การสอนลูกนอนเอง ตอนที่ 3

อ่านตอนก่อนๆหน้าได้ที่นี่ค่ะ
ตอนที่ 1 http://ppantip.com/topic/35130955
ตอนที่ 2 http://ppantip.com/topic/35138620
หรือตามไปอ่านที่บล็อคได้ที่นี่ค่ะ http://primlilboo.wix.com/bonzaboo

การสอนลูกนอนเอง ตอนที่ 3

ตอนนี้จะสำหรับพ่อแม่ทียังลังเลและไม่แน่ใจว่าควรจะหัดดีไหมค่ะ

เพื่อนๆหลายคนมาปรึกษาว่าอยากหัดลูกนอนเองบ้าง ต้องทำยังไง คำถามแรกที่เราจะถามคือ พ่อแม่พร้อมหรือเปล่า? เพราะฟังลูกร้องไห้พ่อแม่เจ็บกว่าหลายเท่าค่ะ (ผ่านมาแล้ว) และถ้าพ่อแม่ไม่พร้อมแล้วเปลี่ยนใจกลางคันผลเสียที่ตามมานั้นยิ่งใหญ่มาก(ไว้จะอธิบายตอนหลังๆว่าใหญ่ยังไง) เวลาคนมาถามเราว่าทำยังไงให้ลูกนอนยาวหลับง่ายแบบบีบีกับดีแลน เราตอบว่าก็ให้เค้าร้องละหลับไปเอง ฟังดูง๊ายง่าย (และโหด) แต่จริงๆไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดนะคะ เราวางแผนเตรียมพร้อมเด็กๆ(และเราเอง) เป็นเดือนๆกว่าจะเริ่มได้ วิธีการทำมันซับซ้อนกว่านั้นมาก ที่นี่จะมีคนที่คอยให้คำปรึกษาและคอยสอนพ่อแม่ให้หัดเด็กนอนเอง คือทำกันเป็นอาชีพเลยว่างั้น(มันยากถึงขนาดนั้น) เพราะว่าอะไร? เพราะว่าพ่อแม่ไม่มีคนไหนอยากให้ลูกร้องไห้หรอกค่ะ วัตถุประสงค์ของอาชีพที่สอนนอนนี้ก็คือช่วยวางแผนสอนพ่อแม่ให้หัดลูกนอน ใครๆก็ปล่อยให้ลูกร้องจนหลับได้ถ้าใจแข็งพอ แต่ทำยังไงให้ร้องน้อยที่สุดนั่นเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แต่จากที่ศึกษามามันทำได้ค่ะ การสอนนอนแบบปล่อยให้ร้องถ้าทำถูกต้องจริงๆจะได้ผลเร็วมาก

สำหรับคุณแม่ที่กำลังตัดสินใจว่าเมื่อไหร่ถึงจะควรหัด? และมันมีช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการหัดนอนหรือไม่? คำตอบ ตามหลักทั่วไปตอบคือ แล้วแต่ตำราค่ะ 5555 แต่ถ้าถามเรา ช่วงเวลาที่เหมาะสมนั้นมี (ที่ต้องตอบแบบนี้เพราะมีหลายตำรามาก บ้างก็ว่าตั้งแต่ 8อาทิตย์ บ้างก็ว่าหกเดือน บ้างก็ว่าไม่ควรเลยตลอดไป!) ตามหลักการแพทย์เด็กตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปไม่จำเป็นที่จะต้องกินกลางดึก แต่เล็กกว่าหกเดือนลงไปอาจจะต้องการมื้อดึกอยู่เพราะว่ากระเพาะเค้าเล็ก ต่อให้กินอิ่มแค่ไหนก็ได้แค่เท่าที่กระเพาะมันรับได้ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้อิ่มยาวถึงเช้า ถามคือแล้วหัดนอนได้ไหมถ้ายังเล็กกว่าหกเดือน ตอบคือได้ค่ะ แต่ยังต้องตื่นมาให้นมอยู่ ครั้งหรือสองครั้งแล้วแต่อายุ ทำยังไงนั้นไว้จะเจาะลึกอีกทีตอนต่อๆไป


สำหรับความเห็นเรานั้น ถ้าเลือกได้ ช่วง 4.5 -6เดือนคือช่วงที่เหมาะสมที่สุดด้วยเหตุผลหลายๆประการ

