ปลอดภัยไว้ก่อน ใช้สมาร์ทโฟนแบบรู้เท่าทัน

ขอขอบคุณที่มา : http://www.posttoday.com/life/life/430974
โดย...พริบพันดาว ภาพ... คลังภาพโพสต์ทูเดย์


ในปี 2554 ผลสรุปจากการประชุมของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) องค์การอนามัยโลก World Health Organization (WHO) เกี่ยวกับอันตรายจากคลื่นและเสาสัญญาณของโทรศัพท์มือถือ มีสาระสำคัญๆ

1.การประชุมได้พิจารณาผลงานวิจัยนับร้อยชิ้นจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
2.ผลงานวิจัยทั้งหมดไม่เพียงพอหรือไม่สามารถบอกได้ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือในกรณีปกติทั่วไป ทำให้เพิ่มโอกาสการเป็นเนื้องอกสมอง
3.งานวิจัยที่บ่งบอกว่าการใช้โทรศัพท์มือถือเยอะเกินไปเป็นเวลานาน (มากกว่า 30 นาที/วัน เป็นเวลากว่า 10 ปี) เพิ่มโอกาสการเป็นเนื้องอกสมอง 40% มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ (ทุกคนมีโอกาสเป็นเนื้องอกสมอง แต่ถ้าคุณใช้มือถือมากเกินไป โอกาสที่จะเป็นเนื้องอกมีมากขึ้น) อย่างไรก็ตามเป็นงานวิจัยเพียง 1 ชิ้น ซึ่งจะต้องรองานวิจัยจากกลุ่มอื่นยืนยันต่อไป
4.ที่ประชุมจัดให้คลื่นไมโครเวฟจากโทรศัพท์มือถือเป็นปัจจัยที่อยู่ในกลุ่ม 2B คือหมายถึงกลุ่มที่อาจจะเพิ่มโอกาสการเป็นเนื้องอกสมอง (Possibly carcinogenic to humans) ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับเครื่องสำอางบางชนิด


สำหรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถืออยู่ในช่วงไมโครเวฟมีความถี่ประมาณ 800-2500 MHz (1 MHz = 1 ล้านลูกคลื่นต่อวินาที) เป็นคลื่นที่สามารถทะลุเข้าไปในร่างกายมนุษย์หรือเนื้อเยื่อได้ง่าย (ต่างกับคลื่นแสงที่ไม่สามารถทะลุผิวหนังเข้าไปลึกๆ ได้) และเป็นช่วงคลื่นเดียวกับที่ใช้ในเตาไมโครเวฟ ถึงแม้กำลัง (อัตราพลังงานที่ใช้ต่อวินาที) ของโทรศัพท์มือถือ (1-2 วัตต์) จะน้อยกว่าของเตาไมโครเวฟ (ประมาณ 1,000 วัตต์) แต่เนื่องจากเป็นความถี่ในช่วงเดียวกัน จึงทำให้เกิดความกังวลเรื่องอันตรายจากคลื่นในช่วงนี้ขึ้นมา ซึ่งความกังวลหลักมีอยู่ 2 ประเด็น คือ คลื่นไมโครเวฟจากโทรศัพท์มือถือทำให้เซลล์สมองเกิดความผิดปกติโดยตรงหรือไม่? และความร้อนจากคลื่นไมโครเวฟส่งผลทางอ้อมต่อสมองหรือไม่อย่างไร?
___________________________
กสทช.ยืนยันไม่เป็นอันตราย
           ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชี้ว่าระบบการสื่อสารโดยใช้โทรศัพท์มือถือได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนในยุคดิจิทัล และยังเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ
          “กสทช.ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่และส่งเสริมให้มีบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ อันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศแล้ว ยังทำหน้าที่กำกับดูแล กำหนดค่ามาตรฐาน และตรวจวัดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ให้มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบสถานีฐาน
_________________________________
ฟังและเชื่ออย่างมีเหตุและผลรองรับ
ผศ.ดร.ชาญไชย ไทยเจียม กรรมการสมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย และเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  แม้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์มือถือจะเป็นคลื่นเดียวกับตู้ไมโครเวฟ ไม่ได้มีอันตรายเท่ากับตู้ไมโครเวฟ เนื่องจากย่านความถี่ไม่ได้มีความถี่สูงมากพอที่จะทำลายดีเอ็นเอมนุษย์ ซึ่งจะเปลี่ยนโครงสร้างดีเอ็นเอมนุษย์ทำให้กลายพันธุ์หรือทำให้เกิดเนื้องอกเป็นมะเร็ง
ในทางทฤษฎีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีอยู่ 2 ประเภท คือ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากลุ่มชนิดไม่ก่อไอออน (Non-ionizing radiation) ไม่ก่อให้อะตอมมีการแตกตัวเป็นไอออน ซึ่งย่านความถี่ใช้งานของโทรศัพท์มือถือและความถี่คลื่นวิทยุกระจายเสียง สัญญาณไว-ไฟเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายจัดให้อยู่ในกลุ่มประเภทนี้ ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่มีผลกระทบในเชิงความร้อนเท่านั้น การติดตั้งและการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือเป็นชนิดไม่ก่อไอออนที่มีกำลังใช้งานต่ำ

