หลักการเลือกหุ้นของ Buffett : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การเลือกหุ้นลงทุนของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้นได้รับการติดตามและศึกษามากมาย  หนังสือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมีมากจนนับไม่ถ้วน แต่ละเล่มก็พยายามที่จะเขียนให้มีความ “ซับซ้อน” และยากที่จะปฎิบัติเพื่อที่จะทำให้รู้สึกว่าคนธรรมดาจะเลียนแบบได้ยาก  มีแต่คนที่มีความสามารถแบบ วอเร็น บัฟเฟตต์ เท่านั้นที่จะทำได้หรือวิเคราะห์ได้ถูกต้องว่าหุ้นหรือบริษัทไหนที่ดีน่าลงทุน  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ถ้าบอกว่าหลักการลงทุนของบัฟเฟตต์นั้นง่ายและธรรมดามาก  ใครจะอยากซื้อหนังสือมาอ่าน นอกจากนั้น  น้อยคนจะเชื่อว่าคนจะประสบความสำเร็จจากการลงทุนได้ด้วยสิ่งที่ “ทำได้ง่าย ๆ” ไม่อย่างนั้นคนก็คงจะ “รวยกันไปหมด”  ซึ่งเป็นไปไม่ได้!   แต่ทั้งหมดนั้นสำหรับผมแล้วมันก็คงจะเป็นเรื่องที่คล้าย ๆ  กับหนังสือเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพทั้งหลายที่มักจะพูดถึงวิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อนซึ่งมักรวมถึงการปฏิบัติตนด้วยวิธีการต่าง ๆ   การกินอาหารและอาหารเสริม บางทีก็พูดถึงฮอร์โมนและเครื่องมือ “มหัศจรรย์” ต่าง ๆ  ที่จะช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น   ทั้ง ๆ  ที่ความจริงอาจจะเป็นว่าหลักการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดอาจจะง่ายมากและมีเพียง 3-4 เรื่องที่ต้องทำ  เช่น  กินอาหารครบหมู่  ออกกำลังพอประมาณ  นอนให้พอ  และอย่าเครียด  เป็นต้น

          จากการติดตามบัฟเฟตต์มานานรวมถึงอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับบัฟเฟตต์จำนวนมากผมกลับพบว่าที่จริงแล้วหลักการเลือกหุ้นลงทุนของบัฟเฟตต์นั้น  “ธรรมดาและง่ายมาก”  มันคล้าย ๆ กับการรักษาสุขภาพ  ถ้าเราทำได้ 3-4 เรื่องอย่างที่กล่าว  เราก็จะมีสุขภาพที่ดีเยี่ยมได้แล้ว  ไม่ต้องไปหาสูตรอะไรที่ดู “ขลัง” หรือทำได้ยากเกินความสามารถ  สิ่งที่ต้องทำดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องของ“วินัย” และการปรับใจหรือทัศนะคติมากกว่า  มาดูกันว่าอะไรคือหลักการสำคัญที่บัฟเฟตต์ใช้จริง ๆ  เกือบตลอดชีวิตการลงทุนของเขา  ว่าที่จริงเขา  “ประกาศ” มันอย่างเป็นทางการด้วยว่านี่คือสิ่งที่เขาต้องการจากหุ้นหรือกิจการที่เขาจะลงทุน  และมันมีแค่ 4-5 ข้อเท่านั้น

            ข้อแรกก็คือ  มันต้องเป็นธุรกิจธรรมดา ๆ ที่เราเข้าใจ และถ้ามันมีเรื่องเกี่ยวข้องกับเท็คโนโลยีมาก ๆ บัฟเฟตต์บอกว่าเขาจะไม่เข้าใจ   ข้อนี้  ถ้าดูจากกิจการและหุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนมานานหลายสิบปีก็จะพบว่าหุ้นส่วนใหญ่ที่เขาลงทุนนั้นมักจะเป็นกิจการธรรมดา ๆ  จริง  เช่น  กิจการเกี่ยวกับอาหาร เช่น น้ำอัดลม  ช็อกโกแล็ต ซอสมะเขือเทศ  กิจการเครื่องใช้เช่นเฟอร์นิเจอร์  เครื่องแต่งตัวเช่น เครื่องประดับเพชร รองเท้า  ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์  กิจการเดินทางเช่น รถไฟ เครื่องบิน  ผู้ให้บริการเกี่ยวกับการงานคอมพิวเตอร์ของสำนักงานและบริษัท  และที่เริ่มมากในระยะหลังก็คือพลังงานและพลังงานทดแทน  เป็นต้น  และแน่นอนก็คือ  ธุรกิจประกันภัยที่เป็นฐานดั้งเดิมของบัฟเฟตต์

