แปลงโฉม 'ไอซีทีชุมชน' อัพเกรดสู่ศูนย์การเรียนรู้ดิจิทัล


แปลงโฉม 'ไอซีทีชุมชน' อัพเกรดสู่ศูนย์การเรียนรู้ดิจิทัล
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559



          อนุมัติมาเรียบร้อยแล้วสำหรับโครงการนำร่องนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้กรอบงบประมาณ 3,755 ล้านบาท โดยโครงการที่มีการใช้งบประมาณสูงเป็นอันดับ 2 ได้แก่ "งานพัฒนาศูนย์ดิจิทัลชุมชน" 717 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายจะอัพเกรดศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนให้เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน 600 แห่ง ภายในปี 2559

          สำหรับ ศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชน ถือเป็นผลงานสำคัญของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มาตั้งแต่ปี 2550 และเป็นโครงการหลักที่ได้รับงบประมาณสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของกระทรวงไอซีที ซึ่งมุ่งหวังจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีของคนในชุมชนทั่วประเทศ โดยกระทรวงไอซีทีจะสนับสนุนการตั้งศูนย์ด้วยการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ระบบ การอบรมเจ้าหน้าที่ดูแลศูนย์ และค่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ตลอดระยะเวลา 1 ปีแรก จากนั้นแต่ละศูนย์จะต้องบริหารจัดการเอง ซึ่งเกือบทั้งหมดที่เปิดดำเนินการในปัจจุบันสิ้นสุดระยะการได้รับงบฯสนับสนุนจากกระทรวงไอซีทีแล้ว

          "อุตตม สาวนายน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เปิดเผยว่า ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้ไอซีทีชุมชนมี 1,980 แห่งทั่วประเทศ และได้มีการประเมินผลเพื่อจัดกลุ่มศักยภาพออกเป็น 4 ระดับ โดยเกณฑ์การประเมินผล นอกจากจะมาจากจำนวนวันที่เปิดให้บริการ คณะกรรมการบริหารจัดการศูนย์ การมีผู้ดูแลระบบ มีกฎระเบียบ และจำนวนการเข้าใช้บริการแล้ว ยังมาจากการรับรู้และความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ ซึ่งประเมินโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติด้วย

          สำหรับศูนย์ไอซีทีชุมชนที่ได้ผ่านเกณฑ์ระดับดีมาก หรือระดับ A มีร้อยละ 14.3 ระดับ B มีร้อยละ 40.8 ระดับ C มีร้อยละ 34.4 และระดับ D มีร้อยละ 0.1 แต่ยังมีศูนย์ที่ประเมินผลแล้วแต่ยังประเมินผลไม่ได้ เพราะมีกลุ่มตัวอย่างไม่ครบอีกจำนวนหนึ่ง ขณะที่ศูนย์ไอซีทีที่ได้ระดับ C และ D นั้นจัดอยู่ในระดับที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ เครื่องคอมพิวเตอร์เสียและไม่มีอินเทอร์เน็ต ทำให้ไม่มีคนมาใช้บริการ ซึ่งกระทรวงไอซีทีวางแผนที่จะเข้าไปแก้ปัญหาและปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยอาจร่วมมือกับสถาบันอาชีวศึกษาให้เข้ามาซ่อมแซมอุปกรณ์ที่เสียให้ชุมชน คาดว่า จะเร่งแก้ไขปัญหาทั้งหมดให้ได้ภายในเดือน ก.ย.นี้

          ขณะที่การยกระดับศูนย์ไอซีทีชุมชนเป็น "ศูนย์ดิจิทัลชุมชน" กระทรวงไอซีทีได้คัดเลือกศูนย์ที่มีความพร้อมแล้ว 268 แห่ง มีทั้งกลุ่มที่ได้รับการประเมินผลระดับ A และ B ที่อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือเทศบาล เป็นต้น เนื่องจากมีเจ้าภาพในการดูแลชัดเจน ตัวอย่างชุมชนที่ได้รับคัดเลือกให้มีโอกาสยกระดับเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านหลวง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ และชุมชนพระธาตุห้าดวง อ.ลี้ จ.ลำพูน ทั้ง 2 แห่งเป็นชุมชนที่มีจุดเด่นเรื่องของสินค้าชุมชนและการท่องเที่ยว ซึ่งการอัพเกรดศูนย์ลักษณะนี้สอดคล้องกับแนวทางตามโครงการนำร่องอื่น ๆ ที่กระทรวงไอซีทีจะดำเนินการด้วย เช่น การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกิจ SMEs