" ถ้าผมกลัว...ผมกลัวโทรศัพท์ที่เราถือมากกว่า เพราะบริเวณใดที่อับสัญญาณหรือสัญญาณมือถืออ่อน โทรศัพท์มือถือจะถูกส่งด้วยกำลังสูงสุดตลอดเวลา แบตเตอรี่จะหมดเร็ว และทำให้เกิดความร้อนที่ข้างหูมากเป็นกรณีพิเศษ ต้องอยู่ในระยะที่เหมาะสมของสถานีฐาน ตัวสัญญาณโทรศัพท์มือถือจะมีขีดสัญญาณของความแรง ต้องดูว่ามีความแรงของสัญญาณพอสมควร ไม่ใช่ไปโทรในที่อับสัญญาณหรือไม่จำเป็นก็อย่าใช้ เพราะถ้าใช้ซึ่งโทรศัพท์จะแนบกับหูผู้ใช้ ซึ่งต้องให้ความรู้ว่าขณะที่ไม่ใช้โทรศัพท์แต่ถ้ายังอยู่กับตัว โทรศัพท์ก็จะเชื่อมต่อกับสถานีฐานตลอดเวลา ถ้ากลัวก็เสี่ยงตลอดเวลา มีวิธีเดียวคือต้องปิดโทรศัพท์ไม่ต้องใช้”
______________________________

  ข้อแนะนำการใช้สมาร์ทโฟนให้ปลอดภัย

   งานวิจัยของคนไทยที่ชื่อ “การจำลองโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยเพื่อวิเคราะห์ค่าอัตราการดูดกลืนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและการถ่ายเทความร้อนในศีรษะมนุษย์ขณะใช้โทรศัพท์มือถือ” ที่ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2554 ดร.ธีรพจน์ เวศพันธุ์ และกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรี คือ วัจน์กร คุณอมรเลิศ, จันทกานต์ นูรักษา และอภิชาติ แซ่ซือ จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันพัฒนาโปรแกรมที่ใช้ในการจำลองการกระจายตัวของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า รวมถึงความร้อนที่เกิดขึ้นบริเวณสมอง เพื่อทำการศึกษาผลกระทบจากการใช้งานโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้งานที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่ที่สถานการณ์แตกต่างกัน ระยะเวลาที่ต่างกัน ที่ความถี่ต่างๆ จนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีและเป็นที่ยอมรับทั้งในเวทีวิจัยทั้งระดับนานาชาติและระดับชาติ ได้มีข้อแนะนำสำหรับผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือดังนี้
          1.หลีกเลี่ยงการใช้งานโดยไม่จำเป็น หากต้องใช้ก็ใช้ให้น้อยที่สุด
          2.หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ในที่แคบ เช่น ในรถยนต์ เนื่องจากคลื่นจะมีการสะท้อนเข้าสู่ร่างกายของผู้ใช้งานได้เป็นปริมาณมากขึ้น
          3.เวลานอนพยายามอย่าวางโทรศัพท์มือถือไว้ใกล้ตัว
          4.หากต้องพกพาโทรศัพท์มือถือ พยายามหาซองใส่หรือใส่ในกระเป๋าเพื่อลดการแพร่ของคลื่นสู่ร่างกาย
          5.พยายามใช้อุปกรณ์เสริม เช่น Small talk, Bluetooth หรือ Hand Free อย่าพยายามพูดโทรศัพท์โดยยกมาแนบกับหูโดยตรง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่