            ประเด็นสำหรับนักลงทุนก็คือ  บ่อยครั้งเรามักลงทุนซื้อหุ้นที่เราไม่เข้าใจธุรกิจอย่างแท้จริง คนจำนวนมากลงทุนซื้อหุ้นปิโตรเคมีทั้ง ๆ  ที่เราไม่รู้จักแม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่เขาผลิต  เราซื้อหุ้นอิเล็คโทรนิกส์ทั้ง ๆ  ที่ไม่รู้ว่ามันเอาไปทำอะไร  เรามักซื้อเพราะว่าหุ้นกำลังปรับตัวขึ้นแรงและมีคนเชียร์ว่ามันจะเติบโตขึ้นอีกมากในปีนี้  บัฟเฟตต์บอกว่าเราต้องมี Circle of Competenceหรือความรอบรู้ของเราในแต่ละธุรกิจหรืออุตสาหกรรม  เราไม่จำเป็นต้องรู้มากมายไปหมดในอุตสาหกรรมจำนวนมาก  แต่เราต้องรู้ว่าขีดความรอบรู้ของเรามีแค่ไหน  ตัวอย่างเช่น  เราอาจจะบอกว่าเรารู้เรื่องของอาหาร  ค้าปลีก  บันเทิง  เพราะเราเป็นคนที่บริโภคหรือใช้สินค้าเหล่านี้เป็นประจำ  เป็นต้น  และถ้าเป็นอย่างนั้น  เราจะไม่ซื้อหุ้นในกลุ่มอื่นที่เราไม่รู้จักเลย  อย่าไปห่วงว่านั่นจะจำกัดตัวหุ้นที่จะลงทุนไปมากและอาจทำให้  “เสียโอกาส”  ในการลงทุน  จำไว้ว่าสำหรับนักลงทุนรายย่อยนั้น  เราต้องการหุ้นจำนวนน้อยมากที่จะทำให้เรารวยหรือประสบความสำเร็จ บัฟเฟตต์ถึงกับบอกว่าในชั่วชีวิตเรานั้น  เราอาจจะต้องการหุ้นเพียงแค่ 20 ตัวเท่านั้น

            ข้อสอง บริษัทจะต้องเป็นธุรกิจที่มีอนาคตระยะยาวที่ดี  และคำว่าดีก็หมายความว่ามันมีความสม่ำเสมอของกำไร  และกำไรนี้จะต้องมีความยั่งยืน  และเหตุที่จะมีความยั่งยืนก็เพราะว่ามันมีความได้เปรียบที่ยั่งยืน หรือ Durable Competitive Advantage /images/emoticons/mozilla_laughing.gifCA) ที่จะป้องกันไม่ให้คู่แข่งเข้ามาแย่งธุรกิจ  บัฟเฟตต์เองไม่ค่อยเน้นเรื่องของการเติบโตของกำไรมากนัก  มันแทบจะไม่ใช่เงื่อนไขของการลงทุนด้วยซ้ำ  บัฟเฟตต์น่าจะมีความคิดว่าธุรกิจนั้นถ้าโตเร็วหรือมีกำไรดีมาก  สุดท้ายก็จะต้องมีคนเข้ามาแข่ง  และถ้าบริษัทไม่มี DCA ก็อาจจะพ่ายแพ้และสุดท้ายแม้แต่กำไรเท่าเดิมก็อาจจะรักษาไว้ไม่ได้  และเท่าที่สังเกตเห็น  หุ้นที่บัฟเฟตต์ลงทุนนั้นมักจะมีกำไรที่แน่นอนและมีการเติบโตบ้างเท่านั้น  ผมไม่ค่อยเห็นบัฟเฟตต์ลงทุนในหุ้นที่โตเร็วมากเลย

          สิ่งที่บัฟเฟตต์ได้จากหุ้นที่ไม่ได้โตเร็วมากก็คือ  กำไรที่แน่นอนและปันผลที่เขาจะนำไปลงทุน  อาจจะในธุรกิจเดิมถ้ามันยังทำผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นได้สูงเกิน 10% ขึ้นไป  หรือไม่ก็นำปันผลที่เป็นเงินสดไปลงทุนในธุรกิจอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า  โดยวิธี  “ทบต้น”  ด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่า 10% ต่อปีไปเรื่อย ๆ  นี้เองที่ทำให้ความมั่งคั่งของบัฟเฟตต์สูงขึ้นเรื่อย ๆ  ติดต่อกันถึง 60 ปี

            นักลงทุนที่เน้นหุ้นที่โตเร็วแต่ไม่มีความสม่ำเสมอของกำไรและไม่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนนั้น  ผมคิดว่าในบางช่วงโดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดหุ้นบูมนั้น  อาจจะทำกำไรได้ดีมาก แต่ในระยะยาวแล้ว  โอกาสผิดพลาดก็อาจจะสูงและทำให้ขาดทุนหนัก  โดยเฉลี่ยแล้ว  ผลตอบแทนก็อาจจะต่ำกว่าการลงทุนแบบของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ได้

