แพทย์ศาสตร์ ม.รังสิต เห็นคนไปสอบเยอะจัง ค่าเทอมจ่ายเอง แล้วจบไป จะเข้า รพ.รัฐ เอกชน ได้เหรอ

ที่มีข่าวถึงขนาดต้อง โกงกันเข้าด้วยเทคโนโลยี ขั้นสูง เข้าไปแล้วต้องลงทุนจ่ายค่าเทอมแพงๆอีก ไม่เหมือนมหาลัยอื่น จบมา จะได้รับการยอมรับวงกว้างแค่ไหนเหรอ จะคุ้มกับการอ่านหนังสือ และค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปมหาศาลไหมอะนะ #ใครรอบรู้ช่วยชี้แนะที แค่ความเห็นส่วนตัว

PPTV News ‏@PPTVNews  5 ชั่วโมง5 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ม.รังสิต คุมเข้มสอบแพทย์ใหม่ ห้ามนำสิ่งของทุกอย่างเข้าห้องสอบ http://www.pptvthailand.com/news/28208
#PPTVHD36 #PPTVNews
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 6
ก็ไม่รู้สินะ ผมจบแพทยรังสิตรุ่นสิบ จบมาก็มาจับสลากได้มาอยู่จ.นครศรีธรรมราช จากนั้นก็เอาทุนไปเรียนต่อเฉพาะทางที่ศิริราช
ก็จบกลับมาทำงานที่นครศรีธรรมราช ได้ช่วยเหลือคนเยอะไป
ทุกวันนี้คนจบแพทย์รังสิตก็ไปเป็นอาจารย์อยู่ในโรงเรียนแพทย์หลายสิบคน ทั้งจุฬา รามา ศิริราช ก็ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี
หลายคนก็ได้ทุนไปศึกษาต่อเมืองนอกทั้งอเมริกา อังกฤษ ยุโรปมากมาย
ฉะนั้นมาตรฐานน่าจะได้อยู่ครับ

ตั้งแต่ปี 2532 ครับ ดร.อาทิตย์ ท่านมีความคิดที่จะสร้างคณะแพทย์เอกชนขึ้นมา เนื่องจากเห็นว่าทางรัฐบาล ไม่สามารถสร้างบัณฑิตแพทย์ได้เพียงพอกับความต้องการข องประชาชน (ย้อนไปปี 32 สมัยนั้นปีนึง รัฐผลิตหมอได้เพียงปีละ 600 คนครับ)
ท่านก็เห็นว่าแต่ละปี คนไทยส่วนนึงก็ส่งลูกไปเรียนหมอเมืองนอก พวกฟิลิปปินส์ ยุโรป อเมริกา อินเดีย แล้วค่อยกลับมาทำงานในเมืองไทย แล้วทำไมเราไม่สร้างคณะแพทย์ขึ้นมาบ้างโดยเป็นของเอกชน

แค่นั้นแหละครับ ก็เกิดการประท้วงและแอนตี้กันอย่างถล่มทลายของเหล่าแพทย์ในสมัยนั้น ว่าถ้าหากคณะแพทย์เอกชนเกิดขึ้น ก็จะมีแต่ลูกคนรวยมาเรียนหมอ และจบไปก็จะต้องไปถอนทุนกัน จะเกิดแพทย์พาณิชย์ ใครมีเงินก็เรียนได้ เรื่องก็บานปลายจนเอาไปอภิปรายในสภา (สมัยนั้นดร.อาทิตย์เป็นรมต.สาธารณสุขด้วย) แต่ก็ไม่ย่อท้อ สู้จนเกิดเป็นคณะแพทย์ได้

