(บทความ...นายพระรอง) รู้จักระบอบการปกครองไทย เข้าใจธนาธิปไตยหรือที่ถูกใช้คำว่า ทุนสามานย์ สร้างความหวาดกลัวและเกลียดชัง

กระทู้คำถาม
.

ขอคุยกับท่านผู้เข้ามาอ่านสักนิดว่า กะทุ้นี้มีเนื้อหาที่ยาว และต้องการสมองสำหรับการคิดวิเคราะห์ สิ่งที่ได้อ่าน ดังนั้นจึงควรเป็นสมองที่ยังใช้การได้ ไม่มีอาการ”กลวง”จนไม่สามารถรับรู้และเข้าใจในเนื้อหาสาระ เอาล่ะ ได้เกริ่นนำเรียกลูกค้าประเภทอาร์ดคอ ล่อเป้าด้วยพาดหัวกะทู้ เรียกเรตติ้ง เพิ่มยอดผู้อ่านกะทู้ของผมแล้ว แต่ท่านผู้อ่านไม่ต้องคาดหวังนะครับ ว่าเนื้อหามันจะดุเด็ดเผ็ดมัน หรือร้อนแรงแต่อย่างใด ผมก็เขียนสไตล์เนิ่บๆของผม แบบเดิมนั้นแหละครับ




       ธนาธิปไตย ความหมายตามศัพท์คือ การปกครองที่คนมีเงินเป็นผู้ถือครองอำนาจทางการเมือง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่บุคคลมีอำนาจทางการเมืองจนสามารถใช้อำนาจรัฐในการปกครองบริหารได้นั้น มีพื้นฐานโดยตรงจากทรัพย์ศฤงคาร ตามรากศัพท์ ธนาธิปไตย มาจาก ธน + อธิปไตย

       คำว่า ธนาธิปไตย ตรงกับคำภาษาอังกฤษคือ Plutocracy ซึ่งในกรณีของ plutocracy นั้นรากศัพท์มาจากภาษากรีกคือคำว่า ploutos ซึ่งแปลว่า ทรัพย์ศฤงคาร หมายถึงความร่ำรวย และ kratos หมายถึง การปกครอง เมื่อสองคำรวมกันก็แปลว่าเป็นการปกครองโดยคนมีเงิน มีทรัพย์ศฤงคาร (ploutokratia)

       คำว่า ธนาธิปไตย หรือ plutocracy ในกรณีของตะวันตกนั้นมีความหมายสองอย่าง ความหมายแรกก็คือ เป็นการปกครองของกลุ่มคนร่ำรวยซึ่งเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น ในนครรัฐของกรีกโบราณก็มีการปกครองโดยคนร่ำรวยกลุ่มเล็กๆ หรือในกรณีของอิตาลีก็มีสาธารณรัฐเวนิส (Venice) สาธารณรัฐฟลอเรนซ์ (Florence) และสาธารณรัฐเจนัว (Genoa)

       และคำว่า ธนาธิปไตย ยังอาจหมายถึงการที่มีตระกูลไม่กี่ตระกูลแต่เป็นตระกูลที่มีอิทธิพล เป็นเจ้าของธุรกิจ และอาจจะเกี่ยวดองทางการแต่งงานกับตระกูลที่ครองอำนาจทางการเมืองและการบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการทหาร ตระกูลเหล่านี้จะเป็นผู้กำหนดความเป็นไปทางการเมืองการปกครองบริหาร โดยจะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือนอกกฎหมาย รวมตลอดทั้งผ่านกระบวนการเลือกตั้งก็ตามด้วยการคุมพรรคการเมืองซึ่งตนตั้งขึ้นมาเพื่อประโยชน์ทางการเมือง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ธนาธิปไตยมักจะมีลักษณะขององค์ประกอบ 3 ตัวแปรหลัก คือ ทรัพย์ศฤงคาร สถานะทางสังคม และอำนาจ (wealth, status and power) ตัวอย่างของญี่ปุ่นคือกลุ่มการเงินไซบัตสึตามที่ได้กล่าวมาแล้วก็เป็นไปในลักษณะนี้ แต่ที่เห็นชัดกว่านั้นคือสี่ตระกูลหลักที่ครองอำนาจทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมในแผ่นดินใหญ่จีนก่อนถูกคอมมิวนิสต์ยึดในปี ค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) มีการกล่าวว่าอำนาจการเมืองการปกครองบริหารของจีน รวมทั้งเศรษฐกิจในระดับสูงอยู่ในมือของสี่ตระกูลใหญ่ๆ อันได้แก่ ตระกูลเจียง (Jiang) ตระกูลซ่ง (Song) ตระกูลคุง (Kung) ตระกูลเชน (Chen) โดยทั้งสามตระกูลแรกเกี่ยวดองกันโดยการแต่งงาน ซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการกำหนดการเมืองจีนในยุคนั้น และยังมีอำนาจในทางเศรษฐกิจและสถานะทางสังคมสูง
*คำอธิบายความหมายของคำว่า ธนาธิปไตย โดย ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ที่มา สยามรัฐ ( วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554 )

       หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ.2475 ประเทศไทยได้ใช้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยมาปกครองบริหารประเทศ ซึ่งถ้ามองในภาพรวมตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่า เราจะสามารถแบ่งรูปแบบลักษณะการปกครองที่แตกต่างได้เป็น 5 รูปแบบ ซึ่งผู้เขียนจะบอกเล่าตามความรู้สึกของผู้เขียนเองโดยสังเขปในแตะล่ะยุค ดังนี้

1.ก่อน พ.ศ.2475 เป็นยุคการปกครองที่ 1 เรียกว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy)
       การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือที่เรียกกันว่าราชาธิปไตย อำนาจเด็ดขาดอยู่ที่กษัตริย์เพียงพระองค์เดียว โดยเชื่อตามคติพราหมณ์แบบเขมรว่ากษัตริย์เป็นผู้ได้รับอำนาจจากสวรรค์ ฐานะของกษัตริย์จึงเป็น “สมมติเทพ”ทรงมีอำนาจที่จะกำหนดชะตาชีวิตของใครก็ได้ จึงเรียกระบบการปกครองนี้ว่า “ระบบเทวสิทธิ์” (Divine Right) ลักษณะการปกครองเป็นแบบนายปกครองบ่าว หรือเจ้าปกครองไพร่ ฐานะของกษัตริย์กับประชาชนจึงห่างไกลกัน ข้าราชบริพาร เป็นสื่อกลางระหว่างกษัตริย์และประชาชน จึงเกิดเป็นระบบ เจ้าขุนมูลนายหรือศักดินาชนชั้นปกครองขึ้น

2.พ.ศ.2475-2516 เป็นยุคการปกครองที่ 2 เรียกว่า  อำมาตยาธิปไตย (Bureaucratic Polity)
       ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองระหว่างปี พ.ศ.2475-2516 อำนาจอยู่ในมือข้าราชการ เป็นการปกครองซึ่งอำนาจการปกครองและการบริหารขึ้นอยู่กับชนชั้นข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการประจำและข้าราชการทหารเป็นสำคัญโดยทหารจะได้อำนาจมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีการเพื่อให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ได้มีความสำคัญ ตัวผู้บริหารสูงสุดคือนายกรัฐมนตรีมักจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งส่วนมากจะเป็นนายทหารที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอยู่เบื้องหลัง การปกครองเช่นนี้ทหารเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมือง การบริหารงานทั่วไปอยู่ในมือของข้าราชการประจำที่เป็นพลเรือน เพราะเป็นผู้มีข้อมูล ความรู้ความชำนาญข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือนจึงอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน อำนาจทางการเมืองของไทย ในช่วงเวลาดังกล่าวตกอยู่ในมือของกลุ่มข้าราชการระดับสูงซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นนำโดยไม่ยอมให้ประชาชนหรือกลุ่มการเมืองนอกระบบราชการเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้ไม่มีกลุ่มการเมืองมาคอยควบคุมคัดค้านการดำเนินงานทางการเมือง ผลคือทำให้ข้าราชการและชนชั้นนำทางการเมืองไทยเหล่านี้ได้ประโยชน์อย่างมหาศาลจากการแสวงหา รักษาและใช้อำนาจทางการเมืองที่อาจกล่าวได้ว่าอำนาจดังกล่าวได้มาด้วยความไม่ชอบธรรมทางการเมืองโดยวิธีการใช้กำลังเป็นเครื่องมือและที่สำคัญคือเมื่อได้รับอำนาจแล้วก็ไม่คิดที่จะถ่ายโอนอำนาจไปให้กับประชาชนตามเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

