครั้ง รวมถึงจะหารือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเบื้องต้น กทม.จะยึดกำหนดยกเลิกขายเป็น 1 ส.ค.เช่นเดิม แต่หากการปรับพื้นที่ที่ใต้ทางด่วนพงษ์พระรามยังไม่แล้วเสร็จตามกำหนด 1 ส.ค. จะมีการแจ้งกับผู้ค้าถึงวันสุดท้ายที่กำหนดให้อนุญาตขายอีกครั้ง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่