ศุภชัย เจียรวนนท์ 'ใครเดินก่อน รู้ก่อนเร็วกว่าจะกลายเป็นผู้นำ'


ศุภชัย เจียรวนนท์ 'ใครเดินก่อน รู้ก่อนเร็วกว่าจะกลายเป็นผู้นำ'
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

          แม้ไม่ใช่ยักษ์สื่อสารอันดับหนึ่งในเมืองไทย แต่เรื่องการมีวิสัยทัศน์ ล้ำยุค กลุ่มทรูถือได้ว่าเป็นผู้นำภายใต้การนำทัพธุรกิจของ "ศุภชัย เจียรวนนท์" กับยุทธศาสตร์ธุรกิจ "คอนเวอร์เจนซ์" ที่ผสมผสานบริการและพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ที่เรียกได้ว่า ครบวงจรก่อนใคร ทั้งบริการโทรศัพท์มือถือ, อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์, เคเบิลทีวี, ทีวีดิจิทัล และที่จะตามมาอีกมากมายเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคดิจิทัล

          ปฏิเสธไม่ได้ว่า พัฒนาการของเทคโนโลยีและความต้องการของ ผู้บริโภคที่ไม่หยุดนิ่งและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมีผลต่อทุกธุรกิจ ไม่เว้นแต่ในธุรกิจด้านเทคโนโลยี

          ทำไม เพราะอะไร และเราต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

          "ศุภชัย เจียรวนนท์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ทุกธุรกิจต้องปรับตัว ยิ่งในยุคสมาร์ทดีไวซ์ต่าง ๆ มีการเชื่อมต่อกัน พร้อมกับเท้าความว่า โครงสร้างระบบเศรษฐกิจในทุกอุตสาหกรรมจะแบ่งเป็นพลังงาน การสื่อสาร และการขนส่ง  ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยพลังงานนำไปสู่เทคโนโลยีด้านอื่น ๆ เช่น ด้านการผลิต เพื่อสร้างผลผลิต

          ขณะที่การติดต่อสื่อสาร (Communication)  คือการเชื่อมโยง ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ทำให้รู้ซัพพลาย และดีมานด์  ขณะที่โลจิสติกส์ เป็นเรื่องการขนส่ง ความต้องการเหล่านั้นไปให้ถึงมือผู้ใช้

          เมื่อโครงสร้างของการติดต่อสื่อสารเปลี่ยนแปลงมหาศาล จากการสื่อสารเป็นการ "เชื่อมต่อดิจิทัล" (Digital Connectivity) รวมถึงการส่งมอบคอนเทนต์และผลผลิตที่ออกจากพลังสมอง สิ่งที่ตามมาคือพลังสมองมีการแพร่กระจายออกไปผ่านคลาวด์

          จากเดิมที่ต้องเข้ามาในลำดับชั้นของอุตสาหกรรมแต่ละขั้น ค่อย ๆ ไต่ขึ้นมา กว่าจะออกความคิดเห็น กว่าจะสร้างอะไรใหม่ ๆ ได้ โลกเก่าปรับไปหมด

          ปัจจุบันคือสตาร์ตอัพ ไม่ต้องมีทุนอะไร มีทุนสมอง แล้วขายสิ่งที่เป็นคุณค่าทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลโปรดักต์, ดิจิทัลเซอร์วิส

          คนรุ่นดิจิทัลเป็นรุ่นที่สามารถถ่ายทอดพลังสร้างสรรค์ได้สูงสุด ทั่วโลกจึงมีการพูดถึง "ครีเอทีฟ อีโคโนมี" "อินโนเวทีฟ อีโคโนมี" และ "ดิจิทัล อีโคโนมี"

          โครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่พัฒนาไปมาก ทำให้เกิดการเชื่อมต่อดิจิทัล เกิดความต้องการใหม่ ๆ บริการใหม่ ๆ ที่สะดวกมากขึ้น และทำลายบริการเดิม อุตสาหกรรมเดิม เกิดศักยภาพใหม่ที่เข้าถึงความต้องการ และตอบสนองความต้องการได้ดีกว่า เช่น ธุรกิจค้าปลีก, การท่องเที่ยว หรือแม้แต่ธนาคาร ที่คนใช้ระบบออนไลน์ซื้อของ, จองทัวร์ และทำธุรกรรมการเงิน ทำให้ธนาคารต่าง ๆ เข้ามาลงทุน FinTech (Finance Technology) สร้างกองทุนสตาร์ตอัพ และพัฒนาแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ เพราะกลัวว่าจะโดนทำลาย