3.พ.ศ. 2516-2519 ยุคการปกครองที่ 3 เรียกว่า ยุคระบอบเผด็จการทหาร (military dictatorship)
       คือ ระบอบการปกครองที่อำนาจทางการเมืองขึ้นอยู่กับกองทัพ ถือได้ว่าเป็นการปกครองแบบคณาธิปไตยลัทธิอำนาจนิยมอย่างหนึ่ง มีรูปแบบการปกครองที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ให้มีการเลือกตั้ง ห้ามชุมนุมทางการเมือง ควบคุมสื่อทุกชนิด ห้ามวิจารณ์รัฐบาล การเมืองที่เต็มไปด้วย การคอร์รัปชั่น การเล่นพรรคเล่นพวก การพยายามสืบต่ออำนาจของรัฐบาล รวมถึงการที่รัฐบาลประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่มาจากประชาชน และจัดรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เอง

4.พ.ศ. 2520-2535 ยุคการปกครองที่ 4 เรียกว่า ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ (Semi Democracy)
       เป็นการประสานอำนาจระหว่างข้าราชการ นักธุรกิจ และนักการเมือง กล่าวคือ เป็นความพยายามในการผสมผสานระหว่างของเก่าและของใหม่เป็นที่ทราบกันดีว่าหลังจากผ่านเหตุการณ์ตุลา 2516 และตุลา 2519 สังคมการเมืองไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมากมายแต่โครงสร้างทางอำนาจและสถาบันทางสังคมเกือบจะเหมือนเดิม โดยเฉพาะในส่วนเกี่ยวกับทหารและข้าราชการ กลุ่มผู้นำเหล่านี้ยังคงมีบทบาทสำคัญทางการเมือง ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบจึงเป็นการแบ่งสรรอำนาจและการใช้อำนาจร่วมกันระหว่างทหาร ข้าราชการและนักการเมือง มีความพยายามผสมผสานระหว่างระบบเลือกตั้งและการแต่งตั้งโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งข้าราชการสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองพร้อมๆ กับตำแหน่งข้าราชการประจำได้ โดยใช้เครื่องมืออย่างหนึ่ง ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวคือรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2521

และมาถึงยุคที่บทความชิ้นให้ความสำคัญและหยิบยกมาเป็นประเด็นหลัก ในการเสนอมุมมองความเห็น
5.พ.ศ.2536-2549 ยุคการปกครองที่ 5 เรียกว่า ยุคธนาธิปไตย (Plutocracy) หรือที่ถูกเรียกขานว่า ทุนสามานย์ จากพวกที่ต้องการล้มล้างและเปลี่ยนแปลง
       เป็นยุคที่นักธุรกิจเข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยการสนับสนุนพรรคการเมืองและดำรงตำแหน่งผู้บริหารพรรคการเมือง เมื่อมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาลก็เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือกระทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ถึงแม้ว่าในอดีตที่ผ่านมานั้นกลุ่มธุรกิจจะเข้ามามีบทบาทต่อการเมืองไทยมาก่อนแล้วแต่อำนาจและตำแหน่งสำคัญๆ ในรัฐบาลก็ยังตกอยู่ในการครอบครองของทหารและข้าราชการอยู่ดี ซึ่ง แต่ในยุคนี้จะเห็นได้บทบาทของนักธุรกิจหรือกลุ่มทุน เข้ามาแทนที่ ข้าราชการหรือทหารที่ครอบครองสืบทอดอำนาจมายาวนาน ภายใต้กระบวนการศักดินาอุปถัมภ์

       ซึ่งนั้นเป็นจุดเริ่ม เมื่อฝ่ายหนึ่งครอบครองอำนาจมายาวนาน ได้สูญเสียอำนาจที่เคยมีไป ตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองมาเป็นรูปแบบประชาธิปไตย โดยอาศัยเครื่องมือที่ชื่อรัฐธรรมนูญ กำหนดบทบาทและสถานะให้กลุ่มของตนเอง มีบทบาทในการกำหนดและชี้นำสังคม ตลอดจนแสวงหาผลประโยชน์ไม่ต่างจากพ่อค้านักธุรกิจที่ก้าวเข้ามาภายหลัง จากเหตุการณ์ความขัดแย้ง พฤษภาทมิฬ ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนมากขึ้น