1. ผ่านการเปลี่ยนแปลงในการนอนช่วงสี่เดือนไปแล้ว ในช่วงปีแรกเด็กจะผ่านการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในการนอน (Sleep Regression) การเปลี่ยนแปลงนี้มาเป็นช่วงๆ มาจากการเปลี่ยนแปลงของสมองทำให้รูปแบบการนอนเปลี่ยนไป แม้จะมีหลายๆการเปลี่ยนแปลงในปีแรกแต่การเปลี่ยนแปลงในเดือนที่สี่นั้นเป็นอันที่สำคัญมาก เพราะว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ทารกมีวงจรการนอนเหมือนกับผู้ใหญ่ คือหลับไม่ลึกไปหลับลึกแล้วกลับมาหลับไม่ลึกอย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงนี้ทารกจะหลับลึกตลอดเวลา สังเกตุได้ว่าทารกเพิ่งเกิดจะหลับที่ไหนก็ได้เสียงดังยังไงก็ตื่นยาก แต่พอมาช่วง 3-4เดือนเค้าเริ่มที่จะนอนยากเวลามีแสงสว่างมากๆหรือคนในบ้านเสียงดัง เริ่มหลับสั้นลงเพราะเริ่มเข้าวงจรครึ่งหลับครึ่งตื่น นอกจากนั้นหลังจากสี่เดือนไปแล้วเราจะเริ่มเห็นรูปแบบการนอนของลูกชัดเจนขึ้น ประมาณว่าเข้านอนกี่โมงตื่นกี่โมง ซึ่งจะช่วยให้กำหนดเวลาเข้านอนง่ายขึ้น

2. ทารกที่อายุต่ำกว่าสี่เดือนนั้นยังเล็กเกินไป เราคิดว่าต่ำกว่าสี่เดือนเค้าต้องการพ่อแม่ให้อุ้มให้กอดจริงๆ  ไม่ได้ทำไปเพราะติดเป็นนิสัย อีกอย่างนึงเด็กโตกว่าสี่เดือนการกินนมเค้าพอจะเดาได้นิดนึง เพราะถ้าเราเดาตารางการกินนมไม่ออกจะเกิดปัญหามากมายตามมาเพราะเราจะไม่รู้ว่าไอ้ที่ร้องนี่เพราะว่าหิวหรือว่าง่วง

3 เกินกว่าหกเดือนเด็กเริ่มที่จะคว่ำคลานหรือนั่ง พัฒนาการใหญ่ๆแบบนี้จะเป็นอุปสรรคนิดนึงในการหัดนอนเพราะเวลาเค้าเรียนรู้ท่าใหม่ๆเค้าจะนอนยากแล้วก็จะนอนในท่านั้นไม่เป็น อย่างดีแลนช่วงที่เค้าคว่ำตัวเป็นใหม่ๆเค้าจะพลิกตัวในขณะที่หลับอยู่แล้วก็ตื่นมาร้องโวยวายเพราะว่าตัวเองนอนคว่ำหน้าไม่เป็น(เราให้เค้านอนหงาย) แต่ก็ยังไม่เก่งพอที่จะพลิกตัวกลับอีกรอบ ก็จะตื่นมาร้องบ่อยๆกลางดึก เพราะฉะนั้นถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็พยายามหลีกเลี่ยง การหัดนอนสำหรับเราทำช่วงที่เค้ายังเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนไม่ได้มากจะดีที่สุด เพราะถ้ายิ่งโตมากก็มีเรื่องต้องห่วงเยอะขึ้น อย่างตอนหัดบีบีเค้าเดินได้แล้วก็ห่วงมากกลัวว่าเค้าจะปีนเปลออกมาช่วงที่หัดนอน นอกจากกังวลเรื่องร้องไห้แล้วยังมาต้องกังวลเรื่องเจ็บตัวอีก เราว่าถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงซะ

