ไอซีทีกดปุ่มบรอดแบนด์ 7หมื่น หมู่บ้าน มิ.ย.นี้


ไอซีทีกดปุ่มบรอดแบนด์ 7หมื่น หมู่บ้าน มิ.ย.นี้
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

          มิ.ย.นี้คิกออฟ "ดิจิทัลไทยแลนด์" เคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่สู่ปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีไอซีที ลงทุน 20,000 ล้านบาท ปูพรมบรอดแบนด์กว่า 2 แสนกิโลเมตร เข้าถึง  70,000 หมู่บ้าน สร้าง "ศูนย์ดิจิทัลชุมชน" ยกระดับเกษตร "สมาร์ทฟาร์มเมอร์" ผนึกเอกชนปั้น "สตาร์ตอัพ"

          นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้เป็นเวลาของโลกยุคดิจิทัล โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันและธุรกิจ ไม่ต่างไปจากการก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมอีกครั้ง และไม่ใช่แค่อุตสาหกรรม แต่รวมไปถึงด้านการศึกษา เศรษฐกิจและสังคมในทุกมิติ ซึ่งเป็นกระแสที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และประเทศไทยต้องก้าวตามให้ทัน มิเช่นนั้นจะตกขบวน และความท้าทายของประเทศไทยคือการปฏิรูปให้ทัน เพราะหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ของประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก คือ เทคโนโลยีดิจิทัล และไอซีที ดังนั้น สิ่งที่จะเห็นต่อไปนี้ คือ การเริ่มต้นวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไปถึงทุกหมู่บ้าน ทั่วประเทศ ตามโครงการยกระดับเครือข่ายโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งกระทรวง ไอซีทีได้ยกร่างข้อกำหนดทางเทคนิค (TOR) เสร็จแล้ว พร้อมจัดซื้ออุปกรณ์โดย บมจ. ทีโอทีจะเป็นแกนนำในการวางโครงข่าย และจะเริ่มติดตั้งได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ ทำให้ภายในสิ้นปี 2560 ทั้ง 70,000 หมู่บ้านทั่วประเทศจะเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ทั้งหมด

          พร้อมเริ่มโครงการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนนำร่อง 600 แห่งให้เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการสร้างเครือข่ายศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างเกษตรกรให้เป็น "สมาร์ทฟาร์มเมอร์" และสร้างความแข็งแรง ให้วิสาหกิจชุมชน ต่อยอดผลิตภัณฑ์ OTOP โดยเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และเครือข่ายของมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

          โดยกระทรวงไอซีทีได้ประกาศ TOR สำหรับอัพเกรดศูนย์นำร่อง 600 แห่ง เพื่อเตรียมจัดซื้อจัดจ้างแล้วเมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ด้วยวงเงินงบประมาณ 214.47 ล้านบาท และวางกรอบดำเนินการไว้ 180 วัน นับจากลงนามในสัญญาจ้าง และจะเริ่มโครงการสร้างเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะดิจิทัลสตาร์ตอัพ เพื่อสร้างธุรกิจต่อเนื่องทั้งแอนิเมชั่น เกม และเทคสตาร์ตอัพ โดยมีการลงนามในบันทึกความตกลงร่วมกัน (MOU) กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, ศรีปทุม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมถึงธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย ไทยพาณิชย์ บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต เอไอเอส ดีแทค และกลุ่มทรู ในงานดิจิทัลไทยแลนด์ 2016 เพื่อจับมือกันสร้างศูนย์บ่มเพาะในแต่ละสถาบันการศึกษา

          "จะมีการแยกเป็นศูนย์บ่มเพาะเฉพาะทางตามความเชี่ยวชาญเพื่อให้เกิดความหลากหลาย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเน้นด้าน e-Tourism & Health Care เทคโนโลยีพระจอมเกล้าทั้ง 2 แห่งเน้นด้านหุ่นยนต์ ส่วนค่ายมือถือมีโครงการบ่มเพาะอยู่แล้วก็จะมารวมพลังวางแนวคิดร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนแต่ก่อน จะเปิดอบรมให้ผู้ที่สนใจไม่ได้จำกัดเฉพาะนักศึกษาแต่ละสถาบัน ช่วงแรกเน้นที่กรุงเทพฯก่อนขยายไปหัวเมืองใหญ่ให้ครอบคลุม โดยจะตั้งเป้าว่าแต่ละปีต้องบ่มเพาะบุคลากรให้ได้เท่าไร และต้องวัดผลคุณภาพด้วย"

          โดยรัฐบาลจะมีงบประมาณบางส่วนเข้ามา สนับสนุน นอกเหนือแต่ละหน่วยงานจะมีงบประมาณมาลงทุนร่วมด้วย ทั้งมีบุคลากรและสถานที่สนับสนุนให้ ประเดิมที่อาคารของ บมจ.กสท โทรคมนาคม บางรัก และกำลังเจรจากับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอเช่าใช้ตึกเดิมข้างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยจะร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

          นอกจากนี้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ยังจะให้ความร่วมมือในการนำสตาร์ตอัพที่ผ่านการบ่มเพาะแล้วไปอบรมต่อที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทที่กระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก เชื่อว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการดึงให้บริษัทเข้ามาร่วมลงทุนสร้างศูนย์บ่มเพาะในไทยต่อไปได้ในอนาคต

          "มิ.ย.นี้ถือเป็นการคิกออฟโครงการนำร่องภายใต้นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลเกือบทั้งหมด ทำให้ประชาชนเห็นผลที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้มากขึ้น และเป็นความท้าทายของกระทรวงไอซีที เพราะการวางโครงข่ายบรอดแบนด์ถึงทุกหมู่บ้าน จากการสำรวจทั้ง 7 หมื่นหมู่บ้านมีประมาณ 3 หมื่นแห่งที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้ว และกว่าจะถึงจุดนี้ใช้เวลาวางโครงข่ายเกือบ 10 ปี แต่โครงการนี้จะไม่ถึง 2 ปีต้องลากสายไฟเบอร์ออปติกรวมกว่า 2 แสนกิโลเมตรไปให้ครบ โดยปีนี้งบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทจะเริ่มทยอยเบิกจ่าย และต้นปีนี้มีงบฯอีก 5,000 ล้านบาท สำหรับโครงการลงทุนขยายอินเทอร์เน็ตเกตเวย์และเคเบิลใต้น้ำเชื่อมต่อระหว่างประเทศ รองรับการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นทยอยเบิกจ่ายด้วย"

          ในส่วนของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ได้มีการศึกษาโมเดลในการตั้งกองทุนอินฟราสตรักเจอร์ดึงเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุนคาดว่าภายในไตรมาส 3 น่าจะเห็นความชัดเจนของผลการศึกษา

          "ทุกโครงการต้องมุ่งผลักดันให้สู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 คือการสร้างประเทศไทยในอนาคตที่มั่งคั่งและยั่งยืนให้ได้ภายใน 20 ปีจากนี้ ถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยดิจิทัล"


แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 4)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่