กสทช.เท 300 ล้าน จัดงาน ITU - อนุมัติงบ 18 ล้านประมูลคลื่น 900


กสทช.เท 300ล. จัดงาน ITU - 18 ล. ประมูลคลื่น
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

          "กสทช." ขยายเวลาคณะทำงานเอาผิด "แจส" เพิ่ม 30 วัน เหตุข้อมูลไม่ครบ-มีปัญหาข้อกฎหมาย พร้อมอนุมัติงบฯ 300 ล้าน จัดงาน ITU World 2016 และอีก 18 ล้าน ประมูลคลื่น 900 MHz ฟาก "กทค." เตรียมวางแผนเลขหมายระยะยาวเพิ่มเบอร์โทร.บ้านเป็น 10 หลัก รองรับการใช้งานอีก 20 ปี

          นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า คณะทำงานพิจารณาความรับผิด กรณีบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการดำเนินการ ก่อนรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz แจ้งขอขยายเวลาทำงานไปจนถึง 28 พ.ค.นี้ เหตุจากผู้เกี่ยวข้องเลื่อนการให้ข้อมูลหลายครั้ง และยังต้องหารือความชัดเจนด้านข้อกฎหมาย

          โดยในการประชุมคณะทำงานล่าสุด (28 เม.ย. 2559) ตัวแทนธนาคารกรุงเทพไม่ได้เข้ามาให้ข้อมูลตามที่นัดหมายไว้ แต่จะชี้แจงเป็นหนังสือแทน ส่วนตัวแทนของธนาคารไอซีบีซี (ไทย) แจ้งว่าต้องให้สำนักงานที่ปักกิ่งเป็นผู้ให้ข้อมูล เนื่องจากแจสไม่ได้ติดต่อขอเงินกู้กับสาขาในไทย

          ขณะที่การประชุมบอร์ด กสทช.วันเดียวกัน ได้อนุมัติงบประมาณ 18 ล้านบาทสำหรับจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz รอบใหม่ แบ่งเป็นค่าจ้างเหมาบริการเพื่อจัดสถานที่ อาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวก 5 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบกล้องวงจรปิด 3 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการประมูลใบอนุญาต 10 ล้านบาท พร้อมอนุมัติ งบประมาณ 300 ล้านบาทสำหรับการจัดงาน ITU Telecom World ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปลายปีนี

          ส่วนกรณีที่โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) ของบประมาณ 150 ล้านบาท สนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 31 (ส.ค. 2559) เพื่อให้ทีวีดิจิทัลทุกช่องนำไปออกอากาศได้นั้น ต้องทำเรื่องขออนุมัติงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนาในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดยสำนักงาน กสทช.ต้องตั้งทีมวิเคราะห์โครงการว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์กองทุนเห็นเสนอแนบไปด้วย

          ด้านนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า งบฯจัดประมูลคลื่น 900 MHz ในส่วนของกล้องวงจรปิด และค่าจ้างที่ปรึกษาในครั้งนี้มากกว่าที่จ่ายจริงในการจัดงานครั้งที่ผ่านมา 3.5 ล้านบาท ทั้งที่กระบวนการประมูลกระชับขึ้น แต่สำนักงาน กสทช.ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลที่กำหนดกรอบวงเงินสูงขึ้นแต่อย่างใด

          ขณะที่การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้อนุมัติเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ บริษัท เรียลมูฟ จำกัด 2.18 ล้านเลขหมาย และบริษัท ไวท์สเปซ จำกัด (MVNO ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม) 5 แสนเลขหมาย โดยปี 2558 ที่ผ่านมา มีการจัดสรรเลขหมายสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปแล้ว 12.34 ล้านเลขหมาย

          ทั้งยังรับทราบแผนเลขหมายโทรคมนาคมระยะยาว (20 ปีข้างหน้า) และให้สำนักงาน กสทช.เตรียมวางแผนดำเนินการ ตามที่คณะอนุกรรมการเลขหมายโทรคมนาคมเห็นชอบแนวทางที่จะเพิ่มเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ จาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก ด้วยเพิ่มเลข 1 หลังเลข 0 อาทิ หากเป็นเลขหมายในกรุงเทพฯ จะเป็น "012-xxx-xxxx" ซึ่งจะทำให้มีเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่เพิ่มขึ้น 50 ล้านเลขหมาย รวมเป็นเลขหมายในระบบ 100 ล้านเลขหมาย ขณะที่โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 500 ล้านเลขหมาย

          "ทางเลือกนี้แม้ไม่กระทบผู้ให้บริการมือถือ แต่กระทบกับผู้ให้บริการโทรศัพท์ประจำที่ที่ใช้ชุมสายระบบเก่าต้องปรับเปลี่ยนระบบ เช่น ทีโอที ซึ่งคณะอนุกรรมการมีข้อแนะนำให้สำนักงาน กสทช.จัดทำแผนการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้มีต้นทุนการปรับเปลี่ยนโครงข่ายน้อยที่สุด"

          นอกจากนี้ยังอนุมัติให้ บมจ.ไทยคม เพิ่มบริการขายต่อบริการรับ-ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมแบบ Transmission Platform เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาตในลักษณะให้บริการแบบครบวงจร (One Stop Shop) โดยบริษัทจะซื้อบริการจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ได้รับอนุญาต เช่น กสท โทรคมนาคม หรือ บจ.ทีซี บรอดคาสติ้ง ผู้ให้บริการรับ-ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม


แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 24)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่