          ทุกลำดับขั้นของอุตสาหกรรมกำลังได้รับผลกระทบ ในระดับ Exponential Rate ผ่านบรอดแบนด์ และ 4G

          "เทคโนโลยีถูกลง ๆ การสื่อสารข้อมูลไร้สาย และอุปกรณ์ที่ไปถึงมือ ผู้บริโภคถูกลง เมื่อพลังสมองขึ้นไปในคลาวด์ได้  สิ่งที่ตามมาคือ Internet of Things (IoT) อินเทอร์เน็ตจะไปอยู่ในทุกสิ่ง ทำให้เกิดการเชื่อมโยง ไม่ใช่ระหว่างคนกับคนอีกต่อไป ในยุค 4G เป็นคนกับเครื่องจักร เครื่องจักรกับเครื่องจักร เครื่องจักรกับคน ทุกอย่างเชื่อมต่อกันหมด"

          ข้อมูลต่าง ๆ จะขึ้นไปอยู่บน "คลาวด์" กลายเป็น "บิ๊กดาต้า" มีการคาดการณ์กันว่า ภายในปี 2020 อุปกรณ์ที่มีเซ็นเซอร์และมีความเชื่อมโยงกันจะมีมากกว่าประชากรโลก 7 เท่า หรือมากกว่า 5 หมื่นล้านดีไวซ์ จากนั้นจะทะยานไปอีก ไม่ใช่แค่คนกับคน คนกับเครื่องจักร แต่หมายถึงกระบวนการของนิติบุคคล ของบริษัทของธุรกิจ อุตสาหกรรมกระบวนการผลิต

          ธุรกิจที่ไม่มีข้อมูลแบบเรียลไทม์จะไม่มีประสิทธิภาพ และต้นทุนจะสูงกว่าคนอื่น การเข้าถึงลูกค้าจะไม่สอดคล้องกับความต้องการจริง

          "ประสิทธิภาพในระบบจะเพิ่มขึ้นมหาศาล นอกจากสตาร์ตอัพจะเข้ามาทำลายธุรกิจเดิมแล้ว คนที่ปรับตัวไปก่อนจะชนะขาดเลย เหมือนกับเรากำลังขับมอเตอร์ไซค์อยู่ แล้วอีกคนขับเครื่องบิน เขาก็ชนะขาด"

          ดังนั้นธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัว รู้จักข้อมูลแบบเรียลไทม์ รู้จักพนักงานตนเอง  รู้จักกระบวนการธุรกิจมากกว่า

          "ใครเดินก่อน รู้ก่อนเร็วกว่าจะกลายเป็นผู้นำ" "ศุภชัย" แนะนำว่า ทุกธุรกิจควรนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ ทั้งต่อลูกค้าและองค์กรของตนเอง อย่างไรก็ตาม การปรับตัวขององค์กรต่าง ๆ จะเป็นไปได้ต้องเริ่มจาก "เจ้าของธุรกิจ" ที่ต้องยอมลงทุนและสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร

          "บริษัทห้างร้านต่างๆ ต้องปรับตัว  ถ้าเป็นเอสเอ็มอีต้องเข้าถึงอีคอมเมิร์ซ เข้าถึงมาร์เก็ตเพลส เพิ่มช่องทางที่จะเข้าถึงลูกค้า เช่น ผ่าน โมบายแอปพลิเคชั่น และความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ การเปลี่ยนเฉพาะตนเอง ไม่ร่วมมือกับใครอาจเสียเปรียบคนที่มีความครบถ้วนมากกว่า เพราะลูกค้าอยากได้ทุกสิ่งที่ครบ ลูกค้าหาสิ่งที่ดีที่สุด สะดวกที่สุด ประหยัดที่สุด ได้ประโยชน์มากที่สุด"

          บิ๊กกลุ่มทรูย้ำว่า ควรรีบปรับตัวตั้งแต่วันนี้ "เริ่มตอนนี้ยังพอมีเวลา อีก 3-5 ปี ประเด็นอยู่ที่ว่า คุณอยากเป็นคนแรก หรือเปล่า เพราะ 4G คิกออฟและไปเร็วมากในปีนี้ คุณจะเป็นคนแรกที่เปลี่ยนก่อน หรือไปตามค่าเฉลี่ยของตลาด"