       และมีมากเกินพอที่จะก้าวออกจากการควบคุมบังคับของกลุ่มอำนาจเก่า มาเลือกกลุ่มใหม่ที่เขาคิดว่านำประโยชน์มาให้กับประเทศได้มากกว่าแบบเดิม และเมื่ออำนาจใหม่เข้ามาพยายามจัดการพัฒนาเครื่องมือทำงานของรัฐ ที่เรียกว่า ข้าราชการ กลุ่มอำนาจเก่าก็ไม่พอใจ ก่อความเคลื่อนไหวต่อต้าน และนำสู่การประดิษฐ์วาทะกรรม ทุนสามานย์ มาใช้โจมตีปูมหลังของนักการเมืองซึ่งเคยทำธุรกิจมาก่อน ว่าเป็นการทำธุรกิจแบบผูกขาด เอารัดเอาเปรียบรัฐและประชาชน สร้างปมความเกลียดชังเพื่อขับดันเคลื่อนไหวล้มล้างกลุ่มอำนาจใหม่ที่เป็นตัวแทนของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย

       หากธุรกิจแบบผูกขาด เป็นทุนสามานย์จริง แล้วทำไมไม่เคลื่อนไหวเร็วกว่านี้..? เพราะทุกยุคทุกสมัยการปกครองที่กล่าวข้างต้น ล้วนแล้วแต่มีธุรกิจแบบผูกขาดอยู่ในทุกยุคทุกสมัย

หรือว่าก่อนหน้านั้นใครบางกลุ่มได้รับผลประโยชน์จากทุนสามานย์ เลยไม่พูดถึง พูดถึงเฉพาะที่ตนเองเสียผลประโยชน์หรืออย่างไร

คำว่าทุนสามานย์ ใครเป็นคนคิด ผมไม่รู้ แต่ผมรู้ว่าใครเป็นคนใช้เพื่อทำลายคู่แข่งทางการเมือง และมีคนอีกมากมายที่รู้เช่นเดียวกันกับผม เลยขอแต่งโคลงสี่สุภาพให้เขาผู้นั้นสักบท ให้เขาได้รับรู้ว่า ยังมีคนที่ไม่โง่หลงเหลืออยู่ในประเทศนี้อีกมากนะครับ

                                                                    คำสามานย์ แต่งสร้าง...............ประดิษฐ์
                                                                    หมายมุ่ง ริดรอนสิทธิ์...............แย่งยื้อ
                                                                    วาทะกรรม เก่งคิด...................ยอดเยี่ยม จริงนา
                                                                    แต่ทำงาน ยังตื้อ......................ทื่อด้านร่ำไป

                                                                    แค่เพียงกล่าว เอ่ยอ้าง...............กร่นด่า
                                                                    ดีแต่ใช้ วาจา..........................ใส่ร้าย
                                                                    สร้างเกลียดชัง ทั่วหล้า...............เพราะว่า แพ้เอย
                                                                    เลยยุแยก แตกขวาซ้าย..............ล่มรื้อแย่งชิง

       ไว้ว่างๆผมจะเล่าให้ฟังว่า ประเทศนี้มีความสัมพันธ์กับธุรกิจแบบผูกขาด หรือทุนสามานย์ มาตั้งแต่เมื่อไรนะครับ (ที่จริงตอนลงมือเขียนตอนแรกก็ตั้งใจจะเขียนเรื่องประวัติธุรกิจแบบผูกขาดในไทยนี้แหละครับ แต่เกริ่นยาวไปหน่อย เลยไม่ได้เขียนเรื่องนั้น เปลี่ยนมาเขียนบทความชิ้นนี้แทน) ส่วนวันนี้พอแค่นี้ก่อนครับ เขียนมายาวเหยียดจนไม่รู้จะเหลือคนอ่านบ้างไหม แต่ก็เอาเถอะนะครับ ท่านที่ติดตามงานเขียนของผม คงพอจะรู้ว่าสั้นๆ ไอ้พระรองมันไม่เขียนอยู่แล้วครับ

ขอบคุณครับ
นายพระรอง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่