          ส่วนงบประมาณประจำปีของกระทรวงไอซีทีเดิมตั้งไว้ 90 ล้านบาท ในการตั้งศูนย์ไอซีทีชุมชนเพิ่มอีก 300 แห่ง โดยมีบริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา ยังต้อง เดินตามเงื่อนไขสัญญาจ้างเดิมในการตั้งศูนย์ไอซีทีชุมชนไปก่อน เมื่อสร้างเสร็จแล้ว จึงค่อยอัพเกรดเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน

          สำหรับการยกระดับเป็น "ศูนย์ดิจิทัลชุมชน" เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างภาครัฐและประชาชน เป็นช่องทางการรับบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย และส่งเสริมการประกอบอาชีพของประชาชน จะมีการปรับรูปแบบให้มีภาพลักษณ์ที่เหมือนกันทุกแห่ง และให้มีลักษณะและบรรยากาศที่เอื้อต่อการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้ โดยอาจปรับเปลี่ยนจากรูปแบบห้องเรียนคอมพิวเตอร์มาเป็นห้องที่มีพื้นที่ในการพูดคุย โดยการนำคอมพิวเตอร์ไปไว้ริมห้อง แล้วมีพื้นที่ตรงกลางเป็นโต๊ะให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรืออาจมีห้องเพิ่มเพื่อทำเป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ของแต่ละศูนย์

          โดยกระทรวงไอซีทีได้วางงบประมาณในส่วนการยกระดับศูนย์ 300 แห่งไว้ประมาณ 221 ล้านบาท โดยจะใช้ในส่วนของ การปรับปรุงพื้นที่ศูนย์ละ 1 แสนบาท ใช้ในการซื้ออุปกรณ์เพิ่ม และใช้เป็นค่าใช้จ่าย สำหรับฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในการดูแลศูนย์ ที่จะเป็นเทรนเนอร์อบรมให้ความรู้ประชาชนต่อด้วย ซึ่งแต่ละชุมชนจะมีเทรนเนอร์ 2 คน

          "การที่ประชาชนมีสมาร์ทโฟนใช้มากขึ้น จึงจะเน้นไปที่การสอนประชาชนให้ใช้ สมาร์ทโฟนเพื่อการทำอีคอมเมิร์ซ เพราะการใช้สมาร์ทโฟนทำให้สามารถทำธุรกิจได้ตลอดเวลา แม้ไม่ได้อยู่ที่ศูนย์ดิจิทัลชุมชนก็ตาม ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีช่องทางการขายผลิตภัณฑ์มากขึ้น เพื่อความเป็นอยู่และเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อไป"

          ส่วนความร่วมมือในการพัฒนาศูนย์บริการของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จำนวน 1,631 แห่ง ให้เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนจะเน้นไปที่การติดตั้งอินเทอร์เน็ตเพื่อให้บริการ WiFi ในพื้นที่ให้เพียงพอ และจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการค้าขายออนไลน์ เพราะการปรับเปลี่ยนห้องเรียนของ กศน.อาจกระทบกับการเรียนการสอนได้ จึงจะใช้งบประมาณหลักในการให้บริการ WiFi และการจัดอบรม

          นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Village e-Commerce เป็นโครงการที่เน้นให้ชุมชนค้าขายผลิตภัณฑ์ของชุมชนผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษานำนักศึกษามาเป็นวิทยากรในการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สินค้าชุมชนมีคุณภาพและน่าสนใจมากขึ้น โดยใช้พื้นที่ศูนย์ดิจิทัลชุมชนด้วย ซึ่งในการผลักดันโครงการยกระดับศูนย์ดิจิทัลชุมชนมีบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้วางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และมีบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เข้าไปช่วยจัดส่งสินค้าของชุมชนในราคาพิเศษ เพื่อเป็นการช่วยเหลืออย่างครบวงจร

แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 32,29)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่