Where to Invade Next กับประเทศดักดานที่ชื่อประเทศไทย



ผมเป็นคนที่เกลียดคำว่า “ชาวเน็ต”

ทุกครั้งที่มีข่าวอะไรบางอย่าง แล้วสื่อพยายามที่จะใช้คำว่า “ชาวเน็ต” แทนเสียงของคนส่วนใหญ่ที่มีปฏิกริยาแล้วมาร่วมออกความเห็นนั้น ผมจะไม่เคยนับว่าความคิดเห็นเหล่านั้นมีความหมายอะไรเลย นั่นอาจเป็นเพราะว่า “ชาวเน็ต” ส่วนใหญ่ มักชอบออกความเห็นไปเรื่อยเปื่อย ออกความเห็นเพื่อความสะใจ และสนองความต้องการของตน มากกว่าที่ต้องการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงในสังคม หรือแม้แต่ทำให้เกิดอะไรใหม่ๆที่ดี กลายเป็นภาพที่ชินตาไปแล้วที่ข้อความแรกๆของชาวเน็ตที่มาร่วมแสดงความคิดเห็นจะเป็นการพิมพ์อะไรซักอย่างเพื่อเรียกร้องจำนวนไลค์ เช่นประโยคซึ้งๆใต้มิวสิควีดีโอ หรือข้อความก่นด่าสาปแช่งคนชั่วใต้คลิปหรือข่าวที่ไม่ดี หรือบางทีก็ถึงขั้นเปิดวารป์ก็อปลิ้งค์เฟซบุคของคนในข่าวเพื่อให้คนเข้าไปรุมด่าก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ โดยรวมแล้ว สิ่งที่ชาวเน็ตได้ทำลงไปนั้นแทบจะไม่มีประโยชน์หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับสังคมได้เลย เป็นเพียงแค่การพูดๆพิมพ์ๆออกไปเพื่อความสะใจส่วนตัวเท่านั้น

เป็นเรื่องตลกที่โลกโซเชี่ยลทำให้เรารักที่จะมีตัวตนในแบบที่เราไม่สามารถเป็นได้ในโลกของความจริง ซึ่งคนบางคน เป็นคนดีในชีวิตประจำวันไม่ได้ ก็มักที่จะแสดงการโต้ตอบเพื่อให้คนอื่นนั้นคิดว่าตนเป็นคนดี ด้วยการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่ในชีวิตจริงคนๆนั้นอาจไม่มีวันที่จะคิดลงมือกระทำจริงๆเลย หรือบางคน ที่นึกสนุกที่จะกระทำพฤติกรรมเลวๆในอินเตอร์เน็ต เพียงเพราะว่าตนนั้นไม่สามารถเป็นคนเลวได้จริงในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการด่า หรือ ใส่ร้ายคนอื่น การบิดเบือนข่าว หรือแม้แต่การปลอมแปลงตัวเองเป็นคนอื่น แล้วนำชื่อเสียงของใครคนนั้นไปใช้ในทางที่ผิด ความมืดในตัวคนเราถูกดึงออกมาด้วยพลังประหลาดของโลกโซเชี่ยล ทุกคนคิดว่าทุกคนนั้นสามารถมีตัวตนและทำอะไรก็ได้เมื่อเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต โดยไม่ต้องคำนึกถึงความถูกต้อง จรรยาบรรณ หรือ จริยธรรมใดๆ

เมื่อไม่นานมานี้คำว่า cyber bully ได้กลับมากลายเป็นประเด็นในการถกเถียงในสังคมอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีนักร้องคนหนึ่ง ถูกนำรูปไปเปรียบเทียบกับบุคคลอีกคนหนึ่ง จนนักร้องคนนั้นต้องออกมาประกาศบอกว่าตนนั้นไม่ชอบการกระทำแบบนี้ แต่ยิ่งว่าก็เหมือนยิ่งยุ การที่มาประกาศบอกถึงจุดอ่อนหรือปมด้อยของตนในโลกปัจจุบันกลับเปรียบเสมือนการชี้เป้าให้บุคคลเหล่านั้นมารุมแกล้งกันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทุกคนคิดว่าตัวเองจะทำอะไรก็ได้ ทำกับใครก็ได้ จะหัวเราะเยาะใคร หรือจะเชิดชูใครไปเรื่อยเปื่อยโดยไม่มีกฏเกณฑ์อะไรก็ได้ทั้งนั้น คนเหล่านั้นเปรียบเสมือนคนขาดสติเมื่ออยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต ไม่คิดว่าต้องมีจรรยาบรรณ จริยธรรม หรือความถูกต้องใดๆ ทุกอย่างใช้ความสะใจล้วนๆ ไม่ต่างอะไรกับเวลาที่มีคนกระทำผิดแล้วโดนจับได้ หรือถูกนำมาทำแผนประกอบการ ทุกครั้งบรรดาไทยมุงต่างๆก็คอยจ้องที่จะหาโอกาสเข้ามารุมกระทืบ ผู้กระทำผิดคนนั้น โดยคิดไปเองว่าสิ่งที่ตนนั้นทำอยู่คือความถูกต้อง แม้ว่าแท้จริงแล้วเหตุผลจริงๆของมัน ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความถูกต้องเลยก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้ฉลาดขึ้น เพราะพฤติกรรมนิสัยของคนไทยเรานั้นยังคงเหมือนเดิม เพียงแค่ว่าอินเตอร์เน็ตนั้นได้สร้างพื้นที่ให้คนเหล่านี้ ได้แสดงออกมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมเท่านั้นเอง

เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้ไปนั่งฟังสัมมนาเกี่ยวกับแนวทาง social media กับประชาคม ASEAN ซึ่งนโยบายของแต่ละประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) ได้มุ่งเน้นที่จะพัฒนาสังคมไปสู่ smart society นั่นคือการใช้อินเตอร์เน็ตในการเชื่อมต่อทุกสิ่งทุกอย่าง เข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร การทำงานของหน่วยงานราชการ และสิ่งอื่นๆอีกมากมาย ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนเรานั้นดีขึ้น แต่สิ่งหนึ่งในการวางแผนที่เรา ลืมคิด และเป็นสิ่งที่เรา ขาด นั่นก็คือ ประเทศไทยของเราแทบไม่มี smart people เลย แม้ว่าคนไทยเราส่วนใหญ่จะมี smart phone แต่เราก็ไม่ได้ใช้มันให้เกิดประโยชน์ในทิศทางที่ถูกต้อง คนไทยเรามีจำนวนผู้ใช้เฟซบุคมากติดอันดับ 1 ของโลก แต่เรากลับมีผู้ใช้มากมายที่ตั้งชื่อเฟซบุคของตนเองเป็นวลีอะไรก็ไม่รู้ ที่ไม่ใช่ชื่อจริง และไม่ได้ใช้โปรไฟล์เฟซบุคเหล่านั้นในเชิงสร้างสรรค์ คนกลุ่มใหญ่ในโลกโซเชี่ยลของไทยเรา ยังคงเป็นกลุ่มคนที่ชอบดูละคร และยังคงกราบไหว้ต้นกล้วยเพื่อขอหวย ไม่ต่างอะไรกับกลุ่มคนเก่าๆที่เราเคยเห็นกันอยู่เดิมๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์ทุกๆวัน เพียงแต่ว่าผู้คนเหล่านี้มีโอกาสโผล่ออกมาผ่านสายตาพวกเรากันมากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้นเอง

แนวคิด smart society ไม่ได้เป็นแค่เพียงแนวคิดที่ยังใช้ไม่ได้ในประเทศไทยของเรา แต่ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่สามารถใช้ได้ด้วยเช่นกัน อย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นต้น นั่นก็เพราะว่าสังคมอเมริกันนั้น เป็นสังคมที่ผสมผสานไปด้วยผู้คนที่หลากหลาย ต่างที่มา ต่างเชื้อพันธุ์ ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา การศึกษา ฐานะ ฯลฯ ความแตกต่างกันของชาวอเมริกันก่อให้เกิดปัญหามากมาย ความสะเพร่าของคนผิวดำ ความเกียจคร้านของคนละติน และความเหยียดสีผิวของคนผิวขาว สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เปรียบเสมือนกับอุปสรรค์ในการมุ่งสู่การเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ และอุดมการณ์ของ American Dreams ที่มีอยู่ในใจของชาวอเมริกันทุกคน จึงไม่แปลกอะไรที่เรามักจะเห็นความวุ่นวายในสังคมอเมริกาอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาพยนตร์สารคดีของ Michael Moore

Michael Moore เป็นคนที่ชอบทำหนังสารคดีที่ประชดประชัน และ เสียดสีกดขี่ ความเป็นอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็น Bowling for Columbine ที่ว่าด้วยเรื่องของกฏหมายการถือครอบครองอาวุธปืน , Fahrenheit 9/11 ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 9/11 และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึง Sicko ที่พูดถึงปัญหาประกันสุขภาพของอเมริกา และเรื่องอื่นๆอีกมากมาย ความเป็น Michael Moore มีความชัดเจนอยู่อย่างหนึ่งนั่นก็คือ ความตรงไปตรงมา และ การตั้งคำถามขวางโลก ที่เปรียบเสมือนกับการตบหน้าเจ้าของแนวคิดหรือผู้รับผิดชอบเข้าอย่างจัง ไม่ต่างอะไรกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องใหม่ของเขาที่มีชื่อยาวๆว่า "Where to invade next”