การต่อสู้นั้นไม่ได้เอาปืนมายิงคนที่ไม่เห็นด้วยนะครับ แต่เป็นการทำให้เห็น เอาอาจารย์จากสถาบันการแพทย์ต่าง ๆ ในประเทศนี่แหละมาร่วมร่างหลักสูตร ไปเชิญ ศ.นพ.ประสงค์ ตู้จินดา ซึ่งเป็นปรมาจารย์ด้านกุมารเวชของเมืองไทยมาเป็นคณบดี เอาอาจารย์ไปศึกษาดูงานด้านการพัฒนาคณะแพทยศาสตร์ในต่างประเทศ เช่นส่งไปดูงานที่ harvard university ( harvard นี่เป็นเอกชนนะครับ) john hopskin (เอกชนอีก) มีการเซ็นสัญญาให้นศพ.รังสิต ต้องไปฝึกงานในรพ.ของรัฐ (ตอนแรกดร.อาทิตย์จะให้ฝึกงานในรพ.เอกชนด้วย แต่โดนทางแพทยสภาค้านว่าเคสไม่หลากหลาย)
มีการกำหนดว่า นักศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิตต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ แพทยสภาให้ผ่านก่อน ถึงจะจบเป็นหมอได้ (ของเดิมนี่แพทย์ที่อื่นจบแล้วได้เลยครับ มีแต่ของรังสิตที่ต้องสอบ)

ช่วงตั้งใหม่ ๆ ก็มีคณะแพทย์หลายแห่งนะครับ มาเสนอว่าถ้างั้นให้มาเป็นเครือดีไหม เช่นของจุฬาและมหิดล ก็เสนอว่าให้มาใช้หลักสูตรกับเค้า และตอนจบก็รับปริญญาของจุฬาไป เช่น ปริญญาแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ วิทยาลัยรังสิต แบบนี้ แต่ทางดร.อาทิตย์และอาจารย์ประสงค์เองท่านก็ไม่ยอม อยากให้คณะแพทย์นี้เป็นของรังสิตแท้ ๆ ก็มีการฝ่าฟันอุปสรรคมาเรื่อยๆ

ปัญหาอีกอันนึงก็คือเมื่อเด็กรังสิตมาฝึกงานที่ราชวิถี หมอในราชวิถีสมัยนั้นหลายท่านก็คัดค้านอย่างรุน แรง เพราะไม่อยากสอนรังสิต มีการทะเลาะกันในห้องประชุมถึงขั้นทุบโต๊ะ ชี้หน้าด่าคณบดี ว่าเป็นทาสน้ำเงิน (ตอนนั้นหมอประสงค์ท่านก็ 60 ปลาย ๆ ครับ ) แต่หมอประสงค์ก็ใช้ขันติ อดทนอธิบายให้กับหมอรุ่นหลานที่เข้าใจท่านผิด ๆ ค่าเทอมทั้งหมดของแพทย์รังสิตตั้งแต่ชั้นปีที่ 4-6 ตกปีละ 150 ล้าน บริจาคเข้าราชวิถีหมดนะครับ ในนามมูลนิธิสถาบันร่วมผลิตแพทย์ กรมการแพทย์-มหาวิทยาลัยรังสิต สรุปคือทางรังสิตเองจะได้เฉพาะค่าเทอมช่วงปี 1 -3 เท่านั้นครับ

เงินบริจาคที่เข้าราชวิถี ก็เป็นเงินที่นำไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน ซื้อเครื่องมือ ให้ทุนอาจารย์ไปเรียนเพิ่มเติม สร้างตึกและครุภัณท์ทางการแพทย์ให้กับราชวิถี ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป หลายคนที่มีอคติกับทางแพทย์รังสิตก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นครับ

ตอนนี้แพทย์รังสิตเปิดมาได้ 27 ปี มีหมอจบไปแล้วเกือบยี่สิบรุ่น สิ่งที่น่าภูมิใจคือมีหมอรังสิตไม่ถึง 20 เปอร์เซนต์นะครับ ที่ลาออกไปทำงานเอกชน (เพราะคนเรียนรังสิตได้นี่ เรื่องเงินไม่ค่อยสำคัญแล้วครับ) ส่วนใหญ่จะทำงานในรพ.ของรัฐ ไปเป็นอจ.ที่โรงเรียนแพทย์เยอะมาก ๆ ทั้งจุฬา ศิริราช รามา หลายคนได้รางวัลระดับประเทศเยอะแยะครับ ฉะนั้นไม่ใช่ทองชุบแน่นอน