            ข้อสาม บริษัทจะต้องดำเนินการโดยผู้บริหารที่ซื่อสัตย์และมีความสามารถ  แต่บัฟเฟตต์เองไม่ได้คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้บริหาร  ถ้าผู้บริหารไม่อยู่แล้วธุรกิจก็อาจจะมีปัญหาได้  เขาคิดว่าธุรกิจจะต้องดีโดยตัวของมันเองไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารคนใดคนหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม  หากพบว่าผู้บริหารโกงหรือมีการฉ้อฉลในบริษัท  เขาก็คงไม่ลงทุนซื้อหุ้น  สำหรับประเด็นเรื่องนี้นั้น  ดูเหมือนว่าบัฟเฟตต์จะไม่มีเกณฑ์อะไรที่ชัดเจนว่าแบบไหนจึงจะเรียกว่า “ยอมรับไม่ได้”  สิ่งที่เห็นก็คือ  ถ้าเขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของบริษัทแล้วพบว่าผู้บริหาร  “โกง” เขาก็มักจะ “บีบ” หรือปลดผู้บริหารรายนั้น

            ข้อสุดท้ายสำหรับการเลือกซื้อหรือลงทุนในหุ้นก็คือ  ราคาหุ้นต้องมีเหตุผลหรือยุติธรรม  ถ้าพูดง่าย ๆ  ก็คือ  ค่า PE ไม่ควรจะสูงเกินไป  ในช่วงเร็ว ๆ นี้ดูเหมือนว่าค่า PE ที่บัฟเฟตต์จ่ายจะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 20 เท่าเศษ ๆ  ว่าที่จริงกฎข้อนี้ในอดีต บัฟเฟตต์ ใช้คำว่า “ราคาหุ้นต้องน่าสนใจมาก ๆ”  นี่อาจจะเป็นเพราะว่าในระยะหลัง ๆ  การหาหุ้นถูกที่มีขนาดใหญ่ที่เป็นเป้าหมายในการซื้อหรือเทคโอเวอร์นั้นยากมาก  เขาจึงใช้คำว่าราคาต้องมีเหตุผลหรือไม่แพงแทนคำว่าราคาถูกหรือถูกมาก

            ก่อนจะจบนั้น  ผมอยากจะเสริมว่า  ในกรณีที่เป็นการเทคโอเวอร์บริษัท  สิ่งที่บัฟเฟตต์เน้นอีกข้อหนึ่งก็คือ  เขาต้องการกิจการที่สามารถทำกำไรได้ดีวัดจากผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ต้องสูงพอและบริษัทควรจะไม่มีหนี้หรือมีหนี้น้อย  ในกรณีของหุ้นจดทะเบียนในตลาดเองนั้น  เขาอาจจะไม่ได้พูดย้ำหรือเน้น  แต่ผมคิดว่าเกณฑ์หรือแนวความคิดก็คงคล้ายกัน  อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ข้อนี้คงมีความยืดหยุ่นมากกว่าเรื่องอื่น

            เกณฑ์ 4 ข้อของบัฟเฟตต์ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น  ดูแล้วก็  “ธรรมดาและง่ายมาก”  แต่คนส่วนใหญ่หรือแม้แต่ “มืออาชีพ”  เองก็ไม่สามารถปฏิบัติตามได้  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  การถือหุ้นยาวแบบ  “ไม่มีกำหนด”  และไม่สนใจหรือไม่หวั่นไหวกับการขึ้นลงของราคาหุ้นและดัชนีตลาด ประเด็นก็คือ  คนที่ใช้หลักการของบัฟเฟตต์นั้นมักจะมีเวลาที่กำหนด  เช่น  ต้องรายงานผลการลงทุนรายเดือนหรือรายปีหรือต้องการใช้เงินในเวลาที่กำหนด  บางคนเมื่อลงทุนซื้อไปแล้วหุ้นไม่ขึ้นในระยะเวลาที่หวังก็เริ่มไม่แน่ใจว่าหลักการของบัฟเฟตต์ยังใช้ได้ไหมในช่วงเวลานี้   บางคนอาจจะเชื่อหลักการแต่คิดว่าตนเองวิเคราะห์ผิดหรือไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะบอกได้ว่าหุ้นหรือบริษัทนั้นเข้าเกณฑ์มีความได้เปรียบที่ยั่งยืนจริงไหม  และสุดท้ายก็คือ  คนจำนวนมากไม่แน่ใจเรื่องราคาหุ้นว่า PE เท่าไรจึงจะเรียกว่ายุติธรรมหรือมีเหตุผล  ทั้งหมดนี้ทำให้คนจำนวนมากมักจะ  “อ้าง”บัฟเฟตต์  แต่ไม่ปฏิบัติตาม  เขารอไม่ได้หรือไม่อยากรอ  และในเกมของการลงทุนนั้น  คนรอไม่ได้ก็คือ  “ผู้แพ้”

http://portal.settrade.com/blog/nivate/2016/05/24/1731
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่