[CR] งานศิลป์เลิศล้ำ ดื่มด่ำความสงบ "วัดบรมนิวาส"

หากการเดินทางไปต่างจังหวัด หรือการเดินห้างสรรพสินค้าอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดในวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ ไปวัดกันดีไหม...?

     กรุงเทพมหานคร เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีวัดเก่าแก่มากมาย โดยเฉพาะในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ เขตพระนคร และพื้นที่ใกล้เคียง แต่ละวัดล้วนมีประวัติความเป็นมา และงานศิลปกรรมที่น่าชมทั้งนั้น แต่ถ้าไม่อยากเจอกับบรรยากาศที่พลุกพล่าน ลองเขยิบออกมาหน่อย ชานเมืองเก่า ใกล้ๆ เมืองใหม่ ยังมีวัดหนึ่ง ที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยแคบๆ ริมคลองแสนแสบ อย่างเงี๊ยบ...เงียบ

วัดบรมนิวาส



ประวัติวัดบรมนิวาส

     ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด มีตำนานเล่าว่า แต่เดิมชื่อ วัดบรมสุข ผู้สร้างได้เสียชีวิตในสงคราม ทายาทจึงได้ถวายวัดในพระบรมราชูปถัมภ์ของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งยังทรงผนวช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำการสถาปนาใหม่แทบทั้งหมด จากจารึกที่ฐานพระประธาน พอจะสันนิษฐานได้ว่า การสร้างวัดครั้งใหม่เริ่มอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.๒๓๗๗ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
     เมื่อสร้างเสร็จ มีการเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดนอก เพราะอยู่นอกกำแพงเมือง คู่กับวัดใน หรือวัดบวรนิเวศวิหาร ทั้งสองวัดเป็นวัดในธรรมยุติกนิกายเหมือนกัน ต่างกันที่วัดนอกเป็นฝ่ายอรัญวาสี (วัดป่า) ส่วนวัดในเป็นฝ่ายคามวาสี (วัดบ้าน) ซึ่งทุกวันนี้ แม้กรุงเทพมหานครจะกลายเป็นเมืองใหญ่ เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่อง แต่วัดบรมนิวาสก็ยังคงความเป็นวัดป่า มีการจัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมอยู่เป็นระยะๆ
     ส่วนนามวัดบรมนิวาส ได้รับพระราชทานเมื่อคราวบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕
     บรม แปลว่า เป็นเลิศ ที่สุด
     นิวาส แปลว่า ที่อยู่
     บรมนิวาส จึงแปลว่า ที่อยู่อันเป็นเลิศ ซึ่งมีความหมายไปพ้องกับวัดบวรนิเวศ ที่แปลว่า ที่อยู่อันประเสริฐ อย่างพอดิบพอดี

     รู้จักวัดบรมนิวาสแล้ว เรามาเที่ยวชมศาสนสถานในเขตพุทธาวาสกันต่อเลย

พระอุโบสถ

     เนื่องจากวัดนี้สร้าง และบูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๓ - ๕ เราจึงเห็นศิลปะจีน และศิลปะแบบตะวันตกที่ผสมผสานกับศิลปะไทยอย่างกลมกลืน ด้วยรูปทรงอาคารอย่างไทย มีใบเสมาและตุ๊กตาศิลาจากจีนล้อมรอบ ซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายอย่างเทศ
     หน้าบันเป็นปูนปั้นปิดทอง รูปตราพระราชลัญจกรในรัชกาลที่ ๔ พระมหามงกุฏ ล้อมรอบด้วยพรรณพฤกษา



     ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัย พระนามว่า พระทศพลญาณ เบื้องหน้ามีพระอัครสาวกยืนประนมมือ และมีรูปปั้นเทวดายืนเชิญฉัตรประกอบทั้งสองข้าง



     กราบพระเสร็จแล้ว หันไปมองรอบๆ จะพบกับภาพจิตรกรรมฝาผนังวาดเต็มพื้นที่ทั้งสี่ด้าน สิ่งที่น่าสนใจคือ นอกจากจะวาดด้วยเทคนิคแบบตะวันตกแล้ว ยังปรากฏภาพ ปริศนาธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยพบแค่ ๒ วัดเท่านั้น คือวัดบวรนิเวศวิหาร และวัดบรมนิวาส โดยภาพปริศนาธรรมที่อยู่เหนือบานหน้าต่าง เป็นผลงานของจิตรกรชื่อดัง ขรัวอินโข่ง ผู้ริเริ่มนำวิธีการวาดภาพแบบตะวันตกเข้ามาผสมผสานในงานจิตรกรรมไทย