เรื่องการสอบใบประกอบนะครับ หลังจากที่รังสิตเป็นคณะแพทย์แห่งเดียวที่ต้องสอบ ใครไม่ผ่านก็สอบใหม่ ทำให้คนที่จบไปรับรองได้ครับว่าผ่านมาตรฐานแพทยสภาแน่นอน จะเห็นว่าบางคนต้องสอบถึง 5-6 รอบ กว่าจะผ่าน ไม่ใช่ให้ผ่านง่าย ๆ ครับ และทำให้ตอนหลัง เมื่อมีคณะแพทย์ใหม่ ๆ เปิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แพทยสภาจึงออกกฎว่าต่อไปนี้ แพทย์ทุกสถาบัน ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพเหมือนรังสิตให้ผ่านก่อน ครับ ถึงจะเป็นหมอได้

ส่วนโมเดลของรังสิตที่เอานศพ.ไปฝากเรียนที่รพ.ราชวิถีนั้น ต่อมาทางกระทรวงก็ได้พัฒนาโมเดลความร่วมมือนี้ เกิดเป็นสถาบันแพทย์พระบรมราชชนกขึ้น คือการสร้างแพทย์ชนบท โดยการให้นศพ.ช่วงปี 1-3 เรียนกับมหาวิทยาลัยส่วนกลาง แต่พอขึ้นชั้นคลีนิคก็ส่งไปทำงานในรพ.จังหวัดที่ตัวเองอยู่ครับ

ฉะนั้นผมภูมิใจที่ได้เรียนในสถาบันแห่งนี้ครับ
และช่วยกันทำสิ่งดี ๆ ให้คนอื่นเค้าเห็นครับ
ว่าเราหมอรังสิต ไม่ใช่แค่หมอรวยขี้เก๊กครับ
ช่วยกันทำให้คนอื่นรู้ครับ ว่าหมอที่นี่ หน้าตาดีและจิตใจงามด้วย
555
ความคิดเห็นที่ 26
ขออนุญาตออกความเห็นค่ะ

จขกท.ตั้งกระทู้ด้วยความสงสัย หรือมีเจตนาโจมตี กึ่งดูถูกอะไรหรือเปล่าคะ

อยากให้ลองอ่านดูนะคะ
เวลาจะตีความหรือประเมินค่าใคร อย่าใช้"ความคิด"และ"ความรู้ของตัวเอง"เป็นบรรทัดฐานเลยนะคะ

เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่าคะ

แพทย์รังสิตส่วนใหญ่ทำงานต่างจังหวัดค่ะ
ทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุน โดยที่ไม่ได้ขอทุนรัฐบาลมาเรียน. แต่ก็ทำงานเพื่อประชาชนเหมือนแพทย์ที่จบรัฐบาลทั่วไปมากกว่า. 80% นะคะ


จะบอกว่าหมอเอกชนจบมาต้องถอนทุนคืน
อันนี้ไม่ถูกเสียทีเดียวค่ะ
ถ้าจขกท.มองว่าคนรวยเท่านั้นแต่เรียนม.เอกชนได้
แล้วถ้าคนมันรวยจริงๆตั้งแต่แรก ต้องมาคิดเล็กคิดน้อยเรื่องเอาเงินคืนให้ได้..เพื่ออะไรคะ
ในเมื่อเขารวยของเขาอยู่แล้ว..

ดิฉันจบแพทย์รังสิตเช่นกันค่ะ
ปัจจุบันทำงานโรงพยาบาลรัฐบาล
บ้านไม่ได้รวยอะไรมากค่ะ พ่อแม่ขายก๋วยเตี๋ยว
เพื่อนบางคนกู้กยศ.เพื่อมาเรียน

เหตุผลน่ะหรอคะ..?
อ่านและค่อยๆคิดตาม ข้อความข้างล่างนะคะ...

