โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์
คนร.เคาะแผนฟื้นฟู 7 รัฐวิสาหกิจติดหล่ม
คนร.ไฟเขียวแผนฟื้นฟู 7 รัฐวิสาหกิจ ขีดเส้นตายการบินไทยต้องทำกำไรปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้าน ยอมให้รถไฟปลดหนี้ 6 หมื่นล้านแลกทำเลทองมักกะสัน 400 ไร่ 99 ปี ล้มแผนซื้อเมล์เอ็นจีวี ประหยัดงบไปได้ 8 พันล้าน แบ่งเค้ก กสท–ทีโอที แยกกัน ทำมาหากิน ยันบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเกิดแน่ปีนี้
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รายงานผลการดำเนินงานว่าดีขึ้น คาดปีนี้จะมีกำไรสุทธิ 2,000 ล้านบาทและมีรายได้รวม 194,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ 182,000 ล้านบาท หรือมีรายได้เพิ่มขึ้น 7% ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2558 เป็นไปตามแผนคือหยุดการขาดทุนได้ ส่วนปีนี้จะสร้างความแข็งแกร่งและตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป วางแผนมีกำไรในระยะยาว
นายออมสินกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร.ยังได้ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2559 การบินไทยจะต้องทำกำไรจากการดำเนินงาน ไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท และลดค่าใช้จ่ายไม่รวมน้ำมันให้ได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ในขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้กำชับไปพิจารณาแผนในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับสายการบินอื่นๆ และหามาตรการเพิ่มรายได้อื่นๆ รวมทั้งหาแนวทางลดรายจ่ายนอกเหนือจากราคาน้ำมันที่ลดลงเพราะผลประกอบการที่เริ่มเห็นกำไรนั้น ปัจจัยหลักมาจากต้นทุนน้ำมันที่ลดลง
ที่ประชุม คนร.ยังมีมติเห็นชอบแผนการส่งมอบพื้นที่ย่านมักกะสันกว่า 448 ไร่ ให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เช่าระยะยาว 99 ปี เพื่อล้างหนี้สินสะสมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) วันที่ 1 ก.ค.2559 พร้อมกับส่งมอบพื้นที่ลอตแรกในวันลงนาม 105 ไร่ ส่วนที่เหลือจะทยอยส่งมอบจนครบทั้งหมดภายใน 2 ปี หรือภายในวันที่ 31 มี.ค.2561 นอกจากนั้น คนร.ยังเห็นชอบในหลักการ ตามที่ ร.ฟ.ท.เสนอขอเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ภายในระยะเวลา 5 ปีแรก หากไม่ประสบความสำเร็จจะต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาเดินรถแทน ส่วนการดำเนินโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และลาดกระบัง-สนามบินอู่ตะเภา นายออมสินยืนยันว่าจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบของพีพีพี
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับทราบความคืบหน้าการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ โดยยืนยันว่า พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาภายในเดือน เม.ย.นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแปรรูปแต่อย่างใด และต้องการให้กฎหมายผ่านทุกกระบวนการภายในปีนี้ เพื่อจะจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติให้ได้ภายในปีนี้เช่นกัน
ขณะเดียวกัน คนร.ยังเห็นชอบแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง นอกเหนือจากการบินไทยและ ร.ฟ.ท. โดยในส่วนของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท จำกัด (มหาชน) คนร.เห็นชอบตามแนวทางที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เสนอ ให้ทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน และให้ทีโอทีเป็นผู้นำการลงทุนโครงข่ายภายในประเทศ ส่วน กสท เป็นผู้นำการลงทุนโครงข่ายระหว่างประเทศ ส่วนเรื่องอินเตอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ และระบบคลาวด์นั้นให้ทำธุรกิจร่วมกัน พร้อมทั้งหาพันธมิตร
ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นั้น คนร.ได้รับทราบแนวทางการปรับแผนจัดหารถโดยสาร 3,183 คัน วงเงิน 13,162.20 ล้านบาท เปลี่ยนเป็น 1.การจัดหารถเอ็นจีวี 489 คัน 2.รถไฟฟ้า 500 คัน 3.ปรับปรุงสภาพรถเดิม 672 คัน และใช้รถเดิม 1,522 คัน ทำให้ปรับลดกรอบวงเงินลงได้ถึง 8,869 ล้านบาท โดยเรื่องการจัดหารถไฟฟ้า 500 คันนั้น ขสมก.จะเร่งนำเสนอต่อ ครม.ต่อไป พร้อมตั้งเป้าการลดผลขาดทุนระหว่าง เม.ย.-ก.ย. 2559 ให้ไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาท
ส่วนการแก้ไขปัญหาของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ในไตรมาสแรกผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย โดยลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ภายในเดือน มี.ค.2559 อยู่ที่ 21,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงได้กำหนดเป้าทั้งปีให้ลดเอ็นพีแอลลงมาเหลือ 18,000 ล้านบาท และกำหนดเป้าการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ทั้งปีจำนวน 35,000 ล้านบาท
ด้านธนาคารอิสลามนั้น ให้เดินหน้าหาพันธมิตร และให้มีการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) เพื่อโอนหนี้เสียไปบริหารจัดการ โดยภายในเดือน พ.ค.กระทรวงการคลังจะต้องตั้งเอเอ็มซีให้ได้ ทั้งนี้ คนร.ได้กำหนดให้มีตัวชี้วัดเพื่อใช้ในการประเมินคณะกรรมการ ผู้บริหารและกระทรวงเจ้าสังกัดในปี 2559 ว่าทำได้ตามแผนงานหรือไม่ด้วย.