4 เด็กประมาณหกเดือนสมองจะเริ่มพัฒนาและจำสิ่งของหรือคนได้แม้ว่าจะมองไม่เห็น สำหรับเด็กเล็กๆ สิ่งของจะมีตัวตนต่อเมื่อเค้าเห็นมันเท่านั้น ถ้าไม่เห็นก็ไม่มีตัวตนว่างั้น หลังจากหกเดือนเค้าจะเริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่เค้าเห็นนั้นยังมีตัวตนอยู่แม้ว่าเค้าจะไม่เห็นมันก็ตาม เค้าจะเริ่มรู้ว่าแม่มีคนเดียว แม่เดินไปในครัวแม้จะมองไม่เห็นแต่เค้ารู้ว่าแม่ยังอยู่ที่ไหนซักที่ล่ะ แล้วมีผลกับการหัดนอนยังไง? มันมีผลกระทบตรงที่ว่าเด็กจะเริ่มที่จะ "คิดถึง" เป็น(ฟังดูน่ารักมากเลย) เมื่อเค้าคิดถึงแล้วยังไง? ก็ร้องหาแม่สิคะซึ่งก็จะทำให้การหัดนอนยากขึ้นไปอีก ไอ้พัฒนาการอันนี้จะเริ่มที่หกเดือน มันจะส่งผลให้เด็กติดแม่ซึ่งไม่ใช่เป็นกันข้ามคืน แต่เริ่มจากหกเดือนไปจนถึงเกือบๆสองขวบนู่นอ่ะค่ะ เพราะฉะนั้นสำหรับเราถ้าหัดนอนก่อนช่วงนี้จะดีมากเพราะไม่งั้นจะยากขึ้นถ้าเค้าเริ่มติดแม่มากๆ

แล้วถ้าลูกอายุเกินกว่าหกเดือนแล้วยังหัดนอนได้อยู่ไหม? ได้ค่ะแต่ต้องวางแผนกันใหม่เพราะว่ามันมีปัจจัยอื่นๆที่อาจจะเป็นอุปสรรคเพิ่มขึ้นมา เราจะเขียนแนะนำการหัดนอนเน้นช่วงอายุ 4.5-6 เดือนเท่านั้นนะคะ เพราะว่ามันจะยาวมากไปถ้าให้ครอบคลุมทุกช่วงอายุ เอาเป็นว่าใครอยากรู้วิธีการในช่วงอายุอื่นๆก็ส่งคำถามมาแล้วเราจะช่วยตอบเป็นกรณีๆไป


การหัดลูกนอนเองแบบปล่อยให้ร้องทำให้เราเป็นพ่อแม่ที่แย่หรือเห็นแก่ตัวเกินไปหรือไม่?
สำหรับเรานะคะ เราไม่เชื่อว่าการหัดลูกนอนเป็นการเห็นแก่ตัว เราเป็นคนเชื่อในประโยคที่ว่า " Short term pain for long term gain" หมายถึงทนเจ็บระยะสั้นเพื่อได้ผลดีในระยะยาว ประเด็นการหัดลูกนอนเป็นที่ถกเถียงกันมากในกลุ่มมนุษย์แม่ในฝั่งตะวันตก จะมีสองสำนักมาโต้เถียงกันตลอดเวลา ฝั่งนึงจะต่อต้านเพราะเห็นว่าเป็นวิธีการที่โหดร้ายทารุณ และเอางานวิจัยหลายแบบมาอ้างว่ามันทำลายความเชื่อใจระหว่างแม่และลูกและทำให้เด็กมีปัญหาตอนโต! ถ้าศึกษาจริงๆงานวิจัยที่เค้าเอามาสนับสนุนไม่เกี่ยวข้องกับการหัดนอนนะคะ ถึงจะเกี่ยว(งานวิจัยของ Wendy Middlemiss ) งานวิจัยนั้นก็มีข้อบกพร่องอยู่มาก และไม่ได้สรุปว่าการหัดนอนส่งผลเสียระยะยาวแก่เด็กแต่อย่างใด ข้อนี้ถ้าใครไม่เห็นด้วยเรายินดีรับฟังข้อถกเถียงนะคะ(เอาแบบมีหลักฐานทางการวิจัยโนะ ไม่เอาทางอารมณ์) สรุปคือในทางการแพทย์การหัดนอนไม่ได้ส่งผลเสียต่อเด็ก คำถามต่อมาคือ ถ้างั้นนอกจากพ่อแม่ได้นอนเต็มอิ่มแล้ว มันส่งผลดีต่อเด็กบ้างไหม? จากประสบการ์ณนะคะ แน่นอนค่ะ ความเห็นเราคือมันส่งผลดีต่อลูกมากกว่าต่อเราด้วยซ้ำ ยังไง?