ดิฉันคนนึงที่ไม่ได้มีความคิดเรื่องถอนทุนคืนเลยค่ะ

คงไม่ต้องอธิบายว่าการเรียนมันต้องสอบเข้ายากและเรียนหนักแค่ไหน
ทุกอย่างมีมาตรฐาน.
กรณีที่เขาจับได้ว่ามีการทุจริต
นั่นก็หมายความว่า #มีแค่เงินมันไม่พอไงคะ!
ถึงต้องใช้วิธีการยากๆต่างๆนานาเพื่อให้เข้ามาเรียนได้
จริงๆ
แต่น่าเสียดายที่พยายามผิดวิธี...
และจริงๆแล้วน้องเขาอาจจะยังไม่ทราบว่าการเรียนนั้นสอบเข้ามาได้ก็ไม่ได้แปลว่าจะเรียนได้จนจบทุกคนบางคนไม่ไหว ไม่ชอบ ก็ต้องออกกันไป

มันเป็นกฏของการคัดเลือกตามธรรมชาติ
ของชาลส์ ดาร์วิน
ที่เราเรีนนกันมาตั้งแต่สมัยมัธยม

แพทยสภาก็มีNational licence testที่คัดกรองคนจะจบหมอให้อยู่ในมาตรฐานอยู่แล้ว

อยากให้มองในมุมอื่นๆด้วยค่ะ

คนจบเอกชนไม่ใช่ทุกคนที่เห็นแก่เงินนะคะ

เราตีความ ค่าของหมอ.
แค่จากสถาบันที่จบว่าเอกชนหรือรัฐบาลเพียงอย่างเดียวหรือเปล่าคะ?

แปลว่า เราจะเจอคนจบรัฐบาลทุกคนทำเพื่อประชาชนเสมอและไม่เห็นแก่เงินเลย จริงหรอคะ?

ตัดสินคนจากสถาบันเพียงอย่างเดียว
เขียนในมุมมองด้านเดียว  
ดูเหมือนจะใจแคบเกินไปนะคะ

ผ้าขาวที่เปื้อนหมึกสีดำ
คุณจะมองว่า มันยังเป็นผ้าขาว หรือเป็นผ้าสกปรก
มันอยู่ที่มุมมองของคุณด้วยจริงไหมคะ

อยากให้คุณเปิดใจสักหน่อยก็ยังดี...
ดิฉันยอมรับค่ะว่าไม่ใช่ทุกคน
อาจจะมีบางคนที่คิดเรื่องเงิน
แต่ก็ไม่ใช่แค่หมอจบจากสถาบันแห่งนี้หรอกมั้งคะ

ทุกคนก็คิดถึงเรื่องเงินกันทั้งนั้นแหละคะ

ในทางกลับกัน
ยังมีหมอที่จบจากสถาบันนี้ที่ตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนอยู่อีกหลายคน ถึงเค้าจะโดนเหน็บแนม. ดูถูก. เค้าก็ยังก้มหน้าทำงานต่อไปค่ะ

GenerationYด้วยกันหมดยุคดูถูกกันแล้วค่ะ
ทุกคนมีความสามารถ มีเส้นทางเดินที่แตกต่างกันค่ะ
บางครั้งคนเราเลือกก็ไม่ได้.
แน่นอนว่าใครๆก็อยากเรียนสถาบันที่ดีที่สุดของประเทศค่ะ
จบรัฐบาลมันดีกว่าอยู่แล้วค่ะ

แต่การที่ดิฉันจบเอกชน...ดิฉันได้ใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์

ไม่ได้เอาเงินซื้อใบปริญญาค่ะ ดิฉันก็ยื่นคะแนนAdmissionสอบเข้ามาค่ะ

พยายามเรียนอย่างหนักเพื่อให้มีความรู้มารักษาคนไข้.
เพื่อสอบใบประกอบวิชาชีพ

เกียรตินิยมที่ได้มามันก็ไม่ใช่เพราะเงินค่ะ.