http://www.thairath.co.th/content/608685
การบินไทยต้องกำไรหมื่นล้าน
คนร.เคาะแผนฟื้นฟู 7 รัฐวิสาหกิจติดหล่ม
คนร.ไฟเขียวแผนฟื้นฟู 7 รัฐวิสาหกิจ ขีดเส้นตายการบินไทยต้องทำกำไรปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นล้าน ยอมให้รถไฟปลดหนี้ 6 หมื่นล้านแลกทำเลทองมักกะสัน 400 ไร่ 99 ปี ล้มแผนซื้อเมล์เอ็นจีวี ประหยัดงบไปได้ 8 พันล้าน แบ่งเค้ก กสท–ทีโอที แยกกัน ทำมาหากิน ยันบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติเกิดแน่ปีนี้
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รายงานผลการดำเนินงานว่าดีขึ้น คาดปีนี้จะมีกำไรสุทธิ 2,000 ล้านบาทและมีรายได้รวม 194,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ 182,000 ล้านบาท หรือมีรายได้เพิ่มขึ้น 7% ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2558 เป็นไปตามแผนคือหยุดการขาดทุนได้ ส่วนปีนี้จะสร้างความแข็งแกร่งและตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป วางแผนมีกำไรในระยะยาว
นายออมสินกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร.ยังได้ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2559 การบินไทยจะต้องทำกำไรจากการดำเนินงาน ไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท และลดค่าใช้จ่ายไม่รวมน้ำมันให้ได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ในขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้กำชับไปพิจารณาแผนในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับสายการบินอื่นๆ และหามาตรการเพิ่มรายได้อื่นๆ รวมทั้งหาแนวทางลดรายจ่ายนอกเหนือจากราคาน้ำมันที่ลดลงเพราะผลประกอบการที่เริ่มเห็นกำไรนั้น ปัจจัยหลักมาจากต้นทุนน้ำมันที่ลดลง
ที่ประชุม คนร.ยังมีมติเห็นชอบแผนการส่งมอบพื้นที่ย่านมักกะสันกว่า 448 ไร่ ให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เช่าระยะยาว 99 ปี เพื่อล้างหนี้สินสะสมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) วันที่ 1 ก.ค.2559 พร้อมกับส่งมอบพื้นที่ลอตแรกในวันลงนาม 105 ไร่ ส่วนที่เหลือจะทยอยส่งมอบจนครบทั้งหมดภายใน 2 ปี หรือภายในวันที่ 31 มี.ค.2561 นอกจากนั้น คนร.ยังเห็นชอบในหลักการ ตามที่ ร.ฟ.ท.เสนอขอเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ภายในระยะเวลา 5 ปีแรก หากไม่ประสบความสำเร็จจะต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาเดินรถแทน ส่วนการดำเนินโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง และลาดกระบัง-สนามบินอู่ตะเภา นายออมสินยืนยันว่าจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบของพีพีพี
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับทราบความคืบหน้าการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ โดยยืนยันว่า พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาภายในเดือน เม.ย.นี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแปรรูปแต่อย่างใด และต้องการให้กฎหมายผ่านทุกกระบวนการภายในปีนี้ เพื่อจะจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติให้ได้ภายในปีนี้เช่นกัน
ขณะเดียวกัน คนร.ยังเห็นชอบแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง นอกเหนือจากการบินไทยและ ร.ฟ.ท. โดยในส่วนของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท จำกัด (มหาชน) คนร.เห็นชอบตามแนวทางที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เสนอ ให้ทั้ง 2 รัฐวิสาหกิจใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน และให้ทีโอทีเป็นผู้นำการลงทุนโครงข่ายภายในประเทศ ส่วน กสท เป็นผู้นำการลงทุนโครงข่ายระหว่างประเทศ ส่วนเรื่องอินเตอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ และระบบคลาวด์นั้นให้ทำธุรกิจร่วมกัน พร้อมทั้งหาพันธมิตร
ส่วนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นั้น คนร.ได้รับทราบแนวทางการปรับแผนจัดหารถโดยสาร 3,183 คัน วงเงิน 13,162.20 ล้านบาท เปลี่ยนเป็น 1.การจัดหารถเอ็นจีวี 489 คัน 2.รถไฟฟ้า 500 คัน 3.ปรับปรุงสภาพรถเดิม 672 คัน และใช้รถเดิม 1,522 คัน ทำให้ปรับลดกรอบวงเงินลงได้ถึง 8,869 ล้านบาท โดยเรื่องการจัดหารถไฟฟ้า 500 คันนั้น ขสมก.จะเร่งนำเสนอต่อ ครม.ต่อไป พร้อมตั้งเป้าการลดผลขาดทุนระหว่าง เม.ย.-ก.ย. 2559 ให้ไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาท
ส่วนการแก้ไขปัญหาของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ในไตรมาสแรกผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย โดยลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ภายในเดือน มี.ค.2559 อยู่ที่ 21,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงได้กำหนดเป้าทั้งปีให้ลดเอ็นพีแอลลงมาเหลือ 18,000 ล้านบาท และกำหนดเป้าการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยรายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ทั้งปีจำนวน 35,000 ล้านบาท
ด้านธนาคารอิสลามนั้น ให้เดินหน้าหาพันธมิตร และให้มีการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) เพื่อโอนหนี้เสียไปบริหารจัดการ โดยภายในเดือน พ.ค.กระทรวงการคลังจะต้องตั้งเอเอ็มซีให้ได้ ทั้งนี้ คนร.ได้กำหนดให้มีตัวชี้วัดเพื่อใช้ในการประเมินคณะกรรมการ ผู้บริหารและกระทรวงเจ้าสังกัดในปี 2559 ว่าทำได้ตามแผนงานหรือไม่ด้วย.
http://www.thairath.co.th/content/608685