กทค. ได้ข้อสรุปสั่งปรับ "แจสโมบาย" จิ๊บๆ 150 ล้านเอาผิดยากหลังเอไอเอสรับภาระแทน


ปรับแจสโมบาย 150 ล้าน เอาผิดยากหลังเอไอเอสรับภาระแทน
ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

          คณะทำงานเอาผิดแจส โมบาย สรุปเรียกค่าเสียหายได้เพิ่มเติมอีกไม่เกิน 130–150 ล้านบาท นอกเหนือจากริบเงินค้ำประกัน 644 ล้านบาท เตรียมเสนอบอร์ด กทค.วันนี้ เผยหลักฐานพบต้องการเข้าประมูลและทำธุรกิจจริง แต่ติดเงื่อนไขเวลาหาเงินไม่ทัน เรียกค่าเสียหายลำบากเพราะมีเอไอเอสมารับภาระแทนหมดแล้ว

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) วันนี้ (25 พ.ค.) จะพิจารณาผลสรุปการคิดค่าเสียหายและค่าเสียโอกาสจากกรณีบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่มาชำระค่าประมูล 4 จีคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ วงเงิน 75,654 ล้านบาท ตามที่คณะทำงานพิจารณาความรับผิดของแจส โมบาย ที่มีนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานปราบปรามการทุจริต สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธาน ซึ่งคณะทำงานได้ประชุมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวม 7-8 ครั้งแล้ว
          
          ทั้งนี้ คณะทำงานได้มีบทสรุปว่า จากการพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมด ไม่พบหลักฐานที่จะเอาผิดแจส โมบาย ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะการสมยอมราคาหรือฮั้วประมูล ตามประกาศ กสทช.และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 เนื่องจากด้วยหลักฐาน ทั้งเอกสารและบุคคลที่มาชี้แจง ถือว่าแจส โมบาย ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการเตรียมการที่จะเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ

          ทั้งการติดต่อสถาบันการเงินในและต่างประเทศ การติดต่อหน่วยงานภายใน ทั้งบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อติดต่อเช่าเสาโทรคมนาคม อุปกรณ์โทรคมนาคมต่างๆ รวมถึงการเชื่อมต่อโครงข่าย (โรมมิ่ง) ระหว่างผู้ให้บริการมือถือด้วยกันอีก ถือเป็นการเตรียมความพร้อมมาก แต่ตามที่แจส โมบาย ได้แจ้งว่า เนื่องจากมีเวลาจำกัดตามประกาศ กสทช. ทำให้การเจรจากับสถาบันการเงินมีอันต้องยุติลง และไม่สามารถมาชำระเงินค่าประมูลได้

          ดังนั้น การจะเรียกร้องค่าเสียหายจากแจส โมบาย นอกจากการริบเงินค้ำประกัน 644 ล้านบาท ก็อาจเป็นสิ่งที่ กสทช.จะต้องยื่นฟ้อง หรือจะเรียกแจส โมบายมาเจรจาชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ในอัตราที่เหมาะสมและตามความจริง เบื้องต้นมีการคำนวณว่าจะเรียกค่าเสียหาย รวมค่าจัดประมูลครั้งใหม่ จากแจสไม่เกิน 130-150 ล้านบาท ซึ่งเป็นการคำนวณค่าปรับเป็นรายวัน นับจากวันที่ 22 มี.ค.-27 พ.ค.59 ซึ่งรายได้ที่เรียกจากแจส โมบาย จะต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป ส่วนจะเรียกค่าเสียโอกาสของรัฐและประชาชน จากการที่ไม่มีการใช้คลื่น 900 นั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะในส่วนนี้รัฐได้จากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ไปแล้ว ตามประกาศมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุด อีกทั้งการประมูลครั้งใหม่ ราคาเริ่มต้นประมูลก็เท่ากับราคาที่แจส โมบาย ชนะประมูล จึงไม่มีส่วนต่างที่แจส โมบายต้องชดใช้

          ทั้งนี้ การประมูล 4 จีคลื่นความถี่ 900 ซึ่งได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2558 ที่ผ่านมา ได้กลายเป็นการประมูลที่ทำเงินเข้ารัฐครั้งประวัติศาสตร์ หลังจากที่แจส โมบาย และบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะ ใช้เวลาในการประมูลยาวนานทำลายสถิติ 88 ชั่วโมง หรือ 4 คืนเต็ม ดันราคาประมูลรวมเป็นเงินถึง 151,952 ล้านบาท โดยหลังชนะประมูล นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของแจส โมบาย ได้เปิดแถลงข่าวว่า ราคาที่จ่ายถือว่าคุ้มค่า เพราะได้เข้าสู่ธุรกิจใหม่ มีโอกาสทำรายได้ใหม่ และมีการทำแผนด้านการเงิน (Project Financing) ไว้รองรับแล้ว.

แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 9)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่