Where to invade next เป็นภาพยนตร์สารคดีที่ดูไปแล้วยิ้มไปได้มากที่สุดเท่าที่เคยดูมาของ Michael Moore โดยมีเนื้อเรื่องเป็นการนำเสนอแนวคิดดีๆของประเทศอื่น แล้วนำมาย้อนเป็นคำถามเพื่อจิกกัดสังคมอเมริกัน ที่ปล่อยให้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ยังคงค้างคา ไม่ถูกแก้ไข แล้วในเมื่อประเทศอื่นๆเขายังมีแนวทางที่ดีและสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ แต่ทำไมประเทศอเมริกาถึงยังปล่อยปละละเลยและปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ยังคงคาราคาซังอยู่นานหลายปี

การนำเสนอของ Michael Moore ยังคงมีความชัดเจน -ดัน และแฝงไปด้วยอารมณ์ขัน แต่ก็มีหลายอย่างที่เรารู้สึกว่าไม่อินกับการนำเสนอแบบนี้อีกต่อไปแล้ว นั่นอาจเป็นเพราะว่าทุกวันนี้เราได้เสพย์ข้อมูลมากขึ้น และรับรู้ถึงข้อมูลในหลายๆด้านมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน เราจึงพอที่จะสัมผัสได้ว่าการนำเสนอของ Michael Moore เป็นการนำเสนอที่บางครั้งเป็นการชักจูงไปสู่ข้อมูลและความเชื่อเพียงด้านเดียว บวกกับหลายครั้งที่รู้สึกว่าประโยคสวยหรูบางประโยคได้ถูกยัดเยียดให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เป็นคนพูดอย่างไม่เป็นธรรมชาติ จากหนังที่มีพลังและส่งผลต่ออารมณ์ร่วมกับผู้ชมในช่วงแรก กลับรู้สึกถึงความอ่อนแรงลงและความยัดเยียดแนวคิดที่เกินพอดีในช่วงหลัง จึงทำให้รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ เป็นหนังที่ดูได้เรื่อยๆ แต่ก็ไม่รู้สึกถึงแรงกระแทก หรือ impact ได้แรงเท่ากับเรื่องก่อนๆของเขา อย่างไรก็ดี ระหว่างที่ดูเกิดความคิดที่ลองเอาแนวคิดต่างๆที่ Michael Moore ได้นำเสนอ มาลองวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้กับประเทศไทยของเรา แล้วก็ต้องพบกับความมืดสนิท เนื่องจากประเทศไทยของเรานั้น เต็มไปด้วยคนโง่ไร้การศึกษาและอ่อนด้อยในด้านสามัญสำนึกอย่างที่ได้กล่าวไว้เมื่อตอนต้น ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะพัฒนา

ปัญหาหลักๆของไทยเราที่ไม่ต่างอะไรจากสหรัฐอเมริกาก็คือ “ความไม่เท่าเทียม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “การศึกษา” การที่คนไทยส่วนใหญ่ขาดความรู้ และขาดจรรยาบรรณ จริยธรรม หรือแม้แต่ common sense ที่จะนำพาตัวเองและผู้คนรอบข้างไปสู่ชีวิตที่ดี ทำให้เป็นเรื่องยากที่ประเทศชาติจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ และยิ่งไปกว่านั้นเรายังมีอุปสรรค์อื่นเช่น การคอรัปชั่นของนักการเมืองและหน่วงงานราชการอีก จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยว่าภาษีที่เราหลับหูหลับตาจ่ายกันในแต่ละปี จะได้นำมาพัฒนาประเทศชาติอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างที่มันควรจะเป็น ไม่ต่างอะไรกับการตักน้ำใส่ถังที่มีรูรั่ว ที่ต่อให้ทุ่มเทแรงตักไปเท่าไหร่ก็ไม่มีวันเต็ม เพราะว่าเราไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาที่รอยรั่วของถังนั้นเสียก่อน ทำการกระทำของเราจึงวนอยู่กับการกระทำที่เปล่าประโยชน์และไร้จุดหมาย

Where to invade next ของไทยเรา ก็คงไม่ต่างอะไรกับการที่เราส่งผู้ใหญ่ของประเทศเราไปดูงานที่ต่างประเทศ แต่ไม่สามารถนำเอาแนวคิดอะไรดีๆกลับมาใช้กับประเทศของเราได้ เป็นเพียงแค่กิจกรรมสันทนาการประทังการแก่ตาย ของผู้ใหญ่ไร้ประโยชน์เหล่านั้นเท่านั้นเอง

  


หากชอบ ... เข้าไปอ่านบทความอื่นๆได้ครับ

https://nospoil.wordpress.com/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่