          บิ๊กกลุ่มทรูบอกว่า ยุคนี้ถือเป็นยุคที่น่าตื่นเต้นที่สุด ในรอบ 100 ปี  เปรียบ ได้กับตอนที่มนุษย์สร้างเครื่องบิน ในครั้งนั้นเครื่องบินเปลี่ยนระบบโลจิสติกส์ ของโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เข้าสู่โกลบอลไลเซชั่น แต่สิ่งที่กำลังเกิด ขึ้นในขณะนี้เป็นอีกยุคที่ยิ่งกว่า เรียกว่า "ซูเปอร์โกลบอลไลเซชั่น" เป็นยุคที่พลัง สมองถูกนำมาใช้ในการสร้างมูลค่าได้อย่างไม่จำกัด ไม่มียุคไหนจะเป็นแบบนี้

          ยุคนี้ที่การเชื่อมโยงสมบูรณ์แบบ และจะสมบูรณ์แบบขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยพลังสมองคนจากระบบเปิด ความสร้างสรรค์ต่าง ๆ จะส่งผ่านและทำลายของเก่าที่สู้ไม่ได้ ส่งต่อสิ่งใหม่ ๆ ได้ไม่จำกัด

          อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงจุดที่มีข้อมูลมหาศาล ก็จะอยู่ที่ว่า "ใครตีความ ข้อมูลได้ดีกว่ากัน เพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำ"

          สำหรับกลุ่มทรู แม้จะอยู่ในธุรกิจเทคโนโลยีก็ยังจำเป็นต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กระบวนการให้บริการลูกค้า การเชื่อมโยงกระบวนการในองค์กรที่ยังไม่สมบูรณ์

          "ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ยังต้องไปใช้บริการที่จุดบริการ เราจึงต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์มากขึ้น และร่วมมือกับพันธมิตร เพราะเราคนเดียวคงไม่สามารถตอบสนองลูกค้าได้ดีพอ ต่อไปคู่แข่งของเราจะเป็นสไกป์ เป็นกูเกิล และเฟซบุ๊ก ทุกวันนี้ไม่มีใครโทรทางไกลแล้ว

          เราจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่มีอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งใหญ่ กลาง เล็ก เราคนเดียวทำได้ไม่หมด เพราะการตอบสนองมันเจาะจงมากขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น และเร็วมากขึ้น"

          เหนือสิ่งอื่นใด การปรับเปลี่ยนยังต้องมองไปไกลกว่าแค่การตอบสนอง ตลาดและการแข่งขันภายในประเทศ เพราะในยุคดิจิทัลไม่มีคำว่า "พรมแดน" ซึ่งถือเป็นบทพิสูจน์ใหม่ของทรูด้วยว่า จะต่อสู้และแสวงหาโอกาสใหม่ได้แค่ไหน

          เป็นความท้าทายของทุกธุรกิจในการคิดพัฒนาสินค้า และบริการที่ต้องทำอย่างไรให้คนทั่วโลกเข้ามาซื้อได้

          "ทรูเองจะเป็นแค่คนสร้างถนนเหมือนเดิมไม่ได้ แต่เราต้องไปเป็นคนที่มีส่วนในการทำให้ชีวิตประจำวันของลูกค้าเพิ่มมูลค่าได้ ตอบสนองได้ เทียบต่างประเทศ บริษัทไทยไม่ได้ด้อยกว่า แต่เราต้องเปิดกว้างและเรียนรู้จากคนเก่ง ๆ จากต่างประเทศ เหมือนกรณีฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก ที่นำโค้ชและนักเตะต่างชาติมาเล่นได้ ทำให้คนไทยเก่งขึ้นมาก"

          บิ๊กกลุ่มทรูย้ำว่า ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ยุคใหม่ ประเทศไทยต้องสร้างอีโคซิสเต็มที่ดึงดูดทั้งคนเก่ง, เงินทุน และบริษัทระดับโลกเข้ามา อาจรวมถึงการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ (Rule and Regulation) ที่ต้องแข่งขันได้และจูงใจ และถ้าทำได้จะเหมือนการเปลี่ยนฮวงจุ้ยของประเทศ เปลี่ยนปากทางเข้าจากเดิมที่แคบเป็นเปิดกว้างทำให้โอกาสต่าง ๆ ตามมา

          ถ้าทำได้ การก้าวไปสู่ "ดิจิทัล อีโคโนมี" หรือ "อินโนเวทีฟ อีโคโนมี" ก็ไม่ใช่เรื่องยาก

          เหนือสิ่งอื่นใด การปรับเปลี่ยนตนเองยังต้องมองไปไกลกว่าแค่การตอบสนองตลาดและการแข่งขันเพราะในยุคดิจิทัลไม่มีคำว่า "พรมแดน" ซึ่งถือเป็นบทพิสูจน์ใหม่ของกลุ่มทรูด้วย




แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 10, 7)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่