     เนื้อหาของภาพ เป็นการเปรียบเทียบพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสิ่งต่างๆ ซึ่งช่วยให้เข้าใจถึงความสำคัญของพระรัตนตรัย และหลักธรรมได้ง่ายขึ้น ที่วัดนี้วาดไว้ ๑๒ ภาพ ภาพที่น่าสนใจก็อย่างเช่น

     ภาพแพทย์รักษาคนไข้ เปรียบพระพุทธเจ้าเป็นแพทย์ เปรียบพระธรรมเป็นยารักษาโรค ที่รักษาให้หายจากโรคร้ายคือกิเลส และเปรียบพระสงฆ์เป็นผู้ที่หายป่วย

     ภาพเทพยดา เปรียบพระพุทธเจ้าเป็นเทพยดาผู้มีฤทธิ์ เปรียบพระธรรมเป็นแสงสว่างที่ส่องลงมายังเมืองที่มืดมิด และเปรียบพระสงฆ์เป็นเทวดาบริวารทำหน้าที่ผู้ช่วย

     ภาพผู้ชี้ทาง เปรียบพระพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทาง เปรียบพระธรรมเป็นเส้นทางที่ไปถึงจุดหมาย คือเมืองแห่งความสุข และเปรียบพระสงฆ์เป็นผู้ที่เดินตามเส้นทางนั้น
     มีการสันนิษฐานว่า บุคคลที่ทำท่าชี้ทางอยู่ อาจจะเป็น George Washington ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา บุคคลที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ให้การยกย่องเรื่องระบบการปกครองที่เขาก่อตั้งขึ้น

     ภาพเรือสำเภา เปรียบพระพุทธเจ้าเป็นนายสำเภา เปรียบพระธรรมเป็นเรือสำเภา และเปรียบพระสงฆ์เป็นผู้โดยสารบนเรือที่นั่งโดยสารไปถึงฝั่งอันเป็นที่ตั้งของดินแดนแห่งความสำราญ
     ในภาพจะเห็นการล่าวาฬ และภาพการนั่งบนหลังม้าของสตรีตะวันตกด้วย

     ภาพดอกบัว เปรียบพระพุทธเจ้าดอกบัว เปรียบพระธรรมเป็นกลิ่นหอมของดอกบัว และเปรียบพระสงฆ์เป็นคนและแมลงที่มาชมดอกบัว

     บนสุดของผนัง มีภาพ ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาล สะท้อนถึงการเข้ามาของวิทยาการใหม่อย่างดาราศาสตร์ในช่วงนั้น โดยบางดาวเคราะห์จะสังเกตได้อย่างชัดเจน เช่น ดาวพฤหัสบดี จะมีแถบพาดและมีดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ ๔ ดวง ดาวเสาร์ จะมีวงแหวน เป็นต้น





     ในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมในส่วนอื่นๆ อีก ได้แก่
ผนังระหว่างหน้าต่าง วาดภาพประเพณีทางพุทธศาสนา

บานแผละ วาดภาพอสุภกรรมฐาน หรือการเจริญกรรมฐานด้วยการพิจารณาซากศพ

ด้านหลังบานประตู วาดภาพทวารบาลแบบจีน ด้านหลังบานหน้าต่าง วาดภาพเครื่องมงคลแบบจีน ซึ่งแต่ละบานรูปแบบไม่ซ้ำกันเลย !

ส่วนเพดาน เขียนลายพืชพรรณอย่างเทศ


     การชมจิตรกรรมฝาผนังวัดบรมนิวาส เป็นทั้งการศึกษาหลักธรรม เจริญกรรมฐาน เรียนรู้ประเพณีไทย พินิจรูปแบบศิลปะจีน และยลดาวเคราะห์บนฟากฟ้าไปในคราวเดียวกัน คุ้มค่าจริงๆ นะ


     ไปชมศาสนสถานอื่นๆ กันต่อ ด้านหลังของพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งของ พระเจดีย์ ทรงลังกาสีขาว มีประตูทางเข้าไปห้องด้านใน บานประตูประดับมุก เป็นรูปพระราชลัญจกรในรัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระมเหสีพระองค์แรก พร้องด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์


     พระปรางค์ที่เห็นในภาพ เป็นส่วนหนึ่งของ พระระเบียง ที่สร้างล้อมด้านข้างและด้านหลังของพระเจดีย์ ด้านใน ไม่ได้ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งเรียงกันเหมือนวัดอื่นๆ กลับทำเป็นภาพนูนรูปพระอสีติมหาสาวกยืนประนมมือเรียงกันเป็นแถว ภายใต้ฉัตรสามชั้น ด้านล่างจารึกนามของพระสาวกแต่ละองค์ ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องห้ามพลาดชม เพราะอาจจะมีที่เดียวในประเทศไทย !