1. เด็กได้พักผ่อนเต็มที่กว่า เด็กที่หัดนอนแล้วจะนอนยาวไม่ตื่นมาบ่อยๆ ถึงตื่นมาบ่อยๆก็ไม่ตื่นจริงๆพลิกตัวไปมาแล้วก็หลับต่อ เรียกได้ว่าใน 12 ชั่วโมงเท่ากัน เด็กที่ตื่นมาร้องหาเต้าสามสี่ครั้งต่อคืนคุณภาพการหลับจะไม่เท่ากับเด็กที่ไม่ตื่น ไม่เชื่อลองนะคะ คืนนึงลองเข้านอนตามเวลาปกติ ตั้งนาฬิกาปลุก สามรอบในระหว่างคืน เข้านอนไป พอนาฬิกาปลุกดังก็ตื่นมากดปิด ทำสักสามคืนค่ะ คนอื่นเราไม่รู้แต่สำหรับเราจะรู้สึกว่านอนไม่พอ นอน 8 ชั่วโมงเท่าเดิมแต่รู้สึกว่านอนไม่พอ ตอนบีบีนอนกับเราเคยนอน 9-10 ชั่วโมงต่อคืน หลังจากนอนเองเราขยับเวลานอนตอนนี้บีบีนอนอย่างน้อยๆ10.5-12 ชั่วโมง อาจจะฟังดูไม่เยอะ แต่จริงๆแล้วแตกต่างมาก

2. เมื่อพ่อแม่นอนไม่พอ สมาธิและความใจเย็นก็จะน้อยลงในช่วงกลางวัน ต้องอธิบายก่อนว่าเราเลี้ยงลูกคนเดียวนะคะ ไม่มีคนช่วย รอดนี่ก็ช่วยได้แค่เวลาเค้าอยู่บ้าน ไม่ทำงาน ที่เหลือเราลุยเดี่ยว สมาธิและกำลังมีความสำคัญมาก วันไหนนอนไม่พอเดาได้เลยค่ะ ว่าทั้งวันจะฉุกละหุกมาก เพราะทำอะไรก็หลงๆลืมๆ ไม่มีพลังจะทำอะไรทั้งนั้น นี่แค่คืนเดียวนะคะ นึกสภาพถ้าเป็นหลายๆคืน....  

3. เมื่อเด็กนอนง่าย ชีวิตของเด็ก(และพ่อแม่) จะง่ายขึ้นมากค่ะ เวลาออกไปไหนก็จะไม่ต้องห่วงว่าลูกจะต้องนอนกลางวัน ส่งผลให้ได้ออกไปข้างนอกมากขึ้นไม่อุดอู้อยู่บ้านตลอดเวลา อันนี้ไม่ใช่ดีต่อเด็กอย่างเดียวแต่ดีกับแม่ด้วย ช่วยลดความเครียดและโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าน้อยลง

4. ลดความเสี่ยงหลับตาย (SIDS) อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่าทางฝั่งตะวันตกเค้าจะไม่นิยมนอนกับพ่อแม่เพราะว่าทำให้ความเสี่ยงนอนหลับตายเยอะมากขึ้น นอกจากพ่อแม่จะเผลอนอนหลับทับลูกแล้ว ผ้าห่มหมอนเครื่องนอนทั้งหลายแหล่ก็ทำให้เพิ่มความเสี่ยงด้วย ไหนจะตกเตียง (ฝูกนอนกับพื้นก็ตกได้ค่ะ อาจจะไม่ถึงกับต้องไปโรงพยาบาลแต่ก็เจ็บอยู่ดี) การให้เด็กนอนคนเดียวในเปลเป็นวิธีที่ดีที่สุด(ห้ามมีตุ๊กตา ผ้าห่ม หมอน หรือแม้กระทั่งไอ้แผ่นที่กันหัวโขกเปล) พูดง่ายๆคือในเปลควรจะมีแค่ฝูกที่นอนผ้าคลุมที่นอนแล้วก็เด็กเท่านั้น


ตอนต่อไปจะมาเตรียมความพร้อมนะคะ สำหรับคนที่ตัดสินใจจะเริ่มหัด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่