หมอตั้งใจจริงๆค่ะ ตั้งใจเป็นหมอที่ดีและเก่งจริงๆค่ะ

แต่ในเมื่อบางครั้งมันมีเหตุการณ์ที่เลือกที่เรียนที่ดีที่สุดไม่ได้
ดิฉันอาจจะไม่มีความเก่งที่จะสอบเข้าได้ในวันนั้น

แต่ดิฉันก็มีความตั้งใจจะเป็นหมอที่ดีที่สุดให้กับคนไข้ให้ได้ไม่แพ้คนอื่นๆค่ะ

คุณไม่ควรจะตัดสินคนโดยมองมุมมองด้านเดียวนะคะ
เหมือนคุณตัดสิน เป็ดว่าโง่ จากที่มันบินไม่ไวเท่านก
แต่คุณเคยให้ นกมาว่ายน้ำแข่งกับเป็ดไหมคะ

เสียใจจังเลยค่ะที่มีคนเก่งแต่ใจแคบมาโพสอะไรแบบนี้

และแสดงความเห็นตัดสินคนอื่น...จากความคิดตื้นๆแค่นี้

#บ้านใครใครก็รักค่ะ ขอบคุณค่ะ
ความคิดเห็นที่ 37
แพทย์รังสิตรุ่น 12 ค่ะ
ปัจจุบันเป็นอาจารย์แพทย์อยู่ในโรงพยาบาลของรัฐในกรุงเทพค่ะ
ที่บานฐานะปานกลางค่ะ สอบเข้ามาเอง ไม่เส้น ไม่โกงค่ะ กู้เงิน กยส. มาเรียน ทุกวันนี้ยังชำระหนี้อยู่ค่ะ
ตอนเรียนก็ตั้งใจมากถึงมากที่สุด เพราะทราบว่าชีวิตคนไข้อยู่ในความรับผิดชอบของเรา ตอนเรียนก็ผ่านทุกอย่างมาได้เพราะความอุตสาหะและความตั้งใจจะเป็นหมอที่ดีให้ได้ล้วนๆ สอบทุกอย่างผ่านมาตรฐานของแพทยสภา ได้ใบประกอบโรคศิลป์มาอย่างถูกต้อง (สมัยนั้นมีแค่รังสิตและแพทย์ที่จบต่างประเทศมาเท่านั้นที่ต้องสอบ ส่วนแพทย์ที่อื่นจบแล้วได้ใบประกอบโรคศิลป์เลยอัตโนมัติทันที่ที่จบค่ะ) เรียนจบจับสลากไปใช้ทุนที่แม่ฮ่องสอน (จริงๆแล้วรังสิตไม่ต้องใช้ทุน เพราะเรียนด้วยทุนส่วนตัว แต่สมัครใจและอยากไปไปเป็นแพทย์ดูแลผู้ป่วยทีห่างไกลเองค่ะ) ตอนใช้ทุนก็เต็มที่กับชีวิตในทุกๆวันค่ะ ออกไปตรวจตามอนามัยที่ห่างไกล เดินเท้าเข้าป่าหญ้าคาเป็น ชม. ไปชันสูตรพลิกศพ. ไปร่วมกับกองแพทย์ พอ.สว. และอีกหลายอย่างมากมาย สนุกและมีความสุข เป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีค่ามากจริงๆ
ใช้ทุนจบมาสมัครเรียนแพทย์เฉพาะทางซึ่งเป็นสาขาที่ไม่ได้ทำเงินรายได้อะไรสักเท่าไหร่ ก็สัมภาษณ์และผ่านการทดสอบตามปกติจนได้เรียน และจบมาได้อย่างดี
ไปสมัครงานตามปกติใน รพ.ของรัฐ และได้รับเลือกให้เข้ามา และเป็นอาจารย์แพทย์ ที่มีลูกศิษย์จบไปเป็นหมอที่ต่างๆแล้วหลายรุ่นค่ะ ทุกวันนี้เงินเดือน 2 หมื่นกว่าบาท ได้เงินวิชาชีพ 10000 บาท แค่นี้ค่ะ
มีความสุขและภูมิใจในสถาบันรังสิต ที่สร้างให้เราเป็นหมอที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองและผู้ป่วย และสังคม รักสถาบัน และไม่เป็นไรหากใครจะเข้าใจเราผิดๆ ยินดีอธิบายโดยใช้ความจริงใจและความคิดดีทำดีของเราเข้าสู้ค่ะ แพทย์รังสิตไหว้คนไข้ก่อนทุกคนด้วยนะคะ ถ้าอ่านแล้วเข้าใจเรามากขึ้นจะขอบพระคุณมากค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่