     เดินชมเขตพุทธาวาส เสร็จแล้ว เดินถัดออกมาทางเขตสังฆาวาส จะพบ ศาลาอุรุพงศ์ อาคารที่เจ้าจอมมารดาเลื่อนในรัชกาลที่ ๕ สร้างอุทิศกุศลถวายพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช พระโอรสที่สิ้นพระชนม์ ภายในประดิษฐาน พระพิชิตมารมัธยมพุทธกาล พระพุทธรูปเก่าแก่ที่อัญเชิญมาจากวัดโบราณที่ราชบุรี แวะมากราบพระ นั่งพักก่อนจะเดินทางกลับก็ได้



     ทุกวันนี้ ทางวัดได้ใช้ศาลาอุรุพงศ์ เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมถึงทำวัตรเช้า - เย็น
...
     เพราะเหตุที่ทำวัตรในศาลา ทำให้พระอุโบสถของวัดนี้ ปิด แทบทุกเวลา จะนับวันเปิดก็ได้ด้วยซ้ำ ยกเว้นพิธีการสำคัญอย่าง สวดปาฏิโมกข์ แต่บางพิธีก็ไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าด้านในได้
     อย่างไรก็ตาม การเข้าชมพระอุโบสถ ไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด เพียงติดต่อที่ สำนักงานวัดบรมนิวาส ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามศาลาอ6รุพงศ์ จะมีพระประจำอยู่ที่นั่น ซึ่งท่านจะเป็นพระวิทยากร เล่าประวัติความเป็นมา และแนะนำสถานที่สำคัญต่างๆ ภายในวัด หรือสอบถามข้อมูลก่อนได้ที่เพจของทางวัดใน facebook (ตอนที่ไป พระท่านจะเล่าแนะนำวัดก่อนที่สำนักงาน ก่อนจะพาไปชมสถานที่จริง โดยในระหว่างที่ท่านอธิบาย ก็จะมีการสอดแทรกคำสอนทางพระพุทธศาสนาเล็กๆ น้อยๆ ด้วย)
     เพียงเท่านี้ก็จะได้ชมงานศิลปกรรมเลิศล้ำ ดื่มด่ำกับบรยากาศความสงบแบบวัดป่า พร้อมเรียนรู้ธรรมะ ในช่วงเวลาสั้นๆ ของวันหยุดสุดสัปดาห์แล้ว

     วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
     ทางเข้าวัดอยู่ที่ ถนนพระราม ๖ ซอย ๑๕ (เป็นทางวันเวย์)
     ที่ตั้งของวัดแทบจะเรียกได้ว่า อยู่ระหว่างเมืองเก่าและเมืองใหม่ โดยห่างจากเสาชิงช้ามาทางถนนบำรุงเมืองประมาณ ๓ กิโลเมตร และห่างจากศูนย์การค้า Siam Center ประมาณ ๓ กิโลเมตรเช่นกัน จะไปเดินตลาดโบ๊เบ๊ ตะลอนเมืองเก่า หรือไปหอศิลป์ เดินสยามต่อได้เลย


***วัดบรมนิวาสเพิ่งได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ - ๒๕๕๗ มีการปรับปรุงภูมิทัศน์หลายส่วน โดยเฉพาะสวนหย่อมสวยๆ ริมคลองแสนแสบ และข้างกำแพงแก้ว วัดบรมนิวาสจึงกลับมาสวยงามอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านั้นวัดทรุดโทรมและค่อนข้างสกปรก***

ขอบคุณแหล่งข้อมูล :
บรมนิวาสราชอนุสรณ์ โครงการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบรมนิวาส.  กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับบลิชชิ่ง,  2558.
วิไลรัตน์ ยังรอต และธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์.  ถอดรหัส ภาพผนัง พระจอมเกล้า-ขรัวอินโข่ง.  นนทบุรี : มิวเซียมเพรส,  2559.
ชื่อสินค้า:   วัดบรมนิวาส
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่